ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลรับคำสั่ง"แม้ว" เดินหน้าจุดไฟสงครามกลางเมือง เลื่อนร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ"บัง" ขึ้นมาพิจารณาก่อนในวันนี้ "เติ้ง"ประกาศหนุนสุดลิ่ม อ้างไม่ใช่"แม้ว"ได้ประโยชน์คนเดียว ด้านปชป.ไฟเขียวส.ส.สู้ทั้งในสภา นอกสภา ไม่ยอมให้พ.ร.บ.อัปยศ ผ่านสภาไปได้ ด้านกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นศาลรธน.ยับยั้งแก้รธน. หวั่นกม.ปรองดอง ชนวนก่อสงคราม "บัง" ตะแบง กม.ปรองดองไม่ได้ล้างผิดใคร
วานนี้ ( 29 พ.ค.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณี ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง) ของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ว่า ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องตามกฏหมาย จึงได้สั่งให้บรรจุลงในระเบียบวาระ
อย่างไรก็ตาม ที่ฝ่ายค้านได้ยื่นให้ตนถอน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกไปก่อน ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของประธานสภาฯ ถ้าจะถอนต้องเป็นเรื่องของสมาชิกที่จะขอถอนเอง หากสมาชิกถอนแล้วรายชื่อ ส.ส.เหลือไม่ถึง 20 คน จึงจะถือว่าร่างไม่ถูกต้อง เพราะตามข้อเท็จจริง การเสนอกฎหมายจะต้องมีรายชื่อเสนออย่างน้อย 20 คน ถ้าสมาชิกท่านใดเห็นว่าไม่ถูกต้อง เจ้าตัวต้องเสนอเรื่องมาทักท้วง แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครเสนอ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่เสนอมาอีก 2 ร่าง จะบรรจุเป็นร่างเพิ่มเติมลงไป สำหรับการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในวันที่ 30 พ.ค. คงจะไม่ได้พิจารณา แต่ถ้าสมาชิกเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน ก็จะเสนอขอเลื่อนขึ้นมาเท่านั้น เพราะถ้าเป็น ร่าง พ.ร.บ.ต้องเลื่อนอย่างน้อย 1 วัน ดังนั้นวันที่ 30 พ.ค. ได้แค่เลื่อนไว้ และวันที่ 31 พ.ค. ถึงจะได้พิจารณา
** วิปรัฐบาลให้ร่นมาพิจารณาก่อน
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุมวิปรัฐบาล ได้มีการสอบถามความเห็นตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค โดยยืนยันว่า เห็นชอบให้มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การพิจารณา และให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขึ้นมาพิจารณาก่อน ยกเว้นเพียงพรรคชาติไทยพัฒนา
**รับคำสั่ง"แม้ว"เดินหน้า ไม่สนแรงต้าน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช. กล่าวถึงกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะออกมาชุมนุมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ว่า อยากให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ส่วนคนเสื้อแดง ก็อยากให้สงบ ติดตามข่าวสารอยู่ในที่ตั้งก่อน ปล่อยให้มีการหาทางออกในกระบวนการรัฐสภา
เรื่องหนึ่งที่น่าจับตามอง ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่มีหลายคนบอกว่า เที่ยวนี้จะได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์ ไปจับมือกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ตนไม่เชื่อว่า คนที่ด่าสาดเสีย เทเสีย กันขนาดนั้น ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ จะมาจับมือกันได้อีก
เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐมนตรี และแกนนำนปช. เดินทางไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อหารือเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองที่ ฮ่องกง นายณัฐวุฒิ ชี้แจงว่า ตนพาครอบครัวไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ และมีโอกาสสนทนาหารือกับพ.ต.ท.ทักษิณ จริง แต่เป็นเรื่องสารทุกข์สุขดิบ ไม่มีนัยทางการเมืองเป็นพิเศษ
** ร่าง พ.ร.บ.4 ฉบับเนื้อหาคลายกัน
นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของคนเสื้อแดงว่า ในคดีความที่เป็นการก่อการร้าย คดีที่ก่ออันตรายถึงชีวิตประชาชน ก็อยากให้เดินหน้ากระบวนการยุติธรรมต่อไป ความปรองดองเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่ต้องนำมาประกอบเข้ากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการสืบสวน ค้นหาความจริง และอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย 3 อันนี้ เป็นหัวใจสำคัญที่ จะค้ำยันประเทศไทยให้กลับคืนสู่สันติภาพ
เมื่อถามอีกว่า หากเงื่อนไขของการนิรโทษกรรม คนสั่งสลายการชุมนุมยังอยู่ คนเสื้อแดงจะแยกทางกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายณัฐวุฒิ ตอบว่า อย่าไปสรุปอย่างนั้น การพยายามหาคำตอบแบบนั้นยิ่งทำให้สถานการณ์มันสับสนวุ่นวายขึ้นไปอีก ต่อข้อถามว่า ในร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ของคนเสื้อแดง มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ นายณัฐวุฒิปฏิเสธว่า ไม่ปรากฏในร่างกฎหมายที่ตนเสนอไป
เมื่อถามว่า มีเสียงวิจารณ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับ มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แกนนำ นปช. กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว เพราะการยกเลิกผลพวงจากรัฐประหาร เป็นหลักการที่ทั่วโลกให้การยอมรับ เนื่องจากมันไม่มีความชอบธรรม ถ้ารัฐประหารเพื่อคนคนเดียว หรือพรรคการเมืองพรรคเดียว เรายังก้มหน้าก้มตาจำใจรับสภาพนี้กันมา 5-6 ปี แล้วการจะยกเลิกให้บ้านเมืองเกิดความชอบธรรม ใครจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์บ้าง ก็ให้เป็นไปตามกลไกประชาธิปไตย
** "เหลิม"ไม่น้อยใจถูกแย่งซีน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนจะไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับที่ตนยกร่าง เพราะมีผู้เสนอแล้ว แต่ตนเห็นด้วยในหลักการ เพราะเคยพูด ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครเห็นด้วย จึงไม่ตกผลึก เมื่อส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอแล้ว ก็ต้องให้ผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แสดงบทบาท ตนยังไม่ได้อ่านรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะดูแลการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า หากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พอจะเรียกกำลังจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1,2,7 และตำรวจตระเวนชายแดนมาช่วยเสริมตำรวจนครบาล
เมื่อถามว่าร่างพ.ร.บ.ทั้งหมดนี้นั้นบางฝ่ายมองว่าเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และอาจนำประเทศกลับสู่การนองเลือดอีกครั้ง รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์
เมื่อถามว่ารายละเอียดของบางร่าง พ.ร.บ.นั้นระบุให้คืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังไม่ได้อ่าน แต่บางครั้ง กฎหมายอย่าอ่านผิวเผิน มันต้องอ่านละเอียด หากตนแสดงความเห็นเร็วไป เดี่ยวจะเสียฟอร์มดอกเตอร์ทางกฎหมาย เพราะยังไม่ได้อ่าน แล้วรู้หมดได้อย่างไร
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.บางฉบับ ให้ยกเลิกการดำเนินคดีที่สิ้นสุดแล้วในชั้นศาลด้วย หากเป็นแบบนี้บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟอีกครั้งหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เริ่มต้นมันมาจากอะไร ถูกต้องหรือไม่ เพราะมันมาจากการรัฐประหาร
