ทีมกฎหมาย ปชป.จ้องยื่นถอดถอน อสส. ทำพิรุธไม่ฟ้องฎีกา “พจมาน” คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินกว่า 500 ล้าน แถมปกปิดไม่ยอมให้คัดสำเนาคำสั่งไม่ฟ้อง อ้างดุลพินิจตาม รธน.ตามอำเภอใจไม่ได้ ชี้ทนายแผ่นดินต้องรักษาประโยชน์บ้านเมือง
วันนี้ (11 มิ.ย.) นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องให้อัยการสูงสุดอนุญาตให้ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์คัดสำเนาเอกสารความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องศาลฎีกาของพนักงานอัยการในคดีที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน จงใจหลีกเลี่ยงภาษีกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ 3 ปี จำคุกนางกาญจนาภา 2 ปี แต่อัยการสูงสุดกลับมีคำสั่งไม่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา โดยอ้างว่ามีความเห็นตรงกับศาลอุทธรณ์ โดยทีมกฎหมายของพรรคได้ทำหนังสือขอคัดสำเนาเอกสารความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้คัดสำเนาเอกสารตามที่ขอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ตนได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ถึงประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่ออุทธรณ์คำสั่งของพนักงานอัยการสูงสุดที่มิให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายพิจารณาคำอุทธรณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้วินิจฉัยอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ ดังนั้นจะได้นำคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอคัดสำเนาเอกสารความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องศาลฎีกาในคดีเลี่ยงภาษีของคุณหญิงพจมานอีกครั้ง
“หากมีความพยายามถ่วงเวลาไม่ให้คัดสำเนาเอกสารก็จะเป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่จะนำไปสู่การถอดถอนได้ เริ่มจากการไม่ให้ข้อมูลข่าวสาร เพราะหากมีความสุจริตจริงต้องเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ เนื่องจากคดีนี้ถึงที่สุดแล้วจะอ้างความไม่มีประสิทธิภาพโดยโยงกับคดีอื่นไม่ได้”
นายถาวรกล่าวว่า ต้องการนำเอกสารทั้งหมดมาพิจารณาว่าคำสั่งของอัยการมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับคดีคุณหญิงพจมานตั้งแต่ต้นเป็นอย่างไร และมีการกลับความเห็นของตัวเองโดยใช้ดุลพินิจอย่างไร เพราะคดีนี้อัยการเป็นโจทก์ฟ้องคุณหญิงพจมานและพวกมาตั้งแต่ต้น จะอ้างว่าใช้ดุลพินิจโดยอิสระตามอำเภอใจไม่ได้ แต่ต้องยึดหลักกฎหมายรองรับ การรับฟังพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักด้วย และเมื่อได้เอกสารแล้วทีมกฎหมายจะประชุมว่า คำสั่งของอัยการมีเหตุผลหรือไม่ หากไม่มีเหตุผลเพียงพอใจการไม่ยื่นฟ้องศาลฎีกาก็จะยื่นถอดถอนอัยการสูงสุด ทั้งนี้มีความเป็นห่วงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการสูงสุด โดยยกตัวอย่างการพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ เป็นไปอย่างล่าช้า และไม่มีการเรียกผู้ร้องไปให้ถ้อยคำเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่คิดว่าการแก้ไข รธน.ครั้งนี้อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เพราะมีเหตุการณ์บ้านเมืองที่สนับสนุนให้แนวคิดเรื่องล้มล้างการปกครองมีน้ำหนัก คือ กรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีมากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐมีการยกเลิกดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดหลายคน และยังมีความเคลื่อนไหวแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
“ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน และอาจเป็นความพยายามที่จะนำไปสู่การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองได้ แต่อัยการกลับไม่ให้ความสำคัญต่อสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไปประกอบการพิจารณาคำร้อง อัยการเป็นทนายของแผ่นดิน ต้องปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ การทำหน้าที่ของตนไม่มีอคติเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อพรรคมอบหมายให้ผมรับผิดชอบ ก็ต้องเอาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวมาทำให้ไม่รับใช้บ้านเมือง ไม่ผดุงความยุติธรรมไม่ได้” นายถาวรย้ำ