"ครก.112" ไม่สนกระแสต้าน เดินหน้าล่าชื่อแก้ ม.112 พร้อมออกเดินสายสัญจรต่างจังหวัด ขณะที่กองเชียร์อารมณ์ค้างบุกเผาหรีด-กงเต็ก หน้าลานปรีดีฯ ประท้วงมติบอร์ด มธ.ห้ามใช้พื้นที่ ด้านแก๊ง นปช.จัดสัมมนาตะเพิด "ธิดาแดง" หาหัวหน้าใหม่ปกป้อง "รัฐบาลปู" โพลชี้แก้ "ม.112-รธน." คนไทยสุขน้อยลง "สยามประชาภิวัฒน์" จัดเสวนา "วิกฤติประเทศไทย ใครคือตัวการ?" วันนี้
เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (5 ก.พ.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ บริเวณสี่แยกคอกวัว คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ( ครก.112 ) ได้แถลงข่าวถึงการเคลื่อนไหว และความคืบในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังมีการแสสังคมต่อต้าน อย่างหนัก
โดยนายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทน ครก.112 กล่าวว่า แม้ว่าจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่ครก.112 ยืนยันจะเดินหน้ารวมรายชื่อ เพื่อดำเนินการแก้ไขกฎหมายนี้ต่อไป โดยขณะนี้เตรียมที่จะจัดตั้งเครือข่าย ครก.112 เพื่อเดินหน้าให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว โดยจะจัดกิจกรรม "ครก.112 สัญจร" เพื่อลงไปพบปะ พูดคุย และตอบคำถามที่สังคมสงสัยในพื้นที่ต่างๆ ที่มีผู้ร้องขอมา อาทิ จ.อุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ ราชบุรี ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะดำเนินกิจกรรมโดยสันติวิธี ปราศจากความรุนแรง และต้องการยืนยันสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อเสนอประธานรัฐสภาเพื่อแก้ไขกฎหมายได้
** ลั่นใครขวางถือว่าขัดเจตนารมณ์รธน.
นายยุกติ กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพ และขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข นอกจากนี้ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายดังกล่าว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะข้อหา “ล้มเจ้า” เหตุนี้ ครก.112 จึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขตามกระบวนการที่มีในรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ครก.112 พร้อมจะรับฟังเหตุผลของผู้ที่ไม่เห็นด้วย และพร้อมจะร่วมถกเถียงในวงเสวนาต่างๆ แต่กลับกันหากใครพยายามคัดค้านข่มขู่ คุกคาม โดยใช้ความรุนแรง กลุ่มคนเหล่านั้นถือว่าเป็นพวกที่กระทำการผิดกฎหมายเสียเอง
" ยืนยันว่า เราจะเดินหน้าต่อไปไม่ท้อถอย การเสนอแก้ไขกฎหมายเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่กฎหมาย ม.112 ได้ขัดต่อเรื่องของสิทธิ และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำลายล้างกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ใครไม่เห็นด้วย เราพร้อมที่จะรับฟังด้วยเหตุผลแต่ใครที่ต่อต้านด้วยวิธีที่รุนแรงนั้น เราก็ต้องถามกลับว่ามีจุดประสงค์อะไร พวกคุณต้องการปกป้องสถาบันฯ หรือทำเพื่อตัวคุณเองกันแน่ นอกจากนี้องค์กรด้านสิทธิต่างๆ อาทิ องค์การสิทธิมนุษยชนอาเซียน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ควรจะร่วมรับฟังเหตุผล และช่วยดำเนินการให้ความเข้าใจแก่สังคมในการเคลื่อนไหวด้วย "นายยุกติ กล่าว
** หาก"ปู"ไม่เอาด้วย จะรอรัฐบาลหน้า
ส่วนกรณีที่รัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ระบุชัดเจนว่า แม้จะมีการรวมรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครบ10,000 รายชื่อ ส่งให้ประธานรัฐสภา แต่จะไม่มีการร่วมผลักดันด้วยนั้น นายยุกติ กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐบาล ครก.112 ต้องการที่จะจุดกระแสในการแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเสนอเข้าสภาแล้ว ก็ต้องมีการอภิปรายถึงเนื้อหาสาระ ส่วนจะมีทาทีอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้หากรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่เห็นชอบ ครก.112 ก็พร้อมจะเดินหน้าเสนอแก้กฎหมายในรัฐบาลหน้าต่อไป
เมื่อถามถึงปัจจัยภายนอก ที่อาจส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้า ระหว่างประชาชนผู้สนับสนุน และคัดค้านการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น นายยุกติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ครก.112 ขับเคลื่อนด้วยเหตุผลทางวิชาการ ด้วยสันติวิธีมาตลอด ไม่เคยระดมมวลชนเข้ามารับฟัง หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างที่บางกลุ่มพยายามตั้งข้อกล่าวหา การลงรายชื่อ ก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่เคยกระทำกัน และการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะควบคุมความสงบเรียบร้อย
