xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกใหม่ : จะหนุนนำรัฐบาลได้อย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: ไพศาล อินทสิงห์

ที่สุดก็ได้โฆษกรัฐบาลคนใหม่ (ตัวจริง) หลังจากที่มีรักษาการแทนมาระยะหนึ่ง จากนี้ทีมงานโฆษกคงจะบุกงานประชาสัมพันธ์ (PR) ให้รัฐบาลเต็มสูบ ตามที่ตั้งใจหวัง

ในฐานะเป็นคนหนึ่ง ที่สนใจพีอาร์เชื่อว่า ท่านศันสนีย์ นาคพงศ์ ซึ่งมีประสบการณ์สูง มีความเชี่ยวชาญ และเคยอยู่ในแวดวงสื่อ จะเป็นที่พึ่งพาให้นายกรัฐมนตรี และนำพีอาร์รัฐบาลสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก

ต้องยอมรับว่า พีอาร์จำเป็นกับทุกองค์กรโดยเฉพาะรัฐบาล ซึ่งสูงสุดของประเทศ เป็นต้นทางของการบริหาร การริเริ่ม กำหนดนโยบาย และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง

มองข้ามหรือละเลยพีอาร์ไม่ได้ เพราะวันนี้อะไรๆ เปลี่ยนแปลง ทั้งผู้คน การทำมาหากิน ไม่เว้นกระทั่งธรรมชาติ มีความซับซ้อน เกี่ยวพันเชื่อมโยงด้วยผลประโยชน์และการแข่งขัน

ส่งผลให้โจทย์การทำงานยากขึ้น

เมื่อโจทย์ยากขึ้น ก็ต้องอาศัยวิธีการ 2 ส่วนสำคัญ กล่าวคือ
วิธีการบริหารอย่างมืออาชีพ เป็นมันสมองของรัฐบาล ที่จะแก้ไขปัญหา และสร้างนโยบายให้ตรงความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ วิธีการสื่อสาร อธิบายว่า ทำไมต้องบริหารจัดการอย่างนั้น ทำไมต้องแก้ไขปัญหาอย่างนี้ เพื่อใคร มีเหตุผลอย่างไร มุ่งหวังผลอะไร ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายของแต่ละนโยบาย รวมถึงสังคม

การจะทำอะไรของรัฐบาล อย่างไร เพื่อใคร ต้องคิดหนักและรอบคอบ ไม่เหมือนอดีตที่จะทำอะไร ก็ทำได้ ตัวแปรปัจจัยต่างๆ ก็นิ่ง บอกประชาชนให้ทำ ก็ทำ

เดี๋ยวนี้การจะให้ประชาชนทำอะไร ไม่ง่าย ถ้าไม่เห็นสอดคล้องด้วย มีสิทธิไม่ทำ ดีไม่ดี เจอต้าน เจอประท้วง ปิดถนน เอาสับปะรดมาทิ้ง พังคันกั้นน้ำ ฯลฯ

โครงการรัฐหลายโครงการต้องหยุด ชะลอ หรือสอบถามชุมชนก่อน (ประชาพิจารณ์)

ประชาชนมีส่วนร่วมสูง ซึ่งก็ดีไปอย่าง ทำให้เป็นรัฐบาลธรรมาภิบาล ใครที่จะทำอะไรแอบแฝง ซ่อนเร้นไม่ได้แล้ว ประชาชนรู้และฉลาดเท่าทันด้วยข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่อยู่รอบตัว ทั่วสารทิศ ไม่ยอมกันอีกแล้ว

บุคลิกของผู้คน ประชาชนเปลี่ยนไป

แต่หากรัฐบาลทำดี ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว ประชาชนก็พร้อมหนุนเช่นกัน

พีอาร์ของท่านศันสนีย์ จากนี้คงจะต้องรุกทำข้อ 2 ดังที่กล่าวข้างต้น หาวิธีการสื่อสาร รับรู้รับทราบปัญหา ความต้องการ สัมผัสสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาชน สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ

รู้เขา รู้เรา

เพื่อขับเคลื่อนการบริหารงานของรัฐบาล และใช้พีอาร์หนุนรัฐบาลสู่ความสำเร็จ

จะกำหนดกลยุทธ์สื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างไร เพื่อเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาประชาชน ใช้ประโยชน์จากโครงการรัฐ

ยิ่งใช้ประโยชน์จากโครงการรัฐเท่าใด ยิ่งถือว่า พีอาร์สำเร็จเท่านั้น

ยิ่งพีอาร์สำเร็จเท่าใด รัฐบาลยิ่งสำเร็จเท่านั้น

รัฐบาลยิ่งสำเร็จ คะแนนนิยมยิ่งเพิ่ม

วันนี้โฆษกใหม่ ถึงเวลาทบทวน ประเมิน ปรับเปลี่ยนเป้าหมายพีอาร์ใหม่ เป็นการประชาสัมพันธ์รัฐบาลเพื่อเพิ่มคะแนนนิยม (นิยมในผลงานโครงการรัฐ) จะดีหรือไม่ อย่างไร

