ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านบ้านควนไม้ไผ่ อ.จะนะ ร้องทุกข์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรื่องเงียบ กรณีโรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 มีการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง สงขลา 2-คลองแงะ ตัดผ่านที่ดิน สวนยางพารา ชาวบ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอในสงขลา ระยะทางกว่า 34 กิโลเมตร ไฟฟ้าบุกสำรวจที่โดยไม่ถามความเห็นชาวบ้าน เดือดร้อนหนักเสียโอกาสทำกินรายได้หลักเลี้ยงชีพ
วันนี้ (27 เม.ย.) ทีมข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ได้เดินทางลงพื้นที่ บ้านควนไม้ไผ่ ต.นาหว้า อ.จะนะ จ.สงขลา หลังจากมีชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนมาว่า ประชาชนกว่า 30 ราย ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลท์ ของโรงไฟฟ้าจะนะ-คลองแงะ เป็นโครงการที่ 2 ที่กำลังจะดำเนินการก่อสร้าง โดยต้องตัดผ่านที่ดินของชาวบ้านซึ่งเป็นสวนยางพาราเกือบทั้งหมด โดยมีเขตสายส่งไฟฟ้ากว้าง 50 เมตร ระยะทาง 34 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ลงสำรวจพื้นที่และนำสีไปป้ายที่ต้นยางพาราเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดจุดเรียบร้อยแล้ว โดยที่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดให้แก่ประชาชนในพื้นที่และเจ้าของสวนยางทราบแต่อย่างใด ยังคงเพียงข้อมูลที่ยังคลุมเครืออยู่ ชาวบ้านไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน
นายสายัญห์ สมบูรณ์พงษ์ หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า หลังจากทราบเรื่องได้ขอคำชี้แจงจากการไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้รับการชี้แจง จึงได้ทำหนังสือร้องทุกข์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ถึงผลกระทบจากการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ โรงไฟฟ้าจะนะ-คลองแงะ ซึ่งตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจที่ดินของตนและชาวบ้านคนอื่นๆ แล้วประกาศว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในแนวก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 230 กิโลโวลต์จากโรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 ไปยังสถานีไฟฟ้าคลองแงะ อ.สะเดา เขตสายส่งไฟฟ้ากว้าง 50 เมตร ระยะทางยาว 34 กิโลเมตร กินเนื้อที่สวนยางประมาณ 1,062 ไร่ ผ่านท้องที่ ต.นาหว้า ต.แค ต.น้ำขาว อ.จะนะ ต.พะตง อ.หาดใหญ่ ต.เขามีเกียรติ ต.พังลา ต.ปริก อ.สะเดา แนวสายส่งไฟฟ้านี้ผาดผ่านสวนยางพารา ทั้งของตน และของเพื่อนบ้านอีกนับร้อยราย
ในการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า กฟผ.ต้องตัดโค่นต้นยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่ครอบครัว เมื่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเสร็จ กฟผ.มีประกาศห้ามปลูกพืชที่มีความสูงเกิน 4 เมตรใต้แนวสายส่งไฟฟ้า หมายความว่าตนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถปลูกยางพาราใต้แนวสายส่งได้ไฟฟ้าได้อีกต่อไปอย่างถาวร
นายสายัญห์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา ที่ดินแปลงนี้ของครอบครัวได้เคยถูกรอนสิทธิ์สร้างสายส่งไฟฟ้ามาแล้ว 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 เมื่อปี 2516 กฟผ.สร้างสายไฟฟ้า 115 KV หาดใหญ่-ยะลา และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2549 กฟผ. สร้างสายส่งไฟฟ้า 230 KV โรงไฟฟ้าจะนะ-คลองหวะ ซึ่งตอนนี้เหลือที่ดินอยู่ประมาณ 5 ไร่ จนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แทบจะไม่เหลือแล้ว
“ทำไมโครงการสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดสงขลาได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขนาดนี้ กฟผ.ไม่ทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวสวนยาง ผลกระทบกับอาชีพวิถีชุมชนและรายได้ ผลกระทบที่ต้องสูญเสียโอกาสอย่างถาวรในการใช้ที่ดินทำสวนยาง กฟผ.ทำแค่ศึกษาผลกระทบในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพอเป็นพิธีตามกฎหมายเท่านั้น”
