xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การกลับมาของ “หูกระต่าย” “พันศักดิ์ วิญญรัตน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พันศักดิ์ วิญญรัตน์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ต้องบอกว่ามี “รหัสยะ” และมี “นัย” ทางการเมืองซึ่งมิอาจมองข้ามได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาแต่งตั้งให้เจ้าของสมญานาม “จอมยุทธ์หูกระต่าย” พันศักดิ์ วิญญรัตน์ นั่งเก้าอี้เป็น “ประธานที่ปรึกษานโยบาย” ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ที่บอกว่ามีรหัสยะทางการเมืองสำคัญยิ่งก็เพราะต้องไม่ลืมว่า คนชื่อพันศักดิ์ ในอดีตนั้นมีเส้นทางที่โลดโผนโจนทะยานเพียงใด โดยเฉพาะเส้นทางการเมืองที่เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นอีกหนึ่งมันสมองคนสำคัญของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และทำคลอดนโยบายทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอันโดดเด่นรับใช้ระบอบทักษิณมาอย่างต่อเนื่อง

นายพันศักดิ์เคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทั้งรัฐบาลทักษิณ 1 และรัฐบาลทักษิณ 2 โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญหลายนโยบาย เช่น นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน(Dual Track) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทักษิโณมิกส์” ตามต่อด้วยนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน หรือที่รู้จักกันในชื่อของนโยบายประชานิยม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี พ.ศ.2531-2534 นายพันศักดิ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ประธานที่ปรึกษา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีมาก่อน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายที่มีชื่อเสียงของรัฐบาลชาติชายคือ “นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

เรียกว่า ใน 2 ทศวรรษมานี้ เขาถือเป็นนักคิดที่ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่ง ต่อการเดินแผนยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะใน 2 ช่วงสำคัญ ช่วงเศรษฐกิจเติบโตครั้งใหญ่ (ยุคชาติชาย 2531-2534) และยุคการแสวงหาแนวทางใหม่หลังช่วงล่มสลายของโมเดลเศรษฐกิจเดิมในยุคปัจจุบัน (ยุคทักษิณ 2544-ปัจจุบัน)

นอกจากนี้ ถ้าหากย้อนกลับไปดูภูมิหลังของนายพันศักดิ์ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเขาถึงได้รับความไว้วางใจจาก นช.ทักษิณให้รับงานใหญ่หลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดในตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์

นายพันศักดิ์ เติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างจะมีเงินมากๆ และบิดาของเขาชื่อ “ประยูร วิญญรัตน์” เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ ยุครุ่นเดียวกับนายชิน โสภณพานิช ทั้งพี่เขยและพี่ชายก็เป็นผู้บริหารระดับสูงมากๆ ที่ธนาคารกรุงเทพ คนหนึ่งชื่อ สรดิษฐ์ วิญญรัตน์ ซึ่งก็ได้เกษียณตัวเองก่อนอายุอันควรและก็ไปเป็นนักธุรกิจ นักลงทุนซึ่งร่ำรวยอย่างมหาศาล มีกิจการโรงแรมที่กรุง ลอนดอน ส่วนพี่เขย ปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่ธนาคารกรุงเทพ ชื่อเดชา ตุลานันท์ เป็นระดับรองผู้จัดการใหญ่ เป็นลูกหม้อธนาคารกรุงเทพ

ข้อมูลจากนิตยสารผู้จัดการรายเดือน 360 องศาได้เขียนบทความชื่อ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์ Professinal Thinker” ซึ่งในบางช่วงบางตอนกล่าวถึงพันศักดิ์และครอบครัว รวมถึงแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเอาไว้อย่างน่าสนใจ

พ่อของเขา-ประยูร วิญญรัตน์ มาจากครอบครัวยากจนย่านคนจีนแถวสี่พระยา แต่เนื่องจากเรียนหนังสือเก่ง มาก จบ ม.8 สอบได้ที่ 2 ของประเทศ เลยได้ทุนหลวงไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี 2473 ใช้เวลาเรียนถึง 8 ปี กลับเมืองไทยอีกครั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่อยู่ในอำนาจเผด็จการทหาร

ประยูร เริ่มต้นเรียนที่ London School of Economics รุ่นก่อน บุญมา วงศ์สวรรค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ เรียนได้เกือบครบ 1 ปี เจ้าของทุน (กระทรวงการคลัง) เกรงว่าจะเป็น "ฝ่ายซ้าย" จึงมีคำสั่งให้ย้ายไปเรียนบัญชีแทน เขาเล่า ว่าเขาถูก Scotlandyard ติดตามดูพฤติกรรมอยู่เป็นปี เขาจบการศึกษา ACA (Associate of the Institute of Chartered Accountant in England and Welsh) คนที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจากพระยาไชยยศสมบัติ หลวงดำริอิศรานุวัตร และศิริ ฮุนตระกูล (จากหนังสือ "เมื่อ 60-70 ปีมาแล้ว...นายประยูร วิญญรัตน์ เล่าให้ฟังเมื่ออายุ 72 ปี พ.ศ.2526)

การเข้ารับราชการกระทรวงการคลังในฐานะนักเรียนนอก นับเป็นการไต่เต้าทางสังคมอย่างสำคัญในยุคนั้น ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เปิดโอกาสให้ชน ชั้นนำใหม่ๆ เกิดขึ้น

