xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ประเคน ”ปลอด”200ล. ตรวจเมฆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ประเคน 200 ล้าน ให้"ปลอด" ตรวจเมฆ แทนนาซา ด้านปชป. อัด"ปลอด"ใช้ทีวีรัฐบิดเบือน ใส่ร้าย ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ลั่นต้องฟ้อง แฉเส้นทางปฏิบัติการ NASA สำรวจเมฆ กินพื้นที่ 12 ประเทศ แต่ มะกัน ขออนุญาตแค่ สิงคโปร์ - กัมพูชา ขณะที่ หน่วยงานด้านความมั่นคง แฉ สิงคโปร์-กัมพูชา ไม่อนุญาตให้บินเหนือพื้นดิน แต่ กต.อ้างคำสหรัฐฯ อนุมัตแล้วทั้งสองประเทศ หวั่น ดึงข้อมูลใช้ทางการทหาร

วานนี้ (3 ก.ค.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โครงการจัดทำแผนสำรวจชั้นบรรยากาศ และผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นผู้ดูแลในโครงการนี้ แม้ว่าองค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (นาซา) จะยกเลิกการเข้ามาศึกษาในเรื่องนี้ แต่รัฐบาลเห็นประโยชน์ และควรศึกษาต่อ

ส่วนตัวเลขที่มีการเสนอไปว่าจะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ยังไม่แน่นอน ภายในอาทิตย์นี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน เพื่อจะเสนอคณะรัฐมนตรีว่าเรามีแผนอะไร จะใช้เงินแค่ไหน

** "ปลอด"ยกแผนป้องกันน้ำท่วมมาอ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปลอดประสพ ได้ยกเหตุผลเสนอต่อที่ประชุม ครม. ว่าโครงการนี้ เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่ประเทศไทยจะต้องรับข้อมูลพื้นฐานทางด้านเมฆ และอนุภาคขนาดเล็กในบรรยากาศชั้นสูง เพื่อการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายปลอดประสพ ยังได้แนบรายงาน “การหารือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านเคมีและฟิสิกส์
ของชั้นบรรยากาศไทย” ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานของรัฐจำนวน 10 คน

ทั้งนี้ ในรายงานได้ระบุถึงข้อเสนอแนะถึงแนวทางการศึกษาวิจัยด้านเคมีและฟิสิกส์ ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งรูปแบบการศึกษา โดยมีการแบ่งการศึกษาเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงปลายฤดูฝน ก.ย.-ต.ค. จะเป็นการศึกษากระบวนการเกี่ยวกับเมฆ รวมทั้งฝุ่นละอองที่มาจากการเผาไหม้ในประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่ศึกษาคือ ในทะเลทั้งสองฝั่งของภาคใต้ฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย

ส่วนช่วงฤดูแล้ง ก.พ.-มี.ค. จะเป็นการศึกษาผลจากการเผาป่าและพื้นที่เกษตรในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งกระบวนการในชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อการกระจายและการสะสมของละอองหมอกควัน พื้นที่ศึกษาคือพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

สำหรับการศึกษาจะประกอบด้วยการเก็บตัวอย่าง ทั้งการเก็บข้อมูลทรงตรงและการตรวจวัดระยะไกล ประกอบด้วย การเก็บข้อมูลภาคพื้นที่ดิน จะใช้สถานีตรวจอากาศของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ส่วนภาคทางอากาศจะใช้เครื่องบิน Super King Air ของสำนักฝนหลวง สำรวจอากาศกับหน่วยงานพยากรณ์ของรัฐด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ขณะที่ภาคทางทะเล จะใช้เรือสำรวจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านภาคดาวเทียม จะใช้ดาวเทียมไทยโซต โดยทั้งหมด จะนำมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ จากนั้นจะทำแบบจำลอง โดยผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน รวมถึงการมีส่วนร่วมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจของโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันจะพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อีกจำนวนมาก โดยรายละเอียดของงบประมาณในการใช้สามารถมีความชัดเจนในวันที่ 14 - 15 ก.ค.นี้ ขณะที่การดำเนินการ จะเป็นการดำเนินงานในระยะสั้น ระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.55 - เม.ย.56 กรอบวงเงิน 200 ล้านบาท

