xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นศาลปค. เพิกถอน2รง. มาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -นายก”ปู”เฉ่ง ก.อุตฯ ต่ออนุญาตโรงงานอดิตยา เบอร์ล่า ทั้งที่เคยเกิดเหตุการณ์ก๊าซรั่วมาแล้ว จี้หามาตรการล้อมคอก ด้าน ส.โลกร้อน เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปค.สูงสุด 10 พ.ค.นี้ เพื่อขอให้มีคำสั่งก.อุตฯและกนอ.เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการของทั้ง 2 โรงงานเจ้าปัญหา ด้านนักวิชาการแนะภาครัฐควรปฏิรูประบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในพื้นที่มาบตาพุด

วานนี้ (8 พ.ค.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภกับครม.ก่อนเข้าประชุมครม. พร้อมฝากการบ้านเรื่องที่ถังสารเคมีระเบิด ที่โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง รวมทั้งกรณีที่ก๊าซคลอรีนรั่ว ที่บริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลส์ (ประเทศไทย) ในนิคมฯเหมราช จ.ระยอง ซึ่งเคยเหตุการณ์ก๊าซฯรั่วมาแล้วเมื่อปี 2551 เหตุใดจึงยังต่อใบอนุญาตให้กับโรงงานแห่งนี้

ดังนั้นจึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหามาตรการ พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้โรงงานมีความปลอดภัย รวมทั้งชุมชนโดยรอบโรงงาน ก็อยู่ได้อย่างปลอดภัยด้วย ขณะเดียวกันขอให้มีการตั้งศูนย์ภายในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงกับชุมชน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ และต้องมีหน่วยงานที่จะสามารถบูรณาการได้ ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ไมใช่วัวหาย ล้อมคอก แต่นายกรัฐมนตรี ได้ทำการขันน๊อตเท่านั้น

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านโลกร้อน กล่าวว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำสั่งลงวันที่ 2 ธ.ค. 2552 ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านมาบตาพุดรวม 43 รายได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐรวม 8 หน่วยงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานต่างๆ จำนวน 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุด และใกล้เคียง เพื่อให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสองนั้น

แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 และ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในโรงงาน บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ในเครือบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า เคมิคัลส์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง ตามลำดับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งสองโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานใน 76 โรงงานที่ทางสมาคมฯได้ฟ้องร้องและปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ดังนั้น ในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ทางสมาคมฯจะได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลพิจารณาเพื่อมีคำสั่งใหม่ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) และ กนอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8) ได้เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการของทั้ง 2 โรงงานต่อไป ขณะเดียวกันก็จะขอให้ศาลสั่งให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของทั้งสองโรงงานต่อไป

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่าวประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่าจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ รัฐบาลต้องกลับมาดูปัญหาอย่างจริงจังและทบทวนกันใหม่ เพราะเหตุการณ์ ดังกล่าวไมได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่มันเกิดขึ้นซ้ำซาก าตรการต่างๆที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ก็ไม่ได้ทำกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งพิจารณาโรงงานทั้ง 76 โรงงานว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว จาก 2 โรงงานดังกล่าว และในวันที่ 11 พ.ค.55 นี้ทางเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น พร้อมทั้ง โรงงาน ทั้งสองแห่งดังกล่าวด้วย

**แนะภาครัฐปฏิรูประบบจัดการด้าน สวล.

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง เช่น นิคมฯตะวันเหมราช นิคมฯผาแดงและนิคมฯเอเชีย นิคมฯอาร์ไอแอล เป็นต้น ล้วนเป็นนิคมฯที่มีโรงงานประเภทปิโตรเคมีต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีชุมชนมากกว่า 33 แห่งล้อมรอบ โดยพื้นที่นี้ได้ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 เม.ย.52 ครอบคลุมพื้นที่เขตปกครองจังหวัดระยองได้แก่ ตำบลมาบตาพุด ห้วยโป่ง เนินพระ ทับมา อำเภอเมืองจังหวัดระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางและพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต

มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษของจังหวัดระยองปี 2553-2556ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 ก.ค.53 จำนวน 7แผนงาน 71 โครงการ งบประมาณ 2,182.22 ล้านบาท หนึ่งในแผนนั้นคือแผนงานรองรับเหตุฉุกเฉินและเตือนภัยสารพิษ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ม.ค.54 ยังอนุมัติแผนงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดเพิ่มเติมอีก 15 โครงการวงเงิน 255.72565ล้านบาท

ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐทุ่มงบประมาณลงไปที่มาบตาพุดอย่างมหาศาลในการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ในชั่วเวลาข้ามคืนเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานในเครือกรุงเทพ ซินธิติกส์ มีคนเจ็บและตายเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ ดังกล่าว ภาครัฐควรปฏิรูป ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในพื้นที่มาบตาพุดเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นจากประชาชน ดังนี้

