xs
xsm
sm
md
lg

‘ประชานิยม’เป็นตัวฉุด‘ผลิตภาพ’ในประเทศไทย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: วิลเลียม บาร์นส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Populism trumps productivity in Thailand
By William Barnes
09/05/2012

นโยบายแบบประชานิยมของรัฐบาลไทยชุดต่างๆ ตลอดจนความลังเลรีรอไม่อยากจะลงทุนของธุรกิจทั้งหลาย สืบเนื่องจากความทรงจำอันขมขื่นเกี่ยวกับวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997 กำลังกลายเป็นปัจจัยบ่อนทำลายความสามารถของประเทศไทยในการขยายเศรษฐกิจของตนเอง ผลพวงที่ตามมาประการหนึ่งก็คือ อัตราค่าจ้างที่ชะงักงันไม่ค่อยขยับไปไหน ทั้งๆ ที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเกือบๆ เป็นศูนย์

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**จุดบอดทางเศรษฐกิจ**

งานศึกษาวิจัยทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่า เมื่อระดับทักษะของคนงานโดยทั่วไปอยู่ในสภาพอ่อนแอ (ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการที่ภาคบริษัทธุรกิจทำการลงทุนใหม่ๆ ในระดับต่ำ ตลอดจนระบบการศึกษาอยู่ในสภาพล้าหลัง) แล้วยังมีพวกคนงานซึ่งสามารถที่จะว่าจ้างเข้ามาทำงานในรูปแบบไม่เป็นทางการอยู่เป็นปริมาณที่สูงมาก คนงานไม่เป็นทางการเหล่านี้เองจะมีบทบาทกลายเป็นตัวฉุดรั้งระดับค่าจ้างค่าตอบแทนรายเดือน

เป็นความจริงที่พวกคนงานต่างชาติค่าจ้างราคาถูก ซึ่งตามการประมาณการของบางฝ่ายระบุว่ามีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนนั้น อาจจะเพียงแค่เข้ามาแย่งยึดตำแหน่งงานเพียงไม่กี่ประเภท แถมบ่อยครั้งเป็นตำแหน่งงานที่ไม่ค่อยมีใครปรารถนาจะทำอยู่แล้ว โดยที่เป็นการแย่งยึดไปจากบรรดาแรงงานไทยที่มีทักษะต่ำ แต่การศึกษาทางวิชาการหลายๆ ชิ้นบ่งบอกให้ทราบว่า พวกเขาคือปัจจัยสำคัญมากในการคอยฉุดรั้งอัตราผลตอบแทนแรงงานในไทยให้อยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้อาจจะไม่ใช่การฉุดรั้งอย่างเห็นถนัดชัดเจนตรงไปตรงมาก็ตามที

ในระหว่างทศวรรษ 1960 จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถทำอัตราเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ด้วยการดึงดูดเกษตรกรชาวนาให้หันมาทำงานในโรงงานต่างๆ ซึ่งในเวลานั้นอัตราการเติบโตของผลิตภาพยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง มาถึงตอนนี้ อดีตเกษตรกรจำนวนมากทีเดียวกำลังหวนกลับคืนไปยังไร่นาในต่างจังหวัดของพวกตน เพื่อหลบหนีภาวะค่าครองชีพสูงของชีวิตแบบชาวเมือง แถมผลกำไรจากแผนการประชานิยมใหม่ๆ ก็กำลังผลักดันให้ราคาข้าวในชนบทพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับราคาในตลาดอีกด้วย

ออกจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากทีเดียวที่ชนชั้นนำของไทย กลับมีความรู้สึกปลาบปลื้มอย่างเพี้ยนๆ กับภาวะการขาดไร้การลงทุนในปัจจุบันนี้

สมุดปกขาวว่าด้วยยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจฉบับหนึ่ง ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของ นายพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาคนสำคัญมากของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เสนอเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า “ความเฉลียวฉลาดช่างประดิษฐ์แบบพื้นบ้าน” (native ingenuity) จะเป็นตัวช่วยประคับประคองผลผลิตที่ออกมาไม่ให้ตกต่ำลงไป ในขณะที่ยังคงไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ยิ่งกว่านั้น สมุดปกขาวฉบับเดียวกันนี้ยังแสดงความคาดหมายด้วยความเชื่อมั่นว่า การลงทุนจะต้องเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงใดช่วงหนึ่งข้างหน้า ทว่านั่นคือการพูดเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

เมื่อสอบถามว่าฝ่ายการเมืองมีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไรบ้าง จากการที่ไม่มีการลงทุนอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง นายศุภวุฒิ แห่งบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจำกัด (มหาชน) ตอบว่า “ผมไม่คิดว่าพวกเขาทราบด้วยซ้ำว่านี่เป็นปัญหา หรือต้องนิยามว่ามันเป็นปัญหา”

