xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นักคณิตศาสตร์พ่ายการเมืองทีจี!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“เป็นกรรมของการบินไทย เป็นกรรมของประเทศไทย" ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดใจกับนักข่าวหลังจากถูกปลดจากตำแหน่งดีดี

ปิยสวัสดิ์ อธิบายสาเหตุการถูกปลดว่า “เหตุผลที่ประธานบอร์ด อ้างการสื่อสารกับคณะกรรมการ บริษัทการบินไทย ไม่ชัดเจนไม่เป็นเอกภาพนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่ชัดเจน และประธานก็ไม่ได้บอกเช่นนั้น เพียงแต่บอกกับสื่อมวลชน”

“ดังนั้นต้องไปถามประธานเองว่า เหตุผลที่แท้จริงคืออะไร หรืออาจจะเป็นเหตุผล เพราะผมไปปลดบางคนก่อนหน้านี้ก็ได้" เขาทิ้งเลศนัยไว้ให้นักข่าวตามต่อ

ข้อเท็จจริงทางการบริหารนั้น ปิยสวัสดิ์ สอบผ่านในการประเมินผลงาน

อดีตดีดีการบินไทยสาธยายผลงานว่า ผลการดำเนินงานของการบินไทยไตรมาสแรก คงมีกำไร 3.6 พันล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5-6 % โดยเฉพาะเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นช่วงโลซีซั่น ที่มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารสูงถึง 71% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 62 % นอกจากนั้น ปีนี้การบินไทยยังมีกำไรจากการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ถึง 909 ล้านบาท

แต่นั่นยังไม่เพียงพอกับการทำหน้าที่ดีดีการบินไทย ในอัตราเงินเดือนๆ ละประมาณ 9 แสนบาท ซึ่งจะต้องถูกประเมินผลงานทุก 1 ปี ปกติจะต้องประเมินทุก 6 เดือน

ภายใต้สัญญาจ้าง 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2552

แต่แล้วผลการประเมินการทำงานทุก 6 เดือนไม่มีผลต่อมติคณะกรรมการการบินไทย

“ คณะกรรมการการบินไทยมีมติเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 โดยมีผลในวันที่ 21 มิถุนายน 2555 และแจ้งให้นายปิยสวัสดิ์ รับทราบล่วงหน้า 1 เดือน โดยจะจ่ายเงินชดเชยให้นายปิยสวัสดิ์ 6 เดือนตามเงื่อนไขสัญญาจ้าง” นายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกผลการประชุมคณะกรรมการการบินไทย

ทำให้หลายคนช็อกพอสมควร ทั้งๆ ที่อำพน คนเดียวกันนี้ เป็นคนอนุมัติการเซ็นสัญญาจ้างปิยสวัสดิ์

อำพน บอกอีกว่า "ไม่ใช่ว่านายปิยสวัสดิ์ ไม่มีความสามารถ แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารระหว่างนายปิยสวัสดิ์ กับบอร์ดไม่มีเอกภาพเท่าที่ควร เพื่อให้การบินไทยบรรลุเป้าหมายในการทำกำไรปีนี้ จึงต้องเลิกจ้าง ซึ่งเป็นการจากกันด้วยดี"

นั่นหมายความว่า หากต้องการให้การบินไทย มีผลประกอบการตามเป้าหมายที่วางไว้ ปิยสวัสดิ์ ไม่ควรอยู่ในตำแหน่ง

แม้จะรู้กันโดยทั่วไปว่า ปิยสวัสดิ์ เป็น “คนแข็ง” ประเภทดื้อตาใส

แต่การทำงานของเขาค่อนข้างละเอียด

ด้วยความที่เป็นคนเรียนเก่ง และชอบคณิตศาสตร์ ทำให้นักคณิตศาสตร์แบบเขา อาจจะมีปัญหาในการสร้างเครือข่ายที่มิใช่มาจากครอบครัว

ทั้งนี้ ปิยสวัสดิ์ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ ( เกียรตินิยมอันดับ 1 ) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ London School of Economics มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอนเช่นเดียวกัน โดยได้รับทุนรัฐบาลอังกฤษ

วันแรกที่ปิยสวัสดิ์ เข้าทำงานที่การบินไทย ( 19 ตุลาคม 2552 ) เขาพูดกับพนักงานบนเวทีตอนรับดีดีการบินไทยคนที่ 15 ว่า

“ การบินไทยเป็นหน่วยงานที่ต้องการการดูแล หลังจากที่ผ่านมาพบว่าการทำงานขององค์กรถูกการเมืองเข้าแทรกแซง และมีปัญหาพนักงานขาดความสามัคคี  อย่างไรก็ตาม  ปัญหาเรื่องการขาดความสามัคคีของพนักงาน ไม่ได้เป็นปัญหาที่หนักใจเมื่อเทียบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยได้มีการเจรจากับคณะกรรมการบริหาร  เพื่อเสนอให้แยกบทบาทหน้าที่ระหว่างกรรมการบริหาร (บอร์ด) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ให้ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ มติคณะรัฐมนตรี และเกิดธรรมาภิบาลในองค์กร โดยในส่วนของกรรมการบริหาร จะมีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์และนโยบาย ส่วนการบริหารงาน เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่"

“การบินไทยเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวที่ต้องพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับเอกชนและหน่วยงานด้านการบินทั่วโลก ซึ่งขณะนี้การบินไทยมีปัญหาด้านการแข่งกับสายการบินในแถบตะวันออกกลาง และโลว์คอสต์ แอร์ไลน์  รวมถึงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ยังมีข้อครหาว่ามีการคอร์รัปชันและใช้อภิสิทธิ์ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ  ต้องเร่งทำให้สายการบินไทยกลับมาเป็นผู้นำในธุรกิจการบิน มีชื่อเสียงทั่วโลกโดยเชื่อว่าหากฟื้นฟูคุณภาพบริการให้ดีขึ้นก็จะกลับมาเป็นสายการบินที่ติดอันดับ 1 ในโลกได้ ”

นั่นทำให้การบินไทยร่วมทุนกับไทเกอร์ แอร์เวย์ 

โดยการบินไทยลงนามในบันทึกความตกลง ( MOU ) ร่วมทุนกับ ไทเกอร์ แอร์เวย์ส  โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส สายการบินต้นทุนต่ำ มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยการบินไทยถือหุ้น 49.8 % ไทเกอร์ แอร์เวย์ส โฮลดิ้ง ถือหุ้น 49.0 % กลุ่มบริษัทในเครือของการบินไทยอีก 1.2 % คิดเป็นมูลค่าการลงทุนของการบินไทย 99.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ การบินไทย ได้สิทธิที่นั่งในคณะกรรมการ 3 คน ส่วนไทเกอร์ แอร์เวย์ส มีที่นั่งในคณะกรรมการ 2 คน โดยผู้บริหารที่จะมาดูแล จะเป็นคนไทย และมีแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ คือ เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 จำนวน 5 ลำ ในปี 2554 และอีก 5 ลำ ในปี 2555 โดยเน้นขายตั๋วโดยสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต 92% เพื่อลดต้นทุน ซึ่งแผนการดำเนินการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

สายการบินต้นทุนต่ำแห่งใหม่ จะทำการบินในเส้นทางภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการในช่วงไตรมาส 1 ของปี 54 เนื่องจากการบินไทยสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับสายการบินโลว์คอสถึง 32 %

หลังจาก 7 ปีที่ผ่านมาการบินไทยเคยมีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจการบินในประเทศถึง 82 % แต่ปัจจุบันทั้งการบินไทย และนกแอร์ มีส่วนแบ่งการตลาดเหลือเพียง 50 % เที่ยวบินในประเทศ ไทย แอร์เอเชีย ครองมากสุดถึง 27.5 % นกแอร์ 16 % บางกอกแอร์เวย์ส 15.8 % วัน-ทู-โก 8.4 %

แต่เกิดความขัดแย้งกับกระทรวงคมนาคม และอำพน กิติอำพน ในสมัยโสภณ ซารัมย์ นั่งว่าการกระทรวงคมนาคม

การปลดปิยสวัสดิ์อย่างกระทันหัน ทำให้ นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย พร้อมด้วยพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ประมาณ 20 คน เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอําพน กิตติอําพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ชี้แจงเหตุผลจากกรณีประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกจ้างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัทการบินไทย

“เหตุผลของคณะกรรมการในการปลดนายปิยสวัสดิ์ มาจากการสื่อสารที่ไม่เป็นเอกภาพนั้น พนักงานไม่เข้าใจในเหตุผลดังกล่าว ผลการประเมินนายปิยสวัสดิ์อยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยในปี 2554 ได้คะแนน 4.36 จากเต็ม 5 หรือคิดเป็นร้อยละ 87.2 อีกทั้งผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2555 มีกำไร 3,645 ล้านบาท และกำไรจากการประกันความเสี่ยงน้ำมัน 900 ล้านบาท รวม 4,545 ล้านบาท โดยขอให้นายอำพน เรียกประชุมพนักงานทั้งหมดเพื่อชี้แจงรายละเอียด”
 

ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ฉายภาพการทำงานของปิยสวัสดิ์ว่า “ที่ผ่านมานายปิยสวัสดิ์ ให้ความจริงพนักงานทุกเวที สามารถส่งอีเมล์ได้โดยตรง ทุกอย่างโปร่งใส เปิดเผยหมด ตอบทุกคำถาม หากประธานบอร์ด ยังหลบหนีพนักงาน จะสะท้อนให้เห็นว่าคนคนนี้ไม่มีภาวะผู้นำ คนจริงต้องไม่กลัว ต้องกล้าเผชิญกับพนักงานกับทุกคำถาม จึงจะถือว่าเป็นคนจริง มิเช่นนั้นถือว่าหมดความชอบธรรมไปแล้ว”

แต่ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ อาจจะไม่มีผลในปฏิบัติ เพราะดูเหมือนว่า คณะกรรมการการบินไทย ได้เตรียมแผนรับมือไว้ก่อนล่วงหน้า

โดยเฉพาะการเลือกดีดีคนใหม่ รัฐบาลก็ส่ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.เข้ามาคัดกรองโดยตรง

ทั้งนี้ คณะกรรมการยังได้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบจำนวน 3 คน โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2555 ประกอบด้วย 1.นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ประธานกรรมการตรวจสอบ 2. นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการ และ 3. นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการ รวมทั้งมีการแต่งตั้งรองประธานกรรมการบริษัท เพิ่มเติม มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ได้แก่ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์

แม้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะยืนกรานว่า “การเมืองไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว” เพราะเป็นมติบอร์ดที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลชุดประชาธิปัตย์

แต่ขีดเส้นใต้ชื่อ “ประภัสร์ จงสงวน” ผู้สมัครดีดีการบินไทยรอบที่แล้วให้ดี เพราะนั่งทำงานอยู่กับ รมว.คมนาคม คนปัจจุบัน !!!
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
อำพน กิตติอำพน
ประภัสร์ จงสงวน
กำลังโหลดความคิดเห็น