ปัญหาหนี้ยุโรปและกรีซที่กำลังส่งผลรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ แม้จะยังไม่มีผลกระทบกับไทยมากนัก แต่สภาวะข้าวของแพง เงินเฟ้อ การปรับเปลี่ยนประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีบทวิเคราะห์มากมายว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเสนอแนะให้รัฐบาลหาวิธีดึงเงินสำรองระหว่างประเทศในคลังหลวงมาใช้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีนโยบายการกู้เงินต่างชาติซึ่งมีการกลบตัวเลขหนี้สาธารณะโดยโอนหนี้ส่วนหนึ่งคืนไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประกอบกับการที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยอมรับว่าขณะนี้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์เกินไป 5 เท่าคือสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลสำคัญให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยต้องรีบนำเงินไปลงทุนให้เกิดดอกผล และอาจเกิดปัญหาซับไพรม์เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้นี้ได้เช่นกัน
ปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ ที่แม้ว่าภาคธุรกิจจะมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขผลกำไรในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร ข้าวของมีราคาแพง แต่กลับพบว่าประชาชน หรือผู้ใช้แรงงานกลับมีเงินจับจ่ายใช้สอยน้อยลง
ที่สำคัญรัฐบาลเองก็ใช้นโยบายในการควบคุมราคาสินค้าสูงมากเพื่อกลบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่สะท้อนถึงความเดือนร้อนของประชาชนแสนสาหัส
“ASTV ผู้จัดการรายวัน” จึงได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าอะไรคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ ความตื่นตระหนก หรือการบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่ผิดพลาด?
มองปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้อย่างไร?
ต้องไปดูถึงประวัติศาสตร์ เรื่องเงินเฟ้อในประเทศไทยมีลักษณะที่แตกต่างจากประเทศอื่น คือประเทศอื่นถ้าอัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงแล้วจะมีปัญหามาก เพราะรัฐบาลไม่มีวินัยด้านการคลัง เช่น การพิมพ์ธนบัตรจากธนาคารกลางขึ้นมา แต่ประเทศไทย ไม่ได้ทำอย่างนั้น และธนาคารกลางก็ยังมีอิสระในการดำเนินนโยบาย แต่อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย เป็นแบบสูงแบบชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็ตกลงมา โดยตัวราคาสินค้าสำคัญบางตัวเป็นเครื่องชี้วัด มีผลต่อการคาดการณ์ของอัตราเงินเฟ้อ เช่น ข้าว น้ำมัน คือราคาอาหาร ราคาน้ำมัน ประเด็นคือว่าถ้าสินค้าพวกนี้รัฐบาลสามารถควบคุมไว้ได้อยู่ อัตราเงินเฟ้อก็จะปรับลงมาเหมือนเดิม
ระดับราคาสินค้ากับอัตราเงินเฟ้อไม่เหมือนกัน ระดับราคาจะขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาขึ้นแล้วยากที่จะลง แต่อัตราเงินเฟ้อพอเร่งขึ้นไปแล้วก็จะตกลงมา ตราบใดที่ไทยยังสามารถรักษาระเบียบวินัยด้านการเงินการคลังอยู่ได้ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาคือราคาสินค้าเมื่อขึ้นไปแล้วไม่ค่อยตกลงมา แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะตกลงมาแล้ว จึงต้องควบคุมราคาสินค้าให้ดี แต่หากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงราคาโดยการควบคุมราคาสินค้าก็ต้องเข้าใจว่าใช้ได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
ถ้าราคาน้ำมันขึ้นสูงไปแล้ว อีกไม่นานราคาน้ำมันจะตกลง การควบคุมราคาก็มีประโยชน์ คือไม่ให้คนตื่นตระหนกเกินไป แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ราคาสินค้าที่ขึ้นนี้ต้องแน่ใจว่าราคาที่ขึ้นนั้น ขึ้นถาวร ไม่ใช่ขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว ไม่เช่นนั้นจะเป็นผลเสีย แต่ที่แน่ๆ คือ ที่กระทรวงพาณิชย์ทำ ผมเข้าใจว่ามีความถูกต้องทางทฤษฎี คือทำให้คนเชื่อว่าเงินไม่เฟ้อ ที่มีการทำโครงการร้านถูกใจทั้งแผ่นดิน ผลดีก็คือให้คนคลายความตระหนก สำคัญเพราะคนจนส่วนใหญ่รายได้ที่ได้มากว่า 50% เพื่อซื้ออาหารเท่านั้นเอง ถ้ารัฐบาลช่วยตรงนี้ได้ก็ถูกจุด
แต่ปัญหาจะเกิดความขัดแย้งระหว่างคนในเมืองกับคนชนบทด้วย ถ้าราคาสินค้าข้าวสูงขึ้น ต่อเนื่อง 2-3 เดือน จะไปเกี่ยวพันกับค่าจ้างแรงงานด้วย ถ้าเป็นเกษตรกรก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าราคาดีก็จะเป็นประโยชน์ แต่ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ขายข้าวก็จะเดือดร้อน ก็เป็นประเด็นสำคัญ
ตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อที่น่าเป็นห่วง?
