xs
xsm
sm
md
lg

1 ปีแห่งการยึดอำนาจ ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

เมื่ออ่านจากกำหนดเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอายุในตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูรแล้ว ขอฟันธงว่าสถานการณ์จากนี้ไปประมาณ 1 ปีบวกลบไม่เกิน 6 เดือนจะเป็นห้วงแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

ในทางการเมืองเห็นชัดแล้วว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 หากไม่พูดถึงการยกเลิกการยอมรับผลของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อย่างสมบูรณ์แล้ว ลักษณะเด่นที่ควรพิจารณากันคือการมุ่งลดทอนอำนาจของศาลและองค์กรอิสระลง สร้างกลไกกำกับและถ่วงดุลอำนาจตุลาการมากขึ้น เพิ่มอำนาจของรัฐบาลกลางให้เหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่น

ประเด็นหลังสุดนี่สำคัญมาก

เพิ่มอำนาจของรัฐบาลกลางให้เหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่น !

มาตรา 67 วรรคสองที่ทำให้ชาวมาบตาพุดลุกขึ้นมาใช้สิทธิทางศาลปกครองต่อสู้เพื่อกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ขอฟันธงว่าจะไม่มีอยู่แน่นอน

สิทธิชุมชนที่ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2540 แม้ไม่ตายก็จะไม่โต

หากข้ออ้างที่ว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นมีความจริงเจือปนอยู่บ้าง ก็ต้องบอกว่าเป็นความจริงที่โบราณคร่ำครึมาก มีประชาธิปไตยยุคปัจจุบันที่ไหนในโลกนี้ที่ละเลยอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นและละเลยสิทธิชุมชนโดยให้สิทธิขาดแก่รัฐบาลกลางภายใต้หลักคิดกลวง ๆ ที่ว่าเสียงส่วนน้อยเสียงเฉพาะพื้นที่ต้องขึ้นต่อเสียงส่วนใหญ่เสียงของคนทั้งประเทศ

ต่อไปจะสร้างเขื่อนที่ไหนสร้างกำแพงสูงกั้นน้ำที่ใดกำหนดพื้นที่ใดเป็นเขตรับน้ำ รัฐบาลกลางทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญอีกต่อไป

นี่หรือสิ่งที่ “ไพร่” ต้องการ ?

อภิมหาโครงการปรับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะลงทุนรวม 2.27 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปีเกิดขึ้นไม่ได้หรอกหากไม่มีรัฐธรรมนูญรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเข้าสู่รัฐบาลกลางอย่างที่กำลังจะร่างกันอยู่นี้

อย่าถามว่าผมรู้ได้ไง ยังไม่มีการเลือก ส.ส.ร.เลย

เราโต ๆ กันแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฯแก้ไขมาตรา 291 ที่จะผ่านวาระ 3 ในวันที่ 5 มิถุนายน 2555 นี้เลือก ส.ส.ร.กันยังไงก็จะได้คนที่มีความคิดตรงกับรัฐบาลเกินกว่าร้อยละ 70 แน่นอน และต้นร่างฯจริง ๆ คงมีอยู่แล้วโดยสังเขปตามแนวนี้แหละ

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองนี้เชื่อมโยงกับการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ

ดร.วีรพงษ์ รามางกูรอายุเกือบ 69 ปีเต็ม เข้ามาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติได้แค่ 1 ปีเศษ ๆ ก็จะพ้นวาระ เพราะฉะนั้นฟันธงได้ว่าภายใน 1 ปีเศษๆ จากนี้ท่านจะต้องบรรลุภารกิจในการปรับเปลี่ยนแนวคิดและนโยบายของคนแบงก์ชาติให้ได้ ไม่ว่าจะโดยวิธีใด

เพราะถ้าปรับเปลี่ยนไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่มีตังค์มาลงทุนโครงสร้างสาธาราณูปโภคพื้นฐานหรอก

ปรับยังไง ?

ก็เอา “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” ออกมาใช้ไง !