น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า ยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผลใน 3 ระดับ ทั้งเรื่องของตัวบท การบังคับใช้ อุดมการณ์ในการใช้กฎหมาย เพราะมีส่วนโดยตรงกับผู้ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะข้อหาการล้มเจ้า ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองตลอดมา การจะอ้างว่ามีปัญหาเฉพาะการบังคับใช้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะจำเป็นต้องแก้ไขตัวบทไปพร้อมๆ กัน
**เผยหน้าที่"นิติราษฎร์"จบแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ครก..122 ได้ชี้แจงถึงการเคลื่อนไหว แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ว่า เมื่อนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ได้ร่างข้อกฎหมาย และอธิบายถึงที่มาที่ไปของเนื้อหาแล้ว การขับเคลื่อนทั้งหมด จะจึงอยู่ที่ครก.112 ไม่เกี่ยวกับคณะนิติราษฎร์ หากแต่สมาชิกของคณะนิติราษฎร์ จัดเป็นสมาชิกของครก.112 ด้วย ซึ่งอาจจะมีการตอบข้อสงสัยบ้าง หากมีเหตุผลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับตัวกฎหมาย ส่วนกรณีผู้ลงรายชื่อสนับสนุน ครก.112 ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้นั้น เป็นกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับหลักการเสนอแก้ไขกฎหมาย แต่บางรายอาจไม่ใช่คณะกรรมการขับเคลื่อนรณรงค์
** เผาหรีด-กงเต็กหน้าลานปรีดีฯ
ต่อมาเวลา 14.00 น. กลุ่มผู้สนับสนุนคณะนิติราษฎร์ ส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้าย มาจากงานเวทีของ ครก. 112 สี่แยกคอกวัว ได้ไปรวมตัวกัน บริเวณลานอนุสาวรีย์ ปรีดี พนมยงค์ ภายใน ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อคัดค้าน มติกรรมการ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ห้ามใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย ในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่สวมเสื้อแดง ได้วางพวงหรีดด้านอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ พร้อมเผาเครื่องกงเต็ก เพื่อสะท้อนถึง เสรีภาพที่ได้ตายจากไป ในรั้วธรรมศาสตร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันถ่ายรูป และรณรงค์กันอยู่นั้น ได้มีชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง พยายามเดินมาในกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อแจกเอกสารปกป้อง ชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมฯ เกิดความไม่พอใจ ซึ่งได้มีการโต้เถียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงแต่อย่างใด
ต่อมาเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย ได้เชิญตัวชายคนดังกล่าว ออกจากพื้นที่ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม ก็ได้ทำกิจกรรมตามปกติ ก่อนที่จะทยอยแยกเดินทางกลับ
**นปช. ตะเพิด"ธิดาแดง"หาหัวใหม่
แหล่งข่าวกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 5-6 ก.พ.นี้ แกนนำกลุ่มแนวร่วมนปช. จำนวน 40 คน นัดหารือร่วมกันที่ “ริมทางรีสอร์ต ” ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมืองฯ จ.นครนายก เพื่อคัดเลือกประธานนปช. คนใหม่ และเคลียร์ใจหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างแกนนำที่ไม่พอใจ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานนปช .ถึงการทำงานในนปช. และไม่พอใจแกนนำบางคน ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกลับไม่ค่อยร่วมกิจกรรมในกลุ่มเหมือนในอดีต
แหล่งข่าวกลุ่มนปช. กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้จะถือโอกาสปรับโครงสร้าง และปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพราะถ้านปช.ไม่เข้มแข็ง ก็ไม่มีใครปกป้องรัฐบาล ฉะนั้นประเด็นที่จะคุย คือเรื่องของการบริหารอำนาจรัฐอย่างไร ที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งต้องทำให้กลับมาคิด เมื่อกุมอำนาจรัฐแล้ว ยกตัวอย่างบางคนที่เมื่อไปอยู่ในกระทรวง ต้องไปใช้บริการองคาพายพ หรืออะไรที่เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของผู้ที่อยู่ตรงข้าม เป็นการบริหารชัยชนะ หลังจากการเลือกตั้ง และเรื่องที่กำลังตกประเด็นอยู่ตอนนี้ ก็คือว่า คนที่เป็นคนเสื้อแดง รู้ว่า คิดอะไรในช่วงแรก ในอดีตเราพยายามสู้เพื่อให้คนเห็นต่างกันมาเห็นเหมือนกัน แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าหลายประเด็นทำให้คนที่เคยเชื่อเรา กลับมีคำถาม เพราะฉะนั้นเราต้องมีการปรับ หรือเปลี่ยนอย่างไร เช่น กรณีของนายขวัญชัย ไพรพนา แกนคนเสื้อแดง จ.อุดรธานี วันดีคืนดี ก็กินยาผิดซอง