3% เป็นอัตราปกติ ความจริงตัวเลขจะเป็น 3% 5% 10% ไม่สำคัญเท่ากับว่าถ้ารายได้เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้น 5% ตรงนี้ก็ไม่เป็นไร
เงินเฟ้อขนาดนี้ แต่ถ้าไปดูราคาหุ้น ดูกำไรของบริษัท ราคาหุ้นหลายบริษัทสูงมาก บริษัทต่างๆ ได้กำไรมาก บริษัทก็มีเงินจ้างคนทำงานมากขึ้น เด็กจบใหม่ก็มีงานทำมากขึ้น
ตราบใดที่ราคาสินค้าสูง บริษัทก็ได้กำไร เงินปันผลก็สูง หุ้นก็ดีขึ้น ทุกอย่างไปด้วยกัน บริษัทใหญ่ก็สามารถจ่ายค่าจ้างได้สูง
ดังนั้น ถ้าเงินเฟ้อ 3% จึงขึ้นอยู่กับว่ารายได้ขึ้นด้วยหรือเปล่า ถ้ารายได้ขึ้น บริษัทมีกำไรมากขึ้น กรมสรรพากรก็เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่ถึงจุดจุดหนึ่ง ถ้าเงินเฟ้อขึ้นไปถึง 10-20% ก็จะเดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะถ้ารายได้ไม่ขึ้น แต่
กลับตกลง แต่เงินเฟ้อมากขนาดนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเกิดสภาวะ shock อย่างรุนแรง เช่นเกิดจากราคาน้ำมันขึ้นสูง แต่กรณีนี้นานๆ จะเกิดที
เผอิญโชคดีที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการน้ำมันในประเทศเหล่านี้ไม่ได้เพิ่ม ก็ถือว่าเป็นโชคดี
ถึงได้บอกว่าถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงอาศัยการส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ เผอิญเลยเข้าช่องนโยบายประชานิยม
แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกดีขึ้น แล้วมาใช้นโยบายประชานิยม เงินเฟ้อในประเทศไทยจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก โชคดีที่การส่งออกชะลอตัวลง และการใช้จ่ายภาครัฐบาลก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน
ในแง่เศรษฐศาสตร์กระตุ้นอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจก็ขยาย แต่ถ้าจะกระตุ้นแล้ว ต้องให้เกิดความคุ้มค่า ถ้ากระตุ้นแล้วไปซื้อรถเฟอร์รารีก็ไม่มีประโยชน์ คำถามคือมีอะไรที่มีประโยชน์มากกว่านี้หรือเปล่า
ของบางอย่างลงทุนไปแล้ว ผลไม่ได้เกิดในปี 2 ปี
การลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมาก เรื่องของน้ำ ถนน โทรคมนาคม เพราะพวกนี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด ไม่ใช่ใช้เงินแล้วหายไปอย่างเดียว ประเทศไทยอย่าลืมว่าเสียโอกาสไปเยอะ
เดิม กระทรวงการคลังมีแผนในเรื่องวินัยการเงินการคลังว่า หนี้ห้ามเกิน 60% ของรายได้ประชาชาติ คือเราก็ผ่านเกณฑ์นี้ แต่ที่ไม่ผ่านคือมีเงินที่ลงทุน เขาบอกว่าห้ามต่ำกว่า 25% ของงบประมาณ เพื่อลูกหลาน แต่ประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนต่ำกว่า 25% ถือว่าเสียโอกาสไปมาก แทนที่จะได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
งบประมาณมี 2 ส่วนคือ รายจ่ายประจำ เงินเดือน อีกแบบคือรายจ่ายเพื่อลงทุน ส่วนนี้สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
อย่างงบการศึกษาสูงมาก แต่ส่งเสริมผิดทาง อย่างในประเทศแถบยุโรป คนจะสอนระดับประถมต้องจบปริญญาโท แล้วต้องเลือกเฟ้นกันอย่างมาก อย่างนี้ไม่ได้เห็นผลทันตา แต่นาน ความรู้คนก็เพิ่ม
พูดง่ายๆ งบที่ไปลงทุนเพื่อการเกษตรมีไม่มากเท่าไร การศึกษาด้านการโทรคมนาคม หายไป แต่แนวโน้มที่ดีคือตอนนี้รัฐบาลเริ่มใช้งบฯ ลงทุนมากขึ้นแล้ว ที่ผ่านมามีแต่งบทหาร ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องความมั่นคง และเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องพบกันครึ่งทาง ก็เข้าใจว่าจะใช้วิชาหลักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ด้วย
สรุป ส่วนใหญ่คือรัฐบาลจะมองระยะสั้น ไม่ได้มองระยะยาว พอรัฐบาลใหม่มา แม้หลายรายการเป็นรายการที่ดี แต่ก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง เช่นโครงสร้างพื้นฐาน ดอนเมืองกับสุวรรณภูมิจะเอาอย่างไร ต้องชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็ส่งสัญญาณไม่ดีไปให้นักลงทุน
ทุกวันนี้ภาคธุรกิจโตมาก ก็ต้องบอกว่าเป็นฝีมือของภาคธุรกิจเอง รัฐบาลต้องอยู่ในฐานะที่คอยสนับสนุน อย่าเข้าไปแทรกแซงมากนัก แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีลักษณะที่รัฐบาลเข้าไปชี้นำอยู่ ในนโยบายหลายๆอย่าง ซึ่งไม่จำเป็น
การแก้ปัญหาราคาสินค้ากับราคาน้ำมัน!
