xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"เร่งบูรณาการเตือนภัย เปิดเว็บให้ปชช.แจ้งข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (5ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้า การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายรอยล จิตรดอน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ เพื่อติดตามเรื่องระบบบริหารจัดการการเตือนภัย โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุม ให้กรมอุทกศาสตร์ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลเรื่องระบบการเตือนภัย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นายปลอดประสพ กล่าวว่า ที่ประชุมจะหารือเรื่องระบบการเตือนภัย ให้เกิดความความแม่นยำ รวดเร็ว และลงไปถึงระดับชุมชน นอกจากนี้ การสั่งการจะต้องรวมศูนย์ข้อมูลจากจุดเดียวในลักษณะซิงเกิ้ลคอมมาน
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์น้ำในปีนี้ นายปลอดประสพ ยอมรับว่า มีโอกาสที่น้ำจะท่วมเพียง 1 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำ ริมน้ำ และพื้นที่ที่เคยท่วมเดิม ซึ่งเป็นไปตามลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศ แต่การท่วมขังจะกินเวลาไม่นาน และไม่ท่วมสูงเหมือนปีที่ผ่านมา ส่วนพื้นที่ กทม. ยืนยันว่าน้ำไม่ท่วมแน่นอน ยกเว้นบ้านเรือนที่อยู่ริมคลอง
นายปลอดประสพ ยังปฎิเสธข่าวที่ว่า ตนเอง มีความขัดแย้งกับนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการดึงตัวบุคคลเข้ามาช่วยงานในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ( กบอ.) จำนวน 79 คน โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องของนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการ กบอ. ที่ต้องการได้คนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงาน อีกทั้งประธาน กบอ. คือนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกับตน และตนไม่สนใจ ไม่รับรู้อยู่แล้ว เพราะมีหน้าที่ทำงานก็ทำไป ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ปฎิเสธ ที่จะตอบคำถามความขัดแย้งดังกล่าวด้วย
ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ต้องการบูรณาการ ในส่วนของการเตือนภัย เพราะเรามีข้อมูลอยู่หลายกระทรวง และหลายหน่วยงานที่ใช้ในการพยากรณ์ และการเตือนภัยประชาชน
โดยหลักการที่อยากเห็นคือ ขอให้ต้นทางของข้อมูล ส่งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้ก่อน แล้วจะมีระดับในการวิเคราะห์ ถ้าเป็นเรื่องของเทคนิค จะให้ทีมทางด้านคณะกรรมการเทคนิคเป็นผู้วิเคราะห์ เพื่อรวมข้อมูลด้านเทคนิคให้เป็นเอกภาพก่อน และขั้นที่สอง จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ และสุดท้าย จะย่อยข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อที่จะชี้แจงให้กับประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อมวลชนสามารถดูข้อมูลต่างๆนี้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ถือว่าการติดตั้งระบบเตือนภัย เสร็จสมบูรณ์หรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าถามว่าระบบเตือนภัย คำว่าสมบูรณ์ หมายถึงว่า เราต้องมีเครื่องอุปกรณ์เตือนภัยอย่างอัตโนมัติ ซึ่งต้องยอมรับว่าในบางพื้นที่ ไม่ได้มีทั้งหมด แต่พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบ่อย อันนี้ทางท้องที่เราพยายามจะจัดสรรงบประมาณลงไป ซึ่งทำไปแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วน แต่วิธีการเตือนภัยเรามีขบวนการอยู่แล้ว เป็นกลไกของทางด้านกระทรวงมหาดไทย ในการเชื่อมต่อกับทางหน่วยงานทางจังหวัด และอำเภอต่างๆ ซึ่งอาจจะมีหลายๆ รูปแบบ วิธี ตั้งแต่เรื่องการใช้ผ่านศูนย์หอกระจายข่าว เครือข่ายผ่านทางเอสเอ็มเอส หรือแจ้งผ่านทางผู้นำชุมชน ซึ่งราจะพยายามพัฒนาวิธีการต่างๆ เหล่านี้ ให้มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น และมีความคล่องตัวในการกระจายไปยังภาคประชาชน ให้มากที่สุด