ในเวลานั้นก็เฉกเช่นเดียวกับในเวลานี้ จุดเน้นหนักของรัฐบาลอยู่ที่การพยายามทำให้พวกผู้ออกเสียงระดับรากหญ้าทั้งหลายมีอำนาจการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น โดยดูเหมือนรัฐบาลจะวาดหวังเอาไว้ว่า เมื่อมีการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นมากๆ ก็จะทำให้ผลิตภาพดีขึ้นอย่างมากมายไปด้วย

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเห็นด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนสภาพการณ์ที่ประเทศไทยกำลังต้องพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป จากที่ปัจจุบันการส่งออกมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทีเดียว พวกเขายังเชื่อว่านโยบายของคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่พยายามปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำด้วยเหตุผลว่าจะทำให้ฝ่ายแรงงานมีส่วนในดอกผลทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นนั้น ในที่สุดแล้วกลับจะประสบความล้มเหลว ในเมื่อเศรษฐกิจของไทยเป็นเศรษฐกิจที่ขับดันโดยตลาดและมุ่งเน้นอาศัยตลาดภายนอก

“คุณไม่สามารถอาศัยการประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ซึ่งก็คือการใช้วิธีการทางกฎหมาย หรืออาศัยการจัดวางระเบียบกฎเกณฑ์ มาเป็นเส้นทางไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของคุณได้หรอก” นายเศรษฐพุฒิ ชี้ “ถ้าคุณทำอย่างนั้นได้ ทำไมคุณถึงยังมีความยากจนเหลืออยู่ตามที่ต่างๆ ในโลกอีกล่ะ ในเมื่อใครๆ ก็แก้ปัญหาพวกนี้ได้ เพียงแค่ด้วยการใช้วิธีออกกฎหมายหรืออาศัยการจัดวางระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ มาเป็นเส้นทางไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง วิธีการนี้มันใช้ไม่ได้ผลหรอก”

เมื่อพิจารณาถึงปฏิกิริยาความโกรธกริ้วทางการเมืองที่มีต่อโครงการประชานิยม ตลอดจนการจ่ายแจกแบบประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปัจจุบันแล้ว สิ่งที่เราควรต้องเพิ่มความวิตกห่วงใยให้มากขึ้นไปอีก เห็นจะเป็นเรื่องที่ว่า รัฐบาลไทยชุดต่อๆ ไปคงจะไม่มีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอสำหรับใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะต้องหาเงินมาใช้จ่ายในโครงการประชานิยมทั้งหลาย

ขณะที่ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนของทางการ มีจำนวนเท่ากับประมาณ 10% ของจีดีพี แต่เวลานี้ตามการคำนวณของบางสำนักระบุว่า มันได้ถดถอยลงมาเหลือเพียงราวๆ 5% เท่านั้น ถึงแม้ยอดงบประมาณแผ่นดินโดยรวมได้เพิ่มพูนสูงขึ้นไปอย่างมากมายมหาศาล

การลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ตามที่วางแผนการกันเอาไว้ เป็นต้นว่า โครงข่ายทางรถไฟที่ทันสมัยยิ่งกว่าในปัจจุบัน สามารถช่วยเศรษฐกิจโดยรวมได้มากทีเดียว ถ้าหากไม่ถูกเบียดขับออกจากงบประมาณแผ่นดิน เพราะสู้แรงเสียดทานของคำมั่นสัญญาการใช้จ่ายแบบประชานิยมไม่ไหว หรือถ้าหากไม่ประสบชะตากรรมเดียวกันกับการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำในอดีต นั่นคือ มีเหตุให้ต้องเลื่อนช้าออกไปอย่างยาวนาน

พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์คนดังชาวอเมริกัน ต้องเสื่อมเสียชื่อไปมากทีเดียวในภูมิภาคแถบนี้เมื่อปี 1994 จากการที่เขาเสนอแนะว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียนั้นพึ่งพาอาศัยการอาบเหงื่อต่างน้ำ และการผลิตในปริมาณมากๆ ยิ่งกว่าการอาศัยแรงบันดาลใจ เขายังได้ออกมาเตือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้อีกครั้งหนึ่งในปี 1997 ว่า “ถึงแม้ผลิตภาพไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในระยะยาวแล้วมันคือทุกสิ่งทุกอย่าง”

