xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู” จิ้มก้อง “เวิน เจียเป่า ยก “โปแตช” ประเคนจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ผลงานอื้อฉาวที่ถูกกลบเกลื่อนไว้ภายใต้วาทะความสำเร็จในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีนของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคราวเยือนจีนครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา สมควรต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ก็คือ การเอาทรัพยากรของชาติไปเร่ขาย ซ้ำยังทำให้ประเทศไทย กลายสภาพเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ที่พร้อมอำนวยความสะดวกแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้การช่วงชิงทรัพยากรของไทยบรรลุผลสำเร็จ

หลังจากนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ขอให้ไทยสนับสนุนบริษัทจีนเข้าไปพัฒนาแหล่งแร่โปแตชในไทย ในการหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างนายเวินเจียเป่ากับ นายกฯยิ่งลักษณ์ ระหว่างเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่วัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ภายใต้การบริหารของ รมว. ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ก็ออกมาตอบสนองทันที โดยเห็นชอบเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง พ.ร.บ.แร่ ปี พ.ศ. 2510 โครงการสำรวจแร่โปแตชของบริษัทไชน่า หมิง ต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริเวณ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 12 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่

ทั้งนี้ ตามมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง พ.ร.บ.แร่ฯ บัญญัติว่า ภายในพื้นที่ใดๆ ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ตามมาตรา 6 ทวิ ผู้ใดยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ไม่เพียงแต่ ทส. เท่านั้น ที่เด้งรับโดยด่วน ทางฟากกระทรวงอุตสาหกรรมก็ตอบสนองได้รวดเร็วฉับไวไม่แพ้กัน เพราะเพียงสัปดาห์ถัดมา นายสมเกียรติ ภู่ธรไชยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้สัมภาษณ์ว่า ทส.ได้เห็นชอบให้เปิดพื้นที่แก่บริษัทไชน่าฯ แล้ว ตอนนี้กรมฯ ได้เตรียมรับคำขออาญาบัตรพิเศษของบริษัท โดยบริษัทจะต้องส่งแผนดำเนินงานมายังกรมฯ เพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการตามพ.ร.บ.แร่ ให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอไปยัง ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม อนุมัติอาญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจ

เรียกว่า ทั้งสองกระทรวงแข่งขันกันเอาหน้า รีบสนองนโยบาย ตั้งโต๊ะรอรับกันเลยทีเดียว !

แต่อีกฟากหนึ่ง ทันทีที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เอาทรัพยากรของชาติไปเร่ขายให้จีนสำเร็จ กลุ่มนักวิชาการและเอ็นจีโอที่เฝ้าติดตามปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ก็ออกมาจวกท่านผู้นำทันควัน

ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) ซึ่งติดตามรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชฎัชอุดรธานี ว่า สิ่งที่นายกฯ กำลังทำอยู่เท่ากับว่าเอาทรัพยากรของชาติออกไปเร่ขาย

“สิ่งสำคัญอย่าลืมว่านายกฯ ไม่ได้เป็นนักธุรกิจ หน้าที่ของนายกฯ คือปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติไม่ใช่ไปตกลงทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง และนายกฯ ไม่ควรไปตกปากรับคำแทนประชาชนและแก้ระเบียบเปิดให้ต่างชาติเข้ามาสำรวจแร่โปแตชเพราะทรัพยากรนั้นเป็นของสิทธิชุมชน การดำเนินการใดๆ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้อำนาจตัดสินใจกับชุมชนด้วย”

ด้าน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวถึงกรณีที่ผู้นำจีนอยากให้ประเทศไทยสนับสนุนบริษัททำเหมืองแร่โปแตช ของจีนว่า จีนกำลังแทรกแซงอธิปไตยของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยเองจะต้องปกป้องไม่ใช่ไปเอื้อผลประโยชน์ให้ เพราะภาคอีสานไม่ใช่มณฑลหนึ่งของจีน ที่จะมาสั่งให้ทำอะไรก็ได้

“อยากถามกลับว่าผลประโยชน์จากการลงทุนจะเกิดกับชุมชน และประชาชนจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ที่ประเทศจีน ซึ่งมักจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านวิศวกรรมที่ต่ำ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลจะต้องมีการศึกษาและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ” นายสุวิทย์ กล่าว

