xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางการแก้ไขปัญหาในด้านการทหารและความมั่นคงของชาติ

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

ก. กล่าวนำ

หลังจากที่ผู้เขียนได้นำเสนอบทความเรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านเว็บไซต์ www.manager.co.th ไปแล้วสองครั้ง ปรากฏว่ามีผู้อ่านหลายท่านได้ติดต่อสอบถามมาและมีความประสงค์ขอให้ผู้เขียนสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาดำเนินการเพื่อหยุดยั้งและขจัดการก่อการร้ายที่ได้ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจึงได้สรุปข้อเสนอแนะที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในด้านการทหารและความมั่นคงของชาติ ตามที่ท่านผู้อ่านต้องการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวจะมีส่วนอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยุติและเกิดความสงบได้โดยเร็ว

ข. ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

1. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

1.1 รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหานี้ด้วยความเร่งด่วนสูงสุด

1.2 รัฐบาลต้องมีความกล้าประณามผู้ที่ก่อเหตุสังหารเด็กและผู้หญิงอย่างโหดเหี้ยม

1.3 รัฐบาลต้องแสวงหาความร่วมมือและการสนับสนุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

1.4 รัฐบาลควรพิจารณาออกกฎหมายห้ามคนไทยถือสองสัญชาติ และควรระงับการโอนสัญชาติอื่นมาเป็นสัญชาติไทยเป็นระยะเวลาอย่างไม่น้อยกว่า 8 ปี

1.5 รัฐบาลควรจัดทำประชามติถามประชาชนทั้งประเทศว่าจะให้พื้นที่ของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา แบ่งแยกออกจากประเทศไทยไปเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองหรือไม่ เพื่อให้ได้ฉันทามติและความชอบธรรม (Legitimacy) ในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เป็นของคนใดหรือกลุ่มใดที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น

1.6 รัฐบาลควรออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรแก้ไขปัญหาและบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด และเพื่อให้มีความเป็นเอกภาพควรให้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนี้มีฐานะเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และควรมีประสบการณ์ด้านการทหาร เพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนและการบริหารในพื้นที่ 7 จังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง (ดูผนวก ก.)

1.7 รัฐบาลควรจัดตั้งศูนย์ข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Center) ขึ้น โดยให้มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินกรรมวิธีข่าวกรองของชาติ การวางแผนงานข่าวของประเทศ การอำนวยการ และประสานงานข่าวระหว่างหน่วยงานข่าวต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลการข่าวที่ถูกต้องชัดเจนตรงตามความต้องการของรัฐบาลและหน่วยราชการที่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลต่างๆเหล่านั้น

1.8 รัฐบาลควรคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจากข้าราชการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดจากทุกกระทรวงทบวงกรม เนื่องจากข้าราชการที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่มีความรู้ความสามารถสูงในกระทรวงต่างๆ มีอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ วิศวกร หรือทหารก็มีความรู้ความสามารถควรได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายปกครองที่จบรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ นอกจากนี้ในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลควรเพิ่มตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายทหาร (ควรได้รับการคัดเลือกจากข้าราชการทหาร) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายต่างประเทศ (ควรได้รับการคัดเลือกจากข้าราชการกระทรวงต่างประเทศหรือจากสถาบันการศึกษาต่างๆ)

1.9 รัฐบาลควรจัดทำแผน และดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และควรดำเนินการไปพร้อมๆ กันทุกด้าน

1.10 รัฐบาลควรจัดสร้างกำแพงเมืองขนาดใหญ่ตามแนวชายแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย เพื่อจำกัดเสรีของกลุ่มก่อการร้ายบริเวณชายแดน ช่วยป้องกันการค้าสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน และยังเป็นเครื่องยืนยันแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียอย่างชัดเจน (ดูผนวก ข.)

1.11 รัฐบาลไม่ควรมีการพูดคุยกับกลุ่มก่อการร้ายเพียงกลุ่มเดียว แต่ควรมีการพูดคุยกับกลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่มโดยแยกคุยแต่ละกลุ่ม เนื่องจากแต่ละกลุ่มอาจมีความคิดเห็นและแนวทางที่แตกต่างกัน โดยรัฐบาลควรให้ความสำคัญทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันซึ่งจะทำให้ฝ่ายเราได้รับทราบความต้องการของแต่ละกลุ่มอย่างแท้จริง ที่สำคัญหัวหน้าคณะฝ่ายไทยไม่ควรเป็นข้าราชการประจำระดับสูงเพราะข้าราชการจะปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือนโยบาย และจะคำนึงถึงการพิจารณาความดีความชอบประจำปีและตำแหน่งสำคัญที่จะได้รับเป็นการตอบแทนมากกว่าสิ่งอื่น บางครั้งแม้จะขัดต่อผลประโยชน์ส่วนรวมก็ไม่กล้าโต้แย้งหรือคัดค้านเพราะกลัวจะถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีความสำคัญ

1.12 รัฐบาลไม่ควรยอมให้องค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศหนึ่งประเทศใดเข้ามายุ่งเกี่ยว เข้ามาแทรกแซง เข้ามาตรวจสอบ เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เป็นคนกลางหรือเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของไทยอย่างเด็ดขาด เพราะเราต้องยึดมั่นในหลักการที่ว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาการก่อการร้ายและควรนำเสนอด้วยว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ทุกประเทศต้องประณามและต้องถูกจับกุมส่งมาดำเนินคดีในประเทศไทย ถ้าประเทศใดให้ความช่วยหรือให้ที่พักพิงกลุ่มก่อการร้ายก็หมายถึงประเทศนั้นเป็นผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังกลุ่มก่อการร้ายนั่นเองซึ่งเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายประเทศไทยและควรถูก Sanction จากทุกประเทศทั่วโลก

2. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม

กระทรวงกลาโหมต้องพัฒนากองทัพบก เรือ อากาศ ให้อยู่ในระดับที่ประเทศเพื่อนบ้าน ต้องยำเกรง (โดยเฉพาะกองทัพบก และกองทัพอากาศ ควรมีขีดความสามารถใกล้เคียงกับกองทัพอิสราเอล ส่วนกองทัพเรือควรได้รับการสนับสนุนให้มีกองเรือดำน้ำ และฝูงบินที่มีขีดสามารถสูงเพื่อทำลายภัยคุกคามทางทะเลทั้งสองฝั่งมหาสมุทร)

3. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบก

3.1 กองทัพบกต้องจัดทำแผนพัฒนากองทัพ (ระยะเวลา 12 ปี แบ่งเป็น 3 ช่วงๆละ 4 ปี เพื่อให้มีขีดความสามารถในระดับที่ใกล้เคียงกับกองทัพบกอิสราเอล) ส่งให้รัฐบาลพิจารณา

3.2 กองทัพบกต้องจัดตั้งหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย (Counterterrorist Unit) ขึ้นเป็นการเฉพาะ (ใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง) เพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและขจัดกลุ่มการก่อการร้ายที่มีเป้าหมายทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และถ้าได้ผลดีควรขยายไปในทุกกองทัพภาค

3.3 กองทัพบกต้องพัฒนาหน่วยงานข่าว ระบบข่าวกรอง และระบบต่อต้านการข่าวกรองเพื่อให้ได้ข่าวสารที่ถูกต้องและทันเวลา โดยพัฒนาหน่วยข่าวกรองทางทหารให้มีขีดความสามารถอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับหน่วยงานข่าวของอิสราเอล และให้มีหน้าที่รับผิดชอบงานข่าวกรองในพื้นที่ที่มีการก่อความรุนแรงและการก่อการร้ายต่างๆเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายที่ ทบ.ควรจัดตั้งขึ้น

3.4 กองทัพบกต้องจัดทำเอกสารที่เป็นคู่มือในการต่อต้านและทำลายการวางระเบิด และคู่มือการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อให้กำลังพลได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และต้องพัฒนาปรับปรุงคู่มือดังกล่าวทุก 1 ปีเพื่อให้มีความทันสมัย (ดูตัวอย่างใน ผนวก ค.)

3.5 กองทัพบกควรจัดตั้งชุดป้องกันภัยหมู่บ้านซึ่งมีทหาร ตำรวจเป็นแกนร่วมกับชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน (โดยนำชุดรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านหรือชรบ.มาปรับปรุงใหม่)

3.6 กองทัพบกควรพัฒนาและขยายหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจาก 4 ปี เป็น 5 ปี 6 เดือน โดยให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการรบในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารงานต่างๆ ซึ่งเมื่อสำเร็จตามหลักสูตรใหม่นี้ก็ควรได้รับปริญญาโท สาขาการบริหารเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารซึ่งจะได้ไม่ต้องเสียเวลาลามาศึกษาต่อในภายหลัง

