xs
xsm
sm
md
lg

พท.จ๋อย!สภาฯถ่ายสดต่อ ลากรธน.3วัน เก้าโมงเช้าถึงเที่ยงคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(1 พ.ค.55) นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปฯรัฐบาล) กล่าวภายหลังประชุมร่วมคณะกรรมการประสานงาน3ฝ่าย (วิปฯ3ฝ่าย) ถึงการกำหนดเวลาการพิจารณาการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....ว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้กำหนดวันประชุมในวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี ในเวลา9.30น.-24.00น ขณะที่หากการประชุมใช้เวลาล่วงเลย 24.00น.ไปแล้วถือเป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภาในการสั่งปิดประชุม เช่นเดียวกับในกรณีของวันพฤหัสบดี ที่ตามปกติแล้วจะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร์ ซึ่งหากจะมีการเปลี่ยนแปลงให้มีการประชุมร่วมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานรัฐสภาในการตัดสิน
การประชุมจะยืดเยื้อหรือไม่คงขึ้นอยู่กับสมาชิกฝ่ายค้านที่จะอภิปรายให้อยู่ในกรอบเวลา อย่างไรก็ตามตามหลักแล้ว การแปรญัตติอภิปรายถือเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา จะไปจำกัดหรือตัดสิทธิ์ไม่ได้ ส่วนประเด็นการถ่ายทอดสดการประชุมนั้น ได้มีการติดต่อและหารือไปยังสถานีโทรทัศน์ของรัฐ อาทิ อสมท.หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อย่างไรก็ตามยังไม่ได้ข้อสรุปและยืนยันจะใช้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ตามเดิม ทั้งนี้คงจะงดการถ่ายทอดไมได้เพราะจะกลายเป็นประเด็นการปิดหูปิดตาประชาชน

**ช่อง11ของดถ่ายเป็นบางช่วง
ก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงเวลาการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภาผ่านทางช่อง 11 โดยระบุว่า สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ได้ทำหนังสือมาถึงรัฐสภา จะของดถ่ายทอดประชุมร่วมรัฐสภา เป็นบางช่วง โดยวันที่ 1 พ.ค. จะงดถ่ายทอด ช่วงเวลา 16.00-18.00 น. เพื่อถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 39 และเวลา 18.00-19.00 ถ่ายทอดพระกรณียกิจเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานวันเกษตร ประจำปี 2555 ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
ส่วนในวันที่ 2 พ.ค. เวลา 15.00-16.00 ถ่ายทอดพระกรณียกิจเสด็จราชดำเนินสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เปิดงานยกย่องเชิดชูเกียรติของตำรวจ และเวลา 18.00-18.30 น. ถ่ายทอดสดการเปิดตัวโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย ทั้งนี้ช่วงเวลา 20.00-20.30 น.ของทุกวัน ทางสถานีจะเสนอข่าวในพระราชสำนัก
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. เสียงส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทยเห็นว่าไม่อยากให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมร่วมรัฐสภา แต่ส่วนตัวผมอยากให้มีการถ่ายทอดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
จากนั้น สส.พรรคประชาธิปัตย์ และสว. ได้ขอให้ประธานรัฐสภาประสานงานไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และไทยพีบีเอส เพื่อให้ดำเนินการถ่ายทอดสดแทนช่อง 11 ในช่วงเวลางดการถ่ายทอดสด แต่นายสมศักดิ์ ระบุว่าขอให้วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภาไปหารือกันก่อน

**พท.-ปชป.คนละความเห็นถ่ายสด
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า การไม่ให้ถ่ายทอดสดไม่ใช่มติของพรรคเพื่อไทย เหมือนกับกรณีที่มีข่าวว่าจะให้ส.ส.หญิงลุกขึ้นประท้วงก็ไม่ใช่มติของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน เพียงแต่มีการพูดกันว่าแทนที่จะให้ฝ่ายค้านกล่าวหาเราฝ่ายเดียว
