xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองกลางถอนคำสั่งปลด “ศิโรตม์”-อ้างไม่พบเอื้อภาษีชินคอร์ป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่งปลด “ศิโรตม์” อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ออกจากราชการ พร้อมสั่งคืนสิทธิประโยชน์ เหตุ ป.ป.ช.ชี้มูลยังไม่ชัด ส่วนการเห็นชอบให้ชินคอร์ป รับโอนหุ้นจาก “หญิงอ้อ” เมื่อปี 2540 โดยไม่เสียภาษี เป็นการใช้ดุลพินิจในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยสุจริต ไม่พบพฤติการณ์บ่งชี้ว่าเอื้อประโยชน์ให้ราชการเสียหายร้ายแรง

วันนี้ (27 มิ.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค.2551 ที่สั่งลดโทษเป็นปลด นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ในขณะนั้นออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและให้คืนสิทธิประโยชน์ตามที่นายศิโรตม์ พึงมีพึงได้ตามกฎหมายแก่นายศิโรตม์ นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก ขณะที่ นายศิโรตม์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่า มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายต่อราชการอย่างร้ายแรง และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 และมีความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานรวมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าทีโดยมิชอบ โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 157 จากกรณีที่ขณะนายศิโรตม์ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี ได้เห็นชอบให้มีการรับโอนหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จาก น.ส.ดวงตา วงษ์ภักดี ผู้ถือห้นแทนคุณหญิง พจมาน ชินวัตร เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ว่า เป็นการโอนให้โดยเสน่หา ที่ไม่จำเป็นต้องชำระภาษี ทำให้ นายศิโรตม์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังนั้น ระบุว่า จากข้อเท็จจริงพบว่า ก่อนที่ นายศิโรตม์ จะเห็นชอบให้มีการโอนหุ้นดังกล่าวโดยไม่ต้องชำระภาษีนั้นได้มีการพิจารณาข้อกฎหมายตามประมวลรัษฎากร แนววินิจฉัยการตอบข้อหารือทางภาษี ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติของกรมสรรพากร โดยเทียบเคียงจากข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกัน ตลอดจนคำพิพากษาฎีกาในคดีภาษีอากร มาเป็นแนวทางในการทำความเห็นและเป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสารสำคัญในการวินิจฉัยเรื่องนี้ รวมทั้งเชิญนิติกรจากสำนักกฎหมายมาอธิบายรายละเอียดทั้งหมดก่อนให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติการณ์แวดล้อมอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏข้อพิรุธที่บ่งชี้ให้เห็นว่า นายศิโรตม์ ได้ติดต่อกับผู้เสียภาษี หรือได้รับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า นายศิโรตม์ มีสิ่งใดเป็นมูลเหตุจูงใจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ นายบรรณพจน์ ดังนั้น การที่นายศิโรตม์ ได้พิจารณาบันทึกเสนอข้อเท็จจริง และสรุปหลักกฎหมายที่ น.ส.กุลฤดี แสงสายันห์ นิติกร 7 ว.สำนักกฎหมายกระทรวงการคลังในขณะนั้น เสนอมาและให้ความเห็นชอบจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำนาจหน้าที่ ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยสุจริต และชอบด้วยกฎหมาย

“การที่จะพิจารณาว่า นายศิโรตม์ ได้กระทำการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์บ่งชี้ว่ามีเจตนาที่จะช่วยเหลือบริษัท ชินคอร์ป ของ นายบรรณพจน์ หรือบุคคลใด ให้ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องแสดงให้เห็นถึงขนาดที่เชื่อได้ว่า นายศิโรตม์ ได้ปฏฺบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือ นายศิโรตม์ มีพฤติการณ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตโดยตรง เช่น มีพฤติการณ์เรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ มีเจตนาช่วยเหลือเพื่อให้ยกเว้นภาษี ให้แก่บริษัท ชินคอร์ป โดยมิชอบ ที่สำคัญ ต้องพิจารณาว่านายศิโรตม์มีเจตนาในการปฏิบัติหรือละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้อย่างชัดแจ้ง แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.เป็นเพียงการรับฟังข้อเท็จจริงที่ได้จากผลการประมวลข้อเท็จจริงตามที่สรุปมาโดยไม่แสดงถึงเจตนาของการกระทำที่จะถือเป็นความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามองค์ประกอบฐานความผิดดังกล่าว เมื่อความผิดของนายศิโรตม์ ฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงฟังไม่ได้เช่นเดียวกัน ว่า การกระทำของนายศิโรตม์ เป็นการกระทำอันได้เชื่อว่าเป็นการกระทำอันร้ายแรง และจงใจไม่ปฏิบิตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง จึงไม่อาจลงโทษนายศิโรตม์ตามฐานความผิดดังกล่าวได้” คำพิพากษา ระบุ

นอกจากนี้ คำพิพากษายังระบุด้วยว่า แม้อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงการคลัง จะเห็นว่า กรณีนี้ไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ ต้องวินิจฉัยว่า นายศิโรตม์ กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการฯ แต่เมื่อการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มิได้ชี้ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า นายศิโรตม์ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยระเบียบดังกล่าวอย่างไร การที่ อ.ก.พ.กระทรวงการคลังที่ได้รับฟังข้อเท็จจริงที่ได้จากการประมวลผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วฟังว่านายศิโรตม์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จนมีมติเมื่อ 25 ธ.ค.49 ให้ลงโทษไล่นายศิโรตม์ ออกจากราชการ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง ตั้งข้อสังเกตว่า ผลการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการของนายศิโรตม์ไม่เคยมีประวัติถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน เมื่อ นายศิโรตม์ อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และได้พิจารณา เห็นว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบของนายศิโรตม์ เป็นการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ นายศิโรตม์ ไม่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรแต่อย่างใด

แต่โดยที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2542 มาตรา 96 บัญญัติว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษ ตามมาตรา 93 สามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์ดุลยพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาได้ แต่ ก.พ.มีอำนาจพิจารณาได้ระดับโทษเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงจะต้องรับฟังตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวน แล้วมีมติว่า คำอุทธรณ์ของนายศิโรตม์ฟังขึ้นมีเหตุอันควรลดโทษจากไล่ออก เป็นปลดออกจากราชการ ซึ่งต่อมาปลัดกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 648/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค.2551 ลดโทษจากไล่ออกจากราชการเป็นปลดออก แต่เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าพฤติการณ์ของนายศิโรตม์ เป็นไปโดยชอบของกฎหมายตามประมวลรัษฎากร เป็นการใช้อำนาจดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาโดยสุจริต การปฏิบัติหน้าที่ราชการของนายศิโรตม์ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และไม่ได้เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ คำสั่งลงโทษไล่นายศิโรตม์ออกจากราชการและคำสั่งลดโทษนายศิโรตม์ จากไล่ออกเป็นปลอดออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอน

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น