เมื่อถามว่า แต่รองนายกฯ เคยพูดไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ได้ยกร่างไว้ ระบุว่าคดีที่สิ้นสุดแล้ว จะมีผลย้อนหลังไม่ได้ รองนายกฯ กล่าวว่า "ใครบอก ผมไม่เคยพูด อย่างนี้ไม่มีวันหลุดออกจากปากผม อีกร้อยชาติก็ไม่หลุด แต่ขอให้ผมศึกษาละเอียด
** "เติ้ง"หนุนปรองดองสุดลิ่ม
นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ทางพรรคได้รับการประสานจากพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ว่าจะเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา ซึ่งทางพรรคเพื่อไทย ก็เห็นด้วย และตนก็ได้ประชุมพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 55 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้มีการดู ร่าง มี 8 มาตรา เนื้อหาเป็นการขจัดข้อขัดแย้งภายในประเทศให้คลี่คลายลงไป พรรคชาติไทยพัฒนา จึงสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภา
เมื่อถามว่าจะมีการคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยหรือไม่นายบรรหาร กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์จากต่างประเทศว่า จะไม่เอาคืนแล้ว
**ยันไม่ถอนรายชื่อจากพ.ร.บ.ปรองดอง
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่ามีวาระพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1.การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย. และ 2.มติพรรคเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
ทั้งนี้ เรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มีส.ส.ของพรรคทั้งหมด 19 คน เซ็นชื่อในการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. โดยพรรคมีมติ จะไม่มีการถอนรายชื่อออก ตามที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากการพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ มีความสอดคล้องกับนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเกิดความปรองดอง
**รัฐบาลสั่งส.ส.เข้าสภาเตรียมโหวต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม. เมื่อวานนี้ ( 29 พ.ค.) ซึ่งมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุม แทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ติดภารกิจที่ประเทศออสเตรเลีย
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งวาระการประชุมสภาให้ ครม.ได้รับทราบ พร้อมเน้นย้ำให้รัฐมนตรีที่เป็นส.ส. เตรียมพร้อมเข้าร่วมการประชุมสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ โดยเฉพาะการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่สภาฯ และกำชับว่า ต้องเตรียมสแตนบายให้พร้อมตั้งแต่วันพุธ พฤหัสบดี และวันศุกร์ โดยเฉพาะในวันที่ 5 มิ.ย. ที่สภาได้นัดประชุมเพื่อโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ที่จะมีการโหวตลงคะแนนเป็นรายบุคคล ดังนั้นการประชุมครม.ในวันอังคารที่ 5 มิ.ย. อาจต้องเลื่อนเวลาประชุมเป็นช่วงเวลา 14.00 น.
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนการประชุมครม. จะเริ่มขึ้น ปรากฏว่าที่บริเวณนอกห้องประชุมครม. ได้มีรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยหลายคน อาทิ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ รมช.คมนาคม นั่งจับกลุ่มพูดคุยกันนอกรอบ ถึงการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เรื่องการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้เป็น ความรับผิดชอบของรัฐบาล จุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากรัฐบาล
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนการประชุมครม.ได้มีรัฐมนตรีบางส่วน หารือกันนอกรอบถึงการเสนอ ร่าง พ.ร. บ.ปรองดองเข้าสู่สภาฯ โดยระบุว่า ที่จริงแล้วการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบหรือจุดเริ่มต้นจากรัฐบาล แต่กระบวนการปรองดองเป็นความพยายามของคนทั้งประเทศ
** "แม้ว-บริวาร"ได้ประโยชน์
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 3 ฉบับ เข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า หากมองรวมๆ ร่างทั้ง 3 ฉบับนั้น ชัดเจนว่าคนที่ได้รับประโยชน์คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ต้องติดคุกตามคำพิพากษาที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว เสมือนว่าไม่ได้กระทำความผิด
นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้เงินซึ่งถูกยึดเนื่องจากมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทคืนครบ ส่วนบุคคลที่จะได้ประโยชน์ต่อไปคือ บริวารของ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่มีข้อหาทุจริต
ทั้งนี้ตนมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ประชาชนได้รับประโยชน์น้อยมาก จะมีก็แต่พวกเผาบ้าน เผาเมือง เผาศาลากลาง ยิงวัดพระแก้ว ซึ่งหากดูแล้ว เป็นแค่การออกกฎหมาย ช่วยพ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น
ส่วนที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ เป็นการใช้ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร มาล้มล้างอำนาจตุลาการ ตนก็มีความเห็นเช่นนั้น เพราะประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งยังเป็นการทำลายหลักนิติธรรมโดยการใช้อภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย เมื่อทำ ผิดไม่ต้องถูกลงโทษ
ดังนั้นตนจึงมองว่าไม่ควรตั้งชื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ให้ใช้ชื่อว่า “พ.ร.บ.ลบล้างความผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ” และ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่มีวันทำให้สังคมสงบสันติได้ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. ที่ออกมาระบุว่า กลุ่มคนเสื้อแดง จะมีการเคลื่อนไหวจนกว่าจะสามารถล้มล้างอมาตย์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
"น่าเสียดายที่ผมได้เคยเรียกร้องไปยัง พล.อ.สนธิ ประธาน กมธ.ปรองดอง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้นำรายงานของสถาบันพระปกเกล้า ในเรื่องความปรองดองมาเสนอต่อสภาฯ ว่า เรื่องนี้ให้มีการตั้งเวทีเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน แต่กมธ.กลับไม่ทำ และเร่งเสนอเข้าสู่สภาทันที ซึ่งผมก็กังวลว่า ประเด็นดังกล่าวจะนำไปสู่ความรุนแรงในบ้านเมือง ยืนยันว่าผมไม่เห็นด้วย และจะต่อสู้ทั้งใน และนอกสภา อย่างถึงที่สุดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง โดยการเคลื่อนไหวนอกสภานั้น จะมีการไปตั้งเวทีให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้ ยืนยันว่า จะไม่ทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ หรือมีการเผาบ้าเผาเมือง แต่จะมีการ เคลื่อนไหว และต่อสู้อย่างสันติวิธี" นายสุเทพ กล่าว
** เลขาปชป.ไฟเขียวส.ส.สู้นอกสภา
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ปรองดองว่า การที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จะไปปลุก หรือไปเรียกมวลชนมาร่วมคัดค้านด้วย ก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่เขาต้องรับผิดชอบ ส่วนจะมาด้วยรูปแบบไหนนั้นตอบยาก
"ขอถามว่า ทำไมส.ส.พรรคเพื่อไทย ไปปลุกม็อบ ทำทุกอย่างได้ และทำไมทุกอย่างต้องมาหยุดที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องเดินตามกรอบ ตรงนี้ แบบนี้มันถูกต้องไหม และอะไรที่เป็นสิ่งเลวๆ บางอย่างก็ไม่ควรจะเหมือนกัน ไม่ใช่บอกว่าเขาทำแล้ว เราจะต้องทำ คงไม่ใช่ อะไรที่ไม่ดี เราก็จะไม่ทำ แต่บางเรื่องที่เราทำแล้วมันสามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ก็เป็นสิทธิ์ที่เราสามารถทำได้" นายเฉลิมชัย กล่าว