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย มองว่าเรื่องดังกล่าวหากไม่มีการถ่ายทอดสด การประชุมก็จะเดินหน้าคุยกันไปได้ แต่หากมีการถ่ายทอดสดก็ต้องกำหนดเวลา แต่ปัญหาขณะนี้ คือ การถ่ายทอดสด ที่ระเบียบการประชุมไมได้มีการระบุไว้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานโดยตรง ถ้าเป็นสมควรว่าต้องมีการถ่ายทอดสดก็ดำเนินการได้ทันที และตนคิดว่าไม่ควรจำกัดสิทธิ์ของประชาชนในการรับรู้ เพราะเป็นการแก้ไขกฎหมายสูงสุด
ทั้งนี้ยืนยันว่าจะมีการถ่ายทอดหรือไม่ ไม่มีผลต่อการอภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเราจะยืนยันตามที่ได้มีการสงวนคำแปรญัตติเอาไว้ แต่คงจะมีผลต่อฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการประท้วงออกทีวี
ด้าน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อในฐานะประธาน ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้เรียก ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่จะมีการประชุม โดยมีมติเห็นควรว่า ต้องมีการถ่ายทอดสดต่อไปตามที่ทำมา เช่นเดียวกับการจำกัดเวลาในการพูดว่าเป็นไม่ได้เพราะมุมมองของแต่ละคน เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับข้อกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงไม่ควรที่จะมี การจำกัดเวลาการพูด
ขณะที่ นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา ได้เสนอในที่ประชุมว่า ถ้าหากจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อจากนี้ก็ควรประชุมในวันอังคารเพียงวันเดียว ส่วนวันพุธเป็นการประชุมสภาฯ และวันพฤหัสฯ เป็น การตั้งกระทู้ถามสด เพื่อนำข้อร้องเรียนในปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กับ ครม.ผ่านที่ประชุมสภาฯ ตามปกติที่เคยปฏิบัติมา โดยลดการประชุมพิจารณาร่างแก่ไขรัฐธรรมนูญฯ เหลือเพียงวันเดียว และเพื่อให้งานของสภาฯ เดินหน้าไปได้ด้วย โดยที่ประชุมวิปฝ่ายค้านได้มอบหมายให้ทางวิปฝ่ายค้าน นำเสนอข้อหารือทั้งหมด ไปหารือต่อประธานในที่ประชุมเพื่อขอให้มีการถ่ายทอดสดและไม่มีการจำกัดเวลา
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา ในฐานะกรรมการตัวแทนฝ่ายวุฒิสภาออกมาคัดค้าน ส่วนนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาในฐานะประธานวิปวุฒิฯ กลับเห็นด้วยที่จะงดการถ่ายทอดสด
จนเมื่อเวลา 16.30 น. ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทวงถามความชัดเจนจากนายสมศักดิ์ เกี่ยวกับการถ่ายสดการประชุม เนื่องจากทางช่อง 11 เริ่มตัดสัญญาณไปถ่ายทอดสดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และทราบว่ามีการประสานไปยังสถานีไทยพีบีเอสแล้ว แต่ไม่สามารถถ่ายทอดให้ได้
อย่างไรก้ตามส.ส.ประชาธิปัตยพยายามขู่ดึงกสทช. มาเล่นงาน ทำให้ประธานสภาฯยอมสั่งพักการประชุมรอถ่ายทอดสด

**มาร์ค"จี้มอบมหาลัยเสนอสสร.22คน
ขณะที่การประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ในวาระ 2 ในมาตรา 291/6 เรื่องรัฐสภาดำเนินการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291/1(2) ให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 291/5 มีผลใช้บังคับ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ต่างสลับกันอภิปรายอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนให้อภิปรายว่าควรจะมีการตัดมาตรา 291/6 ทิ้งทั้งมาตรา ซึ่งควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ก่อนเข้าสู่วาระนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง สมาชิกวุฒิสภา จ.อุทัยธานี กล่าวว่า ควรกำหนดกรอบเวลาการอภิปรายให้ชัดเจน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หลังหารือเสร็จสิ้นแล้ว ประธานในที่ประชุม จึงได้ดำเนินการให้ผู้ที่สงวนคำแปรญัตติ อภิปรายต่อในมาตรา 291/6 โดย นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า ขอตัดในมาตรา 291/6 ออกทั้งมาตรา และเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ว่ารัฐสภาจะมีการคัดเลือก ส.ส.ร. เท่าใด เพราะอาจจะต้องมีการประชุมหารือ 4 ฝ่ายอีกครั้ง
