xs
xsm
sm
md
lg

รื้อฟื้นคดีอาญาใหม่ ทำได้หรือไม่ ?

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชน กล่าวถึงกระบวนการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ อาจก่อให้เกิดประเด็นสงสัยว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาไปแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ แล้วยังจะมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ได้อีกหรือ และมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรในการขอให้ศาลรื้อฟื้นคดี

นอกจากนี้ หากมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่จะมีผลกระทบต่อคำพิพากษาหรือพยานหลักฐานในคดีเดิมหรือไม่ เพราะในการทำคำพิพากษาแต่ละเรื่อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคแรก กำหนดให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ที่ได้มาจากการนำสืบจากฝ่ายโจทก์และจำเลย จนกระทั่งแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น จึงจะมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย

อย่างไรก็ดี เพื่อความเป็นธรรม จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ขึ้น เพื่อให้บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด มีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลัง หากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด อีกทั้งยังกำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิด

โดยมีหลักเกณฑ์การยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ไว้ กำหนดให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้เท่านั้น ที่สามารถยื่นคำร้องได้

1. บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
2. ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ
3. ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
4. ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง ถ้าผู้ต้องรับโทษทางอาญายังมีชีวิตอยู่ บุคคลดังกล่าวข้างต้นย่อมไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3863/2552) หรือ
5. พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้น ต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาคดีนั้นหรือศาลอื่นที่มีเขตอำนาจแทนศาลนั้น ในคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษในคดีอาญา และปรากฏว่ามีกรณีใดกรณีหนึ่งใน 3 กรณีดังต่อไปนี้

1. พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
2. พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ

3. มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด หากพยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ก่อนแล้ว และบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาก็ทราบถึงความมีอยู่ของพยานหลักฐานนั้น ย่อมไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแห่งคดีที่จะอ้างมาเป็นเหตุขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ (ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6555/2548)
คดีที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้นั้นจึงต้องเป็นคดีที่มีการนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดนั้นแล้ว

ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 6582/2547 แม้ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ต้องรับโทษอาญา จากการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางเพื่อให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนพยานหลักฐานว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจริงหรือไม่เสียก่อน กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะมายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะแสดงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดได้


คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงข้างต้น หรือภายใน 10 ปีนับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด และหากมีพฤติการณ์พิเศษศาลจะรับคำร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้นไว้พิจารณาก็ได้ แต่ก็มีข้อจำกัดในการยื่นโดยกำหนดให้สามารถยื่นได้เพียงครั้งเดียว

เมื่อได้รับคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แล้ว ศาลที่ได้รับคำร้องต้องทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ และให้ส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า เพื่อที่ศาลอุทธรณ์จะได้พิจารณาคำร้อง หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ก็ให้สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป

แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น และคำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด แต่ถ้าเป็นกรณีที่พนักงานอัยการซึ่งมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิมเป็นผู้ร้อง ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้อง ก็ให้ศาลสั่งรับคำร้องและดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไปได้เลย คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด


สำหรับการดำเนินการในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ของศาลชั้นต้น ถ้าคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมนั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป และถ้าเห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมได้กระทำความผิด ก็ให้พิพากษายกคำร้องนั้นเสีย แต่ถ้าเห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมมิได้กระทำความผิด ให้พิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด

แต่หากคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาและทำความเห็นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี และให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณาเพื่อพิพากษายกคำร้อง หรือยกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด

ทั้งนี้ ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ก็ยังคงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นคำพิพากษาที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการพิจารณาคดีใหม่ พนักงานอัยการผู้ร้องหรือโจทก์ในคดีเดิมซึ่งเป็นคู่ความก็ยังคงมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด แต่ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีสิทธิฎีกาคำพิพากษานั้นต่อศาลฎีกา

ในกรณีที่ต่อมา ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ถ้ามีการขอค่าทดแทนเพื่อการที่บุคคลใดต้องรับโทษทางอาญา หรือขอรับสิทธิที่บุคคลนั้นเสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืน ไว้ในคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลที่มีคำพิพากษาก็จะกำหนดค่าทดแทนหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับสิทธิคืนไว้ในคำพิพากษาใหม่ด้วย

นอกจากสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 แล้ว จำเลยในคดีอาญายังสามารถเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 อีกด้วย


หากปรากฏว่า เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ ซึ่งถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และมีหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

โดยมีการกำหนดค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1. ค่าทดแทนการถูกคุมขัง ให้คำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขังในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา

2. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ หากความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี

3. ค่าทดแทนในกรณีที่จำเลยถึงแก่ความตาย และความตายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี จำนวนไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี

5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี


พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 จึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดให้บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลังหากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด ทั้งยังกำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน อันเป็นช่องทางหนึ่งในการเยียวยาบุคคลผู้ต้องรับโทษทางอาญาที่มิได้เป็นผู้กระทำความผิดให้ได้รับการบรรเทาความเสียหายจากรัฐ


และในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นการตัดสิทธิบุคคลดังกล่าวที่จะเรียกร้องค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายจากการตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 อีกส่วนเช่นกัน

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น