**รัฐบาลเสนออีก 3 ร่าง แค่ปาหี่
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การที่เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่า น่าจะเป็นเพียงการเล่นปาหี่ทางการเมือง เพราะถ้าดูสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ปรองดองแต่ละฉบับ เนื้อหาไม่ต่างกัน เพียงแต่บางฉบับ เช่น ของกลุ่มแกนนำนปช. เสนอมา เพื่อเอาใจคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งที่อกหัก จากร่าง ของ พล.อ.สนธิ ที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย ตามแนวทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการ ดังนั้นการเสนอครั้งนี้ จึงเป็นแค่ร่างประกอบ ไม่ต่างอะไรกับการฮั้วประมูลของบริษัทรับเหมาฯ
ส่วนการที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการณ์โฆษกรัฐบาล ออกมาท้าทายให้พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นพ.ร.บ.ปรองดอง ขึ้นมาประกอบนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับจอมปลอม ที่ใช้คำว่า “ปรองดอง” บังหน้า แต่เนื้อหาสาระที่แท้จริง เป็นการนิรโทษกรรม ล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคจึงไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลชุดนี้ พรรคจึงต้องตั้งหลัก เพื่อต่อสู้ในการอภิปรายคัดค้านในสภาอย่างเต็มที่ และจะไม่ยอมให้พ.ร.บ.อัปยศทั้ง 4 ฉบับ ผ่านสภาไปได้แม้แต่ฉบับเดียว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
สำหรับกรณีที่คนในพรรคเพื่อไทย เรียงหน้าออกมาปฏิเสธว่า การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ประโยชน์นั้น ทำไมคนในพรรคเพื่อไทย ไม่รู้สึกกระดากปากบ้าง เพราะทุกอย่างชัดเจนว่า เป็นการทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหลัก ส่วนบุคคลอื่นๆ เป็นแค่ผลพลอยได้ จากการนิรโทษกรรมให้พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น ที่เห็นได้ชัด จากมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ฉบับ พล.อ.สนธิ ที่ระบุว่า " ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด" ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บุคคลที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม มีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาตัดสินแล้ว ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และคดีนี้ก็ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว เพียงแต่รอการจับกุมผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีมาลงโทษจำคุกเท่านั้น ซึ่งเห็นชัดเจนว่า ข้อความนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว แล้วยังหน้าด้านปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ประโยชน์
** กม.ปรองดองเปิดช่อง"แม้ว"คืนอำนาจ
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านมีความเห็นไม่สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 4 ฉบับ เพราะเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนเพียงคนเดียว แม้ว่าร่างกฎหมายจะเขียนลักษณะให้ประโยชน์กับกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มก็ตาม แทนที่กฎหมายปรองดองจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง กลับกลายเป็นการสร้างความขัดแย้ง และแตกแยกมากขึ้น
"พรรคเพื่อไทย มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้รวบรัดแบบเงียบๆ เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย ได้ขอมติจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ. 6 ฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.... ขึ้นมาพิจารณาก่อน เป็นต้น ซึ่งฝ่ายค้านก็ให้ความร่วมมือเพราะคิดเป็นประโยชน์กับประเทศ จึงไม่เข้าใจทำไมพรรคเพื่อไทย ต้องเร่งการพิจารณากฎหมายปรองดอง"
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นคำตอบชัดเจนแล้ว หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ประกาศว่าจะกลับประเทศไทยอย่างเท่ ๆ เนื่องจากหากรัฐสภาผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จะเท่ากับว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนหน้านี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
" รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (4) และ (7) กำหนดว่า ห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และจำคุก ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ดังนั้น ถ้ากฎหมายปรองดองมีผลบังคับใช้ จะเป็นคืนสิทธิ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และยังคืนเงินคืนที่ถูกยึดทรัพย์เป็นของแถมให้ด้วย ซึ่งเป็นคำตอบออกมาแแล้วว่า การกลับบ้านเท่ๆ คืออะไร" นายจุรินทร์ กล่าว
**40 ส.ว.ยื่นศาลรธน.ยับยั้งแก้รธน.
วานนี้ ( 29 พ.ค.) กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายสมชาย แสวงการ และ พญ.พรพรรณ บุญญรัตนพันธุ์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณายับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่รัฐสภามีการพิจารณา วาระ 1 และ 2 เสร็จสิ้นแล้ว และจะมีการลงมติ วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ซึ่งอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ มาตรา 291
นายสมชาย กล่าวว่า การยื่นครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิในนามคณะบุคคลที่เห็นว่า การดำเนินการของสมาชิกรัฐสภาในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นการล้มล้างปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ จึงไม่ต่างจากใช้อำนาจรัฐ ฉีกรัฐธรรมนูญ
แต่ครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภาที่มีเสียงข้างมาก ทั้งในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้มาตราเดียว ในการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนในกรอบ และแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญว่า จะแก้ในมาตราใดบ้าง อีกทั้งยังมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภาอีก ซึ่งพวกเราก็เห็นว่า ไม่ใช่ พ.ร.บ.ปรองดอง จะเป็นการออกกฎหมายมาเพื่อนิรโทษกรรมตนเอง และพวกพ้องทั้งที่ไม่ควรจะมาใช้โอกาสและจังหวะนี้
ดังนั้น การมายื่นครั้งนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่เราต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายับยั้งว่า การกระทำดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ครม.และประธานสภาหยุดการกระทำอันเป็นการการะทำขัดรัฐธรรมนูญ
" ได้ยื่นเรื่องต่อตัวแทนกับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อว่าคงจะเข้าสู่กระบวนการของศาลต่อไป ซึ่งความกังวลของพวกเราในฐานะประชาชนคนไทย ก็เห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้มีภาวะวิกฤติทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกทั้งฉบับ ในทำนองเอาการแก้ไขมาตราเดียว ตั้ง ส.ส.ร.แล้วล้มรัฐธรรมนูญ โดยไม่รู้กรอบ และทิศทาง หรือสถาบันต่างๆ จะยังคงอยู่หรือไม่ เช่น สถาบันศาล ที่แกนนำก็ออกมาพูดว่า จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนของกระบวนการยุติธรรม จึงอยากให้ศารัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำเนินการต่างๆ นั้นถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ และขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่