** ปชป.ขู่ฟ้อง"ปลอด"บิดเบือน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ไปออกรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่เบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องโครงการสำรวจอากาศ ของนาซ่า แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดกลับพบว่าเป็นการใช้เวทีสถานีโทรทัศน์ของรัฐ บิดเบือนข้อเท็จจริง โจมตีพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ว่าเหตุที่โครงการสำรวจอากาศต้องชะลอออกไป เป็นความผิดของพรรคประชาธิปัตย์ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลเท็จ และโยนความผิดให้หน่วยงานอื่น ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมเกียรติ สำหรับบุคคลที่นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะได้มีการกล่าวหาองค์กรอิสระ และองค์กรตุลาการอย่างร้ายแรง ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ ทางพรรคได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย ดูรายละเอียดเนื้อหาของรายการดังกล่าว เพื่อเตรียมฟ้องร้องเอาผิดนายปลอดประสพ ที่กล่าวให้ร้ายพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้พรรคเสียหาย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นตัวอย่างว่าคนที่เป็นถึงรัฐมนตรี ควรมีวิสัยทัศน์ มีวุฒิภาวะในการทำงานเพื่อบ้านเมืองมากกว่านี้

** "ปู"เชื่อไม่กระทบสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการร่วมรับประทานอาหารกับผู้นำเหล่าทัพ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ไม่ได้มีการประเมินสถานการณ์อะไร เป็นแค่การประชุมหารือกัน ตามวาระปกติทั่วไป ส่วนปัญหาที่นาซาถอนตัวจากการขอใช้สนามบินอู่ตะเภา หลังมีปัญหาถูกคัดค้านนั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

เมื่อถามว่าเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ นายกฯ จะไปร่วมประชุมยูเอ็นหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า หากไม่มีอะไรก็อยากไป เพราะจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีการพูดคุยพบปะผู้นำ

** แฉแผนนาซาครอบคลุม 12 ประเทศ

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีมติไม่อนุมัตให้ NASA ใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานปฏิบัติการสำรวจก้อนเมฆ ตามโครงการ SEAC4RS จนทำให้ NASA ต้องยกเลิกภารกิจดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดแผนงานไว้ แต่ ครม.วันที่ 26 มิ.ย. 55 ระบุชัดเจนให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือนสิงหาคม แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีคนในรัฐบาลออกมาอธิบายรายละเอียดทั้งหมดของโครงการให้ประชาชนได้เข้าใจถึงผลดีทางวิทยาศาสตร์ และผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในด้านความมั่นคง และ การต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายวานว่าจากกรณีนาซา ยกเลิกภารกิจในโครงการการตรวจสภาพภูมิอากาศอากาศ ที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการนั้น เพจสายตรงภาคสนาม ได้นำเสนอเอกสาร “ แผนงานการศึกษาโครงการ SEAC4RS ที่มีการสรุปรายละเอียดไว้ ตั้งแต่ช่วงแรก ที่คิดจะใช้สนามบินสุราษฎร์ธานี เป็นฐานปฎิบัติการ แต่สุดท้ายมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังเป็นสนามบินอู่ตะเภา

อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเส้นทางการบินสำรวจที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในภารกิจนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ http://espo.nasa.gov...29SEP2010-1.pdf/ ของ NASA มีการเผยแพร่เอกสารแผนงานการศึกษาโครงการดังกล่าวรวม 34 หน้า มีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุประสงค์ ไปจนถึงประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ที่จะได้จากการทดลองครั้งนี้