" ทุกคนจึงมีธงของงานนี้ว่า ลืมอดีต นปช.มีคู่ขัดแย้งเยอะ ต้องลืมอดีต กลับมาเป็นองค์กรที่สู้ให้กับรัฐบาล เพราะฝ่ายตรงข้ามขยับเต็มที่ โดยรวมเรื่องของพ.ร.ก.เงินกู้ และ มาตรา 112 ถล่มรัฐบาล ไม่มีความชอบธรรม ต้องทำหยุดไม่ได้"
อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา แกนนำนปช.ได้มีการหารือที่บ้านแกนนำนปช. ย่านพระราม 5 จึงเป็นที่มาของการหารือกันในครั้งนี้
**วิปรัฐบาลแก้ม.291 ตั้ง 99 ส.ส.ร.
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความพร้อมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ได้หารือเพื่อตรวจสอบรายละเอียดก่อนส่งร่างให้วิปรัฐบาล พิจารณาในวันนี้ (6 ก.พ.) พร้อมทั้งยืนยันในจุดยืนเดิม คือ การแก้ไข มาตรา 291 เพื่อให้มีการแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร. ) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้ง 77 จังหวัด และ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อีก 22 คน รวมทั้งจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน
เมื่อการหารือเพื่อขอมติจากวิปรัฐบาลแล้วเสร็จในวันนี้ ก็จะส่งร่างเข้าสู่สภาภายในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ โดยยืนยันว่า การดำเนินงานทุกอย่างของพรรคเพื่อไทย เป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่ได้เคยหาเสียงไว้
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาเชื่อมโยงเข้ากับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของกล่มนิติราษฎร์นั้น เป็นแค่เกมการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการดิสเครดิตรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และขอเรียกร้องไปยังพรรคประชาธิปัตย์ ที่มุ่งโจมตีรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการให้ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรี และการบริหารงบประมาณ
** ชี้ปมแก้ม.112 ทำสุขคนไทยลด
วานนี้ (5 ก.พ.) น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์ และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แนวโน้มความสุขมวลรวม ( GDH ) ของคนไทย ภายในประเทศ ประจำเดือน ม.ค.55 กรณีศึกษา ตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัด จำนวน 3,231 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23 ม.ค.-4 ก.พ.55
ผลการสำรวจพบว่า จากการประเมินความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศ (GDH) เมื่อคะแนนความสุขมวลรวมเต็ม 10 คะแนน ความสุขของประชาชนลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค.54 มาอยู่ที่ 7.55 คะแนน ปลายเดือนอยู่ที่ 6.80 คะแนน โดยล่าสุดความสุขมวลรวมประจำเดือน ม.ค.ลดลงมาอยู่ที่ 6.66 คะแนน
ทั้งนี้ ปัจจัยด้านลบที่ฉุดทำให้ความสุขลดลงมีอยู่ 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การเมืองโดยรวมของประเทศ เช่น ความขัดแย้งเรื่องการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับคณะรัฐมนตรี และความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองในหมู่ประชาชน เป็นต้น ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศ ด้านสถานการณ์การเมืองอยู่ที่เพียง 4.27 คะแนน
ปัจจัยลบประการที่ 2 ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เช่น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม รายได้ลดลง ค่าครองชีพสูง หนี้สินเพิ่ม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศด้านเศรษฐกิจระดับครัวเรือนอยู่ที่ 4.39 คะแนน เท่านั้น
