xs
xsm
sm
md
lg

เปิดทางโหวตรธน.ตั้ง“รัฐไทยใหม่”-อัยการเป่าคดี-ม็อบแดงถ่อยแจกเบอร์โทรศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - อัยการสูงสุด สั่งเป่าคดี ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เปิดทางตั้ง“รัฐไทยใหม่” จับตา ส.ส.เพื่อไทย เดินหน้าโหวตแก้ไขรธน. วาระ 3 ทันทีวันนี้ ด้าน 2 ผู้ร้องปูดอัยการดองคดีกว่า3 เดือน ขณะที่ม็อบแดงถ่อยคุกคามแจกเบอร์โทรครอบครัวศาล

วานนี้(7 มิ.ย.) ภายหลังประชุมกว่า 6 ชั่วโมง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบุคคลและคณะบุคคล 6 ราย ยื่นหนังสือพร้อมด้วยหลักฐานให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ 416 ส.ส. และ ส.ว. เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68

เวลา 19.00 น.นายวินัย ดำรงมงคลกุล โฆษกอัยการ แถลงว่า อัยการสูงสุดเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ที่อัยการจะเข้าไปตรวจสอบ และเนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบร้ายแรงกับผู้ถูกร้องต้องใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้อัยการเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ หากแต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งมีการแยกหมวดในรัฐธรรมนูญชัดเจน จึงไม่เข้าข่ายตามมาตรา 68

อัยการเห็นว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง สามฉบับนั้นมีบทบัญญัติที่ชัดเจนเจนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบแห่งรัฐ จึงมิได้มีเจตนาในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพรมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่ได้เป็นการทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิถีที่ไม่ได้บัญญัติใน รัฐธรรมนูญ 2550

“คำร้องทั้งหกจึงไม่พอฟังว่า เป็นเหตุให้ศาลสั่งการให้เลิกการกระทำ อนึ่งการวินิจฉัยครั้งนี้ไม่เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ของอัยการไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจวินิจฉัยองค์กรอื่น” นายวินัยกล่าว

**นปช.อ้างชนะ จับตาโหวตเแน่!
 

เวลา 19.30 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแกนนำนปช.ขึ้นประกาศชัยชนะบนเวทีนปช. กับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลังฟังคำแถลงอัยการสูงสุด โดยสรุปว่า อัยการฯ ยุติตรวจสอบ แต่เปิดโอกาสให้องค์กรอิสระอื่นตรวจสอบได้ จึงเป็นการเปิดทางให้มีการลงมติร่างแก้ไขรธน. วาระ 3

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากอัยการแถลงมาเช่นนี้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าลุยแก้ไขรัฐธรรมนูญ. ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ โดยเฉพาะ ส.ส.เพื่อไทย จะลักไก่เสนอญัตติด่วนด้วยปากเปล่าเพื่อลงมติวาระ 3 เลย หรือรีบมีการบรรจุวาระเมื่อค่ำที่ผานมาเลย

**2 ผู้ร้อง แจง จี้อัยการแล้วแต่ยังช้า
 

ด้านนายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตส.ว.สรรหา (ผู้ยื่นคำร้อง) เปิดเผยว่า ที่ตนต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากว่าตนเคยไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินกา รส่งเรื่องที่ คณะบุคคล บุคคล พรรคการเมือง และรัฐบาล ได้เสนอญัตติพร้อมร่างกฎหมายโดยแก้ไขมาตรา 291 เพื่อวัตถุประสงค์ ให้มีคณะบุคคลมาทำหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญในการปกครองประเทศ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 291

นอกจากนี้ในคำร้องยังชี้ด้วยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภาเท่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้มีคณะบุคคลทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง ฉบับ ยกเว้นหมวด2และหมวด3 เป็นการขัดต่อหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติโดยไม่ปรากฏรายละเอียดในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นการดำรงอยู่ของอำนาจ อธิปไตยของรัฐไทย หรือการดำรงอยู่ หรือการหมดไป ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่บัญญํติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการตัดสิทธิในการตรวจตรากฎหมาย เพื่อการตรากฎหมาย ในระบบนิติวิธีเพื่อนิติรัฐหรือนิติธรรม

