xs
xsm
sm
md
lg

สุกำพลอ้างบิ๊กตู่โทรฯ ยืนยันไม่ปฏิวัติไฟเขียวเปิดสภาแก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"สุกำพล" ลั่นเด็ดขาด จัดการขวากหนาม เปิดทางสภาฯแก้ รธน.ให้จบ ไม่ต้องกลัวปฏิวัติ เผย "ประยุทธ์" โทร.มาเคลียร์แล้ว ยอมรับ "แม้ว" โทรเช็คเป็นระยะ กังวลน้องสาวจะถูกปฏิวัติ พท.นัดประชุมวันนี้ เดินหน้าโหวตแก้ รธน.วาระ 3 "จาตุรนต์" ปั่นกระแส หากให้ศาลฯ ล้มการแก้ไข รธน. มาตรา 7 โผล่แน่ "ยะใส" ชี้ ปลายทางคือ ดัน กม.นิรโทษแม้ว "สยามประชาภิวัฒน์" อัดเผด็จการนายทุนทำลายศาล ร้องทุกฝ่ายร่วมต้าน

วานนี้ (10 มิ.ย.) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์บ้านเมือง หลังจากที่มีกลุ่มคนเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ออกเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ถ้าเราจะทำอะไรแล้วมานั่งกลัว มานั่งหวาดระแวง ก็คงไปไม่รอด ดังนั้นจะต้องตัดสินใจ หรือถ้าเราคิดว่าทำสิ่งนี้แล้วถูกต้อง เพื่อไปสู่จุดเป้าหมาย ทำแล้วประเทศเกิดความสว่าง และสดใส หรือทำในสิ่งที่ดี ก็ต้องเอาเลย และต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ อย่าไปกลัว นั่นคือสิ่งที่เป็นขวากหนาม ถ้ามาเป็นอยู่แบบนี้ก็คงไม่ไหว โหรก็ทำนายแบบนั้น คนก็มองมาแบบนี้ ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับคนที่มอง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาล ว่าจะมองอย่างไร

** ต้องแก้รธน.-ปรองดองให้จบ

ทั้งนี้ เราจะต้องดำเนินการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จบลงก่อน ส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล กองทัพเพียงติดตามสถานการณ์ความมั่นคง เรื่องการเมืองกองทัพไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยเฉพาะตนไม่เก่งในเรื่องการเมือง

" เรื่องการปรองดองของคนในชาติจะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งเรื่องการปรองดองทุกฝ่ายจะต้องยอมรับกัน เหมือนกับผม ที่มาคุมกระทรวงกลาโหม ก็มีคนมองว่า เสร็จแน่เลยเมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งก็จะต้องย้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. ซึ่งที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้ย้ายใครเลย เพราะมองว่า สิ่งที่ผ่านมาก็ต้องให้มันผ่านไป ให้จบลงไป ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีใบสั่ง หรือมีการส่งสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีแต่การพูดกันไปมาเท่านั้น โดยเฉพาะสื่อ ทั่งนี้ผมสามารถย้ายได้ แต่อยากถามว่า ทำแล้วมันได้อะไรขึ้นมา" รมว.กลาโหม กล่าว

**อ้าง "ประยุทธ์" บอกไม่ปฏิวัติ

เมื่อถามว่า ณ เวลานี้ มั่นใจหรือไม่ว่าจะยังสามารถควบคุมกองทัพได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ โดยเฉพาะการปฏิวัติ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เรื่องปฏิวัติ ตนอยากถามว่า ใครอยากปฏิวัติ เพราะมันทำกันไม่ได้ง่ายๆ แต่คนที่ให้ตนมาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม มั่นใจว่าตนสามารถควบคุมกองทัพได้ ดังนั้นก็จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจของคนที่มาให้ทำงานในหน้าที่นี้

