xs
xsm
sm
md
lg

“รู้ไม่ทันก๊าซ” เพราะ “รู้ไม่ทัน ปตท.”

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้มีภาพวิดีโอเคลื่อนไหวลงในเว็บไซต์ยูทูบมีการลงทุนทำสคริปต์และกราฟิกดีไซน์คล้ายๆ กับ “รู้ทันน้ำ” ที่ทำเป็นการ์ตูนเคลื่อนไหวให้ความรู้ประชาชนในช่วงวิกฤตน้ำท่วม

แต่คราวนี้เป็นการลงทุนลงแรงทำเรื่อง “รู้ทันก๊าซ” มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่ที่น่าสนใจก็คือเป็นการโฆษณาให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการขึ้นราคาก๊าซของ ปตท. ซึ่งปัจจุบันมีการจัดทำและขึ้นเว็บไซต์ยูทูบไปแล้วประมาณ 5 ตอน

แม้จะไม่เปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนแต่ด้วยลักษณะการเผยแพร่น่าสงสัยได้ว่าเป็นฝีมือและผลงานการประชาสัมพันธ์ของ ปตท. อีกชิ้นหนึ่ง

หลายคนเชื่อว่าการลงทุนทำภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะเป็นการตอบโต้กับกระแสยูทูบในหัวข้อ “เปิดหลักฐานปล้นประเทศไทย” ซึ่งเป็นการเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานจากเทปบันทึกรายการ “เกาะติดสถานการณ์วิกฤตชาติ” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม FMTV นำเสนอโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และดำเนินรายการโดย สมลักษณ์ หุตานุวัตร ขึ้นเว็บไซต์ยูทูบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

ซึ่งปัจจุบันถึงเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 มีผู้เข้าชมข้อมูลดังกล่าวเกินกว่า 267,800 ครั้งแล้ว!!! และมีผู้กดชอบข้อมูลดังกล่าวสูงถึง 95% และมีอาสาสมัครเผยแพร่เพิ่มมากขึ้นทั้งในรูปวีซีดีและดีวีดี

ถึงแม้ว่า ปตท. และบริษัทในเครือจะสามารถกุมสื่อส่วนใหญ่ในประเทศนี้ได้เกือบทั้งหมดด้วยพลังงบประมาณค่าโฆษณาอันมหาศาลปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท อีกทั้งนักการเมืองแทบทุกค่ายต่างก็เคยได้ประโยชน์ทำมาหากินกับ ปตท. และพลังงานมาแล้วทั้งสิ้น แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นโดยที่ประชาชนสามารถสัมผัสความเดือดร้อนในปัญหาสินค้าราคาแพงขึ้นอย่างมาก ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลของสื่อทางเลือกได้เกิดการกระจายเผยแพร่ไปได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินคาด จึงทำให้ ปตท.ต้องกระโดดมาทำสงครามสมรภูมิสื่อครั้งนี้อย่างที่ได้คาดการณ์เอาไว้

หลายคนเข้าไปดูข้อมูลวิดีโอคลิปชุดนี้พอเห็นชื่อ “รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 1” ในความคิดแรกก็จะคิดว่าเป็นการ์ตูนเคลื่อนไหวเพื่อเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลด้านพลังงาน แต่ในการนำเสนอตอนที่ 1 ก็ทำให้เกิดความคลุมเครือไม่แน่ใจว่าข้อมูลดังกล่าวจัดทำเพื่อประโยชน์ใคร เพียงแต่ตั้งคำถามตามฝ่ายที่ตรวจสอบได้ตั้งประเด็นเอาไว้เท่านั้น ถือเป็นเล่ห์เพทุบายในการล่อให้ฝ่ายที่ไม่พอใจติดกับดักข้อมูลเพื่อให้ติดตามตอนต่อไป ปรากฏว่ามีคนเข้าไปชมการ์ตูนเคลื่อนไหวนี้แล้วถึงเช้าวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ประมาณ 18,964 ครั้ง และมีคนแสดงความคิดเห็นกดชื่นชอบข้อมูลดังกล่าวประมาณ 86%

