ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ประชุมแก้ปัญหาลุ่มน้ำยมที่เชียงใหม่คืบหน้าหลายปัญหา ทั้งมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ-สั่งการเร่งดำเนินการ สั่ง “ป่าไม้-อุทยาน” วางแผนปลูกป่า ระบุ ปลูกแล้วต้องซับน้ำได้ พร้อมเตรียมตั้ง กบอ.จังหวัดคอยประสานกับตัดสินใจระดับพื้นที่ ด้านแผนงานเร่งด่วนเดินหน้าเร่งขุดลอก-ทำแก้มลิงสู้นำล้นตลิ่ง-รักษาพื้นที่สำคัญ “ปลอดประสพ” ชี้ประชุมคืบหน้ามีส่อเอาอยู่รับมือน้ำ แต่ยังอุบไม่บอก “แก่งเสือเต้น” เกิดหรือไม่
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นประธานการประชุมเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม โดยมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
การประชุมในวันนี้มีขึ้นเพื่อร่วมกันหารือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งถือเป็นหนึ่งลุ่มน้ำที่ประสบปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา โดยนายปลอดประสพกล่าวกับที่ประชุมว่า สาเหตุที่พื้นที่ลุ่มน้ำยมได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง ประกอบด้วยปัจจัยหลายด้าน ทั้งจากการที่พื้นที่ป่า 7.38 ล้านไร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมไม่มีความสามารถในการดูดซับน้ำ ประกอบกับการไม่มีพื้นที่กักเก็บ หรือระบบการจัดการน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 80% ที่ตกลงในพื้นที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำและท่วมพื้นที่ต่างๆ ขณะเดียวกัน แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำที่ผ่านมา ถือว่าล้มเหลว เพราะไม่สามารถแก้ไขทั้งปัญหาน้ำท่วม และปัญหาภัยแล้งได้
นายปลอดประสพกล่าวต่อไปว่า การประชุมในวันนี้จะหารือกันใน 10 ประเด็น โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในการประชุมหารือครั้งนี้จะต้องสามารถอธิบายถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำยมในเชิงลึกได้ จากนั้น จะต้องสามารถสรรหาวิธีการแก้ไขปัญหาในเชิงเทคนิคจากทางเลือกต่างๆ โดยทุกเรื่องจะต้องสามารถระบุตัวผู้รับผิดชอบได้ว่า หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานใดบ้าง และจะสามารถเริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุดเมื่อใด
พร้อมทั้งต้องระบุกระบวนการการทำงาน และความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างชัดเจน จากนั้น จึงจะพิจารณาว่าเรื่องใดที่มีความสำคัญ และต้องเร่งดำเนินการในฐานะโครงการระยะสั้นเพื่อเผชิญเหตุในช่วง 2 เดือนที่จะถึงนี้ รวมไปถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม รวม 6 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นการปลูกป่าเพื่อซับน้ำ ซึ่งนายปลอดประสพได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเร่งสำรวจพื้นที่ป่าในเขตลุ่มน้ำยม เพื่อวางแผนการปลูกป่า โดยกำหนดให้พื้นที่ป่าที่จะปลูกขึ้นนั้นจะต้องสามารถดูดซับน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งสองกรมจะต้องพิจารณาว่า จะวางแผนการปลูกป่า และเลือกพันธุ์พืชอย่างไร พร้อมทั้งประสานไปยังทางจังหวัดที่เป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย
ขณะเดียวกัน ก็มอบหมายให้จังหวัดเป็นเจ้าภาพ ในการติดตามตรวจสอบพื้นที่ป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ซึ่งถูกจัดสรรไปเป็นพื้นที่ปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อนำกลับคืนมาให้กรมป่าไม้ดูแล
ประเด็นต่อมาที่มีการพิจารณา คือ การเตรียมการด้านการเตือนภัยน้ำป่าและดินถล่ม ซึ่งที่ประชุมได้เสนอให้มีการทำแผนเฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำยมโดยเฉพาะ โดยมอบหมายให้ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขานุการ กบอ.เป็นผู้ดูแลร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี
ส่วนการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่สำคัญในเขตลุ่มน้ำยมนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้กองทัพบกเข้ามาช่วยดำเนินการในการขุดลอกตามเส้นทางการระบายน้ำต่างๆ รวมถึงการเตรียมจัดทำแก้มลิง และจัดหาพื้นที่รับน้ำ โดยให้แต่ละจังหวัดประสานกับประชาชนเพื่อทำความเข้าใจในกรณีที่ต้องสละพื้นที่บางจุดเพื่อใช้รับน้ำ โดยให้ยืนยันว่า หากพื้นที่ใดต้องรับน้ำตามแผนงานเพื่อเป็นการป้องกันพื้นที่ส่วนอื่นๆ ทางรัฐบาลจะมีการชดเชยความเสียหายให้อย่างแน่นอน
ด้านประเด็นการสำรวจหาจุดที่จะก่อสร้างคันกั้นน้ำเพื่อเตรียมการบรรเทาปัญหาในระยะสั้นนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้แต่ละจังหวัดสำรวจ และตัดสินใจเลือกพื้นที่สำคัญที่จะดำเนินการ โดยเน้นว่า ต้องส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงให้น้อยที่สุด ขณะที่ประเด็นการก่อสร้างประตูน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำนั้นมีการดำเนินการอยู่แล้วในหลายจุด
อย่างไรก็ตาม หากเกิดอุทกภัยขึ้นก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ประตู้น้ำที่กำลังก่อสร้างทุกแห่งก็พร้อมจะเปิดให้น้ำผ่านได้ทันที หรือหากกีดขวางทางน้ำก็สามารถรื้อถอนได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนประเด็นสุดท้ายที่มีการหารือกันในช่วงเช้า ได้แก่ การควบคุมดูแลช่องทางน้ำที่ไม่มีประตูน้ำควบคุม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบที่จะจัดตั้ง กบอ.ระดับจังหวัด โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่ง กบอ.จังหวัดนี้จะมีอำนาจในการตัดสินใจในระดับพื้นที่ และมีนายอำเภอในแต่ละพื้นที่ร่วมอยู่ในคณะเพื่อร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวถึงการประชุมในช่วงเช้าว่า สิ่งที่จะดำเนินการทันทีคือ การแก้ปัญหากรณีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่สำคัญ ซึ่งได้กำชับให้คณะอนุกรรมการควบคุมน้ำที่มี ดร.รอยล จิตดอน เป็นประธานให้เพิ่มความถี่ในการหารือเตรียมการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเตรียมการให้สามารถวางแผนและสั่งการโดยไม่ต้องเรียกประชุมเป็นทางการ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมการไหลของน้ำได้ทันเวลา
ส่วนการดำเนินการขุดลอกคูคลอง และเส้นทางน้ำสำคัญๆ นั้น จะให้ทหารเข้ามาดำเนินการทันที โดยจะให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน รวมทั้งจะทำแก้มลิงในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเพื่อรองรับน้ำด้วย ขณะที่พื้นที่สำคัญบางจุดก็จะมีการสร้างเขื่อนขนาดเล็กเพื่อป้องกันพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ จะมีการจัดหาพื้นที่ริมน้ำเพื่อใช้เป็นแก้มลิงเพิ่มเติม โดยหากมีการใช้พื้นที่ดังกล่าวและมีประชาชนได้รับความเสียหาย รัฐบาลจะชดเชยค่าเสียหายให้ ซึ่งจากหารือและการเตรียมการในประเด็นต่างๆ เชื่อว่าหากปริมาณน้ำในปีนี้ไม่สูงมากพื้นที่ลุ่มน้ำยมจะไม่ประสบปัญหาอุทกภัย หรือหากประสบปัญหาก็จะไม่รุนแรงเหมือนในปีที่ผ่านมา
ส่วนกรณีการหารือในภาคบ่าย ซึ่งจะมีการพูดคุยถึงการวางระบบรองรับน้ำขนาดใหญ่ และคาดกันว่า อาจมีการหยิบยกเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นเข้ามาพิจารณาด้วยนั้น นายปลอดประสพกล่าวเพียงว่า ยังบอกไม่ได้ แต่การหารือกันในช่วงบ่ายวันนี้คาดว่าจะได้ความชัดเจนในท้ายที่สุด ว่าในอนาคตจะวางแผนดำเนินการบริหารจัดการน้ำ และจัดหาแหล่งรองรับน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างไร