xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อข้าราชการกลายเป็นข้ารับใช้นักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

วันนี้เป็นวันที่บรรยากาศความเป็นชาติไทยเกิดความมืดมน เพราะข้าราชการนายหนึ่งหรือหลายนาย ได้กลืนน้ำลายตัวเองและละเว้นหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ และทำตัวเป็นผู้พิพากษา ข้อกล่าวหาที่ครั้งหนึ่งตัวเองเคยบอกว่า “เข้าข่ายผิดกฎหมาย” และจะสอบสวนเต็มความสามารถเอาคนผิดมาลงโทษตามหน้าที่

เรื่องราวที่จะถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษรนี้ เป็นความเศร้าใจอย่างสุดๆ เมื่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกมาแถลงการณ์ว่า ผลการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีสรุปความเห็นว่าสั่งไม่ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.คนเสื้อแดง สาวกรับใช้ทักษิณกับพวกรวม 19 คน ในข้อหาการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายเอาผิดพวกอนาธิปไตย จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับคนที่กล่าวคำให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ยุยงส่งเสริมให้คนเข้าใจในเรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหก และกระทำการลบหลู่ให้เสื่อมพระเกียรติยศ

นายธาริตบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และเจตนารมณ์ของคนพูด คือนายจตุพร ว่า "คดีนี้พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันสอบสวนกับพนักงานอัยการของคณะอัยการสูงสุดมาตลอด จนในขั้นสุดท้ายที่ประชุมร่วมกันมีความเห็นว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และทางกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายจตุพร กับพวก โดยสรุปว่าคำกล่าวของนายจตุพร ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1122 และได้ส่งคดีนี้ไปให้สำนักงานอัยการคดีพิเศษ ให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการต่อไปแล้วและอยู่ในดุลพินิจว่าจะส่งฟ้องต่อไปหรือไม่”

นายจตุพรได้ใช้เหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นประเด็นในการปราศรัยต่อหน้าคนเสื้อแดงในวันที่ 10 เมษายน 2554 อันเป็นวาระครบรอบการชุมนุมเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่พวกคนเสื้อแดงรับจ้างสังหาร พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รอง เสธ.พล.ร.2 รอ. แต่นายจตุพรกลับใช้โอกาสนี้ปราศรัยในเชิงกลับกันว่าทหารเป็นฝ่ายสังหารคนเสื้อแดงและกล่าวจาบจ้วงสถาบัน

เหตุการณ์ในช่วงหัวค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น ประชาชนคนไทยก็ได้เห็นภาพไอ้โม่งคล้องปืนอาก้าอย่างโจ่งแจ้งเข้าไปในบริเวณที่มีการชุมนุม และขณะนั้นทหารอยู่ในพื้นที่อับเพราะถนนแคบ และถูกห้อมล้อมด้วยคนเสื้อแดงที่ถูกปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์เกลียดชังทหาร ซึ่งช่วงบ่ายมีการปะทะกันกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ตั้งใจไปยั่วยุทหารถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 โดยมีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วเพื่อขยายผลให้ทหารซึ่งติดตามกลุ่มคนเสื้อแดงหัวรุนแรง ด้วยหวังจะสลายมวลชนเสื้อแดงที่มีอาการมึนเมาและดุร้ายตามคำร้องขอของประชาชนย่านนั้นให้เข้าไปติดกับ

เหตุการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นเป็นไปตามแผนของคนเสื้อแดง ที่จะใช้ความมืดของค่ำคืนในวันที่ 10 เมษายน 2553 ผลักดันให้ทหารเข้าสู่มุมอับของสี่แยกคอกวัวที่มือขว้างระเบิด มือยิงระเบิด และหน่วยงานปิดล้อมทหารตามแผนการที่เตรียมไว้อย่างสมบูรณ์แบบตามยุทธวิธีก่อการจลาจลเมือง

หน่วยทหารไม่มีพื้นที่ดำเนินกลยุทธ์ จึงตกเป็นเป้านิ่ง และไม่สามารถป้องกันตัวเองได้นอกจากหลบหาที่กำบังข้างรถบ้างและสิ่งปลูกสร้างบ้าง แต่อนิจจาส่วนการบังคับบัญชาของกองพลที่ 2 รักษาพระองค์ ตกอยู่ในวงล้อม จึงถูกระเบิดและพลแม่นปืนยิงเอาทหารเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บเป็นจำนวนนับสิบ โดยเฉพาะ พ.อ.ร่มเกล้า ถูกระเบิดไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ผู้บัญชาการกองพลที่ 2 รักษาพระองค์ ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด ส่งผลให้ขาหัก 3 ท่อน อาการขั้นบาดเจ็บสาหัส พ.อ.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ผบ.ร.12 พัน 2 พล.2 รอ. ได้รับบาดเจ็บถูกสะเก็ดระเบิดที่สมองซีกขวา อาการสาหัสมาก และ พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผบ.ม.พัน.3 รอ. โดนสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บขาเกือบขาดทั้งสองข้าง อาการสาหัส