เหตุผลที่ต้องไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนเคยยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้รวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยพลัน เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2555 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2555 ตนได้มีหนังสือสอบถามผลการดำเนินการจนถึงวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมาอัยการสูงสุดได้เชิญตนไปสอบปากคำตนยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด และทราบว่าในเย็นวันนี้(7 มิ.ย.) อัยการสูงสุดจะมีการแถลงซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะแถลงถึงผลที่ตนร้องไปหรือไม่ ว่าต้องดำเนินการส่งศาลหรือจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ หากชี้ว่าส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิฉัยก็จะเป็นการบรรเทาโทษของอัยการ เหลือโทษเพียง 1 ใน 3 หากศาลมีคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าวออกมา ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความล่าช้า อย่างไรก็ตามตนได้ขอให้ศาลมีคำสั่งหยุดการกระทำดังกล่าว และขอให้ดำเนินการตามมาตรา 68 ต่อไป

ขณะที่นายบวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ( ผู้ยื่นคำร้อง ) กล่าวถึงกรณีการเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด ในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ทางกลุ่มเราได้เสนอไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. แต่ก็ไม่มีการตอบรับหรือการแจ้งเรื่องใดๆกลับมา จนกระทั่งวันที่ 14 พ.ค. ก็มีการติดต่อจากสำนักงานอัยการสูงสุดให้ทางกลุ่มเข้าให้ข้อมูล ทั้งนี้ในวันดังกล่าว ทางกลุ่มก็ได้ยื่นบันทึกข้อความเพิ่มเติมว่าทางอัยการสูงสุดจะต้องยื่นเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการตามคำขอ จนวันที่ 23 พ.ค. ทางกลุ่มฯได้เดินทางไปประท้วงที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้เร่งทำเรื่องนี้อีกครั้ง พร้อมทั้งได้ประกาศ ว่า หากเวลาผ่านไป แล้วเกิดความเสียหายทางอัยการสูงสุดต้องรับผิดชอบ ต่อมาเมื่อวัน 29 พ.ค.ทางกลุ่มเห็นว่าคงไม่มีทางอื่นจึงต้องขออนุญาติยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองตามช่องทาง 68 ของรัฐธรรมนูญดีกว่า เนื่องจากเห็นว่าจะมีการลงมติวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.แล้ว

“ทางกลุ่มฯได้เสนอต่ออัยการสูงสุดมาตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. เพราะเห็นแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีปัญหา จึงได้ยื่นตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ แต่เมื่ออัยการสูงสุดไม่มีการดำเนินการใด เราจึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง และยืนยันว่าขณะนี้ยังรอท่าทีของอัยการสูงสุดอยู่ หากไม่กระทำตามกฎหมายก็จะมีการดำเนินการจากทางกลุ่มอย่างแน่นอน” นายบวรกล่าว

** ยื่นตั้งแต่ก.พ. แต่กลับล่าช้า 3 เดือน
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการสรุปคำร้องทั้ง 5 คำร้อง กรณีขอให้พิจารณาวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 68

ทั้งนี้ 5 คำร้องที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นคำร้องของ 1. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ และนางพันธุ์ บุณยรัตพันธ์ 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ 4.นายวรินทร์ เทียมจรัส 5 นายบวร ยสินทรและคณะรวม 10 คน โดยคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องทั้งหมด ขอให้ศาลฯสั่งให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค สั่งให้ผู้ถูกร้องถอนร่างรัฐธรรมนูญจากการพิจารณาของรัฐสภา สั่งให้รัฐสภาระงับการออกเสียงลงคะแนนในวาระ 3 วันที่ 5 มิ.ย. และ วินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นอันตกไป

