xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ สั่งเน้นระบบเตือนภัย รับยังไม่โล่งอกแต่ดีขึ้น “ปลอด” โวลุ้นท่วมแค่ 1%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




“ยิ่งลักษณ์” ประธานถกป้องกันน้ำท่วม สั่งกรมอุทกศาสตร์-ปภ.ดูระบบเตือนภัย รับอยากเห็นต้นทางส่งข้อมูลจริง ชี้มีหลายรูปแบบแจ้งเตือน ชู “เว็บไทยวอเตอร์ดอตเน็ต” อัปเดตแจ้งภัย ยันยังไม่โล่งอกรับมือน้ำแต่เชื่อพัฒนาดีขึ้นกว่าปี 54 ทราบแล้วดินทรุดอ่างทอง “ปลอดประสพ” เผยให้สั่งการรวมศูนย์ข้อมูลจุดเดียว โอ่ปีนี้มีลุ้นท่วมแค่ 1% กทม.ไม่โดนแน่ ปัดขัดแย้ง “ปรีชา”

วันนี้ (5 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ นายรอยล จิตรดอน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อติดตามเรื่องระบบบริหารจัดการการเตือนภัย โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมให้กรมอุทกศาสตร์ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลเรื่องระบบการเตือนภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นายปลอดประสพกล่าวว่า ที่ประชุมจะหารือเรื่องระบบการเตือนภัยให้เกิดความแม่นยำ รวดเร็ว และลงไปถึงระดับชุมชน นอกจากนี้ การสั่งการจะต้องรวมศูนย์ข้อมูลจากจุดเดียวในลักษณะซิงเกิ้ลคอมมาน อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์น้ำในปีนี้ยอมรับว่ามีโอกาสที่น้ำจะท่วมเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำ ริมน้ำ และพื้นที่ที่เคยท่วมเดิม ซึ่งเป็นไปตามลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศ แต่การท่วมขังจะกินเวลาไม่นาน และไม่ท่วมสูงเหมือนปีที่ผ่านมา ส่วนพื้นที่ กทม.ยืนยันว่าน้ำไม่ท่วมแน่นอน ยกเว้นบ้านเรือนที่อยู่ริมคลอง

นายปลอดประสพยังปฏิเสธข่าวความขัดแย้งกับนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการดึงตัวบุคคลเข้ามาช่วยงานในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จำนวน 79 คน โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการ กบอ. ที่ต้องได้คนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงาน อีกทั้งประธาน กบอ.คือนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกับตน และตนไม่สนใจ ไม่รับรู้อยู่แล้ว เพราะมีหน้าที่ทำงานก็ทำไป ขณะที่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะตอบคำถามความขัดแย้งดังกล่าวด้วย

จากนั้น เมื่อเวลา 11.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้มาบูรณาการในส่วนของการเตือนภัย เพราะเรามีข้อมูลอยู่หลายกระทรวงและหลายหน่วยงานที่ใช้ในการพยากรณ์และการเตือนภัยประชาชน หลักการที่เราอยากเห็นคือขอให้ต้นทางของข้อมูลส่งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้ก่อน แล้วจะมีระดับในการวิเคราะห์ ถ้าเป็นเรื่องของเทคนิคจะให้ทีมทางด้านคณะกรรมการเทคนิคเป็นผู้วิเคราะห์ เพื่อรวมข้อมูลด้านเทคนิคให้เป็นเอกภาพก่อนและขั้นที่สองจะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่และสุดท้ายจะย่อยข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะชี้แจงให้กับประชาชนผ่านทางเว็บไซต์และสื่อมวลชนสามารถดูข้อมูลต่างๆ นี้ได้ ให้เป็นเอกภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ถือว่าการติดตั้งระบบเตือนภัยเสร็จสมบูรณ์หรือยัง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้าถามว่าระบบเตือนภัยคำว่าสมบูรณ์หมายถึงว่าเราต้องมีเครื่องอุปกรณ์เตือนภัยอย่างอัตโนมัติ ซึ่งต้องยอมรับว่าในบางพื้นที่ไม่ได้มีทั้งหมด แต่พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบ่อยอันนี้ทางท้องที่เราพยายามจะจัดสรรงบประมาณลงไป ซึ่งทำไปแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วน แต่วิธีการเตือนภัยเรามีขบวนการอยู่แล้ว เป็นกลไกของทางด้านกระทรวงมหาดไทยในการเชื่อมต่อกับทางหน่วยงานทางจังหวัดและทางอำเภอต่างๆ ซึ่งอาจจะมีหลายๆ รูปแบบวิธี ตั้งแต่เรื่องการใช้ผ่านศูนย์หอกระจายข่าว เครือข่ายผ่านทางเอสเอ็มเอส หรือแจ้งผ่านทางผู้นำชุมชน ซึ่งราจะพยายามพัฒนาวิธีการต่างๆ เหล่านี้ ให้มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้นและมีความคล่องตัวในการกระจายไปยังภาคประชาชนให้มากที่สุด