" ผู้บัญชาการทหารบกได้โทรศัพท์มาพูดคุย และบอกว่าพี่ (พล.อ.อ.สุกำพล) ตอนนี้มีข่าวลือเยอะเหลือเกินว่าทหารจะปฏิวัติ หรือเตรียมการที่จะทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ในใจผม (พล.อ.ประยุทธ์)ไม่มีอย่างข่าวที่ลือกัน ซึ่งผมก็เข้าใจกัน ไม่ได้มีอะไรกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผมไม่เคยถาม ผบ.เหล่าทัพ เกี่ยวกับข่าวลือที่เกิดขึ้นเลย ตอนนี้ ผบ.เหล่าทัพ โทรมาหา และรายงานให้ทราบเอง พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ผมสงสัยอะไรกับเหตุการณ์ปฏิวัติ ก็ให้โทรมาถาม แต่ผมบอกว่า จะโทรไปทำไมในเมื่อไม่มีอะไร" พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว

เมื่อถามว่าได้มีการเสนออะไรกับพรรคเพื่อไทย กับสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนี้หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเขารู้หมด สถานการณ์จะเป็นอย่างไร เมื่อเวลาประชุมพรรค มีอะไร หรือขาดอะไร ถ้าตนรู้ก็เสริมให้เท่านั้น เราอย่าไปไกลกว่าเขา เพราะเราไม่เก่งพอ เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจผู้บัญชาการทหารบกคนนี้อย่างไรว่าจะไม่ทำปฏิวัติ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เขาไม่ทำหรอก ถ้าทำเขา จะทำเพราะอะไร พล.อ.ประยุทธ์ ต้องคิดว่าทำแล้วจะได้อะไร จะทำเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วถามว่าใครจะขึ้นมาบริหารประเทศ หรือจะให้พรรคประชาธิปัตย์ มาบริหาร

" ผมว่าทหารไม่เอาอยู่แล้ว เพราะทั่วโลกเขาเอาตาย เมื่อเป็นแบบนี้แล้วจะให้ใครมาเป็น มาบริหารประเทศ ปัจจุบันมีอยู่แค่ 2 ขั้วการเมืองเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็เห็นกันแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร ต้องไปดูว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ สมัยที่เป็นรัฐบาล ซึ่งผมมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ เรียนก็เก่ง และเป็นหัวหน้าตอน และสอบได้ที่ 1 ที่สำคัญเป็นหัวหน้าชั้น เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นคนที่มีความคิดอะไรหลายๆ อย่าง ดังนั้นเมื่ออยู่ด้วยกัน ก็จะไปด้วยกัน เมื่อครั้งที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และไม่ได้เป็นคนสั่งการอะไรโดยตรง เพียงแต่คนที่เป็นนายเท่านั้นที่เป็นคนสั่งการ แต่มาวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่ง แล้วจึงรู้ว่าอะไรควรเป็นอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมือง" พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว

รมว.กลาโหม กล่าวอีกว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองมันเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้แล้ว และพรรคเพื่อไทย ก็ชนะการเลือกตั้ง มาตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ เติบโตขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับไปทางพรรคประชาธิปัตย์หรือ ทั้งๆ ที่รู้ว่า คนเก่ามันไม่เข้าท่าแล้ว และคนไม่เอาแล้ว ยังจะกลับไปอีกหรือ

ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องกลับมาช่วยรัฐบาลชุดนี้ ตอนนี้มีคนด่าผู้บัญชาการทหารบกเละ เหมือนกับมองว่าเขาเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่เพียงว่าหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารบก เป็นแบบนี้ จะให้ทำอย่างไร ทั้งๆ ที่ผู้บัญชาการทหารบก รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ควรทำอย่างไร ต้องเปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนั้น กับตอนนี้ เป็นอย่างไร เราไม่ได้ไปสั่งแบบไม่เข้าท่า เข้าทาง เราไม่ได้ไปอะไรมาก เพียงแต่เรารู้หน้าที่ซึ่งกันและกัน