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 5 คำร้องได้มีการระบุว่า ก่อนหน้าที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น โดยมีถึง 3 คำร้องที่ระบุว่า ได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดตั้งแต่ก.พ.และมี.ค. ที่ผ่านมา คือคำร้องของนายวันธงชัย ที่อ้างว่ายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ 23 ก.พ. คำร้องของนายวรินทร์ ระบุว่ายื่นคำร้องกล่าวโทษต่ออัยการสูงสุดให้รวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยพลัน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ต่อมา 3 เม.ย. ได้มีหนังสือสอบถามถึงผลการดำเนินการ จนวันที่ 15 พ.ค. อัยการสูงสุดเชิญไปสอบปากคำ จนถึงขณะยื่นศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด และคำร้องของนายบวร ระบุว่าได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดวันที่ 6 มี.ค. ต่อมา 14 พ.ค. อัยการสูงสุดได้เชิญไปให้ถ้อยคำ แต่ยังไม่ทราบผลการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร มีเพียงคำร้องของพล.อ.สมเจตน์ และนายวิรัตน์ นั้นอ้างว่าได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดวันที่ 29 พ.ค.ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนับระยะเวลาตั้งแต่นายวันธงชัย นายวรินทร์ และนายบวร ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด จนถึงวันที่บุคคลทั้ง 3 ใช้สิทธิยื่นตรงต่อศาลฯและมีคำสั่งรับไว้พิจารณาคือวันที่ 1 มิ.ย. รวมเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนที่อัยการฯพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ซึ่งคณะตุลาการฯก็มีการพูดคุยกันถึงการทำงานที่ค่อนข้างล่าช้าของอัยการสูงสุด และเห็นว่าหากอัยการสูงสุดหรือผู้ร้อง ส่งหรือยื่นคำร้องเรื่องนี้มาแต่เนิ่นๆ ศาลก็ไม่น่าจะตกอยู่ภาวะที่ถูกกระแสต่อต้านมากขนาดนี้ เพราะจะมีเวลาในการดำเนินการและก็จะทำให้ศาลมีเวลาในการดำเนินการและทำความเข้าใจกับสังคม

**สยามสามัคคีค้านล้มศาลรัฐธรรมนูญ
 

อีกด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา ในฐานะประธานกลุ่มสยามสามัคคี พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี 40 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดเสวนา เรื่อง “คัดค้านการล้มศาลรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ ณ เวทีลีลาศ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร เวลา 17.00- 22.00 น. โดยมีวิทยากรเข้าร่วม ประกอบด้วย นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ กองทัพธรรม นายสมบูรณ์ ทองบุราณ กลุ่ม 13 สยามไทย นายสมชาย แสวงการ กลุ่ม 40 สว. นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

**ศาลรธน. เชื่อปชช.เข้าใจ ยันเป็นกลาง

ที่ร.ร.เชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คนที่เป็นตุลาการก่อนที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตน ดังนั้นตุลาการก็ต้องทำหน้าที่ตามที่ถวายสัตย์ฯไว้ สำหรับตนเองได้ยึดมั่นตามนั้นมาโดยตลอด ส่วนเรื่องอื่นไม่ขอวิจารณ์ แต่ก็ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดและตามที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไว้ เพราะเชื่อว่าทุกเรื่องจะคลี่คลายไปเอง รวมถึงสื่อมวลชนก็ควรจะปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน

เมื่อถามต่อว่า กดดันหรือไม่กับกระแสสังคมที่มองว่าการรับคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญของศาลจะเป็นปัจจัยหนึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ นายเฉลิมพล กล่าวว่า ไม่ได้กดดันอะไร เพราะเราปฏิบัติไปตามความคิดเห็นที่เป็นอิสระและเป็นกลาง ยึดมั่นในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตนคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจกับเรื่องดังกล่าว ถ้าหากฟังให้ดีจากการแถลงข่าวของประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลก็คงมีการชี้แจงทำความเข้าใจต่อไปเรื่อย ๆ

“ถ้าไปดูในต่างประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ตุลาการไม่มีการให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชน เพราะการแสดงความคิดเห็นของตุลาการทำในที่ประชุมศาลเท่านั้น”

เมื่อถามว่ารู้สึกกังวลหรือไม่ว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามที่จะโยงศาลไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นายเฉลิมพล กล่าวว่า ใช่ สื่อเองที่เป็นคนพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง เรื่องนี้มันหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ศาลตัดสินโดยกระแสการเมืองใช่หรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วศาลต้องยึดหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

** ปัดใช้ รธน.ฉบับภาษาอังกฤษ รับคำร้อง
 

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้หยิบยกรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับภาษาอังกฤษมาประกอบการพิจารณา เพียงแต่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้หยิบยกรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับภาษาอังกฤษที่มีถ้อยคำชัดเจนเกี่ยวกับการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องโดยตรงขึ้นมาเปรียบเทียบให้ดูเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลัก

**“เหลิม” เหิมไล่ส่ง “วสันต์” ไปเกิดใหม่
 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณี นาย คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป) เสนอให้มีการชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติและท่าทีของรัฐบาลกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญออกมาแถลงการณ์ โดยได้เดินผ่านสื่อมวลชนขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายวสันต์ แถลงข่าวยืนยันว่าศาลมีอำนาจในการรับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูนได้โดยตรง โดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68 ฉบับภาษาอังกฤษว่า เป็นการหาทางออกให้ตัวเองหรือที่เรียดว่าแถ คงมีความรู้สึกสะดุ้งว่าที่ทำไปแล้วไม่ถูกต้อง เพราะที่นี่ประเทศไทย เราใช้ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาต่างชาติ การที่นายวสันต์ออกมาอ้างอิงเช่นนี้ จึงไม่ถูกต้อง

“ถ้าอย่างนั้นก็รีบตายไปซิ แล้วไปเกิดใหม่ที่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ อย่างเวบพันทิพย์เขาก็ถล่มกันเละเทะที่มาอ้างภาษาอังกฤษ คุณวสันต์คุณถอยไปเถอะ จะได้จบ งานนี้คนทั้งบ้านทั้งเมืองไม่เอาด้วยหรอก คนเรียนกฎหมายไม่มีใครเป็นเทวดา พอแปลความภาษาไทยสู้ไม่ได้ ก็แปลความภาษาอังกฤษ” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

รองนายกฯยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงประวัติของนายวสันต์ด้วยว่า เมื่อสมัยที่เป็นทนายความก็อยู่ที่สำนักงานของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ แล้วยังเป็นทนายความรุ่นเดียวกับที่ปรึกษากฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (นายบัณฑิต ศิริพันธ์) อีกด้วย เรื่องเหล่านี้แม้จะไม่ผิด แต่ตนก็มีสิทธิ์คิด ดังนั้นจึงขอเตือนไปยังนายวสันต์ว่าอย่าพยายามทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้นายวสันต์ยังเคยสมัครเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ในชั้นวุฒิสภาไม่เลือก

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า แน่นอนว่าหากที่ประชุมร่วมรัฐสภาต้องรับผิดชอบหากมีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ถือเป็นคำวินิจฉัย ที่สำคัญยังไม่มีการไต่สวน กลับมีความเห็นว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำผิดไปแล้ว ดังนั้นตนก็มีสิทธิ์กล่าวหานายวสันต์เช่นกันว่าที่แสดงออกมานั้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีความผูกพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์

ตอนนี้ยังไม่รู้ตัวคนที่จะมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และยังไม่มีรู้ด้วยว่า ส.ส.ร.จะยกร่างอย่างไร และเมื่อยกร่างแล้วที่ประชุมรัฐสภาจะอนุมัติหรือไม่ รวมไปถึงยังมีกระบวนการทำประชามติในการสอบถามประชาชนอีกด้วย แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมาทำเช่นนี้ก็คงไม่มีใครเกรงใจแล้ว

** "มาร์ค"ดักคอ อย่าใช้วิธีข่มขู่คุกคามศาล
 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัยว่า รัฐสภาไม่จำเป็นต้องฟังศาลเพราะไม่ผูกพันตามรัฐธรรมนูญ ว่า ตนรู้สึกแปลกใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะการป้องกันระงับไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นก็เป็นวิธีปกติของศาล แต่หากบอกว่า ไม่ต้องฟังศาลแล้ว ตนเห็นว่าเป็นเรื่องอันตราย แม้ว่าคำสั่งของศาลตัวนี้คงไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญแต่ตนก็ไม่คิดว่า หน่วยงานไหน องค์กรไหนที่จะอยู่เหนืออำนาจศาลในการสั่ง ซึ่งศาลก็สั่งตามอำนาจที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่ง วิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งใช้โดยอนุโลม เนื่องจากข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้หากไม่มีเขียนไว้ก็ให้ใช้ ป.วิ แพ่ง โดยอนุโลมอย่างไรก็ตาม หากไม่เห็นด้วยก็ยื่นถอดถอนได้ตามสิทธิ์ แต่การระดมมวลชน หรือมีพฤติกรรมข่มขู่คุกคามนั้นไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ที่นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ระบุว่า ถ้ารัฐธรรมนูญแท้งก่อนอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองและรุนแรงกว่าที่คิดนั้นขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในระหว่างการตรวจสอบว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญผิดกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นอย่ามาใช้วิธีการข่มขู่แบบนี้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เท่ากับว่า เราจะห่างไกลจากการเป็นนิติรัฐไปทุกที ทั้งนี้ตนขอสนับสนุนข้อเสนอของคอป.ที่ให้เลื่อนการพิจารณาลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญไปก่อน

ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 8 มิ.ย. นั้นไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเป็นเพียงวาระเพื่อทราบเรื่องคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และกรอบการเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายข้อตกลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 คาดว่า พรรคเพื่อไทยจะอภิปรายมากและอาจจะพาดพิงศาล แม้ว่าในการประชุมจะมีการยกเว้นข้อบังคับได้เพื่อพิจารณาลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ทำไมต้องเร่งให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ที่สำคัญคือ หากมีการลงมติแล้วขั้นตอนหลังต่อไปทางประธานสภาฯ จะต้องก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ศาลก็มีคำสั่งระงับอยู่ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมไม่พึงกระทำเลยเพราะ เท่ากับทำให้เกิดความขัดแย้งแล้วก็ไปเกี่ยวพันกับองค์พระมหากษัตริย์

"วันนี้ผมทราบว่า คนที่อยู่นอกประเทศมีคำสั่งให้ลุย ซึ่งต้องพิสูจน์กันว่า นายกฯ รัฐบาล และส.ส.พรรคเพื่อไทยจะคิดถึงบ้านเมืองหรือจะทำตามคำสั่งของคนคนเดียว" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**"ก่อแก้ว"ขอมติที่ปฏิเสธคำสั่งศาล
 

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ ก็อาจจะมีการนำมาหารือได้ เพราะประเด็นศาลรัฐธรรมนูญแจ้งมาให้ชะลอการลงมตินั้น เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นแล้วว่า ไม่มีผลผูกพันใด ๆ กับสภา ก็ยังสามารถเดินหน้าได้

นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกส่วนตัวประธานสภาฯ กล่าวว่า การประชุมวันที่ 8 มิ.ย.นี้ก่อนเข้าวาระตามมาตรา 190 จะมีการหารือกับสมาชิกรัฐสภาก่อน ซึ่งเจตนารมณ์นี้ถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว และหลังหารือแล้วก็จะไปฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ก่อนตัดสินใจอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร

นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง แถลงว่าในการประชุมรัฐสภา วันที่ 8 มิ.ย. พรรคเพื่อไทยจะขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาให้ปฏิเสธรับทราบคำสั่งของงศาลรัฐธรรมนูญกรณีศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และก่อนการลงมติจะเปิดโอกาสให้ส.ส.และส.ว.อภิปรายอย่างเต็มที่

**นปช.ถ่อยแจกเบอร์โทรศาลรธน.
 

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหน้ารัฐสภา วานนี้ (7 มิ.ย.) ซึ่งไม่มีการประชุมสภาฯ ตลอดช่วงเช้าที่บริเวณหน้ารัฐสภา กลุ่มคนเสื้อแดง ทยอยมาชุมนุมและตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ ยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ด้านกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ 4 กองร้อย หรือ600 นาย จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1, 8 และ 9 พร้อมด้วยตำรวจควบคุมฝูงชน โดยมีการปิดประตูเข้าออกด้านหน้ารัฐสภา รวมทั้งนำแท่นคอนกรีต หรือแบริเออร์ มาวางปิดการจราจร ถนนโดยรอบ

ขณะที่นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. เปิดเผยว่า ได้เปลี่ยนแผนการชุมนุมจากเดิมที่จะชุมนุมยืดเยื้อ มาเป็นการชุมนุมถึงแค่เที่ยงคืนวันนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะมีการสร้างสถานการณ์ในระหว่างการชุมนุม

ส่วนภายในอาคารรัฐสภา ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู นำรายชื่อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 138 รายชื่อ ยื่นต่อประธานรัฐสภา ผ่านนายไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านั้น นายยศวริศ ชูกล่อม' หรือ 'เจ๋ง ดอกจิก' เลขานุการ รมช.มหาดไทยขึ้นเวทีแดง เอาประวัติ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของตุลาการศาล รธน.และครอบครัวมาให้คนเสื้อแดงทราบเพื่อปลุกระดมให้โทรป่วน ไล่ล่า และปาอุจจาระใส่บ้านของตุลาการศาลรธน.
ช่วงบ่าย แกนนำ นปช. เข้ายื่นหนังสือถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รวบรวมรายชื่อแกนนำ นปช. จำนวน 11 รายชื่อ มายื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อแสดงเจตจำนงว่า จะมีการนำรายชื่อประชาชนมายื่นเพิ่มเติมให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 - 2 วันนี้ จำนวน 30,000 รายชื่อ และจะมีการล่ารายชื่อต่อไปอีกจนครบ 1ล้านรายชื่อ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มเยาวชน “สหายสีแดง” นำเก้าอี้เบาะสีแดงจำนวน 10 ตัว มายื่นให้น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อเหตุแย่งเก้าอี้ประธานสภา ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