ที่ผมมองลึกคือ ถ้าขึ้นราคาสินค้าไป ก็ต้องมีการนำสินค้าบางตัวเข้ามาเพื่อเพิ่มการแข่งขันมากขึ้น เช่น น้ำมันปาล์มที่มีการนำเข้า ถือว่าทำถูกแล้ว คือเพิ่มการแข่งขันเข้ามา เป็นการบีบภาคเอกชนทางอ้อม
แต่ทั้งนี้ภาคเอกชนปัจจุบันก็เป็นแนวโน้มที่ไม่ได้มองผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว ต้องมองระยะยาวคือมีส่วนช่วยภาคสังคมด้วย เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลขอร้องมา แล้วไม่ทำตาม ประชาชนก็มองได้ว่า คุณไม่ช่วยเหลือเรา ถ้าอย่างนั้นใครทำดีก็ให้รางวัลชมเชย
ส่วนราคาน้ำมันนั้น ความจริงราคาน้ำมันถูกกำหนดโดยตลาดโลก สิ่งที่ทำได้ คือภาษีที่จะเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน คือมันก็มีประโยชน์เหมือนเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศ คือเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเก็บไว้ ก็คือเงินกองทุนช่วยไม่ให้ค่าเงินบาทหวือหวา
เงินกองทุนน้ำมันก็เช่นเดียวกัน หากราคาน้ำมันขึ้นสูงมากๆ ก็ใช้กองทุนน้ำมันในการปรับให้ราคาลงมาได้ แต่ก็ต้องใช้ในระยะสั้นๆ สุดท้ายแล้วก็ไม่อยากให้ฝืน ถ้าราคาน้ำมันจะขึ้นก็ต้องให้มันขึ้น ถ้าจะลงก็ให้มันลง
ผมมองว่า คนเราต้องอยู่รอด ถ้าน้ำมันสูงขึ้น ถ้ารัฐบาลเข้าไปอุดหนุน ก็เท่ากับไปอุดหนุนคนในเมืองให้ใช้รถ แต่จริงๆ ถ้าน้ำมันแพง คนเมืองก็จะปรับตัว แนวคิดคือประหยัด คนก็ใช้น้ำมันน้อยลง เพราะเรากำหนดราคาน้ำมันเองไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับตลาดโลก รัฐบาลไปลงทุนเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานดีกว่า เราเสียเวลาไปเยอะแล้ว
อย่าไปรั้งมัน มันจะขึ้นไปชั่วคราว เหมือนอัตราแลกเปลี่ยน เดี๋ยวขึ้นไปก็มีตกลงมา แต่ถ้าราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้นสูงมาก ก็เอาเงินกองทุนน้ำมันไปช่วยได้ในระยะสั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก แต่อย่าอุดหนุนมาก เพราะเท่ากับเอาเงินภาษีไปอุดหนุนคนมีรถ คนจนก็ขึ้นรถเมล์ไป
เงินเฟ้อสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา?
