กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ออกแถลงการณ์ ชี้ความขัดแย้งกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นอาการของโรคเผด็จการรัฐสภา นายทุนเจ้าของพรรคพยายามครอบงำตุลาการทำลายความเป็นอิสระของศาล หวังกุมอำนาจทั้งหมดไว้ในมือ ชี้ทางออกต้องปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ เรียกร้องกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ แปรเปลี่ยนพลังของความขัดแย้งเป็นพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
วันที่ 10 มิ.ย. กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 เรื่อง แปรพลังของความขัดแย้งจากการกระทำของพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดสู่พลังของการปฏิรูปประเทศ มีเนื้อความว่า
“ตามที่ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในกรณีของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .... จนนำมาสู่ความขัดแย้งภายนอกรัฐสภาของกลุ่มพลังต่างๆ ดังที่ทราบกันแล้ว ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งในประเด็นการลงมติในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในวาระ 3 ซึ่งสืบเนื่องมาจากมีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งไปถึงเลขาธิการรัฐสภาให้ยุติการลงมติในวาระสามไว้ก่อน ความขัดแย้งในประเด็นข้อกฎหมายทั้งหลายที่ฝ่ายต่างๆ ออกมาให้เหตุผลสนับสนุนหรือคัดค้านการกระทำของ ศาลรัฐธรรมนูญนั้น
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ได้พิจารณากรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐสภา กับศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นในทางหลักการแล้วเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถือ “หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” และ “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ไม่ว่าการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้นจะเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือคำสั่งศาลต่างๆ หาได้ถือ “หลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา” แต่อย่างใดไม่ และบนพื้นฐานของหลักการดังกล่าวย่อมมีความหมายว่า การใช้อำนาจของรัฐสภาย่อมผูกพันกับรัฐธรรมนูญและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ดังนั้น กรณีที่มีปัญหาว่าการใช้อำนาจของรัฐสภาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ถูกต้อง หรือกระทบการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อมแล้วย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ถือได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำให้เกิดดุลยภาพระหว่าง “ระบบเสียงข้างมาก” กับ “การดำรงอยู่ของหลักการตามรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น การดำรงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย
แต่ประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งกว่า กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” มองปรากฏการณ์ของความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ระบบรัฐสภาว่าแท้ที่จริงแล้ว อาการของโรคที่เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .... ก็ดี กรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ดี มาจากสาเหตุของโรคเดียวกันคือ “โรคเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมืองนายทุน” อาการของโรคร้ายจึงแสดงผ่าน “ระบบรัฐสภา” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจ และกระทำการผ่าน “ระบบบริหาร” โดยทั้งสอง “ระบบ” มีผู้สั่งการคนเดียวกันคือ “เจ้าของพรรคการเมืองนายทุน” อาการของโรคนี้ยังจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนกว่าบรรลุความมุ่งหมายของเจ้าของพรรคการเมืองนายทุน และเป้าหมายปลายทางประการหนึ่งของระบบเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองนายทุนคือการครอบงำอำนาจทั้งหมดให้อยู่ภายใต้อุ้งมือของเจ้าของพรรคการเมืองนายทุน ดังนั้น อันตรายที่ปรากฏต่อหน้าสังคมไทยในขณะนี้คือ ความพยามยามที่จะครอบงำองค์กรตุลาการและทำลายความอิสระและความเป็นกลางของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม และนี่คือภยันตรายที่กำลังคืบคลานและกัดกินสังคมไทยในนามของ “เสียงข้างมากในระบบรัฐสภา”
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมไทยมองปรากฎการณ์ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติและมองเห็นความจริงแท้ของปัญหา เมื่อมองเห็นความจริงแท้อันเป็นต้นเหตุของปัญหาแล้ว สังคมไทยต้องทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหลายเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานตราบถึงปัจจุบันนี้ กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” เห็นว่าต้นเหตุของปัญหาที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันคือ ปัญหาการผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ และชนชั้นนำในยุคปัจจุบันคือชนชั้นนำของพรรคการเมืองนายทุนดังที่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ได้เคยแสดงจุดยืนต่อสังคมไปแล้ว
สภาพการณ์ของความขัดแย้งดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้โดยการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นต้องการการปฏิรูปประเทศอย่างขนานใหญ่ โดยการปรับโครงสร้างสถาบันการเมืองใหม่ และการปรับระบบความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม มีความสุขและมีความมั่นคงในชีวิต กลุ่ม“สยามประชาภิวัฒน์” จึงเห็นว่าการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กระบวนการดังกล่าวจะต้องกระทำหลังจากที่สังคมไทยเป็นอิสระจากระบบพรรคการเมืองนายทุน มิเช่นนั้นแล้วกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมืองนายทุน
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ใคร่ขอเรียกร้องให้กลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ได้แปรเปลี่ยนพลังของความขัดแย้งไปสู่พลังของการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง โดยมีธงชัยอยู่ที่ “ความเป็นธรรม เป็นสุข และความมั่นคงในชีวิตของประชาชน”
กลุ่ม”สยามประชาภิวัฒน์”
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๕