ด้าน นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ไม่สามารถยอมรับในกระบวนการคัดเลือก ส.ส.ร. ที่ให้รัฐสภาเป็นผู้คัดเลือก เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการล็อกสเปกของผู้ลงสมัคร พร้อมเสนอให้ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัด เป็นผู้คัดเลือก ส.ส.ร.สรรหา
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน อภิปรายในการประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่สองว่า ร่างของ กมธ.ยังขาดหลักประกันการกระจายตัวของส.ส.ร. ที่ทำให้เกิดความหลากหลาย ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า ตนแปรญัตติมาตรานี้ โดยที่ที่มาของ ส.ส.ร.จำนวน 22 คน ในอดีตการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ จะมอบให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการคัดเลือกแต่ครั้งนี้มีการเพิ่มองค์กรทางเศรษฐกิจ สังคมและเอกชนลงไป ตรงนี้เมื่อดูผิวเผินน่าจะเป็นเรื่องดีที่มีการเปิดกว้าง แต่ต้องไม่ลืมว่า การเสนอชื่อขึ้นมาทั้งหมดสุดท้ายก็ต้องมาจบลงในการประชุมร่วมรัฐบาลโดยให้เลือก 22 คน ซึ่งเบื้องต้นฟังจาก กมธ.ได้กำหนดว่า ส.ส. 1 คนสามารถเลือก ส.ส.ร. ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญได้เต็มจำนวนหรือ 22 คน หากพูดตามความเป็นจริง ส.ส.ที่จะใช้สิทธิย่อมหนีไม่พ้นการหารือพรรคการเมืองที่ตนสังกัดและมีแนวโน้มที่จะเลือกคล้ายๆ กันสูงมาก ดังนั้น หากกำหนดให้ ส.ส. 1 คนเลือก ส.ส.ร.ได้ 22 คน เราก็จะได้ ส.ส.ร.ในส่วนผู้เชี่ยวชาญทั้ง 22 คน มาจากฝ่ายเสียงข้างมากในสภาเพียงฝ่ายเดียว
ถ้าเราปล่อยไปอย่างนี้ คนที่เสนอชื่อขึ้นมามีหลักเกณฑ์พอสมควรก็วางใจได้ อย่างกรณีสถาบันอุดมศึกษาที่ใช้มาโดยตลอด ก็ไม่มีปัญหา เพราะคนในสถาบันอุดมศึกษามีความรับผิดชอบ เสนอบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน แต่พอเปิดโอกาสให้ภาคเศรษฐกิจ สังคม เสนอชื่อมาได้ ไม่มีใครทราบว่า องค์กรเศรษฐกิจสังคมหรือภาคเอกชนเหล่านี้เป็นใคร ยืนยันได้ไหมว่า เป็นนิติบุคคล เราจะไปกำหนดอย่างไร องค์กรเหล่านี้ตั้งขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ตนมองว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ที่มีประโยชน์ทางการเมืองเสนอชื่อเข้ามา เสียงข้างมากเสนออย่างไรก็ได้ตามนั้น
“มาตรานี้ถ้าคงไว้ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจมาก เพราะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการส่งชื่อผู้เชี่ยวชาญได้ ผมจำได้ประธานรัฐสภาบอกว่า ท่านอยากจะเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะตัดในส่วนองค์กรที่มาจากเศรษฐกิจ สังคมและเอกชนทิ้งไป หรือถ้ายังคงองค์กรนี้ไว้ ต้องเพิ่มบทบัญญัติที่มีความชัดเจนหรือไม่ เพราะหากมีการเตรียมคนเข้ามาอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการกินรวบการกำหนดหลักเกณฑ์จะต้องให้ ส.ส.ร.มีความหลากหลายทางการเมืองได้ เช่น กรณีที่ลงมติ 22 คนนั้น ควรที่จะให้เลือกอย่างไม่เต็มจำนวน เพื่อให้ ส.ส.ร.มีที่มาอย่างหลากหลาย"นายอภิสิทธิ์กล่าว
ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... กล่าวชี้แจงกรณีการสรรหา ส.ส.ร. 22 คน ว่า ประธานรัฐสภา เพียงแต่ทำหน้าที่พิจารณารายชื่อที่ส่งเข้ามาคัดเลือก และตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น