**ปชป.ปูด“นอภ.”ระดมแดง
 

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีการแจ้งข่าวว่ามีการสั่งการไปยังนายอำเภอในเขตปริมณฑลของกทม.ให้ระดมคนเข้าร่วมการชุมนุมอำเภอละ 300 คนเป็นอย่างน้อย

ขณะที่ทางพรรคจะมีการประเมินสถานการณ์แบบนาทีต่อนาทีว่าจะสามารถเข้าร่วมประชุมได้หรือไม่ เพราะหากมีการปิดกั้น ไม่ให้รถเข้า แล้วให้เดินเท้าเข้าสภา เราขอปฏิเสธ เพราะมีส.ส.หลายคนคนตกเป็นเป้าหมายของคนเสื้อแดง ซึ่งไม่มีหลักประกันความปลอดภัย ดังนั้น หากประธานสภาฯ และนายกฯ ไม่สามารถมีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยได้ เราก็ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้

ส่วนที่เวทีคนเสื้อแดงมีการประกาศแจกเบอร์โทรศัพท์ของภรรยา และลูกของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สมควรที่ต้องประณาม

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่นายยศวริศ เปิดเผยที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากและครอบครัวนั้น ว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง ก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น จึงไม่รู้สึกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงตามมา

**สั่ง ตร.ดูแลตุลาการศาล รธน.

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวว่ากรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมาระบุว่าถูกโทรศัพท์ข่มขู่นั้น ตนได้บอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลและสันติบาลว่า เพื่อไม่ให้มีมือที่ 3 มาแทรกแซง และเรื่องนี้เกิดขึ้นจนทำให้รัฐบาลเสียชื่อ จึงให้ไปเรียนกับผู้บังคับบัญชาขอความคุ้มครองปลอดภัยให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คนด้วย

“ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังประสานกับทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ว่า ต้องการให้มีการดูแลคุ้มครอง และติดตามอย่างไรบ้าง ยืนยันว่าทางฝ่ายความมั่นคงไม่เคยทิ้ง เพราะหลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ว่าท่านถูกคุกคาม เราก็ไม่ค่อยสบายใจว่าผู้ที่คุกคามเป็นฝ่ายไหน เราพร้อมจะให้ความคุ้มครองกับผู้ที่ไม่ปลอดภัย และจะไม่ให้เป็นจุดที่เป็นให้รัฐบาลเสียชื่อด้วย”

**ขนลูกจ้างป่าไม้ หนุนเสื้อแดง
 

วันเดียวกัน ปรากฎภาพหลักฐาน ชายฉกรรจ์แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตัดผมรองทรงสั้น ประมาณกว่า 100คน ได้รวมตัวกันบริเวณลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) เป็นที่สงสัยว่าอาจจะเตรียมเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณหน้ารัฐสภา ขณะเดียวกันยังพบเสื้อแจ็คเก็ต ที่สกรีนคำว่า อุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.กำแพงเพชร คลุมอยู่บนเบาะที่นั่งคนขับเช่นกัน

ทั้งนี้มีการระดมลูกจ้างของสำนักงานพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุบลราชธานี ในภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์ จ.เพชรบูรณ์ ฯลฯ

ช่วงกลางดึกได้เดินทางออกจากวัดพระธรรมกาย ชุดแรกรวมประมาณ 1,500 คน ด้วยรถยนต์เข้าไปปักหลักอยู่ภายในสวนสัตว์ดุสิต โดยทันทีที่เดินทางถึงจะมีหัวหน้าชุดแต่ละกลุ่มคอยตรวจเช็กรายชื่อ พร้อมแจกเสื้อยืดสีแดงสกรีนข้อความด้านหลังทำนองว่า “ปกป้องรัฐธรรมนูญ” ให้ได้สวมใส่แทนเสื้อตัวเดิมทุกคน