แต่พอเข้าไปดูอีก 4 ตอนที่เหลือ ก็กลับกลายเป็นข้อมูลที่สร้างความชอบธรรมให้กับ ปตท.ในการที่จะขึ้นราคาก๊าซให้ถึงเป้าหมายเกือบ 15.96 บาทต่อกิโลกรัม ผลปรากฏว่าในแต่ละตอนมีผู้เข้าชมลดลงตามลำดับลงเรื่อยๆ และมีคนแสดงความเห็นทยอยกด “ไม่ชอบ” เพิ่มมากขึ้นเป็นปฏิกิริยาผกผันกับจำนวนตอนที่เพิ่มมากขึ้นดังนี้

รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 1 มีผู้เข้าชม 18,964 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกดชื่นชอบ 86%

รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 2 มีผู้เข้าชมลดลงเหลือ 9,087 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกด “ไม่ชอบ” สูงถึง 54%

รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 3 มีผู้เข้าชมลดลงไปอีกเหลือ 7,691 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกด “ไม่ชอบ”สูง 54%

รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 4 มีผู้เข้าชมลดลงไปอีกเหลือ 3,312 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกด “ไม่ชอบ” สูงขึ้นเป็น 71%

รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 5 มีผู้เข้าชมลดลงไปอีกเหลือ 2,459 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกด “ไม่ชอบ” สูงขึ้นเป็น 71%

แสดงให้เห็นว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะมันเป็นการฝืนความรู้สึกของประชาชน

เพราะความจริงแล้วข้อมูลที่นำเสนอผ่านรายการดังกล่าวนั้น เป็นการนำเสนอโฆษณาชวนเชื่อให้ข้อมูลด้านเดียว (เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของ ปตท.) และไม่ได้ตอบคำถามให้ประชาชนสงสัยอยู่หลายประการ

โดยเฉพาะระบบก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) นั้น ต้องไม่ลืมเสมอว่าเรามีผู้ที่แสวงหาผลกำไรในเชิงพาณิชย์ในรูปอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาช่วงชิงราคาก๊าซธรรมชาติในราคาถูกๆ โดยกองทุนพลังงานต้องเรียกเก็บเอาจากภาษีประชาชน และผู้ใช้น้ำมันมาแบกรับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเหล่านี้

ไม่ต้องพูดถึงความร่ำรวยอย่างมหาศาลของ ปตท. และ ปตท.สผ. ที่กำไรเพิ่มพูนมหาศาลเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้น จนข้ออ้างว่า “แบกรับไม่ไหว” นั้น มันสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนอย่างสิ้นเชิง เพราะ ปตท. และ ปตท.สผ.ในวันนี้ ไม่ใช่ว่า “ยังไม่รวย” แต่ถึงขั้น “รวยไม่รู้จักพอ” ต่างหาก

11 ปี นับตั้งแต่การแปรรูป ปตท.มีกำไรสุทธิรวม 774,167 ล้านบาท ได้เงินจากการแปรรูปเข้าบริษัทโดยอ้างว่าแปรรูปเพราะขาดเงินทุน ปตท.ได้เงินระดมทุนใหม่จากแปรรูปโดยการขายหุ้นและเพิ่มทุนรวมตลอดระยะเวลา 11 ปี คิดเป็นเงิน 28,277 ล้านบาท แต่ปี 2554 ปีเดียวกำไรสุทธิ 125,266 ล้านบาท ดังนั้นหากพิจารณา ปตท. แบ่งกำไรคืนให้ผู้ถือหุ้นในส่วนเงินระดมทุนใหม่ทั้งหมดตลอดระยะเวลา 11 ปี จะสูงประมาณ 296,000 ล้านบาท

วันนี้แม้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกลดลงทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่ ปตท.ก็อ้างว่าไม่สามารถจะไปอ้างอิงภูมิภาคอื่นได้ ต้องอิงกับราคาในภูมิภาคเท่านั้น แต่เมื่อดูต้นทุนราคาก๊าซปากหลุมก็กลับพบว่า ปตท. ได้ต้นทุนถูกกว่าราคาก๊าซธรรมชาติปากหลุมในประเทศต่างๆ ดังเช่นกรณีประเทศพม่าที่ราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติปากหลุมของไทยต่ำกว่าพม่าถึง 40 % เพียงเพราะว่าของไทยอยากจะจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐไทยต่ำเกินจริงใช่หรือไม่

แต่วันนี้ ปตท. กลับจะมาเรียกร้องให้ราคาขายปลีกสูงกว่าตลาดโลกและให้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร?