ที่น่าสนใจคือ หน้าที่ 23 ซึ่งในขณะนั้นมีการระบุถึง การใช้สนามบินสุราษฎร์ธานีเป็นฐานปฏิบัติการในการบินสำรวจ โดยกำหนดพื้นที่ที่ต้องขออนุญาตรวม 12 ประเทศ และ อีก 17 น่านฟ้า ซึ่งเครื่องบินที่จะสำรวจต้องใช้ชั่วโมงบินถึง 154 ชั่วโมงบิน เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ให้สำเร็จ แบ่งเป็น 10 ชั่วโมง ของการบินทอดสอบ 24 ชั่วโมง สำหรับการแวะเปลี่ยนเครื่องในการบินในแต่ละทิศทาง และ 96 ชั่วโมง สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะแบ่งเป็น 12 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 8 ชั่วโมง โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 40-45 วัน ในช่วงเดือนกันยายน - สิงหาคม

นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายถึงแผนที่ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ประเทศไทยไปถึงบังคลาเทศ โดยมีการแบ่งเป็นวงกลมชั้นในและชั้นนอก ซึ่งในเอกสารมีการระบุถึงระยะทางการบินว่า สามารถบินจากฐานปฏิบัติการไปยังเส้นขอบของวงกลมชั้นในไปกลับ ภายใน 6 ชั่วโมง ส่วนวงกลมชั้นนอกจะใช้เวลาเดินทางรวม 8 ชั่วโมง

ในเอกสารหน้าที่ 24 ยังมีแผนที่กำหนดความสำคัญของน่านฟ้าใน 12 ประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการทดลองในโครงการนี้ ประกอบด้วย บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว พม่า เนปาล ฟิลลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยแลนด์ และ เวียดนาม โดยในตารางกำหนดความสำคัญของการบิน เหนือพื้นดิน และเหนือทะเลอาณาเขตที่ต้องทำการสำรวจเอาไว้อย่างละเอียด มีการจัดลำดับความสำคัญไว้ดังนี้ คือ ไม่จำเป็น ได้ก็ดี สำคัญ และสำคัญมากที่สุด

บังคลาเทศ Dhaka มีความสำคัญทั้งเหนือทะเลอาณาเขต และเหนือแผ่นดิน กัมพูชา Phnom Penh เหนือทะเลอาณาเขต ไม่จำเป็น ส่วน เหนือพื้นดิน ได้ก็ดี อินเดีย กำหนด 3 จุด คือ Chennai , Kolkata , Colombo ระบุว่า เหนือทะเลอาณาเขตของทั้งหมดอยู่ในระดับสำคัญมากที่สุด ส่วนเหนือพื้นดินสำคัญเฉพาะ Kolkata อินโดนีเซีย Jakarta , Ujung Pandang โดย Jakarta ถูกจัดลำดับว่า มีความสำคัญเฉพาะเหนือทะเลอาณาเขตส่วนอื่นได้ก็ดี ลาว Vieentiane ระบุไว้ว่า เหนือทะเลอาณาเขต ไม่จำเป็น ส่วนเหนือพื้นดินได้ก็ดี มาเลเซีย Kuala Lumper เหนือทะเลอาณาเขต สำคัญมากที่สุด เหนือพื้นดิน ได้ก็ดี Kota Kinabalu ทั้งเหนือทะเลอาณาเขตและเหนือพื้นดินได้ก็ดี

พม่า Yangon ได้ก็ดีทั้งเหนือทะเลอาณาเขตและเหนือพื้นดิน ส่วน เนปาล Kathmandu สำคัญเฉพาะเหนือพื้นดิน ฟิลิปปินส์ Manila เหนือทะเลอาณาเขตสำคัญมากที่สุด เหนือพื้นดินได้ก็ดี สิงคโปร์ เหนือทะเลอาณาเขตสำคัญที่สุด เหนือพื้นดิน ได้ก็ดี ประเทศไทย Bangkok สำคัญมากที่สุดทั้ง เหนือทะเลอาณาเขต และเหนือพื้นดิน สำหรับ เวียดนาม Ho Chi Minh เหนือทะเลอาณาเขต สำคัญมากที่สุด ส่วนเหนือพื้นดิน ได้ก็ดี และ Hanoi ระบุสถานะไว้ว่าได้ก็ดี ทั้ง เหนือทะเลอาณาเขตและ เหนือพื้นดิน