1.ทุกโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดจะต้องแสดง อธิบายและให้ข้อมูลแผนความปลอดภัย ระบบเตือนภัย ระบบฉุกเฉิน ข้อมูลและระบบการติดตามตรวจสอบไอระเหยสารอินทรีย์ทั้งในโรงงานและชุมชนโดยรอบต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะเป็นประจำทุกเดือน และมีการลงโทษพนักงานที่ไม่ปฎิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดนอกจากนี้ระบบเตือนภัยที่อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ ระเบิด สารเคมีรั่วที่ติดตั้งในโรงงานจะต้องเชื่อมต่อและ Online เข้าห้องควบคุมของการนิคมฯด้วย

2.หน่วยราชการเองต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

3.ในการตั้งงบประมาณตามแผนลดและขจัดมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดของรัฐบาล ต้องกลับไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยให้น้ำหนักเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น งบประมาณต้องตั้งมาจากภาคประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ไม่ใช่มาจากส่วนกลาง

4.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยองจะต้องเป็นกลไกในการจัดการพื้นที่มาบตาพุดให้กลับมาอยู่ในความเชื่อมั่นของประชาชนให้ได้ ไม่ใช่ไปฝากไว้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

5.ต้องดำเนินการให้โรงงานทุกแห่งปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชนในรั้วโรงงาน (Protection Strip) อย่างน้อย 10-30 เมตร โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับชุมชน การนิคมฯเองต้องจัดให้มีพื้นที่กันชน (Buffer Zone) มีระยะห่างที่สามารถลดผลกระทบจากการเกิดอุบัติภัยต่อชุมชนได้

6.จัดการให้มีการติดตั้งระบบตรวจวัดไอระเหยสารอินทรีย์ที่สามารถตรวจได้หลายค่าอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง

****ล้อมคอกซ้ำรอยมาบตาพุด

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 9 พ.ค. ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเรียกอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีโรงงานอันตรายตั้งอยู่จำนวนมากเช่น จ.ระยอง จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ มารับฟังนโยบายการบริหารความเสี่ยงโรงงานที่เข้าข่ายอันตรายเพื่อป้องกันปัญหาการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงที่อาจซ้ำรอยกรณีของมาบตาพุดที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยมีแนวคิดที่จะดำเนินการใน 3 เรื่องได้แก่ 1. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่จะให้ตั้งศูนย์ข้อมูลวิเคราะห์ข่าวสารให้ชัดเจน โดยมอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)เป็นศูนย์กลาง 2. มอบให้กรอ.และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ทบทวนการประเมินความเสี่ยงของกิจการที่เสี่ยงอันตรายร้ายแรงใหม่ซึ่งเข้าข่ายประมาณ 3,000รายทั่วประเทศ แต่ให้เน้นรายใหญ่และรุนแรงจริงจากจำนวนดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วนก่อนโดยเจาะลึกแต่ละรายให้ชี้แจงแผนประเมินความเสี่ยง และ 3.การปรับปรุงด้านกฎหมายที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลด้านอุบัติภัยในโรงงานซึ่งขณะนี้กรอ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงพ.ร.บ.โรงงานพ.ศ. 2535

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.อยู่ระหว่างการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นควบคุมการดูแลสารเคมีในโรงงานเข้มงวดขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนการออกใบอนุญาตที่ให้มีคณะกรรมการพิจารณาให้ใบอนุญาตโรงงานแทนอธิบดีกรมโรงงาน และปรับเพิ่มการเก็บค่าธรรมเนียมรายปีของโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินมาจัดตั้งกองทุนดูและสิ่งแวดล้อมและการเข้าไปเยียวยาชุมชนให้รวดเร็วขึ้นจากเดิมที่เงินส่วนนี้จะนำส่งกระทรวงการคลัง

สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมโรงงานจะพิจารณาตามขั้นบันได จากปัจจุบันที่โรงงานขนาดใหญ่ขนาดเกิน 6,000 แรงม้าขึ้นไปจะเสียค่าธรรมเนียม 18,000 บาทต่อปีเท่ากันหมด แต่ปัจจุบันมีโรงงานจำนวนมากมีขนาดใหญ่ระดับ 20,000 -30,000 แรงม้า และอาจเป็นไปได้จะยกเว้นให้รายเล็ก ซึ่งการจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 18,000 บาทต่อปีถือว่าเป็นอัตราน้อยมาก ดังนั้นควรจะจ่ายให้มากกว่านี้ หลังปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมแล้วคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 800-1,000 ล้านบาทจากปัจจุบันที่มีรายได้เพียง 300 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น