ตรรกะของ ปตท. ที่อ้างว่าหากราคาก๊าซธรรมชาติของไทยต่ำกว่าภูมิภาค เราจะถูกคนต่างชาติเข้ามาเติมก๊าซธรรมชาติแย่งคนไทยใช้กันหมด แม้ว่าจะฟังดูดีแต่ ปตท.กลับไม่ตอบคำถามไม่ว่าถ้าเช่นนั้นทำไม ปตท. จึงปล่อยให้น้ำมันที่ประเทศไทย “สูงกว่า” ทั้ง พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียได้โดยไม่เกิดปัญหารุนแรงเหมือนอย่างที่พยายามกล่าวอ้างกัน?

และแม้สมมติว่าประเทศไทยจะมีความคิดยุทธศาสตร์หวงแหนและเก็บพลังงานเอาไว้ใช้เองจริงดังที่ว่า เหตุใดจึงมีการปล่อยให้มีการสัมปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับต่างชาติด้วยราคาค่าภาคหลวงต่ำติดดินในระดับโลก!?

และถ้าประเทศไทยคิดว่าอยากจะใช้ราคาน้ำมันตามอำเภอใจ โดยอ้างตลาดโลกบ้าง อ้างราคาในภูมิภาคบ้าง โดยอ้างว่าถ้าไม่ขึ้นราคาต่างชาติจะรุมเข้ามาแย่งซื้อทรัพยากรธรรมชาติเราหมด สิ่งที่ควรจะทำก็คือหยุดการสัมปทานแล้วนำเข้าอย่างเดียวไม่ดีกว่าหรือ ในเมื่อประเทศชาติก็ไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากค่าภาคหลวงที่ติดดินในชั้นหนึ่งอยู่แล้ว แถมประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์จากที่มีทรัพยากรธรรมชาติในประเทศตนเองอีกด้วย?

ความจริงแล้ว หาก ปตท. เป็นเหมือน ปิโตรนาส ของมาเลเซีย ที่เป็นกิจการขององค์กรรัฐ 100% ต่อให้ราคาต่ำกว่าตลาดโลกก็ยังถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่หากจะขึ้นราคาตามตลาดโลกประโยชน์ก็ยังตกอยู่กับรัฐในการนำรายได้ส่วนนั้นมาคืนให้กับประชาชนในรูปงบประมาณอยู่ดี และคงไม่มีใครว่าอะไรได้ นอกจากการนำเงินไปให้รัฐนั้นจะมีการทุจริตโกงกินกันมากแค่ไหนก็ยังคงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

และหากจะยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการใช้ทรัพยากร ก็ต้องเริ่มต้นจากคนในครอบครัวมีใช้อย่างเพียงพอก่อน (ในราคาอันสมฐานะทางเศรษฐกิจให้กับคนในครอบครัว) เมื่อเหลือแล้วจึงขายออกไปต่างประเทศหรือคนที่จะเอาไปทำธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนตัวในราคาตลาดโลก

ความคิดขายทรัพยากรในชาติให้กับคนในชาติในราคาที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจเมื่อเหลือ แล้วส่งออกขายเชิงพาณิชย์ตามราคาตลาดโลก (ซึ่งสูงกว่าราคาในประเทศ) นั้น เกิดขึ้นอยู่แล้วทั้งในมาเลเซีย โบลิเวีย บาห์เรน เวเนซุเอลา อียิปต์ กัวเตมาลา อิรัก คูเวต ลิเบีย เม็กซิโก โมซัมบิก โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ

แต่กรณีของก๊าซธรรมชาตินั้นถือว่ามีความไม่ชอบมาพากลยิ่งกว่านั้น เพราะมีปัญหาด้านหนึ่งคือการผูกขาดโดยการยึดท่อก๊าซธรรมชาติและแสวงหาผลประโยชน์ของ ปตท. ประการหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งคือออกแบบทางธุรกิจให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับต้นทุนก๊าซธรรมชาติในราคาต่ำกว่าตลาดโลกโดยให้ประชาชนคนทั้งประเทศไปแบกรับผ่านราคาน้ำมันและภาษีเป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง

ทั้งนี้คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในวุฒิสภา ได้ออกเอกสารเผยแพร่สำหรับประชาชนเรื่อง “พลังงานไทย...พลังงานใคร?” เนื้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติระบุว่า:

“จะว่าไปแล้วการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ “บมจ.ปตท.” ในปัจจุบันยังเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในธุรกิจโรงแยกก๊าซ ธุรกิจก๊าซเอ็นจีวี และธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย “บมจ.ปตท.” ยังได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ถูกโอนไปจากภาครัฐ เมื่อตอนแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยด้วย

นั่นคือ “กำไร” จากท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสร้างจากเงินภาษีของพวกเราคนไทยในช่วงก่อนการแปรรูปเมื่อเดือนธันวาคม 2544

ก็ค่าไฟฟ้าไงล่ะ!!!