**หวั่นกม.ปรองดองก่อสงครามกลางเมือง
นายสมชาย กล่าวถึง พ.ร.บ.ปรองดองอีกว่า ดูแล้วใน 8 มาตรา ไม่มีความปรองดองแต่อย่างใด แต่เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคล ที่ได้มีการกระทำที่เป็นการก่ออาชญกรรม มีการลอบสังหาร การเผาบ้านเผาเมือง ทั้งที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ซึ่งควรจะต้องมีการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดก่อน ไม่ใช่อาศัยช่วงจังหวะ ที่มีเสียงข้างมากในสภาเร่งนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่สภา จึงเกรงว่าจะเป็นการเผชิญหน้าภาคประชาชนอีกครั้ง และถือว่าเป็นวิกฤตทางการเมืองของประเทศไทยจนอาจเกิดเป็นสงครามกลางเมืองได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีการลงมติใน วาระ 3 แล้ว ทางสมาชิกวุฒิสภา ก็จะเข้าชื่อให้ได้จำนวน 1 ใน 10 เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งนี้จะดำเนินการทุกวิถีทาง ทั้งในรัฐสภาและเวทีประชาชนเพื่อคัดค้านให้ถึงที่สุด เพราะหากให้ปล่อยผ่านไป อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศได้
** ตำรวจตั้งแผงเหล็กรับมือหน้ารัฐสภา
เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่หน้ารัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ได้เตรียมรับมือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะมาชุมนุมคัดค้าน การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 30 พ.ค. รวมถึงกลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มสยามสามัคคี นอกจากนี้ กลุ่มครก.112 ก็ยังคงปักหลักอยู่หน้ารัฐสภา และกลุ่ม 13 สยามไท ที่ประกาศย้ายจากศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มาที่รัฐสภา
ทั้งนี้ มีการนำแผงกั้นเหล็กติดตั้งไว้บริเวณด้านหน้ารั้วรัฐสภาตั้งแต่แยกถนนอู่ทองใน ไปจนถึงบริเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ที่มีบริเวณติดกับรัฐสภา ขณะที่บริเวณของสวนสัตว์ดุสิต ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงกั้นเหล็กมาติดตั้งไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งมีการนำรถติดเครื่องขยายเสียงเตรียมใช้ประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับผู้ชุมนุมด้วย
นอกจากนี้บริเวณด้านหลังอาคารรัฐสภา 3 ยังได้นำบันไดลิง ที่เป็นเหล็กมาเตรียมเอาไว้ เพื่อเชื่อมระหว่าง อาคาร 3 กับ บริเวณสวนในพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในอาคารรัฐสภา หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ผู้ชุมนุมบุกเข้ายึด อาคารรัฐสภา ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
***“บัง”ตะแบงปรองดอง
วานนี้ (29 พ.ค.) ที่รัฐสภา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวถึงการเสนอ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ (ร่างพรบ.ปรองดอง) เข้าสู่การพิจารณาของสภา ว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีการล้างผิดแต่อย่างใด คนผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ ยกเว้นคนผิดตามเงื่อนไขการเมือง ตรงนี้อภัยโทษให้ หรือนิรโทษกรรมให้ในบางคดี ถ้าผิดก็ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามว่า เนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. จะทำให้ญาติผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองผิดหวัง เพราะต้องการค้นหาความจริง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า กระบวนการค้นหาความจริงก็ทำอยู่ แต่สำคัญที่ว่าจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการปรองดอง และการเยียวยาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ การปรองดองไม่ใช่การหยุดค้นหาความจริง การค้นหาข้อเท็จจริงต้องค้นหาไปตลอด
เมื่อถามว่า ความปรองดองรวมถึงการยกโทษให้คนที่ถูกศาลตัดสินว่าผิด พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่มีการล้างผิด เราจะยกเว้นเราจะนิรโทษกรรมให้ ใครทำผิดในบางคดี ก็ต้องกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ปัญหาบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มองเรื่องความมั่นคงมาลำดับหลัง เราให้นิติรัฐ และนิติศาสตร์มาก่อน เมื่อนิติศาสตร์มาก่อน ความมั่นคงจะมาที่สอง ในขณะที่มีวิกฤติ เราต้องให้ความมั่นคงมาก่อน นิติศาสตร์ มาลำดับสอง ถ้าบ้านเมืองปกติ นิติศาสตร์ จึงจะมาก่อนรัฐศาสตร์
เมื่อถามว่ามีคนมองว่า ท่านกำลังทำลายภาพลักษณ์ของทหาร พล.อ.สนธิ กล่าวว่า คงไม่เป็นเช่นนั้นหรอก ตนทำมาด้วยความหวังดี เมื่อถามต่อว่ามีคนมองว่า ในเมื่อเป็นคนทำรัฐประหารเอง แล้วเหตุใดเป็นคนเสนอกฎหมายให้ยกเลิกผลของการรัฐประหาร พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ตนไม่ได้อะไรจากเรื่องนี้ กฎหมายนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับตน ตนอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข
เมื่อถามต่อว่า ดูเหมือนการดำเนินการจะสอดรับกับช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาพูดเรื่องปรองดอง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ตนพูดก่อนพ.ต.ท.ทักษิณ วันนี้ทุกประเทศก็พูดเรื่องปรองดอง นายกรัฐมนตรี ออสเตรเลีย ก็อยากให้เมืองไทยปรองดอง การปรองดองเป็นเรื่องที่ทั้งโลกเห็นด้วยหมด
เมื่อถามอีกว่า จะตอบเตรียมทหารรุ่น 1 ที่ออกมาคัดค้านอย่างไร พล.อ.สนธิ กล่าวว่า คนมีสิทธิ์คิดต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือทหาร การมีความคิดที่หลากหลายเป็นธรรมดา คนเราคิดเหมือนกันได้ในบ้างเรื่อง ต่างกันได้ในบางเรื่อง อย่าคิดว่าตนคิดคล้ายกับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วต้องมีคอนเนกชั่นกัน
***”ปู”สั่งดูแลความปลอดภัยการชุมนุม
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนประเทศออสเตรเลียถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯเพื่อขอให้มีการถอดถอนร่างพ.ร.บ"ปรองดองว่า ได้มีการสั่งการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปแล้ว อยากเรียนว่า เรื่องของการแสดงออกทางความคิดเห็นเราเคารพตามระบอบประชาธิปไตย แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งได้สั่งให้มีการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น
เมื่อถามว่า จะมีการขอร้องทั้ง2 ฝ่ายอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะ นายกฯ กล่าวว่า ขอเรียนว่า วันนี้ประเทศอยากเห็นบรรยากาศต่างๆ อยากเห็นการแสดงออกทประชาธิปไตย วันนี้ถือเป็นสิ่งที่เราต้องเคารพเรื่องของเสียง และจริงๆ อยากให้อยู่ในความสงบหรือภายใต้ขอบเขตของกฎหมายด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงหรือไม่จะยืดเยื้อบานปลาย นายกฯ กล่าวว่า คงต้องดูและหวังว่าจะแสดงออกเรื่องของความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว และอยากขอความร่วมมือให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ และฝากให้ผบ.ตร.ดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อถามว่า นายกฯจะไปประชุมสภาฯหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คงไปทำตามหน้าที่.