แนวคิดนี้ผู้ว่าฯประสาร ไตรรัตน์วรกุลไม่เห็นด้วย คนแบงก์ชาติที่ ดร.โกร่งท่านเห็นว่าคร่ำครึส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะมันเสี่ยงเกินไป ประเด็นหนึ่งคือทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ใช่ของเรา เพียงแต่รับฝากไว้ อีกประเด็นหนึ่งคือการนำออกมาใช้ภายในประเทศก็เท่ากับการพิมพ์ธนบัตรเงินบาทเพิ่มนั่นเอง ผิดทั้งวินัยการเงินการคลัง และผิดกฎหมาย

แต่อย่างว่าแหละครับ ผิดกฎหมายก็แก้กฎหมาย รัฐบาลประชาธิปไตยชุดนี้จะยี่หระอะไร

เราจึงจะเห็นการแก้กฎหมายธนาคารชาติ และกฎหมายเงินตรา เร็ว ๆ นี้ในรัฐสภา

ดีไม่ดีเขาอาจจะลักไก่ออกเป็นพระราชกำหนดด้วยซ้ำ เมื่อถึงเวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าทำได้และชอบแล้วเหมือนครั้งพระราชกำหนดโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ อีกหรือเปล่า ?

การเอาทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ หรือการพิมพ์เงินบาทมาลงทุนในประเทศ จะทำให้รัฐบาลได้คะแนนนิยมทางการเมืองต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการเดิมพันหรือพนันกับอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก ถ้าถือเป็นการสร้างโอกาสเพื่อได้เงินเข้าประเทศในอนาคตอันไม่ไกลก็ดีไป แต่ถ้าไม่ ประเทศก็เจ๊ง ธนบัตรเงินบาทก็จะใกล้เคียงธนบัตรกงเต็ก

แบงก์ชาติคือปราการสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องทลายให้ได้ และทุนสำรองระหว่างประเทศคือเป้าหมายที่รัฐบาลจะต้องนำออกมาใช้หว่านและละเลงให้ได้ เรื่องนี้ผมพูดมาหลายครั้งตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ยังไม่ทันสาบานตนเลยเขาก็ปูดเรื่อง SWF กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติขึ้นมาแล้ว แต่โฉ่งฉ่างไปหน่อยเลยต้องถอยฉากชั่วคราว พอเผชิญน้ำท่วมใหญ่ตั้ง กยอ.ขึ้นมาก็พ่วงการปรับสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาทเข้าไปกับการลงทุนแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเนียนๆ

ดร.โกร่งนอกจากเป็นประธาน กยอ.แล้วก็กำลังจะเข้ามาเป้นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

กฎหมายแบงก์ชาติปัจจุบันแก้ไขใหญ่เมื่อปี 2550 ยุค สนช.-คมช.มุ่งหวังป้องกันไม่ให้อำนาจการเมืองเข้ามาแทรกแซง ไม่ให้ครม.ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ง่าย ๆ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แม้อำนาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับตำแหน่งผู้ว่าการฯ

แต่ก็มีอำนาจ และถ้ากล้าใช้อำนาจนั้น ก็พอจะทำอะไรได้ไม่น้อย

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีอำนาจหน้าที่ในมาตรา 25 (8) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของแบงก์ชาติตามกฎหมายส่วนที่ 3 ของหมวด 6

นอกจากนั้นยังมีอำนาจหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการฯในมาตรา 25 (1)

สมมติว่าประธานบอร์ดขัดแย้งกับผู้ว่าฯในนโยบายสำคัญจะเกิดอะไรขึ้น ตามกฎหมายแบงก์ชาติแก้ไขใหญ่ 2550 ผู้ว่าฯการจะออกก็ต่อเมื่อครบวาระ ยกเว้นถูกปลดโดยมติ ครม.ตามมาตรา 28/19 (5) แต่ก็ต้องโดยเหตุผลบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนความสามารถ โดยในมติ ครม.ต้องแสดงเหตุผลให้ชัดเจน

ครม.จะมีมติให้ผู้ว่าการฯออกเฉย ๆ ไม่ได้ แต่ต้องโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ...

โดยคำแนะนำของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย!


ในทางปฏิบัติ ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ หรือรัฐบาลหรือ ดร.โกร่งมีธงจะมาปลดผู้ว่าฯประสาร ไตรรัตน์วรกุล และยังมีเงื่อนไขอื่นมาประกอบอีกเยอะ แต่ในทางทฤษฎีแล้วเกิดขึ้นได้

เงื่อนไขแรกคือผู้ว่าฯประสาร ไตรรัตน์วรกุลจะยืนหยัดในหลักการแค่ไหน อย่างไร จะโอนอ่อนผ่อนตามเท่าที่พอจะทำได้แค่ไหน อย่างไร หรือไม่

คนกระทรวงการคลังเฮไปตามกระแสการเมืองหมดแล้ว

คนแบงก์ชาติ ณ ห้วงเวลานี้ล่ะ ??
กำลังโหลดความคิดเห็น