xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อาแม้ว อาปู อาตู่ อาเต้น….ลื้ออยู่หนายยยย” เสียงเพรียกจาก “อากง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-8 พฤษภาคม 2555 นายอำพล ตั้งนพกุล หรือที่สมาชิกกลุ่มไม่เอาสถาบันพากันเรียกขานว่า “อากง” ได้เสียชีวิตลงหลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกลางเมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยแพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ชายชราผู้ถูกศาลพิพากษาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ “มะเร็งตับ”

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของอากงไม่ได้จบสิ้นลงไปพร้อมกับการเสียชีวิตของเขา หากแต่ถูกนำมาขยายผลและขยายความทางการเมืองกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการใช้ความตายของอากงเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชนให้ขยายวงกว้างออกไป ซึ่งหัวขบวนในการเคลื่อนไหวคนสำคัญก็คือ รศ.ดร.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิชาอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่ “ป้าอุ๊” หรือนางรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของอากงระบุเอาไว้

หรือแม้กระทั่งพยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่อและบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยการยกขบวนกันไปชุมนุมกันที่หน้าศาล เสมือนหนึ่งต้องการสื่อให้สังคมเห็นว่า ศาลคือจำเลย ศาลคือสถาบันที่ทำให้อากงต้องเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ศาลมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ประการใด เพราะวิญญูชนย่อมรู้ดีว่า ในขณะที่อากงเสียชีวิตนั้น เขาถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า กรมราชทัณฑ์ทรงไว้ซึ่งเอกสิทธิในการอนุญาตให้อากงออกไปรักษาพยาบาลภายนอกได้

ที่สำคัญคือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบันคือ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย และพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบัน ก็มิใช่ใครอื่น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนในคอกเดียวกันกับแกนนำคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวกรณีอากงทั้งสิ้น

นอกจากนี้ก็ต้องย้อนถามกลับไปยังกลุ่มคนที่ออกมาตีโพยตีพายการเสียชีวิตของอากงว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยที่พวกเขาเลือกเข้าไปเป็นรัฐบาลได้พยายามช่วยเหลืออากงอย่างเต็มความสามารถหรือไม่

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้พยายามช่วยเหลืออากงอย่างสุดความสามารถหรือไม่

รวมถึงคำถามสุดท้ายที่สำคัญยิ่งว่า ทำไมอากงจึงต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมืองทั้งขณะที่มีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว

ทั้งนี้ ชื่อของอากงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเมื่อถูกจับกุมในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2), (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเหตุที่จำเลยใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวพิมพ์ข้อความอันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติยศ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และส่งข้อความดังกล่าวไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และในที่สุดก็ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี

หลังจากอากงถูกจับและต้องคำพิพากษาให้จำคุก เขาถูกนำมาใช้เป็นเครื่องในการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอ้างว่า เป็นกฎหมายที่มีโทษรุนแรงเกินไป อ้ายอีที่กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเหล่านี้ไม่สมควรที่จะรับโทษมากมายถึงขนาดนี้ และเป็นที่มาของการเปิดแคมเปญรณรงค์ในกลุ่มไม่เอาสถาบันกันอย่างเอิกเกริก หนึ่งในนั้นก็คือโครงการฝ่ามืออากงที่กลั่นออกมาจากหัวสมองซ้ายจัดของ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์”

ทว่า สิ่งที่ทำให้อากงโด่งดังถึงขีดสุดก็คือการที่ตะละแม่ดอกทอง-คำผกา-นางสาวลักขณา ปันวิชัย นักเขียนสตรีชื่อดังเจ้าของหนังสือ “กระทู้ดอกทอง” ใช้จังหวะดังกล่าวลงทุนเปลือยหน้าอกเพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 พร้อมทั้งเรียกการโป๊เปลือยดังกล่าวเสียโก้เก๋ว่า “Art project”

อย่างไรก็ตาม แม้อากงซึ่งเครือข่ายของผู้ที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ความพยายามของกลุ่มดังกล่าวจะจบสิ้นลงไปด้วย เนื่องเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขายังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องด้วยแคมเปญรณรงค์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ยิ่งเมื่ออากงเสียชีวิตลง ก็ยิ่งทำให้ปฏิกิริยาจากกลุ่มผู้เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทวีความร้อนแรงและดุเดือดขึ้นมาอีกครั้ง โดยพยายามบิดเบือนและกล่าวหากระบวนการยุติธรรมไทยอย่างหนัก ดังจะเห็นได้จากการที่นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายของอากงให้ข้อมูลต่อสาธารณชนว่า จริงๆ นายอำพลขอปล่อยตัวมาแปดครั้งแล้ว แต่ถูกยกคำร้องตลอด ทั้งนี้ หากนายอำพลได้สิทธิการประกันตัวตั้งแต่ต้น จะได้ไปหาหมอทุก 3-6 เดือนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะนายอำพลเพิ่งไปผ่าตัดมะเร็งในช่องปาก และอาจจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ โดยในความเป็นจริงแล้วอากงมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือน แต่เพิ่งเป็นหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับนายสุรชัย แซ่ด่าน ผู้ต้องหาคดี 112 อีกรายหนึ่ง ที่เขียนข้อความบิดเบือนในทำนองเดียวกันว่า "เอาคนแก่คืออากงมาขังจนเสียชีวิต ที่ตายก็เพราะ ม.112 การรักษาก็ไม่ทั่วถึง ปวดท้องมานานนับเดือน ขอประกันตัวออกไปรักษาตัวภายนอก ก็ไม่ให้ประกันตัว จนอาการหนักมากแล้วจึงส่งตัวไปรักษา อยากฝากบอกญาติและครอบครัวของอากงว่า ควรจะเอาศพอากงทำประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นครั้งสุดท้าย โดยตั้งศพต่อไปอย่าเพิ่งเผา จนกว่าจะมีการแก้ไข ม.112 และได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง"

นี่ไม่นับรวมถึงบรรดา “แดงก้าวหน้า” ที่เล่นบทโศกเพื่อเรียกน้ำตาและ ความสงสารกันอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์” ผู้ริเริ่มโครงการฝ่ามืออากงอันโด่งดัง “เจ๊เพ็ญ” นายจักรภพ เพ็ญแข นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แน่นอน จากปฏิกิริยาจากคนเหล่านี้ ทำให้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเสียชีวิตของอากงจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นและรุนแรงขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามอย่างหนักแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้รับเสียงตอบรับจากสังคมเท่าที่ควร

ดังจะเห็นได้จากการกลุ่มแนวร่วมต่อต้านการใช้มาตรา 112 อาทิ ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีเสื้อแดง นายพลท เฉลิมแสน ผู้อำนวยการวิทยุเรือนไทยเรดิโอ คลอง 4 ลำลูกกา ปทุมธานี และ นางสาวสุดา รังกุพันธ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนกลุ่มปฎิญญาหน้าศาล กลุ่มนักโทษการเมืองไทย และแนวร่วมคนเสื้อแดง ที่มีการรวมตัวกันเพื่อจุดเทียนสีดำ ทำพิธีรดน้ำศพ และสวดศพอากงบริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ก่อนที่จะมีการ เคลื่อนศพไปยังกระทรวงยุติธรรม ไปทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา

แน่นอน สิ่งที่ต้องย้อนถามทนายความ นายสุรชัย นายเกษียรและเจ๊เพ็ญ กลับไปก็คือ การอ้างเรื่องที่อากงไม่ได้รับการประกันตัวเป็นสิ่งที่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะโดยหลักการแล้ว แม้อากงจะไม่ได้รับการประกันตัว แต่ระเบียบของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการส่งตัวผู้ถูกคุมขังให้ไปรักษาตัวภายนอกก็เขียนเอาไว้อย่างชัดเจน ทำไมทนายของอากง นายสุรชัย นายเกษียรและเจ๊เพ็ญถึงไม่ตั้งคำถามเอากับเรือนจำ กรมราชทัณฑ์และกระทรวงการยุติธรรม ซึ่งเป็นคนในคอกเดียวกันบ้างว่า ทำไมการอนุญาตให้อากงไปรักษาตัวภายนอกถึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า

