xs
xsm
sm
md
lg

“กงเต็กหลวง” น้อมฯถวายอาลัยครั้งสุดท้ายแด่ “ขัตติยะราชนารีแห่งแผ่นดิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.จ.นวพรรษ์ ทรงอัญเชิญเครื่องทองน้อย
หลังจากวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ที่คณะสงฆ์จีนนิกายได้ร่วมกันประกอบพิธีกงเต็กหลวง ถวายอาลัยแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ยังคงเป็นภาพแห่งความภักดีที่ชาวไทยเชื้อสายจีนที่มาอาศัยอยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ได้ร่วมกันถวายความจงรักภักดีเป็นครั้งสุดท้าย แด่องค์ขัตติยะราชนารี

ครานี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของไทย ที่ต้องจารึกเพิ่มไว้ในแผ่นดินเพราะชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก ได้ร่วมกันจัดพิธี “กงเต็กหลวง” ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อแสดงความจงรักภักดีครั้งสุดท้ายแด่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ขัตติยะราชนารีแห่งจักรีวงศ์

**“กงเต็กหลวง” ยุครัตนโกสินทร์

ชาวจีนที่นับถือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ยึดประเพณีการทำกงเต็กเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้น และเมื่อชาวจีนอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่นๆ ก็สืบทอดประเพณีนี้ไปด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่า มีการประกอบกงเต็กมาตั้งแต่สมัยใด แต่จากบันทึกในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับที่ 5 ประจำเดือนมีนาคม 2551 ระบุว่า กงเต็กหลวงมีขึ้นครั้งแรกในช่วงต่อแผ่นดินรัชกาลที่ 3-4 เมื่อปีชวด พ.ศ.2395 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีกงเต็กถวายเป็นพระราชกุศลแด่ ดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในครั้งนั้น ทรงโปรดให้จัดตามธรรมเนียมจีน มีหลวงจีนญวนเป็นผู้ประกอบพิธีเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน

จากนั้นเป็นต้นมา พิธีกงเต็ก จึงได้เข้ามาเป็นพิธีหลวงในงานพระศพ เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระบรมวงศานุวงศ์สืบต่อมา อาทิ พิธีกงเต็กหลวงในงานพระบรมศพของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4, งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2408 ซึ่งจัดถวายโดย นายอากรชาวจีนที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

ตราบจนถึงรัชกาลที่ 9 ก็มีการประกอบพิธีกงเต็กหลวงถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ส่วนในพิธีกงเต็กหลวงในงานพระบรมพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ผ่านมา พระสงฆ์จีนและพระสงฆ์ญวน ได้ร่วมกันจัดพิธีกงเต็กถวาย ครั้นเมื่อคราวงานพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทางคณะสงฆ์จีนนิกายก็ได้พร้อมใจกันจัดพิธีกงเต็กหลวงถวายอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

**“กงเต็กหลวงครั้งประวัติศาสตร์”

สำหรับงานพิธีกงเต็กหลวงถวายสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ในครั้งนี้ คณะสงฆ์จีนนิกายได้จัดงานถวายขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา โดยพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้เริ่มตั้งแต่ 13.30 น. พล.ท.ม.จ.เฉลิมศึก ยุคล องค์ประธานในพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ณ ปะรำพิธี พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม ประธานกรรมการสงฆ์จีนนิกาย นำพระสงฆ์ 86 รูป ร่วมกันประกอบพิธีเปิดมณฑลสวดพระพุทธมนต์ อัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และทวยเทพยดา ตลอดจนพระบูรพาจารย์ เสด็จมาประทับรับการถวายสักการะบูชา โดยประธานในพิธีได้อ่านคำประกาศการพิธีบำเพ็ญกุศล (พิธีกงเต็ก) ซึ่งบรรจุคำประกาศที่มีพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ลงในเทวทูตทรงม้า (ทำจากกระดาษ) เปรียบเสมือนผู้นำคำประกาศ ตลอดจนนำคำอธิษฐานไปประกาศแด่เหล่าเทพยดาที่สถิตในทิพยวิมานบนสรวงสวรรค์ จากนั้นจึงนำเทวทูตไปเผา

ต่อมา ม.จ.นวพรรษ์ ยุคล และ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ ได้อัญเชิญเครื่องทองน้อย และถ่งพวง ตามขึ้นไปบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดด้านตะวันตกของมุขเหนือ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์หน้าพระโกศ ขอพระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ เพื่ออัญเชิญดวงพระวิญญาณ สถิตในฉลองพระองค์สีชมพูที่เคยทรงใช้แล้วสวมไว้กับ “รูปธงกระดาษ” ซึ่งมีคำเรียกในภาษาจีนว่า “ถ่งพวง” และประธานในพิธีถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ผู้ประกอบพิธี โดยภัตตาหารที่ถวายนั้นเป็นภัตตาหารเจ เพื่อเพิ่มพูนพระกุศลแห่งดวงพระวิญญาณในสัมปรายภพ

พระสงฆ์จึงอัญเชิญดวงพระวิญญาณจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มายังปะรำพิธี โดยมี ม.จ.นวพรรษ์ เป็นผู้อัญเชิญเครื่องทองน้อย และ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ เป็นผู้อัญเชิญถ่งพวง ที่แขวนฉลองพระองค์สีชมพูของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ และพระสงฆ์จีนนิกายจึงเริ่มประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์ อาศัยพระบารมีแห่งพระรัตนตรัย และองค์พระโพธิสัตว์เจ้าเป็นพาหนะนำทางให้แก่ดวงพระวิญญาณ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ในมณฑลพิธี เพื่อเข้าสู่ “หอสรง” ซึ่งมีความหมายถึงดวงพระวิญญาณทรงรับน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความผ่องแผ้ว เบิกบาน สิ้นกังวลพระหฤทัยในพระราชกรณียกิจ พร้อมที่จะสดับพระธรรม