"ประยูรเคยใฝ่ฝันที่จะเป็นข้าราชการ กระทรวงมหาดไทย แต่ความฝันของเขาไม่เป็นจริง แม้ว่าเขาจะได้ทุนหลวงเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามทางเลือกที่สองที่กระทรวงการคลังก็ยังบรรลุ ผล หลังจากจบการศึกษาจากอังกฤษในช่วง ปลายทศวรรษ 2470 เขาก็เข้าทำงานที่กระทรวงการคลัง และช่วยวางรากฐานการตั้งสำนักงานธนาคารกลางครั้งแรกขึ้นในกระทรวงการคลังเมื่อปี 2481 และในช่วงสงครามเขาก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ดูแล ทรัพย์สินศัตรู รวมทั้งทรัพย์สินของธนาคารอังกฤษในประเทศไทยทั้งหมดด้วย" พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เคยเขียนถึงพ่อของเขาเอาไว้ในบทความ "การต่อส้ของชิน โสภณพนิช กับธนาคารอาณานิคม นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2530

เขเารับราชการไม่นาน ก็ได้รับการชักชวนจากบุญชู โรจนเสถียร (บุญชูเป็นลูกศิษย์ของประยูร วิญญรัตน์ ในฐานะอาจารย์ บัญชีที่ธรรมศาสตร์) ที่กำลังเข้ามาช่วยบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ริเริ่มการเปิดสาขา ธนาคารครั้งแรกในประเทศไทย ในยุคเริ่มต้น การเข้ามากอบกู้กิจการของชิน โสภณพนิช และถือเป็นการวางรากฐานธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ในเวลาต่อมา

ประยูรดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารกรุงเทพอย่าง ยาวนาน ก่อนลาออกไป พร้อมๆ กับการเข้ามาเป็นกรรมการของชาติศิริ โสภณพนิช ลูกชายคนโตของชาตรี โสภณพนิช (ปี 2536) ในกระบวน การสืบต่อทายาทรุ่นที่ 3 ของโสภณพนิช ในธนาคารกรุงเทพ ไม่นานหลังจากนั้นชาติศิริก็ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

ส่วนตัวพันศักดิ์นั้น เขาเป็นบุตรชายคนที่ 2 เกิดในช่วงหลังสงครามไม่นาน ช่วงที่ว่ากันว่า พ่อของเขามีปัญหาในการทำงานในฐานะข้าราชการ และเป็นช่วงต่อกำลังจะเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ เขาเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย และจบปริญญาตรีด้านกฎหมายระหว่าง ประเทศ จากอังกฤษ จากนั้นก็มาทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกรุงไทย ที่พ่อฝากให้ เขาทำงานเพียงช่วงสั้นๆ เนื่องด้วยเขาไม่ชอบ

การเริ่มทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ถือเป็นงานที่เขาชอบ โดยนายพันศักดิ์เริ่มอาชีพนักข่าวกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน Bangkok World (ก่อนจะรวมกับ Bangkok Post) และสำนักข่าวต่างประเทศ แต่ที่เป็นที่รู้จักของสังคมอย่างกว้างขวางก็คือการทำงานที่ “หนังสือพิมพ์ จัตุรัสรายสัปดาห์”

ดังนั้น การกลับมาเปิดตัวยืนอยู่แถวหน้าอีกครั้งนี้จึงน่าจะมี “งานใหญ่” ที่รอให้นายพันศักดิ์มาสะสางพะเรอเกวียน และปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่ออกคำสั่งให้พันศักดิ์มาช่วยเหลือรัฐบาลจะเป็นใครเสียไม่ได้ นอกจาก นช.ทักษิณที่รู้มือรู้ตีนและรู้ความสามารถของนายพันศักดิ์เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันการกลับมาของนายพันศักดิ์ ในอีกมิติหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความเน่าเฟะจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย รวมถึงขุนพลทางเศรษฐกิจที่เมื่อเวลาผ่านมาไปได้พิสูจน์ให้สาธารณชนได้เห็นชัดเจนยิ่งว่า มือไม่ถึง ดังนั้น จึงต้องส่งมืออาชีพอย่างนายพันศักดิ์ให้เข้ามาเพื่อสร้างความโดดเด่นทางนโยบายเพื่อให้ประชาชนจดจำได้เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในช่วงรัฐบาลทักษิณ

ทั้งนี้ ถ้าหากวิเคราะห์ขอบเขตอำนาจของนายพันศักดิ์ตามที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงต่อสาธารณชนนั้น จะเห็นได้ถึงความยิ่งใหญ่ของนายพันศักดิ์ได้เป็นอย่างดี เนื่องเพราะสามารถล้วงลูกหรือชี้นำนโยบายของรัฐบาลได้ในทุกกระทรวง กล่าวคือ

1.ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้การนำนโยบายไปปฏิบัติทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การต่างประเทศ การปฏิรูปกฎหมายเพื่อการพัฒนา การบริหารงานยุติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแก่ประเทศ

2.รวบรวมและติดตามข้อมูลและความเห็นจากราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ รวมถึงการขอให้ส่งเอกสารหรือเชิญเจ้าหน้าที่มาชี้แจง แสดงความเห็นหรือตอบข้อซักถามประกอบการพิจารณา

3.ประสานงานและรับผิดชอบร่วมกับที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการด้านอื่นๆ ที่นายกรัฐรัฐมนตรีได้แต่งตั้งหรือจะแต่งตั้งขึ้นภายหลังเฉพาะในส่วนการนำนโยบายไปปฏิบัติ

4.แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น

และ 5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

เห็นขอบเขตแห่งอำนาจของนายพันศักดิ์แล้ว คงจะไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะกล่าวว่า หาก ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ดำรงตนเสมือนหนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนนายกรัฐมนตรีด้านการเมืองแล้ว นายพันศักดิ์ก็น่าจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและสังคมก็คงจะว่าได้
กำลังโหลดความคิดเห็น