ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ก็ถูกรวบหัวรวบหาง เลื่อนวาระเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้เร็วขึ้น ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่มีอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ที่มีการเสนอเข้าสู่สภาทั้ง 4 ร่างนั้นล้วนแต่เอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองบางคนที่ทำความผิดไว้ในอดีต และเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม เพราะนักการเมืองใช้กลไกรัฐสภาออกกฎหมายมายกเลิกคำพิพากษาของศาลเพื่อลบล้างความผิดให้ตัวเองได้
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นร่างแรก กล่าวปฏิเสธเสียงแข็งในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการรับงานมาจากใคร
แม้ว่า ตามเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คนที่จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั่นเอง ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมคดีความทั้งหมด รวมทั้งจะได้รับเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทคืน ซึ่งเป็นเงินที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ให้ยึดเป็นของแผ่นดินเนื่องจากเห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตในช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พล.อ.สนธิ อ้างว่าการเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้กระทำโดยลำพังเพราะกระทำโดยคณะ และแนวทางนี้เป็นเพียงถนนเส้นหนึ่งของการเดินไปสู่เป้าหมายของการสร้างความปรองดองเท่านั้น ไม่ใช่การปรองดองโดยสมบูรณ์ และยังมีอีกหลายขั้นตอนในการดำเนินการ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จริงหรือไม่ที่ไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อรับงานมาเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ พล.อ.สนธิตอบแบบเลี่ยงๆ พร้อมหัวเราะว่า “ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับผม”
“เราเจตนาดีครับ เมื่อวิกฤตสถานการณ์วันนั้นตอนนั้นก็เห็นอยู่ว่ามันเป็นวิกฤตของบ้านเมือง วันนี้ถามว่ามีใครกล้าจะมาทำให้มันเกิดความสงบเรียบร้อยหรือไม่เท่านั้นเอง ปัญหาคือเราต้องการคนกล้าที่จะมาทำงานให้บ้านให้เมืองเพื่อเกิดความปรองดอง เพราะฉะนั้นวันนี้ถามว่าผมมีความสุขและอยากได้อะไรหรือไม่ ผมไม่อยากได้อะไร แต่ต้องการเห็นบ้านเมืองเกิดความปรองดองเท่านั้นเอง ตรงนี้สำคัญที่สุด ทุกอย่างผมมีหมดแล้ว โดยเฉพาะเกียรติภูมิศักดิ์ศรีมันมากกว่าจะมารับจ็อบใดๆ” พล.อ.สนธิกล่าวอ้าง
วันที่ 29 พ.ค.พล.อ.สนธิแถลงในรายละเอียดอีกครั้ง อ้างว่ากฎหมายบับนี้ไม่ได้มีการล้างผิดแต่อย่างใด คนผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ ยกเว้นคนผิดตามเงื่อนไข ตามการเมืองตรงนี้อภัยโทษให้หรือนิรโทษกรรมให้ ในบางคดีถ้าผิดก็ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ทั้งยังอ้างอย่างสวยหรูว่า การออก พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นกฎหมายสากลที่ใช้กันทั่วโลก ในไทยก็เคยใช้ เช่น การออกนโยบาย 66/2523 เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า การเสนอ พ.ร.บ.นี้สอดคล้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาพูดเรื่องการปรองดอง พล.อ.สนธิก็อ้างว่า ตนพูดมาก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ และแนวทางการปรองดองนั้น ทั่วโลกก็อยากให้มี
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ว่า ที่ประชุมเห็นว่าเป็นการเร่งรัดเสนออย่างเงียบๆ เสมือนเป็นการ “ลักไก่” เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่เสนอ และประธานเร่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม ในขณะที่สังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกัน จึงเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ดังนั้น ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อน
ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่รัฐบาลเสนอ ไม่ใช่กฎหมายปรองดองตามชื่อที่ตั้ง แต่จะเป็นกฎหมายที่นำไปสู่ความแตกแยก ขณะเดียวกัน เนื้อหาสาระคือการลบล้างความผิดให้คนบางกลุ่ม และลบล้างอำนาจตุลาการ โดยเฉพาะมาตรา 5 ที่ล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว ในทุกคดีเสมือนไม่เคยต้องคำพิพากษา ซึ่งจะเกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (7) ในเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งที่จะต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าร่ำรวยผิดปกติด้วย