วานนี้ ( 29 พ.ค.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณี ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง) ของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ว่า ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องตามกฏหมาย จึงได้สั่งให้บรรจุลงในระเบียบวาระ
อย่างไรก็ตาม ที่ฝ่ายค้านได้ยื่นให้ตนถอน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกไปก่อน ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของประธานสภาฯ ถ้าจะถอนต้องเป็นเรื่องของสมาชิกที่จะขอถอนเอง หากสมาชิกถอนแล้วรายชื่อ ส.ส.เหลือไม่ถึง 20 คน จึงจะถือว่าร่างไม่ถูกต้อง เพราะตามข้อเท็จจริง การเสนอกฎหมายจะต้องมีรายชื่อเสนออย่างน้อย 20 คน ถ้าสมาชิกท่านใดเห็นว่าไม่ถูกต้อง เจ้าตัวต้องเสนอเรื่องมาทักท้วง แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครเสนอ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่เสนอมาอีก 2 ร่าง จะบรรจุเป็นร่างเพิ่มเติมลงไป สำหรับการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในวันที่ 30 พ.ค. คงจะไม่ได้พิจารณา แต่ถ้าสมาชิกเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน ก็จะเสนอขอเลื่อนขึ้นมาเท่านั้น เพราะถ้าเป็น ร่าง พ.ร.บ.ต้องเลื่อนอย่างน้อย 1 วัน ดังนั้นวันที่ 30 พ.ค. ได้แค่เลื่อนไว้ และวันที่ 31 พ.ค. ถึงจะได้พิจารณา
** วิปรัฐบาลให้ร่นมาพิจารณาก่อน
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุมวิปรัฐบาล ได้มีการสอบถามความเห็นตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค โดยยืนยันว่า เห็นชอบให้มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การพิจารณา และให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขึ้นมาพิจารณาก่อน ยกเว้นเพียงพรรคชาติไทยพัฒนา
**รับคำสั่ง"แม้ว"เดินหน้า ไม่สนแรงต้าน
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำนปช. กล่าวถึงกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะออกมาชุมนุมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ว่า อยากให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ส่วนคนเสื้อแดง ก็อยากให้สงบ ติดตามข่าวสารอยู่ในที่ตั้งก่อน ปล่อยให้มีการหาทางออกในกระบวนการรัฐสภา
เรื่องหนึ่งที่น่าจับตามอง ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่มีหลายคนบอกว่า เที่ยวนี้จะได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์ ไปจับมือกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ตนไม่เชื่อว่า คนที่ด่าสาดเสีย เทเสีย กันขนาดนั้น ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ จะมาจับมือกันได้อีก
เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐมนตรี และแกนนำนปช. เดินทางไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อหารือเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองที่ ฮ่องกง นายณัฐวุฒิ ชี้แจงว่า ตนพาครอบครัวไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ และมีโอกาสสนทนาหารือกับพ.ต.ท.ทักษิณ จริง แต่เป็นเรื่องสารทุกข์สุขดิบ ไม่มีนัยทางการเมืองเป็นพิเศษ
** ร่าง พ.ร.บ.4 ฉบับเนื้อหาคลายกัน
นายณัฐวุฒิ ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของคนเสื้อแดงว่า ในคดีความที่เป็นการก่อการร้าย คดีที่ก่ออันตรายถึงชีวิตประชาชน ก็อยากให้เดินหน้ากระบวนการยุติธรรมต่อไป ความปรองดองเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่ต้องนำมาประกอบเข้ากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการสืบสวน ค้นหาความจริง และอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสีย 3 อันนี้ เป็นหัวใจสำคัญที่ จะค้ำยันประเทศไทยให้กลับคืนสู่สันติภาพ
เมื่อถามอีกว่า หากเงื่อนไขของการนิรโทษกรรม คนสั่งสลายการชุมนุมยังอยู่ คนเสื้อแดงจะแยกทางกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายณัฐวุฒิ ตอบว่า อย่าไปสรุปอย่างนั้น การพยายามหาคำตอบแบบนั้นยิ่งทำให้สถานการณ์มันสับสนวุ่นวายขึ้นไปอีก ต่อข้อถามว่า ในร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ของคนเสื้อแดง มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ นายณัฐวุฒิปฏิเสธว่า ไม่ปรากฏในร่างกฎหมายที่ตนเสนอไป
เมื่อถามว่า มีเสียงวิจารณ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับ มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ แกนนำ นปช. กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว เพราะการยกเลิกผลพวงจากรัฐประหาร เป็นหลักการที่ทั่วโลกให้การยอมรับ เนื่องจากมันไม่มีความชอบธรรม ถ้ารัฐประหารเพื่อคนคนเดียว หรือพรรคการเมืองพรรคเดียว เรายังก้มหน้าก้มตาจำใจรับสภาพนี้กันมา 5-6 ปี แล้วการจะยกเลิกให้บ้านเมืองเกิดความชอบธรรม ใครจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์บ้าง ก็ให้เป็นไปตามกลไกประชาธิปไตย
** "เหลิม"ไม่น้อยใจถูกแย่งซีน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนจะไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับที่ตนยกร่าง เพราะมีผู้เสนอแล้ว แต่ตนเห็นด้วยในหลักการ เพราะเคยพูด ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครเห็นด้วย จึงไม่ตกผลึก เมื่อส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอแล้ว ก็ต้องให้ผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แสดงบทบาท ตนยังไม่ได้อ่านรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะดูแลการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า หากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่พอจะเรียกกำลังจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1,2,7 และตำรวจตระเวนชายแดนมาช่วยเสริมตำรวจนครบาล
เมื่อถามว่าร่างพ.ร.บ.ทั้งหมดนี้นั้นบางฝ่ายมองว่าเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และอาจนำประเทศกลับสู่การนองเลือดอีกครั้ง รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์
เมื่อถามว่ารายละเอียดของบางร่าง พ.ร.บ.นั้นระบุให้คืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังไม่ได้อ่าน แต่บางครั้ง กฎหมายอย่าอ่านผิวเผิน มันต้องอ่านละเอียด หากตนแสดงความเห็นเร็วไป เดี่ยวจะเสียฟอร์มดอกเตอร์ทางกฎหมาย เพราะยังไม่ได้อ่าน แล้วรู้หมดได้อย่างไร
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.บางฉบับ ให้ยกเลิกการดำเนินคดีที่สิ้นสุดแล้วในชั้นศาลด้วย หากเป็นแบบนี้บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟอีกครั้งหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เริ่มต้นมันมาจากอะไร ถูกต้องหรือไม่ เพราะมันมาจากการรัฐประหาร
เมื่อถามว่า แต่รองนายกฯ เคยพูดไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ได้ยกร่างไว้ ระบุว่าคดีที่สิ้นสุดแล้ว จะมีผลย้อนหลังไม่ได้ รองนายกฯ กล่าวว่า "ใครบอก ผมไม่เคยพูด อย่างนี้ไม่มีวันหลุดออกจากปากผม อีกร้อยชาติก็ไม่หลุด แต่ขอให้ผมศึกษาละเอียด