เมื่อถึงปี 2010 ภายหลังที่ประเทศไทยประสบกับภาวะลงทุนอยู่ในอาการกะปริบกะปรอยมาเป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ได้ออกมาเตือนว่า ประเทศไทยได้ “สูญเสียพลวัตที่ตนเองเคยมีอยู่ไปเป็นจำนวนมากแล้ว” การผงาดขึ้นมาของจีนตลอดจนของคู่แข่งขันระดับภูมิภาครายอื่นๆ ซึ่งต่างมุ่งช่วงชิงเสาะแสวงหาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) ได้บ่อนเซาะทำลายฐานะของไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอภิสิทธิ์สืบเนื่องจากเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศของภูมิภาคแถบนี้ที่เปิดกว้างและยินดีต้อนรับการลงทุนด้วยมิตรไมตรี

นายเศรษฐพุฒิชี้ว่า ปัญหาที่กำลังกระหน่ำโจมตีนายทุนไทยอยู่อย่างไม่หยุดยั้งในตอนนี้ ก็คือ พวกเขาจำนวนมากมองไม่ค่อยเห็นเส้นทางที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

“มันอาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะ ... สำคัญมากทีเดียว เรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับสิ่งที่ผลักดันความเจริญเติบโตของประเทศไทย ย้อนหลังกลับไปถึงช่วงปีทองของเราที่มีการลงทุนกันอย่างสูงลิ่วนั้น มันชัดเจนมากเลย กล่าวคือ พวกอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานทั้งหลายทำการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยอาศัย FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) จากสถานที่ต่างๆ หลายหลากมาเป็นตัวขับดัน” นายเศรษฐพุฒิ บอก “แต่เรื่องราวดังกล่าวนี้ชักจะนำมาใช้ในปัจจุบันไม่ได้เสียแล้ว เพราะในตอนนี้คุณยังมีสถานที่แห่งอื่นๆ อีก เป็นต้นว่า เวียดนาม ผู้ที่ออกแรงขับดันการเจริญเติบโตในประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าจะไปทางไหน? เรื่องนี้แหละไม่มีความชัดเจนเลย”

สภาพแห่งการสะดุดติดขัดเช่นนี้บังเกิดขึ้นในหลายๆ ระดับและหลายๆ มิติ โดยจุดที่เป็นปัญหาใหญ่มากจุดหนึ่งก็คือทางด้านการเมือง ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวไทยเป็นจำนวนมากมายมหาศาลทีเดียว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากคำมั่นสัญญาและข้อความแบบประชานิยม จนกระทั่งเวลานี้พวกเขามีความมุ่งมาตรปรารถนาในแบบชนชั้นกลางกันแล้ว ทว่าพวกเขายังคงขาดไร้ทักษะความชำนาญที่จะไปแข่งขันในเศรษฐกิจระดับโลก

ในรายงานฉบับหนึ่งของธนาคารพัฒนาเอเชียที่ออกมาเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว ได้กล่าวเตือนเอาไว้ว่า พวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จำนวนมากทีเดียว กำลังมีความเสี่ยงที่จะตกลงไปใน “กับดับประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง” ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นตรงที่อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะพุ่งแรงรวดเร็วอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็ตามมาด้วยช่วงระยะแห่งการชะงักงักหรือกระทั่งทรุดตัวถดถอย สัญญาณเครื่องบ่งชี้ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเวลานี้กำลังติดแน่นอยู่ในกับดักดังกล่าวแล้ว โดยที่ไม่มีวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่จะทำให้สามารถหลุดพ้นออกมาได้เสียด้วย

วิลเลียม บาร์นส์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ผ่านงานมาอย่างโชกโชน ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ
‘สิงคโปร์’เป็นโมเดลที่เลวสำหรับ‘พม่า’ (ตอนแรก)
สิงคโปร์จัดเป็นเพื่อนมิตรที่โดดเด่นของพม่าทีเดียว ในระหว่างช่วงเวลาหลายทศวรรษที่แดนหม่องตกอยู่ใต้การปกครองอันมืดมิดยาวนานของฝ่ายทหาร ครั้นมาถึงเวลานี้ประเทศนี้กำลังเสนอตัวต่อพม่าว่าจะแนะนำเคล็ดลับวิธีการต่างๆ ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้บรรลุถึงมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับโลกได้ภายในชั่วอายุคนแค่สองสามรุ่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของ “สิงหะปุระ” แห่งนี้ แลดูอร่ามแวววับเหมาะสมแก่การเป็นแบบอย่างอันเหมาะเจาะ ทว่าโมเดลที่มุ่งเน้นการควบคุมโดยรัฐของสิงคโปร์ กลับเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งผู้นิยมการปฏิรูป ควรที่จะต้องพยายามหลีกหนีไปให้ไกลๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น