3.7 กองทัพบกควรย้ายสถานที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพบกมาที่สนามม้านางเลิ้ง และให้สนามม้าย้ายออกไปอยู่นอกเมืองหรือชานเมือง เพราะบริเวณสนามม้านางเลิ้งมีพื้นที่กว้างขวางเหมาะสมเป็นที่ตั้งของกรมฝ่ายอำนวยการและหน่วยงานที่จำเป็นต่างๆ ของ ทบ. การเข้าออกก็สะดวกเพราะติดถนนถึง 4 สาย และอยู่ใกล้พระตำหนักสวนจิตรซึ่งสามารถถวายการอารักขาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่สำคัญคือ บก.ทบ.ไม่ควรอยู่บนถนนราชดำเนินที่เป็นเส้นทางของการชุมนุมทางการเมือง และยังมีอาคารสำนักงานของ ESCAP ซึ่งสูงข่มตัวอาคาร บก.ทบ.อยู่อีก (ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ฮวงจุ้ยไม่เหมาะสม)

3.8 กองทัพบกควรพัฒนาสถานที่ตั้ง บก.ทบ.ในปัจจุบัน (บนถนนราชดำเนิน) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และเป็นสถาบันการศึกษาต่อเนื่อง (สูงกว่าปริญญาตรี) ของนายทหารที่จบปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและจากสถาบันต่างๆ เนื่องจากในอดีตในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ใช้สถานที่นี้เป็นสถานศึกษาเพื่อผลิตนายทหารให้ ทบ. ดังนั้น ทบ.จึงควรยึดมั่นในพระราชประสงค์นี้ต่อไป

3.9 กองทัพบกจะต้องร่วมมือกับบริษัทผลิตอาวุธในต่างประเทศและกระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนา และจัดสร้างโรงงานผลิตอาวุธเพื่อนำผลิตภัณฑ์มาใช้ในภารกิจต่างๆ ของประเทศ และเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ประเทศต่างๆ ที่มีความต้องการ โดยให้เป็นไปตามข้อบังคับของสหประชาชาติ และถูกกฎหมายทั้งของประเทศไทยและประเทศผู้ซื้อด้วย

4. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย

4.1 กระทรวงมหาดไทยต้องจัดทำการสำรวจสำมะโนประชากรในทุกหมู่บ้านในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยตรวจสอบทุก 6 เดือน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรและสัดส่วนของประชากรในแต่ละหมู่บ้าน โดยมุ่งหวังให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและ มีความละเอียดเพียงพอที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

4.2 กระทรวงมหาดไทยควรจัดตั้งหมู่บ้านต้นแบบที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในพื้นที่ที่มีโครงการการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจัดให้ประชาชนจากทุกภาคของประเทศในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในการนับถือศาสนา และรวมทั้งทหารผ่านศึกได้เข้ามาอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้

4.3 กระทรวงมหาดไทยควรออกกฎ ระเบียบ พระราชกำหนดห้ามคนต่างด้าวทุกชาติที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมาตั้งรกรากอย่างถาวร หรือมาถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในประเทศไทย และควรกำหนดบทลงโทษผู้ที่ให้ความช่วยเหลือไว้ด้วย

5. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

5.1 กระทรวงศึกษาธิการควรจัดทำโครงการฝึกอบรมในเรื่องภาษาบาฮาซาวัฒนธรรมทางภาคใต้ และหลักการสำคัญของศาสนาอิสลามให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐทุกคนที่จะต้องมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าใจเป็นอย่างดี

5.2 กระทรวงศึกษาธิการควรจัดตั้งโรงเรียนสามหรือสองศาสนาพร้อมจัดทำหลักสูตรเพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบ โดยให้รับนักเรียนทุกศาสนาเข้าเรียนร่วมกัน และควรพัฒนาโรงเรียนของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นโรงเรียนสามหรือสองศาสนาที่ได้มาตรฐานไปทั่วทุกอำเภอ

5.3 กระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดทำโครงการพัฒนาการกีฬา และการฝึกอบรมการเล่นดนตรีและร้องเพลง เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ และเข้าร่วมการประกวดแข่งขันการเล่นดนตรีและการร้องเพลงต่างๆ เช่นเดียวกันกับในภูมิภาคอื่นของประเทศ

5.4 กระทรวงศึกษาธิการต้องตรวจสอบความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์ของเมืองต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความเป็นมาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างละเอียด โดยร่วมมือกับนักประวัติศาสตร์ทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศเพื่อนำข้อมูลความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องมาจัดทำเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ต่อไป

6. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม

6.1 กระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างความต้องการแรงงาน เช่น อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร อุตสาหกรรมต่อเรือเดินทะเล อุตสาหกรรมอากาศยาน ท่าเรือน้ำลึก การขนส่งทางบกและทางน้ำ เป็นต้น

6.2 กระทรวงอุตสาหกรรมต้องจัดเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก และอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและให้การสนับสนุนแก่ผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มการลงทุนและความต้องการแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน

6.3 กระทรวงอุตสาหกรรมต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตอาวุธทั้งเบาและหนัก รวมไปถึงเรือรบ และเครื่องบินรบ โดยจะต้องร่วมมือกับกองทัพทั้งสามอย่างใกล้ชิด

7. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

7.1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องให้การสนับสนุนคนไทยและบริษัทของคนไทยเท่านั้นในการจัดทำโครงการการเกษตรขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มการจ้างแรงงานในพื้นที่ และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ไปพร้อมกันทีเดียว

7.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกกฎหรือระเบียบห้ามบุคคลต่างด้าว หรือชาวต่างประเทศที่โอนสัญชาติมาถือสัญชาติไทยนานไม่ถึง 20 ปี หรือบริษัทร่วมทุนกับ

ต่างประเทศ หรือบริษัทที่ต่างประเทศถือหุ้นอยู่เกินกว่าร้อยละ 30 เข้ามามีกรรมสิทธิ์หรือถือครองที่ดินทางการเกษตร และที่ดินทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเด็ดขาด และห้ามมิให้บุคคลหรือนิติบุคคลดังกล่าว ดำเนินกิจการทางการเกษตรหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ยกเว้นการเป็นลูกจ้างทางการเกษตรของคนไทยหรือบริษัทของ คนไทยเท่านั้น

8. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ

8.1 สำนักข่าวกรองแห่งชาติจะต้องพัฒนาบุคลากรและระบบงานอย่างสม่ำเสมอให้มีขีดความสามารถสูง ยิ่งขึ้นเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถสนองตอบความต้องการของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ได้ทันต่อเหตุการณ์

8.2 สำนักข่าวกรองแห่งชาติจะต้องดำเนินกรรมวิธีทางการข่าวทั้งในประเทศ และนอกประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องของกลุ่มบุคคลที่มุ่งทำลายประเทศไทย โดยจะต้องดำเนินการยับยั้งหรือขจัดการดำเนินการดังกล่าวให้หมดสิ้นไป และจะต้องดำเนินการต่อต้านการข่าวกรอง โดยการขจัด ทำลายบุคคล องค์กรที่ดำเนินการจารกรรม ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย หรือบ่อนทำลายประเทศไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศอย่างเด็ดขาด

9. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

9.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องให้ตำรวจในพื้นที่ทำหน้าที่เพิ่มเติมในด้านการข่าวในพื้นที่เพื่อช่วยสนับสนุนงานข่าวกรองของหน่วงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

9.2 สตช.จะต้องให้ตำรวจในพื้นที่ร่วมมือกับทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการให้ความคุ้มครองป้องกันภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือกลุ่มประชาชนในพื้นที่อย่างสุดความสามารถ โดยให้มีตำรวจอยู่ประจำทุกหมู่บ้านในพื้นที่หมู่บ้านละไม่น้อยกว่า 3-5 นาย (โดยทำงานร่วมกับชุดป้องกันภัยหมู่บ้านหรือชุดรักษาบ้าน อาสาสมัครฝ่ายพลเรือน ทหารพราน และทหารหน่วยต่างๆ ในพื้นที่)

10. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

10.1 กรมแรงงานควรจัดทำโครงการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อฝึกอบรมประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพสาขาต่างๆ

10.2 กระทรวงแรงงานควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศซึ่งประกอบธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ได้พิจารณาคัดเลือกแรงงานที่เป็นคนไทยในพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมด อีกประมาณร้อยละ 40 ควรมาจากผู้ใช้แรงงานจากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 20 เป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยได้ และควรพิจารณาแรงงานชาวลาวเป็นลำดับต้นก่อนชาติอื่น

11. ข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม

11.1 กระทรวงยุติธรรมควรพิจารณาร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแบ่งมอบหน้าที่ให้แก่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนตำรวจ โดยให้ตำรวจรับผิดชอบคดีอาชญากรรมที่สำคัญต่างๆ เช่น การค้าสินค้าหนีภาษี การค้าน้ำมันเถื่อน การปล้นชิงวิ่งราวต่างๆ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และการโจรกรรมยานยนต์ต่างๆ เป็นต้น