ยังมีการสั่งการให้ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเตรียมสถานที่ภายในสวนสัตว์ดุสิตไว้รองรับกลุ่มมวลชนเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง โดยระดมอาหาร และน้ำดื่มบรรจุขวด จำนวนมากส่งเข้ามาสนับสนุน

ขณะที่ “เพจสายตรงภาคสนาม” อ้างว่า ได้เข้าไปตรวจสอบในเวปไซด์กรมอุทยานแห่งชาติ พบเอกสาร "บันทึกข้อความ" เป็นหนังสือเวียนภายในจาก นายดำรงค์ ถึงหน่วยงานในสังกัดให้ส่งตัวลูกจ้างประจำและพนักงานราชการไปเข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 7-16 มิ.ย. 55 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดฝึกอบรมตามโครงการนี้ โดยระบุจำนวนผู้เข้าร่วมฝึกอบรม 2,500 คน มีนายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมอุทยานฯ นายธนโรจน์ โพธิสาโร ผอ.สำนักบริหารงานกลาง เป็นกรรมการและเลขานุการ ดำเนินการ

นอกจากนี้ ในวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการลงนามในหนังสือเวียส่งเจ้าหน้าที่อบรมจริยธรรมนั้น นายดำรงค์ ได้ทำหนังสือตีตราด่วนที่สุด ที่ ทส 0901.203/9424 เรื่อง การเดินทางไปต่างประเทศและให้ผู้รักษาราชการแทน ถึง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีเนื้อหาระบุถึงการขออนุมัติดูงานการจัดการอุทยานแห่งชาติ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ระหว่างวันที่ 5 -15 มิ.ย.2555 เป็นที่น่าสังเกตว่า ในหนังสืออ้างว่าได้รับการอนุมัติให้เดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.55 เท่ากับว่า นายดำรงค์ ทราบล่วงหน้านานกว่า 1 เดือนถึงการเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้ แต่เหตุใดจึงเพิ่งทำหนังสือด่วนที่สุดขออนุญาตลางานในวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ระบุไว้ในใบลาว่า เป็นช่วงเวลาที่จะต้องอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาตามกำหนดการศึกษาดูงานที่เริ่มวันที่ 5-15 มิ.ย. 55 และยังเป็นการเดินทางในช่วงเวลาเดียวกับที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่หน้ารัฐสภาด้วย

ยังพบว่าโครงการจริยธรรม ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการใช้เรื่องจริยธรรมมาบังหน้าการสนับสนุนการชุมนุมของคนเสื้อแดงหน้ารัฐสภา ใช้งบประมาณที่ใช้ดำเนินการครั้งนี้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ล้านบาท

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบ และคงไม่มีการเกณฑ์ แต่หากเต็มใจมา ก็ห้ามกันไม่ได้ อย่างผู้ชุมนุมพันธมิตรฯก็มีข้าราชการร่วมเหมือนกัน การมาแสดงออกในระบอบประชาธิปไตยถือว่าไม่ผิด ไม่ได้มาก่อความรุนแรง จึงไม่ห่วงว่าจะมีม็อบชนม็อบอย่างที่กลัวกัน มั่นใจว่าควบคุมได้.

**ชงครม.ออกพ.ร.ฎ.ปิดสภาฯ
 

ด้าน นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ เข้าสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือถึงกรอบเวลาที่จะปิดประชุม คาดที่ประชุมสภาผู้แทนราษรจะมีการหารือกันในวันที่ 8 มิ.ย.นี้

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากสภามีการประชุมพิจารณา พรบ.ฟอกเงิน และ พรบ.ก่อการร้ายในสัปดาห์หน้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการหารือในการปิดสมัยประชุมต่อไป ส่วนเรื่อง พรบ.ปรองดอง เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะชะลอไว้ไปหารืออีกครั้งในสมัยประชุมหน้า

**บุกสีลม ต้านกม.ปรองดอง

ที่สีลม เวลา 11.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส. ส.ก.ส.ข. กทม. และสมาชิกพรรค ร่วมกันเดินรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ไปตามถนนสีลม พร้อมแจกหนังสือ "ต้านกฎหมายล้างผิดคนโกง" และแผ่นปลิว การจัดสานเสวนาของพรรคที่มีขึ้นในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ เวลา 17.00 น. ที่บริเวณวงเวียนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น