" มีคนมองว่า ผมกับผู้บัญชาการทหารบก จะฟาดฟันกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มี เพียงแต่เราอยู่ด้วยกัน จะต้องพูดจากันให้รู้เรื่อง ถ้าพี่คุยกับตู่ รู้เรื่อง หรือตู่กับพี่รู้เรื่อง ทุกอย่างก็จบไม่มีปัญหาอะไร ทหารเขาคุยกันแค่นี้แหละ ที่ผ่านมาผู้บัญชาการทหารบก ยืนยันกับผมว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวของทหาร มีคนพูดอย่างนั้น อย่างนี้ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย อย่าไปตื่นตูมเรื่องนี้ เขาลืออะไรกันหน่อยก็ไปเชื่อกันหมด เรื่องการทำปฏิวัติใครๆ ก็รู้ มันไม่มีความลับอะไร เพราะการเคลื่อนไหวมันจะต้องรู้ การปฏิวัติแล้วจะให้ฝ่ายการเมืองเขาทำอะไร จะให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลหรือ"

** แก้ปัญหาต้องใช้สภาเท่านั้น

เมื่อถามว่า การแก้ไขปัญหาบ้านเมือง จะต้องใช้สภาเท่านั้น ใช่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า มันจะต้องแก้ไขด้วยสภาอย่างเดียว ทหารแก้ไขไม่ได้หรอก การปฏิวัติแค่ทหารเปลี่ยนจากขั้วนั้น มาเป็นขั้วนี้ หรือ ขั้วนี้เป็นขั้วนั้น หรือไม่ทหารก็เอาเอง มันมีอยู่แค่นั้น มันมีทางเลือกอยู่แค่นี้ เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังระแวงกับเหตุการณ์ปฏิวัติอยู่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ไกล ข้อมูลที่จะรับรู้เรื่องปฏิวัติน้อยมาก พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะต้องฟังข้อมูลจากทางนี้ เมื่อเราให้ความมั่นใจทางพ.ต.ท.ทักษิณ ก็สบายใจ ทั้งนี้ตนยอมรับว่า ได้มีการพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ บ้าง เพราะเขาก็ไม่สบายใจกับสถานการณ์บ้านเมือง

** ถกโหวตแก้ รธน.วาระ3 วันนี้

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการประชุม ส.ส. พรรคเพื่อไทย วันนี้ (11 มิ.ย.) เวลา 14.30 น. จะมีการหารือเรื่องที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งหนังสือถึงประธานสภา ให้การชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 รวมถึง กม. อื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ก่อการร้าย และ พ.ร.บ.การเงิน โดยวิปรัฐบาลจะมีการหารือในเวลา 10.00 น. วันนี้ก่อนนำความเห็นของวิปเข้าสู่ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนในช่วงบ่ายของวันนี้

**ล้างผิด"แม้ว"คือจุดหมายที่แท้จริง

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างสภาฯ โดยพรรคเพื่อไทยกับศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ถือเป็นประเด็นอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ เพราะพรรคเพื่อไทย พยายามใช้เสียงข้างมากในสภาฯ ทำทุกวิถีทางในการสถาปนาอำนาจเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง จึงพยายามที่จะขัดขืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ชะลอการลงมติ ในวาระ 3 ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทย ยังใช้มวลชนเสื้อแดง ซึ่งเป็นมวลชนของพรรคทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ สารพัดวิธี

ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจึงเล่นเกมยื้อ ไม่ลงมติวาระ 3 ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่อาจจะลงมติในการประชุมนัดพิเศษ วันจันทร์นี้ หรือหากว่าที่ประชุมรัฐสภายอมถอย รับคำสั่งศาล แต่ก็แค่ยอมในยกแรก พอถึงขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อแน่ว่าจะมีการลดทอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือออกแบบให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตในขณะนี้ คือ การปลุกกระแสไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และ กลุ่มนปช. ลุกลามไปถึงขั้นการท้าทายอำนาจตุลาการทั้งระบบ โดยพยายามสร้าง และให้ความหมายที่บิดเบือนของคำว่า ตุลาการภิวัฒน์ ว่า เป็นเพียงเครื่องมือของอำมาตย์ ในการกลั่นแกล้งเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นายสุริยะใส กล่าวว่า การปลุกกระแสคนเสื้อแดงเผชิญหน้ากับอำนาจตุลาการครั้งนี้ รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล อย่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ข้าราชการการเมืองของพรรค และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคน ไปขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ อย่างเปิดเผย จึงเท่ากับว่าฝ่ายบริหารโดย รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังเผชิญหน้ากับฝ่ายตุลาการโดยตรง

