xs
xsm
sm
md
lg

เตือนประชานิยมซ้ำรอยกรีซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไตรรงค์” หวั่นหากรัฐบาลดึงดันใช้นโยบายประชานิยมไม่ลืมหูลืมตา ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาแบบประเทศยูโร อาจถึงขั้นล้มละลายเพราะวิกฤติหนี้สาธารณะ เชื่อปี 59 หนี้สาธารณะแตะระดับ 60% ของจีดีพีแน่ ขณะที่ “สมคิด” จี้ปฏิรูปการคลังเร่งด่วน สกัดปัญหารายได้หดตัว

วานนี้ (21 มิ.ย.) สมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้จัดงานสัมมนา หนี้สาธารณะ : เพื่อชาติหรือระเบิดเวลา โดยนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในงานสัมมนาว่า ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในแถบยูโร เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องศึกษา เพื่อไม่ให้ไทยต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวตามไปด้วย ซึ่งการที่ประเทศในแถบยุโรปประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นเพราะความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง อันเนื่องมาจากค่าจ้างขั้นต่ำของยุโรปมีอัตราสูง ประกอบกับค่าเงินยูโรด้อยค่าลง จึงทำให้ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ และผู้ประกอบการขาดความสามารถในการชำระหนี้ จึงเกิดหนี้สาธารณะสะสมเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากการก่อหนี้เกินตัว โดยเชื่อปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไป และกรีซจะต้องล้มละลายในที่สุด ซึ่งจากนั้นจะลุกลามไปยังสเปนและอิตาลี และทั่วโลกในอนาคต

"หากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายประชานิยม เช่น โครงการรับจำนำข้าวเปลือก และโครงการแจกแทบเลตเพื่อการศึกษา อยู่ต่อไป จะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นถึง 60% ในปี 2559 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของไทยล้มละลายเช่นเดียวกับประเทศอาร์เจนตินาได้" นายไตรรงค์กล่าว

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะกลางใน 3-5 ปี จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความสามารถในการตอบสนองต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ลึกและกินเวลานาน ที่จะมีผลต่อการส่งออกของประเทศไทย ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องใช้มาตรการการใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องมือในการประคองเศรษฐกิจ รวมทั้งจะต้องปฎิรูปภาคการคลัง เพราะที่ผ่านมาไทยใช้แนวทางจัดสรรงบประมาณตามรายกระทรวง ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง และลดการพึ่งพาเม็ดเงินจัดเก็บรายได้จากกรมสรรพากรในการพัฒนาประเทศลง เพื่อไม่ให้ใน 5-6 ปีข้างหน้า ไทยจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันลงเมื่อสรรพากรจัดเก็บรายได้ลดลง

ขณะที่นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ยืนยันเศรษฐกิจจะไม่ล้มละลายอย่างแน่นอน เพราะไม่มีหนี้สาธารณะสูงเทียบเท่ากับยุโรป ซึ่งยังคาดการณ์ จีดีพีของไทยในปีนี้จะยังขยายตัวได้ 5.7% หากจีดีพียุโรปติดลบ 0.5% และจีดีพีสหรัฐขยายตัว 2% แต่หากรณีเลวร้ายจีดีพียุโรปติดลบสูงถึง 2.5-4.5% จะส่งผลให้จีดีพีของประเทศหลักหดตัวลง ก็จะส่งผลให้จีดีพีของไทยขยายตัวเพียง 2% เท่านั้น

ส่วนนายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงนโยบายรับมือวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปของรัฐบาล ที่เน้นเพียงการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าว จะยืดเยื้อ ดังนั้นรัฐบาลควรปรับนโยบายในการรองรับปัญหา โดยให้ความสำคัญเรื่องสภาพคล่องเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังห่วงเรื่องการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ต้องกู้ยืม ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดดุลงบประมาณนานกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะส่งต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น