ส่วนปัจจัยบวก ที่สำคัญคือ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนทั้งประเทศอยู่ที่ 9.29 คะแนน และตามด้วยบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่ 8.14 สุขภาพใจอยู่ที่ 7.93 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.90 และรองๆ ลงไปคือ วัฒนธรรมประเพณีไทยในปัจจุบัน การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดี หน้าที่การงาน อาชีพ บรรยากาศของคนในชุมชน เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สภาพแวดล้อมที่พักอาศัย เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เป็นต้น และระบบการศึกษาของประเทศ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม มีความน่าเป็นห่วงในเรื่องความแตกต่าง ระหว่างข่าวสารของสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ กับสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน ของประชาชน เพราะอาจเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่จริงหรืออาจเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบกระจุกตัว อยู่กับคนเฉพาะกลุ่มที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาว่า ค่าใช้จ่ายสูงแต่รายได้เท่าเดิม รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงจำเป็นต้องทำให้ความสุขของประชาชนต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชนไม่แตกต่างกันมากนัก
"ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60 ยังให้โอกาส น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงานต่อไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ไม่นานและโดยธรรมชาติของคนไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ให้โอกาสคน ถ้าไม่ได้เป็นปัญหามากจนเกินไปสำหรับประเทศชาติและคนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากเห็นความแตกแยกวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคม" น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว
**อัด"ตู่"ปั้นเรื่องล้มรับ.ปลุกกระแสแดง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า มีขบวนการจ้องล้มรัฐบาลและ ส่งคนคุกคามกลุ่มนิติราษฎร์ ว่า ตนอยากให้หยุดสร้างความหวาดระแวง และความขัดแย้งในสังคม หากมีอะไรผิดปกติ เช่น มีการข่มขู่ คุกคาม ก็ควรร้องขอเจ้าหน้าที่ และรัฐบาลเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งก็อยู่พรรคเดียวกับนายจตุพร
ดังนั้น มีอะไรก็ควรบอกให้รัฐบาลดูแล ไม่ใช่มาสร้างประเด็นให้เกิดความหวาดระแวง ซึ่งตนเห็นว่า เป็นความพยายามที่จะปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ความจริงควรช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และรัฐบาลก็อยู่ในฐานะที่จะเดินหน้าประเทศได้อยู่แล้ว
" เป็นความพยายามที่จะรักษามวลชนไว้เป็นฐาน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า มีความพยายาที่จะผลักดันในบางเรื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดความยัดแย้งในสังคม จึงพยายามเลี้ยงกระแสให้เกิดมวลชนเข้ามา การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้รัฐบาลบริหารงานยากขึ้น แต่ยังทำให้รัฐบาลไม่แก้ปัญหาให้ประชาชนด้วย ประชาชนก็จะเดือดร้อน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นผลดีกับรัฐบาล แต่นายจตุพร อาจจะคิดถึงเรื่องอื่นมากกว่า ผมคิดว่าคนที่ทำงาน โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ควรจะตักเตือนคนในพรรคว่า อย่าทำให้บรรยากาศบ้านเมืองเสียอยู่ตลอดเวลา หยุดสร้างความขัดแย้ง หันมาช่วยกันให้รัฐบาลเดินหน้า ทำงานแก้ปัญหาของประเทศ " นายอภิสิทธิ์ กล่าว
** "สยามประชาภิวัฒน์"จัดเสวนาวันนี้
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จัดเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ "วิกฤติประเทศไทย ใครคือตัวการ?" วันนี้ ( 6 ก.พ.) เวลา 12.30-16.00 น. ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจะเปิดการเสวนา และรายงานผลการดำเนินกิจกรรมของ “กลุ่มสยามประชาภิ วัฒน์” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ อาจารย์ศักดิ์ณรงค์ มงคล นักวิชาการอิสระ ในเวลา 13.30น.
จากนั้น เวลา13.45 น. ปาฐกถาเรื่อง “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
14.00 น. เสวนาทางวิชาการ “วิกฤติประเทศไทย ใครคือตัวการ” โดยนักวิชาการกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” อาทิ ศ. ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รศ. ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา อาจารย์ คมสัน โพธิ์คง สาขาวิชานิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
จากนั้น เวลา 16.30 น. แจ้งกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางวิชาการ “ก้าวไปข้างหน้า” ของกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” และปิดการเสวนา ทั้งนี้ จะมีการถ่ายทอดสด ทาง เอเอสทีวี ตั้งแต่เวลา 13.30-16.00 น.