" นี่เป็นแค่ยกแรกของการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายบริหาร กับตุลาการเท่านั้น เพราะปลายทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่าย คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่หวังไปยกเลิกคำพิพากษาของศาล และนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นี่ต่างหากเป็นปลายทางที่แท้จริง เพราะหากในยกแรกพรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำ ก็จะทำให้ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ชะตาขาดไปด้วย โอกาสได้กลับบ้านอย่างเท่ๆ ก็หมดสิทธิ์ จึงต้องสร้างกระแสกดดันอำนาจตุลาการ หรือศาล เพื่อเปิดทาง ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อทักษิณ"

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งในประเด็นที่อ่อนไหวแบบนี้ น่าเป็นห่วงเพราะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร ถ้าคนเสื้อแดงเกลียดกลัวการรัฐประหาร และเป็นนักประชาธิปไตยจริง ต้องไม่สร้างเงื่อนไขแบบนี้ และก็ต้องต่อต้านอำนาจนักการเมืองที่พยายามแทรกแซง และอยู่เหนืออำนาจตุลาการเช่นกัน

**"อ๋อย"ยุสภาฯโหวตแก้รธน.วาระ3

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ในฐานะประธานสถาบันการศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระ 3 ของร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้สังคมไทยอยู่ระหว่างทางสองแพร่ง คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าต่อไป มีการลงมติวาระ 3 เลือกตั้ง ส.ส.ร. และมีการลงประชามติ ส่งผลให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้แก้ไขวิกฤติพื้นฐานประเทศได้

ส่วนอีกทางหนึ่งคือ การล้มรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาคำร้อง และวินิจฉัยว่า ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลให้เราย่ำอยู่กับที่ และ จะเกิดสุญญากาศทางการเมือง โดยอาจทำให้มีผู้เสนอ มาตรา 7 ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ดึงดัน บิดเบือน ในการที่จะขัดรัฐธรรมนูญมากขึ้น และหากมีการชะลอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่เสียหายร้ายแรงต่อระบบรัฐสภา จะส่งผลให้ระบบรัฐสภาขึ้นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศต้องตัดสินใจ สมาชิกรัฐสภาต้องร่วมกันตัดสินใจในการหาทางออก แต่ตนเห็นว่า รัฐสภาควรที่จะเดินหน้าต่อไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นที่รัฐสภาจะต้องเดินหน้า ถ้าหากการประชุมสภาฯ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ กลับไปพิจารณาเรื่องอื่น ก่อนที่จะลงมติวาระ 3 นั้น แสดงว่า รัฐสภาได้ชะลอการลงมติ ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่ากระบวนการรัฐสภา ขึ้นอยู่กับว่าจะพร้อมใจในการเดินหน้าหรือไม่ หากสมาชิกรัฐสภาลงมติว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ผูกพันรัฐสภา ก็สามารถเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้ แน่นอน

** ปัดทีวีบลูสกายไม่ใช่ของปชป.

เมื่อเวลา 09.00 น.วานนี้ (10 มิ.ย.) ที่อาคารบางกอกทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานเปิดตัวสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ชาแนล ว่า ได้มีนักการเมืองทยอยเดินทางมาแสดงความยินดีกันอย่างคับคั่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค โดยมี นายวิทเยนตร์ มุตตามาระ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ ผู้อำนวยการสถานี คอยให้การต้อนรับ

ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวระหว่างการเข้าแสดงความยินดีว่า สถานีบลูสกายฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ และตนเป็นเพียงแขกรับเชิญในการเข้าร่วมรายการเป็นประจำเท่านั้น

** จี้ออกพ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภา

นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายสมสักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา อาจจะให้มีการลงมติ วาระ3 ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในการประชุมรัฐสภาสัปดาห์หน้า ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารจากรัฐสภา แต่มีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาต่อเนื่องจากวันศุกร์ที่แล้ว ในข้อตกลงระหว่างประเทศ มาตรา190 ขณะนี้สมาชิกรัฐสภารับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตนคิดว่าหากไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง ไม่อยากให้เกิดการเผชิญหน้า ก็ให้เดินหน้ามาตรา 190 ตนยืนยันว่านายกรัฐมนตรี และครม. ต้องเร่งตราพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภา และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาครั้งหน้า ศาลรัฐธรรมนูญก็น่า จะพิจารณาเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว จะได้ไม่ต้องมีการเผชิญหน้ากัน

** ปชป.ไม่ร่วมโหวตแก้รธน.วาระ 3

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา เห็นได้ว่า การประชุมไม่ราบรื่น ประธานรัฐสภาถูกกดดันจากพรรคเพื่อไทยบางส่วน ที่จะให้ลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะมีปัญหา เพราะวาระในการพิจารณาเป็นเพียงแค่การรับทราบเท่านั้น ว่ารัฐสภามีอำนาจอะไรในการลงมติ ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับการว่าจะทำตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากการประชุมรัฐสภาครั้งหน้ามีการดึงดันให้มีการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วาระ3 พรรคประชาธิปัตย์ ก็ขอยืนยันว่าจะไม่ร่วมลงมติ เพราะถือว่าคำสั่งศาลยังมีอยู่ ส่วนจะเกิดความรุนแรงกลางสภา รอบที่ 3 หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้น

ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองนั้น ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการพิจารณาเมื่อใด แต่ยืนยันว่า ไม่ควรมี เพราะยังไม่มีความจำเป็น ตนอยากให้รัฐบาลและสภาไปตั้งหลักอะไรที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับการบริหารงานก็ควรนำเข้ามาพิจารณาก่อนเช่น กฎหมายฟอกเงิน นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่เริ่มประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ควรปิดสมัยประชุมสภา เพื่อให้ส.ส.ได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชน

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวการระดมเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งมีคำสั่งออกมาถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องชี้แจงส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเดินเกมจะยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาปลุกระดมมวลชน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติเรื่องการยุบพรรค แต่กลับเป็นกลุ่มที่ยื่นยุบพรรคบ่อยที่สุด พรรคเพื่อไทยจะใช้วิธีการอย่างนี้ในการพยายามทำให้เกิดเรื่อง เกิดคดี แต่เมื่อเรื่องไม่มีมูล ก็จะโวยวายว่าสองมาตรฐาน

**อัดเผด็จการนายทุนเหิมทำลายศาล

วานนี้ (10 มิ.ย. ) กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 เรื่อง แปรพลังของความขัดแย้งจากการกระทำของพรรคการเมืองนายทุนผูกขาด สู่พลังของการปฏิรูปประเทศ มีเนื้อความว่า

ตามที่ได้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ในการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จนนำมาสู่ความขัดแย้งภายนอกรัฐสภา ของกลุ่มพลังต่างๆ และต่อมาได้เกิดความขัดแย้งในประเด็นการลงมติใน ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ซึ่งสืบเนื่องมา
จากมีผู้ร้องไปยังศาลรธน. โดยอาศัยมาตรา 68 และศาลรธน. ได้มีคำสั่งไปถึงเลขาธิการรัฐสภาให้ยุติการลงมติในวาระ 3 ไว้ก่อน