เมื่อถามว่า ประชาชนน่าจะสบายใจกับการเตือนภัยของภาครัฐมากขึ้นได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอเรียนว่าระบบการเตือนภัยดีขึ้น ซึ่งเราจะพยายามทำข้อมูลให้เป็นเอกภาพ เพราะหลายๆครั้งจะเห็นว่าการให้ข้อมูลข่าวสารกับการเตือนภัยนั้นประชาชนอาจดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน ซึ่งเราจะแยกการให้ข้อมูลล่วงหน้าให้มากขึ้น ตั้งแต่ระดับจังหวัดเพื่อที่จะตรวจสอบความถูกต้องและแจ้งไปยังประชาชนหรือเครือข่าย

เมื่อถามว่า ประชาชนจะรับทราบข้อมูลจากเว็บไซต์อะไรและใครเป็นคนรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทางศูนย์บริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติหรือ ศบอช.จะดูแล ซึ่งเวลานี้เว็บไซต์ “ไทยวอเตอร์ดอตเน็ต” เริ่มขึ้นข้อมูลบ้างแล้ว และในส่วนนี้เราจะบูรณาการเพิ่มเติมนอกจากข้อมูลด้านเทคนิคแล้วจะมีข้อมูลจากพื้นที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและข้อมูลของกระทรวงต่างๆ ซึ่งเราจะมองข้อมูลด้านการดูแลประชาชนด้วย เช่น โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้กี่คน สิ่งต่างๆเหล่านี้เราจะพยายามบูรณาการและพัฒนาในหลายๆส่วน เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ที่ตรงกันและหน่วยงานคงจะกลับไปทำรายละเอียด ซึ่งจะติดตามงานทุกสัปดาห์

เมื่อถามว่าผู้ที่จะให้ข้อมูลต่อประชาชนจะเป็นคนคนเดียวกันหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะแยกเป็นหลายๆ ระดับ โดยในส่วนของท้องถิ่นและจังหวัดจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลขึ้นมา คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ พร้อมกันนี้จะมีการเปิดเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนแจ้งข้อมูลเข้ามาอีกทาง และจะได้นำข้อมูลบูรณาการความถูกต้องอีกครั้ง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านได้เกิดความสับสนด้านข้อมูลค่อนข้างเยอะ ดังนั้นเราจะมีหน่วยในการกรองและลงไปตรวจสอบว่าข้อมูลที่ประชาชนแจ้งมาและข้อมูลที่เราได้รับนั้นอันไหนไม่ถูกต้อง จะให้ต้นสังกัดลงไปตรวจและแก้ไขกลับมา

เมื่อถามว่า จากการเตรียมความพร้อมที่ผ่านมาทั้งหมดทำให้นายกฯสบายใจและโล่งอกกับการที่จะรับมือสถานการณ์น้ำหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องใช้คำว่าดีขึ้นมากกว่า คำว่าโล่งคงยัง เราไม่อยู่ในความประมาท เพราะเหตุการณ์ยังไม่ถึง ซึ่งต้องทำในเวลาและข้อจำกัดที่มีให้ดีที่สุด เพราะสิ่งต่างๆบางอย่างมีสิ่งที่เป็นปัญหาสะสมมา ก็ต้องค่อยๆ แก้ แต่สำหรับปีนี้แน่นอนต้องมีการพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน

เมื่อถามว่า ได้รับรายงานเรื่องพื้นดินทรุดที่ จ.อ่างทองหรือยัง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้รับรายงานแล้ว ในส่วนของพื้นที่ดินทรุดในจังหวัดอ่างทอง ขณะนี้ได้ให้กรมทรัพยากรและธรณีลงไปตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นบ้านเรือนที่มีความเสียหายได้ให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้วและให้ทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. เข้าไปดูแลอพยพผู้คนเรียบร้อยแล้วและจะรอการรายงานอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพราะต้องตรวจสอบพื้นดินเรื่องความทรุด รอยเลื่อนต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า ต้องประกาศเป็นพื้นที่ฉุกเฉินหรือไม่ ในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เวลานี้ให้ทางกระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแลช่วยเหลือพื้นที่เฉพาะจุดนั้นก่อนและจะเร่งติดตามการรายงาน เมื่อถามว่า ยังมีพื้นที่อื่นอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตอนนี้พยายามเก็บข้อมูลพื้นที่ต่างๆ เข้ามาดูและได้ฝากกำชับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพยายามระมัดระวังปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ริมตลิ่ง






กำลังโหลดความคิดเห็น