เงินเฟ้อสำคัญตรงที่ส่วนหนึ่งจะเกี่ยวกับอัตราสินค้านำเข้าที่แพง ก็จะมาโยงกับอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่ดูอัตราเงินเฟ้อ ดูระดับราคาสินค้านี่ จะดูนโยบายของกระทรวงพาณิชย์อย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องดูถึงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างไร
ทีนี้ในอนาคตถ้าหากว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังไม่ฟื้นขึ้นมา แล้วก็ของยุโรปก็ยังไม่ฟื้น แล้วเงินบาทแข็ง ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการอยากจะเห็นค่าเงินบาทแข็งที่ขึ้นมา ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้วที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยากจะเห็นค่าเงินบาทอ่อนเพื่อกระตุ้นการส่งออก เพราะขณะนี้เป็นที่เข้าใจกันอย่างดีแล้วว่า การส่งออกจะดีไม่ดีนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ของสหภาพยุโรป ของจีน และอินเดีย ที่จะกระทบต่อภาคส่งออกของไทยมากกว่า
ถ้าเรายอมให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปตามที่มันควรจะเป็น คือเป็นไปตามกลไกของตลาดจะดีกว่า เพราะฉะนั้นต่อให้ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ถ้าเรายอมให้ค่าเงินบาทสูงขึ้น แล้วค่อยนำเข้าพวกน้ำมันในราคาต่อลิตรถูกลง พอราคาน้ำมันถูกลง ต้นทุนด้านการขนส่งก็จะลดลงด้วย โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าประเภทอาหาร คือได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องดูเป็นองค์รวม
แต่ว่ากระทรวงพาณิชย์ก็มีหน้าที่ดูแลไม่ให้คนในประเทศตื่นตระหนกมากเกินไป ส่วนกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวเศรษฐกิจของต่างประเทศ และดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน
รัฐบาลจะประสบความสำเร็จ ถ้าหากทำให้คนไม่ตื่นตระหนก และเชื่อว่าเงินเฟ้อมันไม่รุนแรง อย่างที่รัฐมนตรีคลังไปทานอาหารที่รัฐสภา ที่เขาว่า 150 บาททานได้ 3 คน อันนี้คือลักษณะที่พยายามสร้างให้คนเชื่อว่าเงินไม่เฟ้อ สินค้าไม่แพง แต่ว่าก๋วยเตี๋ยวที่อื่นก็แพงเหมือนกันนะ ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อยแถวๆ นี้ มื้อหนึ่งก็ 70 บาทไปแล้ว”
ประเด็นคือรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำงานประสานกันให้ดี เพราะเข้าใจดีว่าในด้านการเมืองจะใช้ทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์มาแก้ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูปัจจัยหลายประการ แต่ว่ารัฐบาลก็ต้องเข้าใจว่าถ้าควบคุมราคาสินค้านานเกินไป ก็จะทำให้เกิดกลไกตลาดเสียดุลไป กลุ่มที่ทำธุรกิจก็จะไม่ชอบ เลยเป็นที่มาของนโยบายของซีพีที่ต้องการให้ราคาอาหารสูง รายได้สูง ราคาอาหารสัตว์ก็สูง
ทฤษฎีสองสูงของซีพีสอดคล้องกับประเทศไทย?
ไม่ได้คิดว่าเป็นทฤษฎีอะไรนะ แต่เป็นแนวคิดอันหนึ่งซึ่งน่าสนใจคือ มองแง่หนึ่ง ถ้าค่าจ้างสูง ในแง่ของผู้ใช้แรงงานจะมีสตางค์ไปใช้จ่ายมากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องนโยบายค่าจ้างสูง มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยเฮนรี ฟอร์ด ขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ โรงงานของเฮนรี ฟอร์ดค่าจ้างคนงานสูงมาก อัตราที่ค่อนข้างสูงวันละ 4-5 ดอลลาร์ ซึ่งสูงมาก ที่สำคัญคือ มันไม่ใช่ว่าค่าจ้างสูงอย่างเดียว แต่คนงานต้องมีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย คือต้องมองเนื้อในด้วย ซึ่งตัวท่านประธานธนินท์ (ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์) คงมองว่า ค่าจ้างสูงแล้ว ประสิทธิภาพมันต้องสูงด้วย ไม่ใช่ว่า ค่าจ้างสูงอย่างเดียว แล้วประสิทธิภาพไม่สูงเลย ดังนั้น ร้านของเซเว่นอีเลฟเวน เงินเดือนเขาตั้ง 9 พัน มีค่าอาหาร ค่าที่พัก ฯลฯ ตรงส่วนนี้ซีพีทำได้ เพราะความสามารถในการผลิตเขาสูง (Productivity)