เหมือนดังเช่นที่ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์การชันสูตรศพระบุเอาไว้ว่า อาการป่วยของนายอำพลน่าจะเป็นมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน แพทย์ของ รพ.ราชทัณฑ์น่าจะมีการตรวจรักษา ไม่น่าจะปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนลุกลาม ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษยธรรม เพราะนักโทษก็เป็นมนุษย์ควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้ กรณีของนายอำพลนั้นมองว่าเป็นความบกพร่องในระบบการทำงาน ซึ่งแพทย์ต้องรักษาตามหลักวิชาการ หากเห็นว่ารักษาไม่ได้ หรือต้องใช้เครื่องมือตรวจพิเศษต้องส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาภายนอก ส่วนประเด็นที่ว่ากลัวผู้ต้องขังจะหลบหนีเรื่องนี้สามารถควบคุมได้ ซึ่งเรื่องนี้จะยื่นกระทู้ถาม รมว.กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้มีการปรับปรุงต่อไป

คำให้สัมภาษณ์ของ นพ.เชิดชัย น่าจะทำให้กลุ่มคนดังกล่าวเกิดวุฒิภาวะได้บ้างว่า ทำไมกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของคนเสื้อแดงส่งเข้ามาบริหารถึงนิ่งดูดายต่ออาการเจ็บป่วยของอากง

ยิ่งเมื่อได้ฟังคำตอบจากปากของ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็ยิ่งน่าจะทำให้กลุ่มคนดังกล่าวช้ำใจหนักเข้าไปอีก เพราะอากงมี อาการปวดท้องมาตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมแต่แพทย์ในเรือนจำได้ให้ยาบรรเทาปวดเบื้องต้นก่อนที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกลาง และเสียชีวิตเมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมาของวันที่ 8 พฤษภาคม

นอกจากนั้น นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ไขปริศนาและเงื่อนงำทั้งหมดเอาไว้เป็นที่ชัดแจ้งว่า คดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและยื่นขอประกันตัวชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งว่าจะอนุญาตหรือไม่ แต่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลฎีกาอีก โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 จำเลยคงคิดว่าไม่มีโอกาสได้ประกันอีกแล้ว จำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 เนื่องจากจำเลยประสงค์จะใช้สิทธิยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะจะยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาศาลอาญาออกหมายคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ดังนั้นเมื่อคดีถึงที่สุด จำเลยก็ไม่สามารถยื่นประกันตัวอีกได้

ดังนั้นตัวนายอำพลจึงอยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีการให้การรักษาพยาบาลนักโทษของเขาอยู่แล้ว หากจะนำตัวมารักษาข้างนอกก็อาจทำได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ควบคุม ต่อมาเมื่อนายอำพลเสียชีวิตไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ก็ถือว่าตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150-156 กำหนดให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการตาย ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาคดีนี้ในศาลอาญาอีกครั้ง

แน่นอน คำชี้แจงอย่างละเอียดของอธิบดีศาลอาญาคงเสมือนคำพูดที่ผ่านเข้าทางหูซ้ายและทะลุออกไปทางหูขวาของแกนนำกลุ่มบุคคลที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ในฉับพลันทันที

เนื่องเพราะพวกเขาไม่ต้องการคำอธิบาย

ที่สำคัญคือ ก่อนที่นายอำพลจะเสียชีวิต เขาได้ตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้นายอานนท์ นำภา ทนายความ ยื่นถอนอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากต้องการจะขอพระราชทานอภัยโทษ ประกอบกับอายุมากและเป็นโรคประจำตัว แต่ปรากฏว่า มาเสียชีวิตเสียก่อน ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นเส้นทางที่อากงเลือกเดิน และตอกย้ำให้เห็น ว่า ใครคือผู้ที่ควรจะต้องรับผิดชอบ ซึ่งนั่นย่อมมิใช่โยนบาปไปให้กับศาลสถิตยุติธรรมดังเช่นที่กลุ่มบุคคลผู้ต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พยายามบิดเบือน