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ได้พิจารณาถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐสภา กับศาลรธน. ในประเด็นในทางหลักการแล้ว เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถือ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” และ “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ไม่ว่า การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น จะเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรธน. หรือคำสั่งศาลต่างๆ หาได้ถือ “หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา” แต่อย่างใดไม่ และบนพื้นฐานของหลักการดังกล่าว ย่อมมีความหมายว่า การใช้อำนาจของรัฐสภา ย่อมผูกพันกับรัฐธรรมนูญ และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ดังนั้น กรณีที่มีปัญหาว่า การใช้อำนาจของรัฐสภา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ถูกต้องหรือกระทบการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อมแล้วย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรธน. การทำหน้าที่ของศาลรธน.ในกรณีนี้ ถือได้ว่า ศาลรธน. เป็นองค์กรที่ทำให้เกิดดุลยภาพ ระหว่าง “ระบบเสียงข้างมาก” กับ “การดำรงอยู่ของหลักการตามรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น การดำรง อยู่ของศาลรธน. จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย

แต่ประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งกว่า กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” มองปรากฏการณ์ของความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ระบบรัฐสภาว่า แท้ที่จริงแล้ว อาการของโรคที่เกิดขึ้นไม่ว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ดี กรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ดี มาจากสาเหตุของโรคเดียวกันคือ “โรคเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมืองนายทุน” อาการของโรคร้าย จึงแสดงผ่าน “ระบบรัฐสภา” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจ และกระทำการผ่าน “ระบบบริหาร” โดยทั้งสอง“ระบบ” มีผู้สั่งการคนเดียวกันคือ “เจ้าของพรรคการเมืองนายทุน” อาการของโรคนี้ ยังจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนกว่าบรรลุความมุ่งหมายของเจ้าของพรรคการเมืองนายทุน และเป้าหมายปลายทางประการหนึ่งของระบบเผด็จการรัฐสภา โดยพรรคการเมืองนายทุน คือ การครอบงำอำนาจทั้งหมดให้อยู่ภายใต้อุ้งมือของเจ้าของพรรคการเมืองนายทุน

ดังนั้น อันตรายที่ปรากฏต่อหน้าสังคมไทยในขณะนี้คือ ความพยามยามที่จะครอบงำองค์กรตุลาการ และทำลายความอิสระและความเป็นกลางของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม และนี่คือ ภยันตรายที่กำลังคืบคลาน และกัดกินสังคมไทยในนามของ “เสียงข้างมากในระบบรัฐสภา”

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมไทยมองปรากฎการณ์ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ และมองเห็นความจริงแท้ของปัญหา เมื่อมองเห็นความจริงแท้ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาแล้ว สังคมไทยต้องทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานตราบถึงปัจจุบันนี้ กลุ่ม“สยามประชาภิวัฒน์” เห็นว่า ต้นเหตุของปัญหาที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันคือ ปัญหาการผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ และชนชั้นนำในยุคปัจจุบันคือ ชนชั้นนำของพรรคการเมืองนายทุน ดังที่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ได้เคยแสดงจุดยืนต่อสังคมไปแล้ว

สภาพการณ์ของความขัดแย้งดังกล่าว ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ต้องการการปฏิรูปประเทศอย่างขนานใหญ่ โดยการปรับโครงสร้างสถาบันการเมืองใหม่ และการปรับระบบความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม มีความสุข และมีความมั่นคงในชีวิต

กลุ่ม“สยามประชาภิวัฒน์” จึงเห็นว่าการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ จำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กระบวนการดังกล่าวจะต้องกระทำหลังจากที่สังคมไทยเป็นอิสระจากระบบพรรคการเมืองนายทุน มิเช่นนั้นแล้ว กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมืองนายทุน

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ใคร่ขอเรียกร้องให้กลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ได้แปรเปลี่ยนพลังของความขัดแย้งไปสู่พลังของการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง โดยมีธงชัยอยู่ที่ “ความเป็นธรรม เป็นสุข และความมั่นคงในชีวิตของประชาชน”.
กำลังโหลดความคิดเห็น