“โปรดักทิวิตีเขาสูง พวกนี้เขาทำงานตลอด ยืนตลอด นี่คือโปรดักทิวิตีสูง เขาจ่ายได้ แต่ไม่ใช่ว่าค่าจ้างสูงอย่างเดียวแต่นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ก็ไม่คุ้ม อันนี้เป็นหลักการ”
ในประเด็นราคาสินค้าเกษตรสูงก็เป็นเรื่องที่ดีของเกษตรกร คำถามคือถ้าราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น ราคาข้าวสูงขึ้นแล้วจะไปพัวพันกับเรื่องค่าจ้าง เพราะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน แต่ถ้าแรงงานที่มีความสามารถในการผลิตสูง และมีรายได้ที่ได้รับการปรับให้สูงกว่าเงินเฟ้อแล้ว ก็จะมีเงินจับจ่ายใช้สอยไม่ลำบาก แต่ยังมีหลายส่วน หลายอาชีพที่จะกระทบ เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือแรงงานที่ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา ก็จะเดือดร้อน เพราะรายได้ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้ปรับตามราคาสินค้าที่สูงขึ้น สรุปคือทำอย่างไรก็มีคนที่เดือดร้อนกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นตามทฤษฎีสองสูง
อย่างไรก็ตาม เรื่องสินค้าเกษตรนี้คงไปหักธรรมชาติไม่ได้ เพราะจะสูงไม่สูงมันขึ้นอยู่กับตลาดข้างนอก เพราะเราส่งออกเขาอยู่มาก เราเป็นประเทศเล็ก เราไม่สามารถจะตั้งราคาสินค้าต่างๆ ได้ คือถึงแม้เราจะเป็นเบอร์หนึ่งเรื่องข้าวมาตลอด และตอนนี้อินเดียกำลังจะแซงเป็นอันดับหนึ่งแทนแล้ว ไม่เป็นไร เพราะคำถามคือ เราจะภูมิใจได้เป็นที่หนึ่งผลิตข้าว หรือจะภูมิใจอย่างเกาหลีใต้หรือเปล่าที่ส่งออกทีวีเป็นเบอร์หนึ่ง ส่งออกทีวีแซงญี่ปุ่นไป สินค้าที่ส่งออกนี่สำคัญ ถ้าเราส่งออกมาก ส่งออกมาแล้วเป็น100 ปีแล้ว แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราจะที่ 1 ตลอดกาลมันไม่ได้ คือต้องให้ความสำคัญที่จะหานวัตกรรมใหม่ขึ้นมา
จึงต้องพูดเรื่อง productivity การปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านเกษตรรัฐบาลต้องสนับสนุนด้านการค้นคว้า ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเกษตร แทนที่จะไปตั้งราคาประกันราคาข้าวสูงๆ ถ้าคุณยิ่งตั้งราคาประกันสูงๆ ไว้ สูงกว่าความเป็นจริง คนก็จะไม่ออกมาสาขาอื่น ก็ติดอยู่ในนั้น คนไม่ออกมา ต้องส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ พันธุ์ข้าว เครื่องจักร เป็นการช่วยระยะยาว ไม่ได้หวังผลทางการเมือง
คือประกัน บางทีก็ช่วยได้ แต่ไม่ได้เป็นการช่วยระยะยาว ต้องมองถึงระยะยาว รัฐบาลมาก็อยู่ไม่นาน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะช่วยจริงๆ ต้องช่วยระยะยาว กระทรวงที่สำคัญก็คือกระทรวงวิทยาศาสตร์ แต่เขารู้นะ เพราะคนพูดเรื่องนี้มาเป็น 10-20 ปีแล้ว
ประเทศที่เขาพัฒนาด้านอุตสาหกรรม อย่างอเมริกา ชาวนาเลี้ยงคนได้ 100 คน เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ พูดถึงคนอเมริกา คนที่ใช้เทคโนโลยี ด้านเครื่องจักรนั้นมีมากกว่าภาคอุตสาหกรรมอีก ทำให้เขาสามารถปลดคนที่ไม่ต้องทำงานในไร่นา มาทำงานบริการ แล้วคนที่พูดตลอดเวลาว่าอยากจะให้เราเป็นที่ 1 ปลูกข้าว เคยไปทำนาบ้างหรือเปล่า การทำนาทำยาก
คนที่อยู่กรุงเทพฯ จะมองว่าอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ โรแมนติก แต่พวกหนุ่มสาวชนบทไม่อยากทำแล้ว มันเหนื่อย ทำงานเป็นพนักงานเซเว่นอีเลฟเว่น ทำงานในห้างดีกว่า
สรุปก็คือมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตรเป็นการช่วยระยะสั้น ไม่ได้ช่วยระยะยาว
รัฐบาลนี้จะทำให้ทฤษฎีสองสูงประสบความสำเร็จได้ไหม?