** "เติ้ง"หนุนปรองดองสุดลิ่ม
นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ทางพรรคได้รับการประสานจากพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ว่าจะเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา ซึ่งทางพรรคเพื่อไทย ก็เห็นด้วย และตนก็ได้ประชุมพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 55 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้มีการดู ร่าง มี 8 มาตรา เนื้อหาเป็นการขจัดข้อขัดแย้งภายในประเทศให้คลี่คลายลงไป พรรคชาติไทยพัฒนา จึงสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภา
เมื่อถามว่าจะมีการคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยหรือไม่นายบรรหาร กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์จากต่างประเทศว่า จะไม่เอาคืนแล้ว
**ยันไม่ถอนรายชื่อจากพ.ร.บ.ปรองดอง
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่ามีวาระพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1.การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย. และ 2.มติพรรคเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
ทั้งนี้ เรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มีส.ส.ของพรรคทั้งหมด 19 คน เซ็นชื่อในการเสนอ ร่าง พ.ร.บ. โดยพรรคมีมติ จะไม่มีการถอนรายชื่อออก ตามที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากการพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ มีความสอดคล้องกับนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเกิดความปรองดอง
**รัฐบาลสั่งส.ส.เข้าสภาเตรียมโหวต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม. เมื่อวานนี้ ( 29 พ.ค.) ซึ่งมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุม แทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ติดภารกิจที่ประเทศออสเตรเลีย
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งวาระการประชุมสภาให้ ครม.ได้รับทราบ พร้อมเน้นย้ำให้รัฐมนตรีที่เป็นส.ส. เตรียมพร้อมเข้าร่วมการประชุมสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากจะมีการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ โดยเฉพาะการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่สภาฯ และกำชับว่า ต้องเตรียมสแตนบายให้พร้อมตั้งแต่วันพุธ พฤหัสบดี และวันศุกร์ โดยเฉพาะในวันที่ 5 มิ.ย. ที่สภาได้นัดประชุมเพื่อโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ที่จะมีการโหวตลงคะแนนเป็นรายบุคคล ดังนั้นการประชุมครม.ในวันอังคารที่ 5 มิ.ย. อาจต้องเลื่อนเวลาประชุมเป็นช่วงเวลา 14.00 น.
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนการประชุมครม. จะเริ่มขึ้น ปรากฏว่าที่บริเวณนอกห้องประชุมครม. ได้มีรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยหลายคน อาทิ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ รมช.คมนาคม นั่งจับกลุ่มพูดคุยกันนอกรอบ ถึงการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เรื่องการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้เป็น ความรับผิดชอบของรัฐบาล จุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากรัฐบาล
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนการประชุมครม.ได้มีรัฐมนตรีบางส่วน หารือกันนอกรอบถึงการเสนอ ร่าง พ.ร. บ.ปรองดองเข้าสู่สภาฯ โดยระบุว่า ที่จริงแล้วการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบหรือจุดเริ่มต้นจากรัฐบาล แต่กระบวนการปรองดองเป็นความพยายามของคนทั้งประเทศ
** "แม้ว-บริวาร"ได้ประโยชน์
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 3 ฉบับ เข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า หากมองรวมๆ ร่างทั้ง 3 ฉบับนั้น ชัดเจนว่าคนที่ได้รับประโยชน์คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ต้องติดคุกตามคำพิพากษาที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว เสมือนว่าไม่ได้กระทำความผิด
นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้เงินซึ่งถูกยึดเนื่องจากมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทคืนครบ ส่วนบุคคลที่จะได้ประโยชน์ต่อไปคือ บริวารของ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่มีข้อหาทุจริต
ทั้งนี้ตนมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ประชาชนได้รับประโยชน์น้อยมาก จะมีก็แต่พวกเผาบ้าน เผาเมือง เผาศาลากลาง ยิงวัดพระแก้ว ซึ่งหากดูแล้ว เป็นแค่การออกกฎหมาย ช่วยพ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น
ส่วนที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ เป็นการใช้ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร มาล้มล้างอำนาจตุลาการ ตนก็มีความเห็นเช่นนั้น เพราะประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งยังเป็นการทำลายหลักนิติธรรมโดยการใช้อภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย เมื่อทำ ผิดไม่ต้องถูกลงโทษ
ดังนั้นตนจึงมองว่าไม่ควรตั้งชื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ให้ใช้ชื่อว่า “พ.ร.บ.ลบล้างความผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ” และ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่มีวันทำให้สังคมสงบสันติได้ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. ที่ออกมาระบุว่า กลุ่มคนเสื้อแดง จะมีการเคลื่อนไหวจนกว่าจะสามารถล้มล้างอมาตย์ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
"น่าเสียดายที่ผมได้เคยเรียกร้องไปยัง พล.อ.สนธิ ประธาน กมธ.ปรองดอง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้นำรายงานของสถาบันพระปกเกล้า ในเรื่องความปรองดองมาเสนอต่อสภาฯ ว่า เรื่องนี้ให้มีการตั้งเวทีเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน แต่กมธ.กลับไม่ทำ และเร่งเสนอเข้าสู่สภาทันที ซึ่งผมก็กังวลว่า ประเด็นดังกล่าวจะนำไปสู่ความรุนแรงในบ้านเมือง ยืนยันว่าผมไม่เห็นด้วย และจะต่อสู้ทั้งใน และนอกสภา อย่างถึงที่สุดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง โดยการเคลื่อนไหวนอกสภานั้น จะมีการไปตั้งเวทีให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้ ยืนยันว่า จะไม่ทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ หรือมีการเผาบ้าเผาเมือง แต่จะมีการ เคลื่อนไหว และต่อสู้อย่างสันติวิธี" นายสุเทพ กล่าว
** เลขาปชป.ไฟเขียวส.ส.สู้นอกสภา
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ปรองดองว่า การที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จะไปปลุก หรือไปเรียกมวลชนมาร่วมคัดค้านด้วย ก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่เขาต้องรับผิดชอบ ส่วนจะมาด้วยรูปแบบไหนนั้นตอบยาก
"ขอถามว่า ทำไมส.ส.พรรคเพื่อไทย ไปปลุกม็อบ ทำทุกอย่างได้ และทำไมทุกอย่างต้องมาหยุดที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องเดินตามกรอบ ตรงนี้ แบบนี้มันถูกต้องไหม และอะไรที่เป็นสิ่งเลวๆ บางอย่างก็ไม่ควรจะเหมือนกัน ไม่ใช่บอกว่าเขาทำแล้ว เราจะต้องทำ คงไม่ใช่ อะไรที่ไม่ดี เราก็จะไม่ทำ แต่บางเรื่องที่เราทำแล้วมันสามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ก็เป็นสิทธิ์ที่เราสามารถทำได้" นายเฉลิมชัย กล่าว