นั่นแสดงว่าคำพูดของ พล.อ.สนธิ ไม่อาจลบล้างข้อสงสัยเรื่องการ “รับจ๊อบ”แต่อย่างใด
ข้อพิรุธที่สำคัญก็คือ ในเมื่อแนวทางการปรองดองที่ศึกษาโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ หรือ กรรมาธิการปรองดอง ที่มี พล.อ.สนธิเป็นประธานเองนั้น ยังไม่ได้มีข้อสรุปออกมาแต่อย่างใด แต่กลับมีการเสนอเป็นกฎหมายออกมา
กรรมาธิการปรองดองนั้น ถูกเสนอให้ตั้งขึ้นมาโดย พล.อ.สนธินั่นเอง โดยอาศัยช่วงจังหวะที่เกิดมหาอุทกภัยเสนอเข้าสู่สภาในเดือนพฤศจิกายน 2554 และ พล.อ.สนธิก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมาธิการฯ
ซึ่งผลการศึกษาของกรรมาธิการปรองดองที่มีการนำเสนอเมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดตอนงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณมาใช้ อาทิ การนิรโทษกรรม การยกเลิกผลทางกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) ซึ่งนั่นหมายถึงว่า สำนวนคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตประมาณ 13 คดี ที่ คตส.ทำไว้จะต้องถูกยกเลิกไปด้วย
แต่กระนั้น รายงานการศึกษาของกรรมาธิการปรองดองฯ ก็ผ่านการรับรองของสภา ตามระบบพวกมากลากไป และมีการส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และรัฐบาลก็ได้ส่งต่อให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ไปดำเนินการต่อ
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ปคอป.ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่า ควรจะจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้ทุกฝ่ายของสังคมไทยได้เข้าถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง และควรสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ความรู้ และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการเปิดเวทีที่เรียกว่า “ประชาเสวนา” โดยกำหนดประเด็นที่จะนำไปสู่การพูดคุย คือ ประเด็นที่เป็นรากเหง้าของความขัดแย้ง และแนวทางในการสร้างความปรองดอง เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีก มีกรอบดำเนินการภายในระยะเวลา 60 วัน
ครม.ได้เห็นชอบตามรายงานของ ปคอป.ดังกล่าว โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานจัดเวทีประชาเสวนา มีนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
วันที่ 10 พ.ค.ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่มีนายธงทองเป็นประธาน ได้กำหนดแนวทางการจัดเวทีประชาเสวนาใน 2 ระดับ และ 2 ระยะ
ระดับแรกจะทำในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเดือน พ.ค.โดยจะขอให้องค์กรพัฒนาชุมชนที่มีอยู่ในตำบลและเทศบาลให้ผู้นำองค์กรเหล่านี้จัดเวทีในชุมชน ลักษณะเวทีย่อย 5-10 คน จากนั้นจะมีการประมวลข้อคิดเห็น ตามระบบประมวลผลสารบัญของ “มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต” โดยคาดว่าในต้นเดือน มิ.ย.จะได้ความเห็นที่มาจากทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกันจะขอให้องค์กรพัฒนาชุมชนในระดับจังหวัดเป็นหัวแรงทำเวทีดังกล่าวด้วย โดยเวทีเสวนาระดับนี้จะทำได้ในเดือน มิ.ย. ซึ่งจะมีการพูดคุยขององค์กรพัฒนาชุมชนระดับจังหวัดที่มีการจัดตั้งอยู่แล้ว
สำหรับกรอบเวลา 60 วันที่ ปคอป.มอบหมายนั้น นายธงทอง กล่าวว่า หากไม่ทันก็จะมีการขยายไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเท่ากับว่า น่าจะทำเสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย.หรือหากช้าออกไปก็จะประมวลผลได้ในราวต้นเดือน ก.ค.
นับจากวันที่ 10 พ.ค.เป็นต้นมา ยังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าของการจัดทำเวทีประชาเสวนาดังกล่าว แต่แล้ว จู่ๆ วันที่ 24 พ.ค. พล.อ.สนธิก็เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่มี 8 มาตรา เข้าสู่สภา และให้เลื่อนเป็นวาระเร่งเด่นเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 30 พ.ค.
เหตุใดจึงมีการรวบรัดเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ ทั้งที่แนวทางตามรายงานของกรรมาธิการปรองดองฯ ที่ พล.อ.สนธิเป็นประธานเอง ยังไม่มีข้อสรุปออกมาเลย เป็นคำถามที่ พล.อ.สนธิยังไม่ตอบให้กระจ่าง และข้อสงสัยที่ว่า พล.อ.สนธิรับงานใครมาก็ยังค้างคาใจคนทั้งประเทศอยู่ต่อไป
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่จะมีผลในการลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณเสียเอง