xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาจับมือ กสทช.สอบ “กรมกร๊วก” บ้าจี้งดถ่ายสดถกแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย แสวงการ
ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาแก้ร่าง รธน.วันที่ 9 ปชป.โวยช่อง 11 ไม่ถ่ายทอดถกแก้ รธน.วุฒิสภาจับมือ กสทช.สอบ ขุนค้อนอ้างติดถ่ายทอดกีฬามหาลัย จนต้องยอมสั่งพักการประชุมรอถ่ายทอดสด

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ต่อเป็นวันที่ 9 โดยยังคงเป็นการพิจารณา มาตรา 291/6 เกี่ยวกับการให้อำนาจประธานรัฐสภาวางกฏเกณฑ์ในการคัดเลือกสมาชิก ส.ส.ร.จำนวน 22 คน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุม ว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้มีหนังสือแจ้งมา ว่า การถ่ายทอดสดการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางสถานีมีเหตุขัดข้องของดถ่ายทอดสดในบางช่วง โดยวันนี้ช่วงเวลา 16.00-18.00 น.ต้องถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 39 และเวลา 18.00-19.00 น.ถ่ายทอดพระกรณียกิจพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานวันเกษตรประจำปี2555 วันที่ 2 พ.ค.เวลา 15.00-16.00 น.ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานยกย่องเชิดชูเกียรติของตำรวจ เวลา 18.00-18.30 น.ถ่ายทอดสดการเปิดตัวโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย โดยช่วงเวลา 20.00-20.30 น.ของทุกวัน ทางสถานีจะเสนอข่าวในพระราชสำนัก

ทั้งนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างท้วงติง หากต้องติดถ่ายทอดภารกิจอื่น พอจะมีช่องทางอื่น อาทิ ประสานช่องไทยพีบีเอสให้มาถ่ายทอดสดแทนได้หรือไม่ โดย นายธนา ชีระวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประธานจะหยุดโลก หยุดประเทศไทย หยุดสภาฯเพียงเพื่อเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่พิจารณากฎหมายอื่นหรือ อยากถามว่า ประธานมีนโยบายและให้ความสำคัญอย่างไร ระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับความเดือดร้อนประชาชน

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า อยากถามว่า งานถ่ายทอดกีฬากับพักหนี้เกษตรกรสำคัญกว่าการประชุมอย่างไร ทั้งที่เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องระบอบประชาธิปไตย ช่อง 11 ซึ่งมีหน้าที่ทำไมไม่ให้ความสำคัญ เจ้าหน้าที่ช่อง 11 และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จะมีความผิดหรือไม่ ซึ่งทางวุฒิสภา รวมถึง กสทช.จะตรวจสอบการทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า จากการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีบางส่วนไม่อยากให้ถ่ายทอด แต่ตนยังเห็นความจำเป็น และให้ความสำคัญกับการประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่แล้วก็บรรจุวาระประชุมสภาปกติ ซึ่งอาจพิจารณาสลับกันไป โดยจะใช้ดุลพินิจตามความเหมาะสม จากนั้นได้ตัดบทเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 291/6 ว่าด้วยที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการคัดเลือกของรัฐสภา จำนวน 22 คน

โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ยังไม่ทราบหลักเกณฑ์ว่าจะลงคะแนนเลือกกันอย่างไร ทราบจากกรรมาธิการ บางคนว่า ให้สมาชิกรัฐสภา 1 คน เลือกได้ 22 คน จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปตามมติของพรรค ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่อยากให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ดังนั้น ควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ความพยายามจะกินรวบจะเป็นปัญหาแน่นอน เหมือนการคัดสรรกรรมการ กสทช.ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น

ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า ได้กำหนดชัดเจนว่า องค์กรภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม และภาคเอกชน ที่มีสิทธิ์เสนอรายชื่อบุคคลเข้ารับเลือกเป็น ส.ส.ร. ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย เบื้องต้นคาดว่า จะส่งรายชื่อมาไม่ต่ำกว่า 2,000 ชื่อ รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้ เชื่อมั่นว่า ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย การทำงานของประธานรัฐสภาจะอยู่ท่ามกลางการจับตามองของสมาชิกรัฐสภา ไม่มีทางที่ประธานจะไปกำหนดรายชื่อองค์กรที่เสนอชื่อบุคคลได้เอง และตนเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของ ส.ส. ส.ว.ทุกคน ว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย จะคัดเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ส.ร.ที่ดีที่สุด เหมาะที่สุด ที่สำคัญ เป็นการลงคะแนนลับ เท่ากับว่า สมาชิกรัฐสภาทุกคนมีเอกสิทธิ์ที่จะลงคะแนนโดยไม่อยู่ภายใต้การสั่งการของใคร

จากนั้นสมาชิกได้ทยอยกันอภิปรายตามรายชื่อ โดยในช่วงหนึ่ง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า ไม่เชื่อว่า ส.ส.บางพรรคจะมีเอกสิทธิ์ลงคะแนนเลือก ส.ส.ร.อย่างอิสระ หากไม่ลงตามที่พรรคต้องการ อาจถูกตัดท่อน้ำเลี้ยงที่ได้เดือนละ 100,000-150,000 บาทได้ และ ส.ส.บางคนก็ไม่มีสมอง ทำให้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง พร้อมพาดพิง น.ส.รังสิมา ว่า เป็น ส.ส.ปากตลาด ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายคน ประท้วงให้ถอนคำพูด แต่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ยังคงโต้เถียงว่า ไม่ได้พูดหยาบคาย ไม่ได้ใช้คำว่า ปากหมา จน พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ประธานการประชุม สั่งให้ทั้งคู่ถอนคำพูด จากนั้นการประชุมจึงดำเนินไปตามปกติ

จนเมื่อเวลา 16.30 น. ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทวงถามความชัดเจนจาก นายสมศักดิ์ เกี่ยวกับการถ่ายทอดสดการประชุม เนื่องจากทางช่อง 11 เริ่มตัดสัญญาณไปถ่ายทอดสดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และทราบว่า มีการประสานไปยังสถานีไทยพีบีเอสแล้ว แต่ไม่สามารถถ่ายทอดให้ได้ จึงอยากทราบว่า จะดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งประธานรัฐสภาอย่างไร ซึ่ง นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ได้ให้ตัวแทนวิปรัฐบาลประสานให้ช่อง 11 กลับมาถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภาเช่นเดิม หากภายใน 10 นาที ช่อง 11 ไม่ตัดกลับมาถ่ายทอดประชุมรัฐสภา จะสั่งพักการประชุม จนเวลา 16.50 น.เมื่อครบกำหนด ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงดาหน้าลุกขึ้นทวงถามอีกครั้ง

ซึ่งทางวิปรัฐบาล ได้ชี้แจงว่า การถ่ายทอดสดพิธีเปิดกีฬามหาวิทยาลัย มีการเช่าช่วงเวลามานานร่วมเดือน งบประมาณเช่า 1.6 แสนบาท ซึ่งวิปรัฐบาลพยายามประสานไปยังไทยพีบีเอส แต่ได้คำตอบว่า ต้องแจ้งล่วงหน้า 3-4 วัน หากจะใช้ช่องทางอื่น เช่น โทรทัศน์รัฐสภาผ่านดาวเทียม อินเทอร์เน็ตออนไลน์ และวิทยุรัฐสภา ได้หรือไม่ แต่ทางพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงไม่เห็นด้วย พร้อมขอให้พักการประชุมไปก่อน จนกว่าจะกลับมาถ่ายทอดได้อีกครั้ง ในที่สุด นายสมศักดิ์ ได้สั่งพักการประชุมเพื่อรอให้มีการกลับมาถ่ายทอดสดการประชุมอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น