**รัฐบาลเสนออีก 3 ร่าง แค่ปาหี่
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การที่เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่า น่าจะเป็นเพียงการเล่นปาหี่ทางการเมือง เพราะถ้าดูสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ปรองดองแต่ละฉบับ เนื้อหาไม่ต่างกัน เพียงแต่บางฉบับ เช่น ของกลุ่มแกนนำนปช. เสนอมา เพื่อเอาใจคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งที่อกหัก จากร่าง ของ พล.อ.สนธิ ที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย ตามแนวทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการ ดังนั้นการเสนอครั้งนี้ จึงเป็นแค่ร่างประกอบ ไม่ต่างอะไรกับการฮั้วประมูลของบริษัทรับเหมาฯ
ส่วนการที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการณ์โฆษกรัฐบาล ออกมาท้าทายให้พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นพ.ร.บ.ปรองดอง ขึ้นมาประกอบนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับจอมปลอม ที่ใช้คำว่า “ปรองดอง” บังหน้า แต่เนื้อหาสาระที่แท้จริง เป็นการนิรโทษกรรม ล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคจึงไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลชุดนี้ พรรคจึงต้องตั้งหลัก เพื่อต่อสู้ในการอภิปรายคัดค้านในสภาอย่างเต็มที่ และจะไม่ยอมให้พ.ร.บ.อัปยศทั้ง 4 ฉบับ ผ่านสภาไปได้แม้แต่ฉบับเดียว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
สำหรับกรณีที่คนในพรรคเพื่อไทย เรียงหน้าออกมาปฏิเสธว่า การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ประโยชน์นั้น ทำไมคนในพรรคเพื่อไทย ไม่รู้สึกกระดากปากบ้าง เพราะทุกอย่างชัดเจนว่า เป็นการทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหลัก ส่วนบุคคลอื่นๆ เป็นแค่ผลพลอยได้ จากการนิรโทษกรรมให้พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น ที่เห็นได้ชัด จากมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ฉบับ พล.อ.สนธิ ที่ระบุว่า " ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด" ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บุคคลที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม มีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาตัดสินแล้ว ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และคดีนี้ก็ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว เพียงแต่รอการจับกุมผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีมาลงโทษจำคุกเท่านั้น ซึ่งเห็นชัดเจนว่า ข้อความนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว แล้วยังหน้าด้านปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ประโยชน์
** กม.ปรองดองเปิดช่อง"แม้ว"คืนอำนาจ
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านมีความเห็นไม่สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 4 ฉบับ เพราะเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนเพียงคนเดียว แม้ว่าร่างกฎหมายจะเขียนลักษณะให้ประโยชน์กับกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มก็ตาม แทนที่กฎหมายปรองดองจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง กลับกลายเป็นการสร้างความขัดแย้ง และแตกแยกมากขึ้น
"พรรคเพื่อไทย มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้รวบรัดแบบเงียบๆ เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย ได้ขอมติจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ. 6 ฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.... ขึ้นมาพิจารณาก่อน เป็นต้น ซึ่งฝ่ายค้านก็ให้ความร่วมมือเพราะคิดเป็นประโยชน์กับประเทศ จึงไม่เข้าใจทำไมพรรคเพื่อไทย ต้องเร่งการพิจารณากฎหมายปรองดอง"
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นคำตอบชัดเจนแล้ว หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ประกาศว่าจะกลับประเทศไทยอย่างเท่ ๆ เนื่องจากหากรัฐสภาผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จะเท่ากับว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนหน้านี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
" รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (4) และ (7) กำหนดว่า ห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และจำคุก ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ดังนั้น ถ้ากฎหมายปรองดองมีผลบังคับใช้ จะเป็นคืนสิทธิ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และยังคืนเงินคืนที่ถูกยึดทรัพย์เป็นของแถมให้ด้วย ซึ่งเป็นคำตอบออกมาแแล้วว่า การกลับบ้านเท่ๆ คืออะไร" นายจุรินทร์ กล่าว
**40 ส.ว.ยื่นศาลรธน.ยับยั้งแก้รธน.
วานนี้ ( 29 พ.ค.) กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายสมชาย แสวงการ และ พญ.พรพรรณ บุญญรัตนพันธุ์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณายับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่รัฐสภามีการพิจารณา วาระ 1 และ 2 เสร็จสิ้นแล้ว และจะมีการลงมติ วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ซึ่งอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ มาตรา 291
นายสมชาย กล่าวว่า การยื่นครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิในนามคณะบุคคลที่เห็นว่า การดำเนินการของสมาชิกรัฐสภาในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นการล้มล้างปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งฉบับ จึงไม่ต่างจากใช้อำนาจรัฐ ฉีกรัฐธรรมนูญ
แต่ครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภาที่มีเสียงข้างมาก ทั้งในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้มาตราเดียว ในการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนในกรอบ และแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญว่า จะแก้ในมาตราใดบ้าง อีกทั้งยังมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภาอีก ซึ่งพวกเราก็เห็นว่า ไม่ใช่ พ.ร.บ.ปรองดอง จะเป็นการออกกฎหมายมาเพื่อนิรโทษกรรมตนเอง และพวกพ้องทั้งที่ไม่ควรจะมาใช้โอกาสและจังหวะนี้
ดังนั้น การมายื่นครั้งนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่เราต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายับยั้งว่า การกระทำดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ครม.และประธานสภาหยุดการกระทำอันเป็นการการะทำขัดรัฐธรรมนูญ
" ได้ยื่นเรื่องต่อตัวแทนกับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อว่าคงจะเข้าสู่กระบวนการของศาลต่อไป ซึ่งความกังวลของพวกเราในฐานะประชาชนคนไทย ก็เห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้มีภาวะวิกฤติทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกเลิกทั้งฉบับ ในทำนองเอาการแก้ไขมาตราเดียว ตั้ง ส.ส.ร.แล้วล้มรัฐธรรมนูญ โดยไม่รู้กรอบ และทิศทาง หรือสถาบันต่างๆ จะยังคงอยู่หรือไม่ เช่น สถาบันศาล ที่แกนนำก็ออกมาพูดว่า จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนของกระบวนการยุติธรรม จึงอยากให้ศารัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำเนินการต่างๆ นั้นถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ และขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่