หากมองย้อนกลับ ก่อนที่จะได้คะแนนนิยม ต้องมาจากการมีผลงาน

ก่อนที่จะมีผลงาน ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติ

ก่อนจะลงมือปฏิบัติ ต้องมาจากการสร้างความรู้ความเข้าใจ

ก่อนจะเข้าใจได้ ต้องมาจากการได้รับข่าวสารเสียก่อนเป็นเบื้องแรก เป็นสเต็ป (step) แรก

ดังนั้น เป้าหมายของการประชาสัมพันธ์รัฐบาล จึงเริ่มตั้งแต่การเผยแพร่ข่าวสาร สร้างความเข้าใจ เปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติ การเผยแพร่ผลงาน และสร้างคะแนนนิยม เป็นสเต็ปสุดท้าย

ผู้เขียนเองชอบที่จะมองอะไรแบบประเมินวิเคราะห์ ไม่มองทางเดียว (one way) แต่ชอบมองยอกมองย้อน มองขึ้นมองลง เป็นไปได้หรือไม่ว่า นำสเต็ปสุดท้าย (เพิ่มคะแนนนิยม) มาเป็นเป้าหมายแรก

ถือเป็นวิสัยทัศน์พี่อาร์ที่น่าสนใจ

หากเป็นไปได้ น่าจะเป็นพลังพีอาร์ที่จะทำให้งานโครงการต่างๆ ของรัฐบาล บรรลุผลเร็ว เห็นผลจริง ซึ่งที่สุดแล้วรัฐบาลต้องไปให้ถึง ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ก็ต้องมุ่งหวังผลคะแนน

เพราะการได้คะแนนนิยมเพิ่ม นอกจากเป็นรัฐบาลในดวงใจประชาชนในวันนี้แล้ว ยังเป็นรัฐบาลที่พึ่งหวังของประชาชนในวันหน้า

ซึ่งพีอาร์มีบทบาทหน้าที่หนุนรัฐบาลขับเคลื่อนการบริหารงานสู่ความสำเร็จ

และมิเพียง “หนุน” หากแต่พีอาร์ต้อง “นำ” ด้วย

คำถาม คือ แล้วพีอาร์จะเล่นบท “นำ” อย่างไร

อยู่ที่วิสัยทัศน์ คิดเหนือชั้น และมองข้ามช็อต เห็นอะไรก่อนคนอื่น ประเมินวิเคราะห์ ปิ๊งไอเดียว่า จะทำอะไรได้บ้าง

ที่กล่าวว่า เห็นอะไรก่อนคนอื่น ก็คือ เห็นปัญหาของประชาชนในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น (ว่าเป็นปัญหา) เห็นสถานการณ์ของประเทศ รวมถึงสถานการณ์โลกที่จะมีผลกระทบต่อไทยก่อนคนอื่น ทั้งสถานการณ์ด้านบวก และสถานการณ์ด้านลบ เห็นความต้องการของประชาชนก่อนคนอื่น

พีอาร์หยิบจับประเด็นนั้นๆ และพิจารณาว่า จะทำอะไรได้บ้างในเชิงการบริหาร หรือการสร้างงานใหม่ๆ ในรูปของนโยบาย แผน โครงการ หรือเป็นกิจกรรมออกมา

แล้วเสนอนายกรัฐมนตรี

แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้พีอาร์เห็นอะไรก่อนคนอื่น ก็คือ เกาะติดข่าวสารจากสื่อ ฟังเสียงสะท้อนจากสื่อ และประชาชน

ใช้สื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพีอาร์รัฐบาล ที่สำคัญ ต้องแม่นยำ ไม่พลาดในการประเมินวิเคราะห์ อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ อะไรตอบโจทย์ อะไรไม่ตอบโจทย์

หากเสนอประเด็น ชงเรื่องขึ้นไป และนายกรัฐมนตรีเห็นชอบ กระทั่งนำไปสู่การจัดทำนโยบาย แผน โครงการ หรือกิจกรรมตามที่เสนอ นั่นคือ พีอาร์เล่นบทนำแล้ว

ประชาชนได้ คือ รัฐบาลได้

รัฐบาลได้ ก็คือ พีอาร์รัฐบาลได้

พีอาร์หนุนนำรัฐบาลได้ ก็เป็นที่พึ่งพาให้นายกรัฐมนตรีได้
กำลังโหลดความคิดเห็น