xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งคณะผู้พิพากษาพิจารณาคดี"แม้ว"โกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน เพื่อพิจารณาคดี “ทักษิณ-อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย” ทุจริตปล่อยกู้เงินเครือกฤษดานคร พร้อมนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ 25 ก.ค.นี้ ส่วนศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่งปลด "ศิโรตน์" ออกจากราชการ พร้อมคืนสิทธิให้ทุกอย่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (27 มิ.ย.) ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ได้มีการนัดประชุมใหญ่เพื่อลงมติเลือกองค์คณะผู้พิพากษา จำนวน 9 คน เพื่อพิจารณาพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 ที่ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ 1, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของ บริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 ราย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และ ความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535

โดยที่ประชุมใหญ่มีมติเลือก นายมานัส เหลืองประเสริฐ รองประธานศาลฎีกา, นายดิเรก อิงคนันท์ รองประธานศาลฎีกา, นายวีระวัฒน์ ปวราจารย์ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา, นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, นายชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา, นายมนูพงศ์ รุจิกัณหะ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา, นายชินวิทย์ จินดาแต้มแก้ว ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายพันวะสา บัวทอง ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเลือกผู้พิพากษาองค์คณะทั้ง 9 คนแล้ว ต่อไปองค์คณะจะได้ประชุมภายในเพื่อลงมติเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

วันเดียวกันนี้ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค.2551 ที่สั่งลดโทษปลดนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ในขณะนั้นออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและให้คืนสิทธิประโยชน์ตามที่นายศิโรตม์ พึงมีพึงได้ตามกฎหมายแก่นายศิโรตม์

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก นายศิโรตม์ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่า มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร ได้เห็นชอบให้มีการรับโอนหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จาก น.ส.ดวงตา วงษ์ภักดี ผู้ถือห้นแทนคุณหญิง พจมาน ชินวัตร เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ว่า เป็นการโอนให้โดยเสน่หา ทำให้ไม่ต้องชำระภาษี
กำลังโหลดความคิดเห็น