รู้ไหมว่าเราต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล อันเนื่องมาจากมีการคิด “ค่าผ่านท่อ” เพิ่มขึ้นจากท่อส่งก๊าซ เป็นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ “บมจ.ปตท.” คืนให้แก่รัฐ

แต่นอกจาก “บมจ.ปตท.”จะยังคืนไม่ครบถ้วนแล้ว ยังเอาท่อก๊าซที่ตัดค่าใช้จ่ายทางบัญชีหมดแล้วมาตีมูลค่าใหม่ เพราะประเมินว่ามีอายุใช้งานเพิ่มขึ้น 25 ปี ทำให้สามารถคิดค่าผ่านท่อเพิ่มเข้าไปทำให้ราคาขายของก๊าซเพิ่มขึ้น มีผลให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น...

รู้หรือเปล่าว่า ค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้นทำให้ “บมจ.ปตท.” ได้เงินเพิ่มทันทีเฉพาะในปี 2552 ปีเดียวจำนวน 2,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ด้วยคำสั่งศาลที่ให้ “บมจ.ปตท.” คืนทรัพย์สินให้รัฐ ซึ่งคือท่อชุดเดียวกันนี้ “บมจ.ปตท.” ต้องจ่ายเงินชดเชยที่เอาก๊าซไปใช้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายในเวลา 6 ปี ด้วยมูลค่าเพียง 1,335 ล้านบาท ดูสิ เอาของหลวงไปใช้ 6 ปี แต่เอาของหลวงมาทำมาหากินได้เงินคืนทันที 2,000 ล้านบาทใน 1 ปี

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเห็นได้ชัดเจนเลยว่าในระหว่างปี 2549 ถึง 2551 ภาคปิโตรเคมี ใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้น 403,000 ตัน ขณะที่ภาคครัวเรือนซึ่งก็คือคนไทยทั้งประเทศ ใช้ก๊าซแอลพีจี เพิ่มขึ้นรวมกัน 402,000 ตัน

แต่ตอนนี้คนที่รับภาระส่วนต่างราคาระหว่างราคาตลาดโลก กับราคาในประเทศของก๊าซแอลพีจีที่นำเข้า คือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เป็นหนี้ “บมจ.ปตท.” ถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของประชาชนฝ่ายเดียวอยู่ดี ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีไม่ต้องรับภาระในส่วนนี้เลย

ถ้าการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจี ยึดหลักประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นรัฐบาลก็ควรแยกราคาก๊าซในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีออกจากประชาชน ทั้งในส่วนที่ใช้ในครัวเรือน และยานยนต์ เพราะภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะปิโตรเคมีใช้ก๊าซเพื่อสร้างผลกำไรทางธุรกิจ และส่วนใหญ่ก็เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก เปรียบเสมือนการนำทรัพยากรธรรมชาติของไทยไปขายให้ต่างชาติในราคาถูก

ดังนั้นภาคธุรกิจก็ควรจะรับภาระราคาก๊าซแอลพีจีตามราคาตลาดโลกถึงจะถูกต้อง ตรงกันข้ามกับภาคประชาชนที่ใช้ก๊าซดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะใช้หุงต้มหรือเป็นเชื้อเพลิงเติมรถยนต์ ก็ควรจะซื้อในราคาที่ถูกกว่า”

สิ่งที่คนไทยทั่วไปไม่เคยรู้เลยว่าปี 2554 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซื้อก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. แพงกว่าภาคเอกชนที่ทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรในประเทศไทย 0.25 บาท/ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องถูกเอากำไรแพงไป 12,500 ล้านบาท

ป.ต.ท. ในยุคนี้จึงแปลว่า “ปล้น ต้ม ไทย” จริงหรือไม่!?
กำลังโหลดความคิดเห็น