เมื่อถามว่า ประชาชนน่าจะสบายใจ กับการเตือนภัยของภาครัฐมากขึ้น ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเรียนว่า ระบบการเตือนภัย ดีขึ้น ซึ่งเราจะพยายามทำข้อมูลให้เป็นเอกภาพ เพราะหลายๆ ครั้ง จะเห็นว่าการให้ข้อมูลข่าวสารกับการเตือนภัยนั้น ประชาชนอาจดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน ซึ่งเราจะแยกการให้ข้อมูลล่วงหน้าให้มากขึ้น ตั้งแต่ระดับจังหวัดเพื่อที่จะตรวจสอบความถูกต้อง และแจ้งไปยังประชาชนหรือเครือข่าย
เมื่อถามว่า ประชาชนจะรับทราบข้อมูลจากเว็บไซต์อะไร และใครเป็นคนรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทางศูนย์บริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ ศบอช. จะดูแล ซึ่งเวลานี้เว็บไซต์ "ไทย วอเตอร์ ดอทเน็ต" เริ่มขึ้นข้อมูลบ้างแล้ว และในส่วนนี้ เราจะบูรณาการเพิ่มเติม นอกจากข้อมูลด้านเทคนิคแล้ว จะมีข้อมูลจากพื้นที่ ในการตรวจสอบความถูกต้อง และข้อมูลของกระทรวงต่างๆ ซึ่งเราจะมองข้อมูลด้านการดูแลประชาชนด้วย เช่น โรงพยาบาลแต่ละแห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้กี่คน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราจะพยายามบูรณาการ และพัฒนาในหลายๆ ส่วน เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ที่ตรงกัน และหน่วยงานคงจะกลับไปทำรายละเอียด ซึ่งตนจะติดตามงานทุกสัปดาห์
เมื่อถามว่า คนที่จะให้ข้อมูลกับประชาชน จะเป็นคนๆ เดียวกันหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะแยกเป็นหลายๆ ระดับ โดยในส่วนของท้องถิ่น และจังหวัด จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลขึ้นมา คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ พร้อมกันนี้ จะมีการเปิดเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนแจ้งข้อมูลเข้ามาอีกทาง และจะได้นำข้อมูลบูรณาการความถูกต้องอีกครั้ง ซึ่งจะสังเกตได้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ได้เกิดความสับสนด้านข้อมูลค่อนข้างเยอะ ดังนั้นเราจะมีหน่วยในการกรอง และลงไปตรวจสอบว่าข้อมูลที่ประชาชนแจ้งมาและข้อมูลที่เราได้รับนั้น อันไหนไม่ถูกต้อง จะให้ต้นสังกัดลงไปตรวจ และแก้ไขกลับมา
เมื่อถามว่า จากการเตรียมความพร้อมที่ผ่านมาทั้งหมด ทำให้นายกฯ สบายใจและโล่งอก กับการที่จะรับมือสถานการณ์น้ำหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องใช้คำว่า ดีขึ้นมากกว่า คำว่าโล่งคงยัง เราไม่อยู่ในความประมาท เพราะเหตุการณ์ยังไม่ถึง ซึ่งต้องทำในเวลา และข้อจำกัดที่มี ให้ดีที่สุด เพราะสิ่งต่างๆ บางอย่างมีสิ่งที่เป็นปัญหาสะสมมา ก็ต้องค่อยๆ แก้ แต่สำหรับปีนี้แน่นอน ต้องมีพัฒนาการ ที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แน่นอน
เมื่อถามว่าได้รับรายงานเรื่องพื้นดินทรุดที่ จ.อ่างทอง หรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้รับรายงานแล้ว และได้ให้กรมทรัพยากรและธรณี ลงไปตรวจสอบแล้ว เบื้องค้นบ้านเรือนที่มีความเสียหาย ได้ให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว และให้ทางกระทรวงหมาดไทย โดยกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ. เข้าไปดูแลอพยพผู้คนเรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น