ทั้งนี้เพจสายตรงภาคสนาม ยังได้ตรวจสอบในสไลด์โครงการที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์

http://espo.nasa.gov/missions/sites/default/files/documents/seac4rs_sci_meet/feb_2012/01WednesdayAfternoon/Reid_SurfaceMeasurements.pptx ของ NASA ซึ่งระบุเดือนที่จัดทำคือ เดือนกุมภาพันธ์ 2012 ก็ยังพบว่าหน้าที่ 15 ยังมีแผนที่กำหนดเส้นทางการบินชุดเดียวกับที่เผยแพร่ไว้ในแผนงานการศึกษาโครงการ หน้าที่ 24 เอาไว้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงฐานปฏิบัติการจากสนามบินสุราษฎร์ธานี เป็นสนามบินอู่ตะเภาแล้วก็ตาม เพียงแต่ในสไลด์ชุดดังกล่าว ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ 12 ประเทศ ที่ต้องทำการอนุญาตที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นเท่านั้น

จากข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อท้วงติงของ นายพรชาด บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ ในการประชุมร่วมหน่วยงานไทยด้านความมั่นคง ด้านวิชาการ เพื่อพิจารณาข้อเสนอ NASA เมื่อวันที่ 27 ม.ค.55 ที่กล่าวไว้ว่า

“ฝ่ายสหรัฐฯควรทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่เกี่ยวข้องภายในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน กับอินเดียซึ่งเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ เนื่องจากขอบเขตการบินไปถึงบังคลาเทศ และเนปาล รวมถึงทะเลจีนใต้ด้วย อีกทั้งยังเห็นว่าฝ่ายสหรัฐฯควรมีเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับความเห็นชอบของประเทศเพื่อนบ้านด้วย”

อย่างไรก็ตาม เอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 4 มิ.ย.55 ที่นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ลงนามโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ กลับระบุพื้นที่ปฏิบัติโครงการว่าจะทำการบินเหนือพื้นที่ของไทย สิงคโปร์ และกัมพูชา และเหนือน่านน้ำสากล ที่อยู่ภายใต้การควบคุมทางอากาศของไทย สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งได้รับคำยินยอมจาก สิงคโปร์ และ กัมพูชาแล้ว และระบุว่า สหรัฐฯ ได้บรรยายสรุปให้ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในภูมิภาครับทราบถึงโครงการโดยไม่มีประเทศใดคัดค้าน

เพจสายตรงภาคสนาม ได้รับคำยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูง ในหน่วยงานด้านความมั่นคง ว่า ทั้งกัมพูชา และสิงคโปร์ ไม่ยินยอมให้การสำรวจครั้งนี้บินเหนือพื้นที่ของทั้งสองประเทศตามที่มีการกล่าว อ้างแต่อย่างใด โดยอนุญาตให้บินเหนือทะเลอาณาเขตเท่านั้น มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียว ที่ให้บินได้ทั้งเหนือทะเลอาณาเขต และเหนือพื้นดิน แม้จะมีการระบุว่า จะมีการเสนอแผนการบินต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบินของไทย รวมทั้งปฏิบัติตามข้อจำกัดที่กำหนดสำหรับการบินอย่างเคร่งครัด แต่ฝ่ายความมั่นคง ยังมีข้อห่วงใยว่าการทำวิจัยครั้งนี้ อาจมีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางด้านการทหาร การสำรวจ ทรัพยากรธรรมชาติ และที่สำคัญคือ อาจเกิดปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. ลงวันที่ 25 มิ.ย.55 ก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในครม.วันที่ 26 มิ.ย.55 มีเนื้อหาว่า

ในหลักการเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่การดำเนินการควรศึกษารายละเอียดของโครงการ SEAC4RS และ กฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดขอบเขตและมาตรการควบคุมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเทคโนโลยี สังคมจิตวิทยา ความมั่นคง และมิตรประเทศ รวมทั้งกำกับดูแล การปฏิบัติให้เกิดความโปร่งใส สามารถชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนและนานาประเทศได้
กำลังโหลดความคิดเห็น