ดูที่นโยบายคนจบปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท ไม่ได้ง่าย เพราะถ้าเงินเดือนขึ้นมาแล้วคนที่อยู่เก่าๆ จะต้องมีการปรับเงินเดือนไล่ตามด้วย ไม่อย่างนั้นจะเสียกำลังใจกันไปหมด แต่ถ้าถึงเวลาปรับก็ต้องปรับ และต้องปรับทั้งระบบ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ไม่ใช่ว่าจะได้เหมือนกันหมด เพราะถ้าใครได้อยู่ในสาขาที่กำลังขาดแคลนก็ดีไป เช่นคนที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์มาจะหางานง่ายกว่า แต่ถ้าเรียนสาขาด้านสังคมก็หางานยาก และยิ่งคนเรียนจบสูง อัตราการตกงานยิ่งมีมาก เพราะไม่ได้ผลิตคนที่ตรงความต้องการจริงๆ
เราผลิตคนไม่ตรง ไม่ได้ผลิตทางด้านวิทยาศาสตร์ ทางด้านเทคนิค ซึ่งพวกนี้จะมีงานทำ ทีนี้ถ้ารัฐจะประกันให้หมื่นห้าทุกคน คนก็จะแห่มาเรียนกันใหญ่ ขอให้ได้หมื่นห้า ทุกอย่างที่พูดไปมันจะต้องมีคำขยายความเงื่อนไขว่า หมื่นห้าก็ได้ แค่คุณต้องกลับมาเรื่องเดิมคือต้องพูดถึงเรื่องประสิทธิภาพด้วย
การที่เราเป็นต่อประเทศอื่น เพราะเราเป็นผู้ผลิตข้าว ราคาอาหารเลยต่ำ ฟิลิปปินส์ ราคาอาหารจะสูงมาก เพราะเขาไม่ได้เป็นผู้ผลิตสำคัญในเรื่องข้าว
เราต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ เทียบเกาหลีใต้ กับไต้หวัน เทียบประมาณรายได้เขา กับรายได้ของคนไทยเมื่อ 20 ปีก่อน คนสองประเทศนี้ในภาคการเกษตรมีน้อยกว่าประเทศไทยปัจจุบันนี้ ประเทศไทยปิดตัวอยู่ในภาคเกษตรนานเกินไป คืออุตสาหกรรมของเราก็ไม่ได้ดึงออกจากภาคเกษตรได้มากเท่าไร การศึกษาเขาหันมาด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของไทยยังเน้นด้านกฎหมาย ด้านสังคมศาสตร์ แต่การเรียนวิทยาศาสตร์จะแพงกว่า แต่ดีกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว
เงินบาทอ่อนจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น?
กรณีคุณกิตติรัตน์ส่งสัญญาณว่าอยากให้ค่าเงินบาทขึ้นเป็น 31-32 บาท ขึ้นอยู่กับค่าเงินดอลลาร์
ในสมัยก่อน ฝ่ายอุตสาหกรรม บอกว่า ถ้าเงินบาทแข็งไปถึง 29-30 บาทเจ๊งแน่ อุตสาหกรรมตายแน่ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่ได้อยู่ในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียว อย่างตอนนั้นเศรษฐกิจฟื้น จีนกับอินเดียขึ้นมา ก็ช่วยดันส่งออกขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงกับอัตราแลกเปลี่ยน
คนส่งออกก็มี คนนำเข้าก็มี แต่ค่าเงินแข็งก็ดีต่อการนำเข้า มันเป็นเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
มันเป็นราคาค่าเงินดอลลาร์ ถ้าตัวนี้เปลี่ยนก็เปลี่ยนหมด
คือทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามที่คาดการณ์ไว้ เรารู้ล่วงหน้าก็ปรับตัวได้ แต่ถ้าไม่รู้ล่วงหน้ามันจะ shock การแกว่งมากเกินไป หรือขึ้นเร็วเกินไป คนจะตื่นตระหนก
ถ้าถามว่าราคาเท่าไรจึงจะเหมาะสม คงพูดไม่ได้ แต่ดูง่ายๆ ก็ดูจากเงินกองทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าสูงไปเรื่อยๆ แสดงว่ามีการซื้อดอลลาร์เก็บไว้เพราะไม่อยากให้บาทแข็ง จึงให้ดูตรงนี้ว่าหวือหวาหรือไม่ ถ้าสูงมากหรือต่ำมากเกินไป แสดงว่ามีการแทรกแซง ซึ่งผมไม่เห็นด้วย อยากให้เป็นไปตามกลไกตลาดดีกว่า ถ้าสูงขึ้นเกินปกติไปมาก แสดงว่าแทรกแซงมาก ค่าเงินบาทควรจะสูงกว่านั้น
ควรเอาเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้หรือไม่?