**หวั่นกม.ปรองดองก่อสงครามกลางเมือง
นายสมชาย กล่าวถึง พ.ร.บ.ปรองดองอีกว่า ดูแล้วใน 8 มาตรา ไม่มีความปรองดองแต่อย่างใด แต่เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคล ที่ได้มีการกระทำที่เป็นการก่ออาชญกรรม มีการลอบสังหาร การเผาบ้านเผาเมือง ทั้งที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ซึ่งควรจะต้องมีการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดก่อน ไม่ใช่อาศัยช่วงจังหวะ ที่มีเสียงข้างมากในสภาเร่งนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่สภา จึงเกรงว่าจะเป็นการเผชิญหน้าภาคประชาชนอีกครั้ง และถือว่าเป็นวิกฤตทางการเมืองของประเทศไทยจนอาจเกิดเป็นสงครามกลางเมืองได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีการลงมติใน วาระ 3 แล้ว ทางสมาชิกวุฒิสภา ก็จะเข้าชื่อให้ได้จำนวน 1 ใน 10 เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งนี้จะดำเนินการทุกวิถีทาง ทั้งในรัฐสภาและเวทีประชาชนเพื่อคัดค้านให้ถึงที่สุด เพราะหากให้ปล่อยผ่านไป อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศได้
** ตำรวจตั้งแผงเหล็กรับมือหน้ารัฐสภา
เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่หน้ารัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ได้เตรียมรับมือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะมาชุมนุมคัดค้าน การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 30 พ.ค. รวมถึงกลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มสยามสามัคคี นอกจากนี้ กลุ่มครก.112 ก็ยังคงปักหลักอยู่หน้ารัฐสภา และกลุ่ม 13 สยามไท ที่ประกาศย้ายจากศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มาที่รัฐสภา
ทั้งนี้ มีการนำแผงกั้นเหล็กติดตั้งไว้บริเวณด้านหน้ารั้วรัฐสภาตั้งแต่แยกถนนอู่ทองใน ไปจนถึงบริเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ที่มีบริเวณติดกับรัฐสภา ขณะที่บริเวณของสวนสัตว์ดุสิต ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงกั้นเหล็กมาติดตั้งไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งมีการนำรถติดเครื่องขยายเสียงเตรียมใช้ประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับผู้ชุมนุมด้วย
นอกจากนี้บริเวณด้านหลังอาคารรัฐสภา 3 ยังได้นำบันไดลิง ที่เป็นเหล็กมาเตรียมเอาไว้ เพื่อเชื่อมระหว่าง อาคาร 3 กับ บริเวณสวนในพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในอาคารรัฐสภา หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ผู้ชุมนุมบุกเข้ายึด อาคารรัฐสภา ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
***“บัง”ตะแบงปรองดอง
วานนี้ (29 พ.ค.) ที่รัฐสภา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวถึงการเสนอ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ (ร่างพรบ.ปรองดอง) เข้าสู่การพิจารณาของสภา ว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีการล้างผิดแต่อย่างใด คนผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ ยกเว้นคนผิดตามเงื่อนไขการเมือง ตรงนี้อภัยโทษให้ หรือนิรโทษกรรมให้ในบางคดี ถ้าผิดก็ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามว่า เนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. จะทำให้ญาติผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองผิดหวัง เพราะต้องการค้นหาความจริง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า กระบวนการค้นหาความจริงก็ทำอยู่ แต่สำคัญที่ว่าจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการปรองดอง และการเยียวยาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ การปรองดองไม่ใช่การหยุดค้นหาความจริง การค้นหาข้อเท็จจริงต้องค้นหาไปตลอด
เมื่อถามว่า ความปรองดองรวมถึงการยกโทษให้คนที่ถูกศาลตัดสินว่าผิด พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่มีการล้างผิด เราจะยกเว้นเราจะนิรโทษกรรมให้ ใครทำผิดในบางคดี ก็ต้องกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ปัญหาบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มองเรื่องความมั่นคงมาลำดับหลัง เราให้นิติรัฐ และนิติศาสตร์มาก่อน เมื่อนิติศาสตร์มาก่อน ความมั่นคงจะมาที่สอง ในขณะที่มีวิกฤติ เราต้องให้ความมั่นคงมาก่อน นิติศาสตร์ มาลำดับสอง ถ้าบ้านเมืองปกติ นิติศาสตร์ จึงจะมาก่อนรัฐศาสตร์
เมื่อถามว่ามีคนมองว่า ท่านกำลังทำลายภาพลักษณ์ของทหาร พล.อ.สนธิ กล่าวว่า คงไม่เป็นเช่นนั้นหรอก ตนทำมาด้วยความหวังดี เมื่อถามต่อว่ามีคนมองว่า ในเมื่อเป็นคนทำรัฐประหารเอง แล้วเหตุใดเป็นคนเสนอกฎหมายให้ยกเลิกผลของการรัฐประหาร พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ตนไม่ได้อะไรจากเรื่องนี้ กฎหมายนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับตน ตนอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข
เมื่อถามต่อว่า ดูเหมือนการดำเนินการจะสอดรับกับช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาพูดเรื่องปรองดอง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ตนพูดก่อนพ.ต.ท.ทักษิณ วันนี้ทุกประเทศก็พูดเรื่องปรองดอง นายกรัฐมนตรี ออสเตรเลีย ก็อยากให้เมืองไทยปรองดอง การปรองดองเป็นเรื่องที่ทั้งโลกเห็นด้วยหมด
เมื่อถามอีกว่า จะตอบเตรียมทหารรุ่น 1 ที่ออกมาคัดค้านอย่างไร พล.อ.สนธิ กล่าวว่า คนมีสิทธิ์คิดต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือทหาร การมีความคิดที่หลากหลายเป็นธรรมดา คนเราคิดเหมือนกันได้ในบ้างเรื่อง ต่างกันได้ในบางเรื่อง อย่าคิดว่าตนคิดคล้ายกับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วต้องมีคอนเนกชั่นกัน
***”ปู”สั่งดูแลความปลอดภัยการชุมนุม
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนประเทศออสเตรเลียถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯเพื่อขอให้มีการถอดถอนร่างพ.ร.บ"ปรองดองว่า ได้มีการสั่งการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปแล้ว อยากเรียนว่า เรื่องของการแสดงออกทางความคิดเห็นเราเคารพตามระบอบประชาธิปไตย แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งได้สั่งให้มีการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น
เมื่อถามว่า จะมีการขอร้องทั้ง2 ฝ่ายอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะ นายกฯ กล่าวว่า ขอเรียนว่า วันนี้ประเทศอยากเห็นบรรยากาศต่างๆ อยากเห็นการแสดงออกทประชาธิปไตย วันนี้ถือเป็นสิ่งที่เราต้องเคารพเรื่องของเสียง และจริงๆ อยากให้อยู่ในความสงบหรือภายใต้ขอบเขตของกฎหมายด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงหรือไม่จะยืดเยื้อบานปลาย นายกฯ กล่าวว่า คงต้องดูและหวังว่าจะแสดงออกเรื่องของความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว และอยากขอความร่วมมือให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ และฝากให้ผบ.ตร.ดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อถามว่า นายกฯจะไปประชุมสภาฯหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คงไปทำตามหน้าที่.