xs
xsm
sm
md
lg

“เสื้อแดง”ถูกหลอกซ้ำ ! เยียวยา!ไม่ถึง 3 ล้านจาก 7.5ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15 พ.ค. ) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) จัดการเสวนา การพิจารณาร่างแนวทางและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง มีนายคณิต ณ นคร ประธานคอป. เป็นประธานการเสวนา

นายพิพัฒน์ คงสกนธ์ หนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการกำหนดและหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อธิบายถึงผลการศึกษา โดยระบุว่า อยู่บนหลักการการเยียวยาทั้งร่างกาย จิตใจ เน้นหลักสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ทำให้เบื้องต้นนี้การเยียวยาด้วยจำนวนเงินหรือเชิงสัญลักษณ์นี้ยังไม่ต้องพิสูจน์ว่าความผิดเกิดจากใคร อย่างไรก็ตามการค้นหาความจริงและสอบสวนดำเนินการกับผู้มีความผิดอาญาจะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งโดยแนวทางนี้ศึกษาทบทวนวรรณกรรมจากประเทศต่างๆ ทั้งในประเทศแถบยุโรป ได้แก่ประเทศเยอรมัน อิตาลี หรือแถบอเมริกาใต้ อาทิ อาร์เจนติน่า ชิลี กระทั่งในแอฟริกาใต้ ที่เคยประสบปัญหาความรุนแรงเช่นเดียวกันนี้ เป็นต้น

ประเด็นแรกการเยียวยาต้องมีองค์กรเฉพาะ มีคณะกรรมการเฉพาะ ทั้งที่เป็นลักษณะลักษณะองค์กรส่วนกลาง และศูนย์ช่วยเหลือประจำเขต กองทุนช่วยเหลือเยียวยาในชุมชนสำหรับการเบิกจ่ายเงิน สองคือประเภทผู้ได้รับการเยียวยา ที่แบ่งออกเป็น เจ้าตัวโดยตรง หรือทางอ้อมคือทายาท บุพการี และประเด็นสุดท้ายคือการพิจารณาให้ทุน ตั้งแต่การเยียวยาด้านการเจ็บป่วย ค่าเสียโอกาส งานศพ และทุนการศึกษาสำหรับบุตร

ทั้งนี้ ข้อเสนอของอนุกรรมการฯประกอบไปด้วย 1.สำหรับผู้เสียชีวิต คณะกรรมการฯวางหลักเกณฑ์ไว้ที่รายละ3,240,000บาท ซึ่งมีฐานมาจากบทเรียนจากต่างประเทศ ซึ่งยึดหลักจากรายได้เป็นเกณฑ์ โดยไม่เกี่ยวกับดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่เกิดจากการคำนวณรายได้ขั้นต่ำ อาทิ ในประเทศไทยซึ่งรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 300บาทต่อวัน คูณด้วยจำนวนวันต่อเดือนคือ30 คูณด้วย12ซึ่งเป็นจำนวนเดือนต่อปี และสมมติตัวเลขอายุงานที่เหลือของผู้เสียชีวิตคือ30 ทั้งนี้จำนวนเงินต้องไม่มากกว่าเพดานข้าราชการพลเรือนด้วย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่เกินอยู่แล้ว

2.การจัดการค่าทำศพ ซึ่งได้หลักคิดมาจากประเทศอเมริกา และยึดตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งระบุอยู่ที่รายละ40,000บาท 3.เงินค่ารักษาพยาบาลได้แก่ กรณีผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยได้รับบาดเจ็บให้จ่ายตามความเป็นจริง 4.เงินค่าขาดรายได้ระหว่างบาดเจ็บ ได้แก่กรณีผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่ร่างกาย โดยได้รับบาดเจ็บที่มีผลทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถประกอบอาชีพได้ โดยกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวนตามจริง แต่ไม่เกินค่าแรงขั้นต่ำโดยกำหนดให้จ่ายเป็นรายเดือน

5.เงินฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้แก่ ผู้เสียหายที่ได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ โดยกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาตามความเป็นจริง 6.เงินค่าทดแทนทุพพลภาพ ได้แก่ กรณีผู้เสียหายที่ได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยสูญเสียอวัยวะที่สำคัญจนทำให้ประกอบกรณียกิจเป็นปกติไมได้ชั่วคราวหรือตลอดไป โดยกำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวนตามจริง แต่ไม่เกินค่าแรงขั้นต่ำโดยกำหนดให้จ่ายเป็นรายเดือนจนกว่าจะหายอาการทุพพลภาพ

7.เงินทุนสำหรับบุตร ทายาท ซึ่งแบ่งเป็นค่าเล่าเรียน ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา 6,000บาท ต่อคนต่อปี การศึกษานอกระบบ 5,000บาท ต่อคนต่อปี ปวช.-มัธยมศึกษาฯ จำนวน10,00บาทต่อคนต่อปี ปวส.-อุดมศึกษาที่ 20,000บาท ต่อคนต่อปี นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯยังเสนอการจ่ายเงินชดเชยเสรีภาพ เงินชดเชยทรัพย์สิน ตามกรณีกันด้วย ทั้งนี้ยืนยันไมได้เป็นการซ้ำซ้อนกัน เพราะเป็นการจ่ายเงินตามวัตถุประสงค์

**ปัดหลักเกณฑ์รัฐบาลจ่าย7.65ล้าน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ซักถามประเด็นจำนวนเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความรุนแรงรายละ 7.5 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกับที่ทางคอป.ได้เสนอนั้น นพ.รณชัย คงสกนธ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการเยียวยาฯ กล่าวปฏิเสธว่า เป็นตัวเลขที่ไม่เกี่ยวข้องกับคอป.และคอป.ไม่มีหน้าที่จะไปกำหนดหรือบังคับรัฐบาลได้ว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้างหากจะปรองดอง แต่คอป.ได้เสนอหลัก ผลการศึกษาที่ได้ไปค้นคว้ามา ซึ่งตัวเลข3.24ล้านบาทนี้ ก็ได้คำนวณตามพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำ และสรุปบทเรียนจากประเทศอื่นๆที่เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ยืนยันว่าการกำหนดหลักเกณฑ์จำนวนการจ่ายเงินก่อนหน้านี้ของรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดกับคอป.
กำลังโหลดความคิดเห็น