กองทุนสำรองระหว่างประเทศ ผมไม่คิดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะไปแตะ ตามหลักเอามาใช้ก็เป็นแค่เม็ดเงินใหม่มาใช้ แต่ผมมองว่าวิธีการใช้เงิน คือพวกนี้มาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ถ้าเอามาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างปัจจัยการลงทุนหรือโครงสร้างพื้นฐาน ก็น่าจะเป็นการออกพันธบัตรให้ประชาชนมากกว่า เพราะเป็นภาระหนี้ในระยะยาว ประโยชน์กับคนรุ่นหลัง พันธบัตรอายุ 10-20 ปี คนรุ่นหลังก็เป็นคนจ่ายภาษี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง
คิดว่าประธานคนใหม่ (ดร.วีรพงษ์ รามางกูร) ต้องเข้าใจเรื่องนี้ ก็ไม่คิดว่าจะมีคนเสนอเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ เพราะมีทางเลือกที่ดีกว่า คือกรณีขายพันธบัตร และตอนนี้อัตราดอกเบี้ยก็ไม่สูงเท่าไร ถือเป็นการกู้ภายในประเทศด้วย
ช่วงนี้การกู้ต่างประเทศก็ลดลงมาก การกู้ในประเทศดีที่สุดแล้ว คือตามหลักเศรษฐศาสตร์ถ้าเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนปัจจุบัน เช่นเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ การแจกเงิน ก็ต้องเก็บภาษีปัจจุบันนี้ เพราะประชาชนได้ประโยชน์ในปัจจุบัน แต่ถ้าเอาไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องใช้พันธบัตร เพราะคนอนาคตได้ประโยชน์ คนอนาคตต้องเป็นคนจ่ายภาษี
นโยบายประชานิยมตัวไหนดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดีสำหรับในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเป็นรถยนต์ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไร เพราะไปมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางอัน ซึ่งถึงอย่างไรเขาก็ส่งออกได้อยู่แล้วไม่ต้องไปช่วยเขา และเขาก็ไม่ได้ต้องการเท่าไร คือ รถยนต์ยิ่งมาก ยิ่งใช้น้ำมันแพง เป็นการเปลืองทรัพยากร ถ้าจะให้จริงๆ ช่วยด้านระบบขนส่งดีกว่า เช่นรถไฟฟ้า
แต่นโยบายเรื่องบ้านค่อนข้างสำคัญ และมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เพราะบ้านจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลายอย่าง ทั้งอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ปูน ก่อสร้าง ฯลฯ และยังเป็นเรื่องความมั่นคงคุณภาพชีวิตของคนด้วย ถือว่าดีกว่านโยบายรถยนต์
แท็บเล็ต ต้องลองดู ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไร เพราะต้องนำเข้า แต่มองในระยะยาวได้ ถ้ากระตุ้นการเรียนรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้จริง ก็โอเค แต่ต้องเอามาใช้กับการเรียน
ฟรีทุกโรค ไม่เห็นด้วย จริงๆ แล้ว 30 บาทก็ยังไม่ตรงนักในเรื่องของการช่วยเหลือคน แต่สิ่งที่เห็นก็คือไม่มีอะไรเป็นของถูกแล้วคุณภาพดี คนจนก็ได้รับการรักษาในคุณภาพที่ไม่ดี จริงๆ อยากให้คุณภาพเท่ากันมากกว่า แต่ก็เข้าใจว่าโรงพยาบาลแบกรับภาระมาก ทำให้ไม่สามารถให้บริการในคุณภาพที่เท่ากันได้
เช่นเดียวกันกับพักหนี้ ต้องมีเรื่องเงื่อนไข คนบางคนที่เดือดร้อนจริงก็ช่วยเขาได้ แต่คนไหนพอมีก็น่าจะให้เขาจ่าย กลายเป็นว่าคนที่พอมีกลับมารับผลประโยชน์จากนโยบายนี้ด้วย
เหมือนกับเรื่องเบี้ยชราภาพ ที่มีคนรวยไปรับเงินมาให้คนขับรถ คือรัฐสวัสดิการที่มีอยู่ ก็ต้องดูว่าสุดท้ายแล้วใครคือคนจ่าย คนจ่ายก็คือคนที่ทำงานอยู่ แต่ตอนนี้อัตราการเกิดของเราก็เริ่มลดลงแล้ว อีกสัก 10-20 ปี คนที่อายุมากก็จะเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นภาระหนักอึ้งของรัฐบาล เพราะให้ไปแล้วก็ยากที่จะเอาคืน ก็ต้องกลับมาเรื่องของรายได้ประจำ กับงบลงทุน