11.2 ควรทบทวนขั้นตอนการกลั่นกรองและการมอบตัวของผู้กระทำผิดในคดีความมั่นคงให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้นซึ่งรวมทั้งการใช้มาตรา 21 เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางที่จะหลบเลี่ยงไม่ต้องรับโทษจากการกระทำความผิดต่างๆ ในอดีต และสำหรับผู้ที่ได้รับการอภัยโทษควรจัดให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีการดูแลเป็นพิเศษ (ซึ่งไม่ใช่ภาคใต้) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ค. สรุป

ผู้เขียนได้ให้ความคิดเห็นรวมทั้งตัวอย่างสำหรับข้อเสนอแนะบางข้อที่มีความสำคัญเร่งด่วน อย่างไรก็ดี ผู้เขียนหวังว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีข้อมูลในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว คงจะสามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่มาเชื่อมต่อกับข้อเสนอแนะต่างๆ จนนำไปสู่การปฏิบัติที่ทำให้สังคมมีความเป็นธรรม และประชาชนดำรงชีวิตได้อย่างมีความสงบสุข

ผนวก ก.

ประธานคณะกรรมการ ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาโท มีประสบการณ์ทางการบริหารในระดับสูง โดยเฉพาะควรมีประสบด้านการทหารด้วย และไม่ควรมีอายุเกินกว่า 70 ปี

ผนวก ข.

แผนที่แสดงแนวเขตพรมแดนไทย - มาเลเซีย และภาพกำแพงขนาดใหญ่

ผนวก ค.

ตัวอย่างคำแนะนำที่ควรมีในคู่มือการต่อต้านการวางระเบิด Counter-Improvised Explosive Devises(C-IEDs)

1. สังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือรอบรถของเราว่ามีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น ผู้หญิงเด็กหายไปไหน, มีร่องรอยการตัดต้นไม้หรือมีการขุดถนน หรือไม่

2. ระมัดระวังสถานที่ที่เป็นจุดคับขัน เช่น มีรถจอดอยู่ข้างทาง, บริเวณคอสะพาน, เส้นทางจราจรทางเดียว one way, บริเวณที่มีการจราจรติดขัด, ช่วงทางโค้ง ทางเบี่ยง หรือบังคับเลี้ยว เป็นต้น

3. ถ้ามีระเบิด IEDs ต้องรีบตรวจสอบบริเวณโดยรอบเพื่อหาว่า IEDs ลูกอื่นๆควรจะอยู่ที่ใด

4. ถ้าพบ IEDs รีบแจ้งหน่วยเก็บกู้ทำลาย อย่าทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญดำเนินการเอง

5. ถ้ายังอยู่ในพื้นที่ที่อันตราย ควรรักษาความเร็วของรถไว้ ไม่ควรชะลอ หรือลดความเร็วลง

6. ควรสวมหมวก และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิดต่างๆ

7. ต้องเรียนรู้การพัฒนาการของ IEDs และชี้แจงให้กำลังพลทุกนายเข้าใจด้วยเช่นกัน

8. อย่าพยายามเคลื่อนย้าย IEDs เอง ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะดำเนินการใดๆ

9. สังเกตดูว่า ในบริเวณนั้นมีช่างวิดีโอ ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ หรือผู้ทำหน้าที่รายงานข่าวอยู่หรือไม่ เพราะผู้วางระเบิดส่วนใหญ่ชอบดูผลงานของตนเอง

10. ถ้าผู้ร่วมขบวนซึ่งเป็นคนในพื้นที่ปฏิเสธไม่ร่วมขบวน หรือหยุดรถของตัวเองเพื่อทำธุระ หรือขอแยกทางกะทันหัน อาจอนุมานได้ว่าเป็นเพราะกลัวที่จะเข้าไปในพื้นที่สังหาร

11. การวางระเบิดตามเส้นทางที่เป็นถนน มักนิยมวางระเบิดบริเวณไหล่ถนนเพราะขุดง่ายไม่เป็นที่สังเกต หรือบริเวณทางโค้ง หรือคอสะพาน แต่สำหรับในประเทศไทยอาจขุดฝังระเบิดไว้กลางถนนเลยก็ได้เพราะถนนไม่แข็งแรงและอาจมีการจัดทำเครื่องหมาย (Marker) เพื่อสั่ง IEDs ให้ทำงานเมื่อเป้าหมายเข้ามาใกล้

กำลังโหลดความคิดเห็น