ใครจะนึกว่าแผ่นดินอีสานที่ขึ้นชื่อว่าแห้งแล้ง แร้นแค้นนั้น แท้จริงแล้วอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าตอนนี้มีการยื่นขอสัมปทานสำรวจ ขุดเจาะ กันเต็มพื้นที่ไปหมด กล่าวเฉพาะโครงการเหมืองแร่โปแตช มีอยู่ 7 โครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.สกลนคร

ตามข้อมูลของกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ระบุว่า ปี 2519 - 2520 กรมทรัพยากรธรณี เจาะสำรวจแร่ที่ อ.วานรนิวาส, อ.พรรณานิคม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร พบแร่โปแตช ชนิด Carnallite และ Sylvite ต่อมา เดือนก.พ. 2522 กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศให้พื้นที่แอ่งสกลนครและแอ่งโคราชเป็นพื้นที่ เพื่อการสำรวจ ทดลอง ศึกษา วิจัยเกี่ยวกับแร่ตามมาตรา 6 ทวิ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 จากนั้น เดือนเม.ย. 2540 นายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ไปเยือนจีน ได้ชักชวนให้จีนมาลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตชในไทย โดยได้ลงนามบันททึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2540

หลังคำเชิญชวน เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2547 บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่โปแตชใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่ และวันที่ 17 ก.ย. 2547 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอ ทส. เปิดพื้นที่ดังกล่าวให้กับบริษัทไชน่าฯ ซึ่งระหว่างนั้นบริษัท ไชน่าฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ แต่การพิจารณาเปิดพื้นที่ให้บริษัทไชน่าฯ ใช้เวลาเนิ่นนานเพราะกระแสคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช โดยเฉพาะพื้นที่จ.อุดรธานีนั้นรุนแรง มีเหตุกระทบกระทั่ง ฟ้องร้องต่อศาล จนกระทั่งล่าสุด ทส. ไฟเขียวเปิดพื้นที่ให้กับบริษัทไชน่าฯ หลังนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กลับจากจีน โดยไม่สนว่า โครงการเหมืองแร่โปแตช นั้นจะส่งผลกระทบให้พี่น้องเสื้อแดงฐานเสียงสำคัญให้ได้รับความเดือดร้อน

สำหรับกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ไม่ได้มีเพียงบริษัทไชน่าฯ เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มนายชาญชัย รวยรุ่งเรือง หรือเหยียนปิน ที่เข้ามาถือหุ้นในโครงการเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ในสมัยที่ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม เมื่อปี 2547 โดยนายเหยียนปิน ได้ชื่อว่าเป็นนายหน้าทำธุรกิจกับจีนผู้โด่งดังในยุครัฐบาลทักษิณ และยังคงเป็นเพื่อนรักของทักษิณและพวกพ้อง

การทำเหมืองแร่โปแตช เป็นการทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งจะขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินเกิน 100 เมตร โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินข้างบน การเจาะอุโมงค์ลงไปสกัดเอาแร่ใต้ดินออกมา เมื่อขุดลงไปก่อนจะถึงชั้นแร่โปแตช จะผ่านชั้นเกลือจำนวนมหาศาลก่อน จึงต้องขุดเกลือขึ้นมากองไว้บนดิน พอพบแร่ก็ขนขึ้นมาเพื่อแยกสิ่งเจือปนด้วยสารเคมีในการแยกและแต่งแร่บนผิวดินหรือโรงงานแต่งแร่

โครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ซึ่งเวลานี้มี 7 โครงการ ใน 6 จังหวัดภาคอีสาน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 654,145 ไร่ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ขุดทำเหมืองใต้ดินจะทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำมาหากิน เป็นที่ตั้งของเมือง ความเสี่ยงหรือผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองใต้ดินในต่างประเทศที่เกิดขึ้นแล้ว คือ แผ่นดินถล่มหรือทรุด กระทั่งมีการห้ามทำเหมืองใต้ดินในเขตชุมชน อีกทั้งยังมีผลกระทบจากกากแร่หรือกองเกลือจำนวนมหาศาลเป็นภูเขากลางลานโล่ง ซึ่งจะเกิดปัญหาแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม สภาพแวดล้อมเสียหายอย่างหนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น