จากนั้นจึงถึงพิธีสำคัญคือ การข้ามสะพานโอฆสงสาร เพราะสะพานแห่งนี้ตามความเชื่อ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีนัยถึงการข้ามสะพานเป็นการข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสาร คือห้วงแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่ฝั่งคือดินแดนพุทธเกษตรอันเป็นสุข

ขณะเดียวกัน ยังมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองทำเป็นรูปเงินทองบรรจุในหีบทอง จากนั้นพระสงฆ์จีนนิกายได้นำพระประยูรญาติเดินเวียนรอบสะพานรอบสุดท้าย เสร็จแล้วจึงอัญเชิญดวงพระวิญญาณสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และทำพิธีต่อไป

**“จั้วจัก” เครื่องกระดาษในงานกงเต็ก

ในการประกอบพิธีกงเต็กแต่ละครั้งนั้น ส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นคือ “จั้วจัก” หรือเครื่องกระดาษที่ใช้ในการจำลองข้าวของเครื่องใช้ของผู้เสียชีวิต เพื่อเผาไปให้ผู้เสียชีวิตได้ใช้ในภพใหม่

สำหรับเครื่องกระดาษที่ใช้ในการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล (พิธีกงเต็ก) ของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ถือว่าจัดทำขึ้นอย่างละเอียดและพิถีพิถันมากที่สุด เศรษฐพงศ์ จงสงวน นักวิชาการพุทธศาสนามหายาน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในพิธีกงเต็กของคณะสงฆ์จีนนิกาย เล่าถึงความพิเศษในการทำเครื่องกระดาษรอบนี้ว่า ได้จำลองตำหนักหลุยส์เครสเชนต์ เมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นตำหนักที่สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ เสด็จไปประทับรักษาพระอนามัยและทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ

สำหรับขั้นตอนในการทำผลงานชิ้นประวัติศาสตร์นี้นั้น ตั้งแต่วินาทีแรก ที่ทางทีมงานได้รับโจทย์จากผู้ว่าจ้างให้ทำงานสำคัญนี้ สิ่งแรกที่ทำคือ พยายามเก็บรายละเอียดของภาพถ่ายตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะนำมาใช้ในการทำเครื่องกระดาษให้มีความสมจริงที่สุด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐพงษ์บอกว่า ถึงแม้จะเห็นตำหนักผ่านภาพถ่ายแต่ทุกคนก็ตั้งใจทำงานนี้อย่างสุดฝีมือ เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ โดยตำหนักหลุยส์เครสเซนต์มีความสูง 3 ชั้น ถูกฉาบทาด้วยสีขาวบริสุทธิ์ หลังคาสีเทา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความร่มเย็น

การทำเครื่องกระดาษครั้งนี้ ได้เติมรายละเอียดให้เหมือนจริงถึงขนาดรถยนต์พระที่นั่ง ยี่ห้อใด รุ่นไหน สีอะไร ทุกคนก็ทำอย่างไม่ขาดตกบกพร่องรอบๆ โดยเฉพาะด้านหลังของตำหนัก ยังทำสวนจำลอง โดยมีสุนัขทรงเลี้ยงและไก่แจ้ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯโปรดมาก โดยเฉพาะ สุนัขพันธุ์ใหญ่อย่าง บ็อกเซอร์ ที่พระองค์ทรงโปรดมากสมัยประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ก็ได้จำลองไว้ในสวนหลังตำหนัก

สำหรับไก่แจ้นั้น ถึงแม้ว่าที่ประเทศอังกฤษ สภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการเลี้ยงไก่แจ้ก็ตาม แต่แทบทุกมุมของตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ ก็ยังประดับไปด้วยตุ๊กตาไก่แจ้เนื่องด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ทรงโปรดเลี้ยงไก่แจ้นั่นเอง

นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าตำหนักยังได้ทำชายทะเลจำลอง พร้อมกับเรือยนต์พระที่นั่งอีก1 ลำ โดยเศรษฐพงษ์ให้เหตุผลว่า เมืองไบรตันเป็นเมืองพักผ่อนชายทะเลเพราะฉะนั้น ในยามที่เหน็ดเหนื่อยพระวรกาย พระองค์ก็จะทรงประทับเรือยนต์ไปกลางทะเล เพื่อผ่อนคลายพระอิริยาบถอย่างทรงพระเกษมสำราญ

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์  อัญเชิญถ่งพวง
คณะสงฆ์ประกอบพิธี
ม.จ.นวพันธ์ ข้ามสะพานโอฆสงสาร
ท่านผูหญิงบุตรี วีระไวทยะ และข้าราชบริพาร วังรื่นฤดี ได้โปรยทานลงในขันสาครด้านหัวและท้ายสะพาน
ตำหนัก หลุยส์เครสเชนต์
หุ่นกระดาษข้าราชบริพารชาย-หญิง
หุ่นพระมหาโพธิสัตว์จำลอง
สุนัขทรงเลี้ยง
ดอกไม้จำลอง
บริเวณด้านหน้าตำหนัก
.อัญเชิญดวงพระวิญญาณสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯลงมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อประกอบพิธีกงเต็กหลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น