และในวาระครบรอบวันสังหารทหารของชาติ นายจตุพร บังอาจกล่าวคำเช่นนี้ "ผมเตือนคุณแล้วไม่ใช่เหรอ คุณอภิสิทธิ์ ผมบอกว่าคุณจะเอาทหารหน่วยไหนมาฆ่าผม พวกผมยังไม่เจ็บปวด ยกเว้น 2 หน่วย คือ ทหารรักษาพระองค์ ทหารเสือราชินี เพราะพวกเรามีความเจ็บปวด คุณจะให้เราเข้าใจว่าเป็นกระสุนพระราชทานใช่ไหม..... ผมไม่ได้บอกว่าไม่ให้คุณฆ่า แต่ทหารเสือราชินีกับทหารรักษาพระองค์ คุณอย่าเอามาฆ่า เพราะฆ่าแล้วมันเจ็บปวด ประชาชนมันเจ็บใจ”

นักปลุกระดมรับจ้างเป็นอาชีพอย่างนายจตุพร มีความชำนาญสูงในการสร้างคำพูดที่มีลักษณะกินใจ ปลุกเร้าให้คนฟังเกิดความคิดจินตนาการให้เป็นเช่นนั้น โดยที่ซ่อนเร้นวัตถุประสงค์ที่ต้องการไว้อย่างแนบเนียบ โดยใช้คำพูดเป็นเครื่องชี้นำให้คนฟังเกิดจินตนาการว่าเป็นเรื่องจริง เจตนารมณ์ที่แท้จริงมันอยู่ในใจของคนพูดอย่างนาย จตุพรเองเพราะสงครามโฆษณาชวนเชื่อนั้นเขากระทำกันเช่นนั้น ด้วยการสร้างภาพให้บังเกิดภาพในใจคนฟังว่าเป็นจริง ให้คนฟังแปลคำพูดเหล่านั้นให้เป็นเรื่องราวเป็นจริงได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงคำกล่าวโฆษณาชวนเชื่อโกหกหลอกลวงเท่านั้น

เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชนเมื่อประชาชนมีความขัดสน หรือพระราชทานสิ่งที่ประชาชนขาดแคลน หรือเมื่อประชาชนได้รับเคราะห์ภัยจากภัยธรรมชาติ เป็นต้น

หัวใจของการชี้แจงเรื่อง “กระสุนพระราชทาน” จึงต้องพิจารณาว่ากองทัพบกขาดแคลนอาวุธกระสุนหรือไม่ กองทัพและทหารไม่ได้ขาดแคลนอาวุธกระสุน จึงเป็นตรรกะสามัญว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่พระราชทานกระสุนให้ทหารอย่างแน่นอนเพราะไม่เป็นการขาดแคลนเชิงสังคม แต่นายจตุพร พยายามชี้นำด้วยสำนวนว่า “จะให้เราเข้าใจว่าเป็นกระสุนพระราชทานใช่ไหม” ด้วยสำนวนใช่ไหมนั้น เป็นเทคนิคเชิงโวหารที่ใช้ในการถามนำ และให้คนฟังหาคำตอบเอง

หน่วยทหารทางยุทธวิธีที่อยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น ส่วนใหญ่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกองทัพภาคที่ 1 อันมีกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งมีหน่วยที่ตั้งใน กทม.เป็นส่วนใหญ่ สำหรับในพื้นที่ปริมณฑลของ กทม.ก็เป็นที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ทั้งสองหน่วยงานจึงเป็นหน่วยทหารที่เหมาะสมกับการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพราะไม่สิ้นเปลืองงบประมาณการขนส่งและเรื่องที่พัก การเดินทางเข้า-ออกจากที่ตั้ง และพื้นที่ปฏิบัติการนั้นสามารถกระทำได้ในเวลาเพียงไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง รัฐบาลและกองทัพบกจึงต้องใช้หน่วยทหารของกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งรับผิดชอบในเขตพื้นที่ กทม.และจังหวัดภาคกลาง ตามหลักยุทธวิธีอยู่แล้ว

ดังนั้น การที่นายจตุพรทำไขสือในเรื่องราวเช่นนี้ และพยายามเน้นว่าเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์นั้น จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการสร้างเรื่องชี้นำว่า “รัฐบาลและกองทัพบกตั้งใจที่จะเน้นการใช้ทหารรักษาพระองค์ ทั้งๆ ที่การดำเนินการทางยุทธวิธีนั้นอยู่ในแผนยุทธการของกองทัพบกและกองทัพภาคที่ 1 ตามเขตพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยทหารอยู่แล้ว”

แต่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองละเว้นไม่ปฏิบัติตามพฤติกรรมอันเป็นเจตนารมณ์ที่ไม่ยากในการวิเคราะห์ แต่กลับแถลงในทำนองที่ว่า “ไม่เข้าข่ายกระทำการจาบจ้วง” ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของนายจตุพร ต้องการชี้นำว่า “ทหารรักษาพระองค์” ต่อสู้กับ “มวลชนคนเสื้อแดง”

การวิเคราะห์แบบเลี่ยงบาลีของนายธาริต จึงเปรียบเสมือนบอกกับประชาชนว่า “นายจตุพรไม่ผิด” เสมือนทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาเสียเอง

ข้อที่น่าเป็นห่วงก็คือ นายธาริตได้สร้างบรรทัดฐานการพิจารณาการกระทำอันหนึ่งขึ้นแล้วในสังคมไทย ทั้งๆ ที่นายธาริตสามารถส่งฟ้องได้ และปล่อยให้ขบวนการยุติธรรม และให้ผู้พิพากษาที่มีอำนาจสมบูรณ์แบบ เป็นคนตัดสินจะถูกต้องมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น