xs
xsm
sm
md
lg

คุก 6 เดือน "ตู่"หมิ่น"มาร์ค" ตีตนเสมอเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “จตุพร พรหมพันธุ์” เป็นเวลา 6 เดือนแต่รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 5 หมื่น ฐานหมิ่นประมาท “อภิสิทธิ์” กรณีปากพล่อยกล่าวหาตีตนเสมอเจ้า พร้อมให้ลงโฆษณาคำพิพากษาลงใน นสพ.เอเอสทีวี-ผู้จัดการ เป็นเวลา 7 วัน

วานนี้ (10 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำ อ.404/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332

คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2552 เวลากลางวัน จำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนบริเวณที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ว่าโจทก์ไม่ถวายความเคารพองค์พระมหากษัตริย์ ในขณะเข้าเฝ้าฯ ประชาชนคนไทยต้องพึงปฏิบัติ และโจทก์ทำตัวตีเสมอพระเจ้าแผ่นดิน การกระทำของโจทก์กระทบกระเทือนความรู้สึกของคนไทยทั่วประเทศ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กทม.

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบสัดส่วน สังกัดพรรคฝ่ายค้าน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า คำที่จำเลยกล่าวว่า โจทก์ออกมานั่งทำตัวเสมอกับพระเจ้าแผ่นดิน นั้นมีความหมายประการใด โจทก์อ้างตนเองเบิกความว่า จำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนมีข้อความตอนหนึ่งสรุปได้ว่า ในการเข้าเฝ้าฯ นั้น นายกรัฐมนตรีในอดีตไม่มีใครนั่งเก้าอี้ ยกเว้นเวลาที่มีราชอาคันตุกะที่เป็นแขกต่างประเทศ แต่โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำตัวเหนือบุคคลอื่นกระทำการที่ไม่บังควร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนจำนวนมาก

การที่จำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลทำนองดังกล่าวนั้น เป็นการกล่าวหาว่าโจทก์และถ้อยคำที่จำเลยแถลงข่าวดังกล่าว ย่อมทำให้ประชาชนที่ได้ฟังถ้อยคำนั้นเข้าใจว่าโจทก์ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติตนไม่รู้กาลเทศะ อันเป็นการกระทำที่มิบังควร ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ซึ่งจำเลยตระหนักและทราบดีว่า ข้อความที่จำเลยแถลงข่าวต้องถูกนำไปเผยแพร่เป็นข่าวสารทั้งทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และวิทยุ และวันรุ่งขึ้นมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของจำเลย ดังนั้นจำเลยต้องตระหนักและรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้นหากต้องการแถลงข่าวต่อสาธารณชน เพราะเมื่อแถลงออกไปแล้วอาจเกิดผลเสียหายตามมาหากข้อความที่แถลงออกไปส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคม แม้จำเลยจะนำสืบอ้างว่าไม่ทราบว่าการเข้าเฝ้าฯ จะมีการจัดที่นั่งอย่างไร แต่การจะกล่าวหาผู้ใดด้วยข้อกล่าวหาที่ละเอียดอ่อนและเกี่ยวพันถึงประโยชน์สาธารณะของคนในชาติ ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่ากระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทย จำเลยต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อสงสัยที่มีต่อภาพถ่ายของโจทก์ไปจนถึงเหตุผลที่มาที่ไปของภาพดังกล่าวให้ชัดเจนแน่แท้เสียก่อน ซึ่งจำเลยในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมสามารถกระทำได้โดยไม่ยาก แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ กลับแถลงข่าวทันทีที่ได้เห็นภาพของโจทก์ในหนังสือพิมพ์

นอกจากนั้น แม้จำเลยจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่ศาลต้องพิจารณาเนื้อหาของถ้อยคำทั้งหมดเพราะย่อมเกี่ยวพันกันและแสดงให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงที่จำเลยต้องการสื่อสารซึ่งจำเลยพยายามเชื่อมโยงภาพของโจทก์เปรียบเทียบกับบุคคลสำคัญในอดีตหลายคน เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าการที่โจทก์นั่งเก้าอี้ถวายรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้นั้น เกิดจากสิทธิพิเศษของโจทก์ ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ในอดีตและยังประพฤติตนเสมอกับพระเจ้าแผ่นดิน โดยไม่ตรวจสอบว่าเป็นเพราะทางสำนักพระราชวังหรือสำนักราชเลขาธิการเป็นผู้ดูแลจัดการให้

ทั้งนี้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พยานจำเลยก็ได้ตอบคำถามค้านว่า การเข้าเฝ้าฯ จะต้องได้รับคำแนะนำจากสำนักราชเลขาธิการว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แสดงว่าสำนักพระราชวังมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดระเบียบพิธีการสำหรับเข้าเฝ้าฯ อีกทั้งจำเลยมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีโอกาสเข้าร่วมงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี จำเลยย่อมต้องทราบถึงขั้นตอนดังกล่าว หาใช่ว่าโจทก์นั่งเก้าอี้เพราะต้องการทำตัวให้เสมอกับพระเจ้าแผ่นดินดังที่จำเลยกล่าวไม่ ข้อที่จำเลยอ้างว่าไม่ทราบว่าการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีการจัดที่นั่งอย่างไร จึงเป็นเพียงคำพูดที่เลื่อนลอยไม่สมเหตุสมผล การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าสำนักพระราชวังจะเป็นผู้ดูแลระเบียบพิธีการเข้าเฝ้าฯ แต่กลับแถลงข่าวต่อสาธารณชนทันที จึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกินเลยไปกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะนักการเมืองที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือเป็นเพียงการตักเตือนโจทก์ดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ไม่ แต่เป็นการพยายามเอาข้อกล่าวหาดังกล่าวมาผูกโยงให้เป็นเรื่องเกี่ยวพันทางการเมืองเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ในทางกลับกันปรากฏข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานหลายภาพว่า นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็นั่งเก้าอี้ขณะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่นกัน ประกอบกับโจทก์และจำเลยมีเหตุขัดแย้งจนถึงขั้นฟ้องร้องกล่าวหาเป็นคดีอาญากันหลายคดี ส่อให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งหมายกล่าวหาโจทก์เพื่อให้ประชาชนเกลียดชังโจทก์ โดยไม่ใยดีว่าข้อกล่าวดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ การแถลงข่าวของจำเลยดังกล่าวจึงหาใช้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ แต่เป็นการกล่าวใส่ความโจทก์ โดยจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงฟังได้อย่างมั่นคงว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 6 เดือน และปรับ 5 หมื่นบาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี-ผู้จัดการรายวัน และหนังสือพิมพ์มติชน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น