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องตอบคำถามก็คือ พวกเขาใช้ศพของอากงเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงหรือไม่ เนื่องเพราะการที่ขบวนการคนเสื้อแดงที่กำลังใช้กรณีการตายของอากงไปขยายผลโจมตีสถาบันและกระบวนการยุติธรรมไทยด้านเดียวถือว่าเป็นความพยายามปิดตาข้างเดียว เพราะปมของคดีนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าทีมทนายของอากงได้ต่อสู้ครบทุกประเด็นหรือยัง หรือมีธงการเมืองในใจแล้วใช้อากงเป็นเหยื่อหรือไม่

ที่สำคัญคือกลุ่มคนเหล่านี้กล้ายอมรับและสรุปบทเรียนกันหรือไม่ ว่าใครได้ประโยชน์จากความตาย การเสียสละและการต่อสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของคนเสื้อแดง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่คนเสื้อแดงเองก็พาเหรดเข้ายึดอำนาจรัฐกันแทบทุกระดับในขณะนี้ การที่อ้างว่าต่อสู้เพื่อความเหลื่อมล้ำ ลด ช่องว่างทางชนชั้น รัฐบาลของคนเสื้อแดงทำอะไรบ้าง มีผลงานหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะมีนักการเมืองประเภทนักฉวยโอกาสมาหาประโยชน์กับความตายของมวลชนที่ต่อสู้ด้วยความบริสุทธิ์ใจแบบไม่รู้จักจบสิ้น

แต่กลุ่มคนที่ใช้ศพอากงในการเคลื่อนไหวจะต้องย้อนกลับไปถามพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า มีความจริงใจในการช่วยเหลืออากง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขมาตรา 112 ที่พวกเขาเคลื่อนไหวหรือไม่

ยิ่งแกนนำ นปช.ด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่เห็นหัวใครมาร่วงงานศพของอากงที่บริเวณหน้าศาลอาญาแม้แต่คนเดียว ดังที่อาจารย์สุดาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า การไร้แกนนำ นปช.มาร่วมงานศพของอากงแสดงให้เห็นว่า พรรคการเมืองที่ยืนยันไม่ปฏิรูปมาตรา 112 ได้เลือกข้างเป็นเผด็จการแล้ว ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ รัฐบาลนี้ก็มีความชอบธรรมน้อยลงทุกวัน

หรือการที่นักวิชาการอย่างนายสมศักดิ์ประกาศกร้าวในเฟซบุ๊กหลังการเสียชีวิตของอากงว่า “อ.ธิดา หมอเหวง คุณตู่ คุณเต้น คุณก่อแก้ว ฯลฯ ไปอยู่ที่ไหนกันหมด เมื่อไรจะออกมาคัดค้านการตัดสินคดีอากง”

ทว่า สิ่งที่อาจารย์สุดาและอาจารย์สมศักดิ์ตั้งคำถามถึงก็ไม่น่าแปลกใจอะไรนัก เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูปฏิกิริยาจากคนเสื้อแดงก็จะพบท่าทีทะแม่งๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตกใจไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดงอุดรธานี ตอบโต้การเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า การนำศพอากงมาแห่งมาทำพิธีรดน้ำศพที่หน้าศาลอาญารัชดาไม่มีความเหมาะสม เพราะได้สร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับครอบครัวผู้ตาย หากจะหาความชอบธรรมควรใช้วิธีอื่นแทน

เช่นเดียวกับท่าทีของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงที่ระบุว่า คดีของอากงและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ เป็นคดีที่ถูกตัดสินไปแล้วและอยู่นอกเหนือการควบคุมของ นปช.และรัฐบาล

ทั้งนี้ ท่าทีที่เปลี่ยนไปของแกนนำ นปช.บางคน คนในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็คงไม่ต้องแสวงหาคำตอบอะไรมากมายว่าเป็นเพราะอะไร แต่ถ้าอยากรู้ก็คงต้องหยิบยืมคำพูดของ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ที่เขียนเอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวมาอธิบาย....

“ผมยืนยันว่า ทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. จะใช้ท่าทีประเภท ยัดเยียดให้คนธรรมดา เป็นผู้เสียสละตลอดกาล ไม่ได้”

นั่นคือคำตอบที่ชัดเจนยิ่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น