ทั้งนี้ กฟผ. ไม่เคยที่จะมีการจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นชี้แจงข้อสงสัยของประชาชนต่อข่อถามว่า
1.ทำไมต้องส่งไฟฟ้า 230 KV ไปที่อำเภอสะเดา ที่อยู่ติดชายแดนมีประชากรและความต้องการไฟฟ้าน้อยกว่าอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอเมืองสงขลา
2.ทำไมไม่ใช้แนวสายส่งไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม คือสายจะนะ-คลองหวะ แล้วส่งต่อไปอำเภอสะเดา แนวสายส่งนี้ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ค่าก่อสร้างถูกกว่า มีผลกระทบกับชาวบ้านน้อยกว่า
และ 3.กฟผ.และหน่วยงานราชการอื่นที่ กฟผ.ลากเข้ามาเกี่ยวข้อง จะหาพืชเกษตรตัวใหม่มาส่งเสริมให้ปลูกเพื่อให้มีรายได้ทดแทนการทำสวนยาง เหมือนกับโครงการพระราชดำริที่ช่วยเหลือชาวเขาในภาคเหนือปลูกพืชผักเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น
นายสายัญห์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนและชาวบ้านไม่ได้มุ่งหวังที่จะคัดค้าน หรือขัดขวางโครงการที่ กฟผ.อ้างว่าทำเพื่อความเจริญของประเทศ แต่สิ่งที่อยากเห็น และอยากให้เกิดคือความร่วมมือ ช่วยหาทางออกร่วมกันได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ไม่ใช่ กฟผ.ได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว ร่วมมือกันหาแนวทางที่จะลดผลกระทบ และมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่ไม่ใช่แค่จ่ายเงินทดแทนฯ เพียงอย่างเดียว แล้วทุกอย่างจบ ลอยแพตนและชาวบ้านตามยถากรรม อยากเห็นข้าราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่าได้ใช่กฎหมายมาบังคับผู้ได้รับผลกระทบเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้ใช่หลักรัฐศาสตร์ควบคู่ จึงอยากขอวิงวอนให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้รับฟังความเดือดร้อนและผลกระทบของราษฎรด้วย
ด้าน นายโกศล แก้วทอง ชาวบ้านบ้านควนไม้ไผ่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้นำแผนผังที่ทางการไฟฟ้าส่งมาให้ออกมากางให้ทางทีมข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการ ดู ว่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจะตัดผ่านพื้นที่ใดบ้าง พร้อมกับกล่าวว่า ผลกระทบมีแน่นอนอยู่แล้ว นี่คือที่ดินที่บรรพบุรุษให้มา มีอยู่แค่นี้ถ้ามีการสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง อีก 10 ปีข้างหน้า วิถีชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตอยู่แบบดั้งเดิมต้องเปลี่ยนไปแน่นอน และถามว่า การไฟฟ้ามีอะไรมาเป็นฐานรองรับชาวบ้านผู้เดือดร้อนบ้างไหม การไฟฟ้าไม่ได้มาคุยกับชาวบ้านในพื้นที่เลย ทั้งเรื่องค่าชดเชยก็ไม่พูดถึง ในสิ่งที่พวกเราอยากเรียกร้องคือ จะช่วยพวกเราได้อย่างไร ช่วยเหลือเยียวยาพวกเราอย่างไร ทั้งนี้ ก็ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สกพ.แล้วเรื่องก็เงียบ และได้ส่งที่ทางจังหวัดสงขลาอีก 1 ฉบับ ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
นายสมเดช สมบูรณ์พงษ์ ผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้การสร้างเสาไฟฟ้าสายส่งผ่านทางนี้ อยากให้ไปสร้างที่อื่น อย่าเข้ามาทางสวนยาง เพราะเรามีสวนอยู่แค่นิดหน่อย 4-5 ไร่ โดนหมด ก็สูญเสียรายได้ตรงนี้ไปเลย ไม่มีรายได้อื่น นอกจากจะต้องไปเป็นลูกจ้าง ซึ่งจากที่ได้รายได้อยู่วันละ 1,000 บาท ก็ต้องทำให้ได้ 2,000 บาท เพราะต้องแบ่งกับเจ้าของสวน ลูกก็ต้องเรียนหนังสือรายได้หดหายหมด
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีแหล่งข่าวแจ้งมาว่า การดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตขณะนี้ ได้ดำเนินการข้ามขั้นตอนตามระเบียบของ สกพ. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการประกาศแนวสายส่งเท่านั้น แต่ทางเจ้าที่ได้มีการลงไปสำรวจและทำสัญลักษณ์ในพื้นที่โดยที่ไม่ได้มีการยินยอมจากเจ้าของพื้นที่ โดยมีการใช้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาอ้าง ในการทำสำรวจทรัพย์สินเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน ตามบทบัญญัติมาตรา 108 แห่งพระบัญญัติดังกล่าว โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้นำท้องถิ่นเองยังให้ความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเลย