xs
xsm
sm
md
lg

“ทส.”เปิดพื้นที่ให้ไชน่าหมิงต๋า เตรียมสำรวจแร่โปแตซในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชน่า หมิงต๋า จากจีนฉลุย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเห็นชอบเปิดพื้นที่สำรวจเหมืองโปแตซที่จ.สกลนครแล้ว กพร.เตรียมรับคำขอรอขั้นตอนบ.ส่งแผนดำเนินงานครบชงเข้าบอร์ดแร่ ก่อนเสนอ”พงษ์สวัสดิ์”เซ็นให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจต่อไป

นายสมเกียรติ ภู่ธงไชยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสำรวจและผลิตโปแตซในไทยว่า ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้เห็นชอบเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิแห่งพ.ร.บ.แร่ปี 2510 โครงการสำรวจแร่โปแตซ ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริเวณพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ แล้ว ดังนั้นกรมฯจึงเตรียมรับคำขออาชญาบัตรพิเศษของบริษัทต่อไป

“ ตามมาตรา 6 ทวิพื้นที่โปแตซกำหนดให้เป็นพื้นที่สงวนไว้สำหรับการค้นคว้า วิจัย ดังนั้นการจะขอยกเว้นก็จะต้องให้กระทรวงทรัพย์ฯเห็นชอบเปิดพื้นที่ก่อนกรมฯจึงจะรับคำขออาชญาบัตรพิเศษได้ ดังนั้นขั้นตอนจากนี้บริษัทฯจะต้องส่งแผนดำเนินงานทั้งหมดส่งมายังกรมฯเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่เห็นชอบจากนั้นก็จะเสนอให้ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจ”นายสมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้แร่โปแตซเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยนักลงทุนจากจีนมีความสนใจการสำรวจและผลิตโปแตซในไทยค่อนข้างมากเนื่องจากจีนต้องการโปแตซมากกว่าปีละ 8 ล้านตัน อินเดียปีละ 6 ล้านตัน อาเซียนปีละ 5 ล้านตันและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง แต่หากดูจากศักยภาพของไทยจากแหล่งที่ยื่นขอหากผลิตได้จริงก็จะอยู่ในระดับไม่เกินปีละ 3 ล้านตันเท่านั้น ขณะเดียวกันราคาตลาดโลกจากอดีตที่อยู่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อตันล่าสุด 500-600 เหรียญฯต่อตันหากมองมติในแง่เศรษฐกิจแล้วถือว่าไทยมีศักยภาพมากที่จะพัฒนาเนื่องจากแหล่งโปแตซในโลกที่ใหญ่สุดคือ แคนาดา รัสเซีย และในเอเชียก็คือไทย

นายสมเกียรติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทส.ได้พิจารณาเปิดพื้นที่ของโครงการบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(APPC ) ที่จ.อุดรธานี พื้นที่รวมประมาณ 74,437 ไร่ และโครงการเหมืองแร่โปแตซอาเซียนซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัทเหมืองแร่โปแตซอาเซียน จำกัด ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันทั้ง 2 โครงการอยู่ในขั้นตอนและกระบวนการเพื่อยื่นคำขอประทานบัตรการผลิตแร่โดย APPC คาดว่าจะพิจารณาได้ภายใน 1-2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น