อเมริกา กับญี่ปุ่น ก็มีปัญหานี้คือคนอายุยืนมากขึ้น คนทำงานน้อยลง กลายเป็นภาระหนักหน่วงมากขึ้น รัฐบาลก็ถังแตก อย่างญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะ 200% ของจีดีพี
ส่วนของประเทศไทยถ้าแข่งกันแบบนี้ รัฐบาลใหม่มาก็ให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคต เพราะนักการเมืองเขาไม่รับผิดชอบ เพราะนักการเมืองเข้ามาบริหารงานไม่นานเดี๋ยวก็ไป
ดังนั้น ทางแก้เรื่องนี้คือต้องยืดอายุเกษียณ คนก็ทำงานหนักมากขึ้น คนวัยทำงานก็มากขึ้น ช่วงเกิดการชะลอตัวลงของอายุเฉลี่ยก็จะเริ่มมีปัญหามากขึ้น อย่าแข่งกันเรื่องประชานิยมเลย สุดท้ายก็เป็นภาระ
เรื่องรถเมล์ฟรี จริงๆ ก็ยังช่วยไม่ตรงจุด คนที่ขึ้นรถเมล์เองก็ไม่เชิงฟรีนะ เพราะมันทรมาน ต้องกลับมาเรื่องคุณภาพที่ได้ คือเขาต้องทรมานยืนรอ สิ่งแวดล้อมควันพิษ ก็อย่าไปเรียกว่าฟรี มันไม่ฟรีหรอก ของฟรีไม่มีจริงในโลก จะต้องมีคนหรืออะไรที่จ่ายแทน
ส่วนพักหนี้ดี 3 ปี ไม่น่าจะถูกต้อง การพักหนี้ต้องดูว่าพักเพราะอะไร คือผลประโยชน์ประเภทนี้ที่เกิดขึ้น นโยบายทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเงื่อนไข เช่นมีเหตุการณ์พิเศษอย่างเกิดวาตภัย อุทกภัย พักหนี้ก็จะช่วยให้คนเหล่านี้ฟื้นขึ้นมาได้ แต่ไม่ใช่ว่าพักทั่วหน้าทั้งแผ่นดิน มันไม่ได้ เหมือนการแจกคน เช่นถ้าช่วยการศึกษา จ่ายค่าเครื่องแบบ อาจารย์ระดับดอกเตอร์ยังได้ ก็ไปแจกทำไม หรือคนอายุมากบางคนก็รวย ไปแจกเบี้ยชราภาพเขาทำไม คือต้องช่วยให้ตรงจุด ไม่ใช่ช่วยทุกคนทั่วไป
การพักหนี้ดี แต่ต้องพักหนี้ให้สำหรับคนเดือดร้อน ช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะเป็นเรื่องของนิสัยที่มันเคยตัว ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเพราะไม่ใช่เรื่องของวินัย พอรัฐบาลใหม่มาก็ต้องช่วยอีก ไม่จบสิ้น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ผมไม่ค่อยห่วงเรื่องเงินเฟ้อ แต่ห่วงเรื่องการว่างงานมันต่ำ แต่ว่าสิ่งที่เป็นห่วงคือการจ้างงานไม่เต็มที่ แต่ไม่ได้ทำงานตลอด 6-8 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นการทำงานแบบสูญเสียทรัพยากร เช่นอาทิตย์หนึ่งทำงานต่ำกว่า 20 ชั่วโมง คือถือว่ามีงานทำแต่ไม่ได้ทำเต็มที่ ที่จริงควรทำ 40 ชั่วโมง แต่มีหลายๆ ภาคทำงานต่ำกว่า 30 ชั่วโมง ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้คนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะภาคกรรมกรที่ส่วนแบ่งรายได้ของประเทศให้คนกลุ่มนี้มันน้อยลง ทั้งๆ ที่ทำงานหนัก และควรจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ขณะที่กำไรของบริษัทต่างๆ มันสูงขึ้น มันสวนทางกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในส่วนของบริษัท 300 บาทเป็นเรื่องที่ทำได้ อาจจะต้องเสียสละกำไรที่ลดน้อยลงหน่อย
พูดเรื่องคุณภาพคน ก็ต้องดูเรื่องการศึกษา เด็กไทยทุกวันนี้ ถ้าไปดูเด็กเกาหลีจะคนละแบบกัน คนไทยจะเน้นไปที่บันเทิงมากกว่า ไม่ค่อยได้คำนึงถึงสังคมเท่าไร อยากจะได้เกรดดี แต่ไม่เห็นค่าของการศึกษาเท่าไร ซึ่งเป็นห่วงทั่วไป แม้ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเท่าไรนัก แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องของทรัพยากรคน ถ้าคนดีก็ดี ประเทศก็ดี นักการเมืองก็ดีด้วย
ถ้าคนอบรมมามีตัวอย่างไม่ดี ก็ไม่ดีไปด้วย เป็นอะไรที่แก้ยาก ต้องถามว่าทำยังไงให้เด็กไทยโตมาขยันทำงาน ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งก็ต้องอาศัยครอบครัว ครู ตัวอย่างที่ดีในสังคม