xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"ดูงานแก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง เดินสายถกผู้นำลุ่มน้ำโขงต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 08.45 น. วานนี้ (19 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางจากเรือนรับรองรัฐบาลเตี้ยวหยูไถ เพื่อไปยังศูนย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหัวปิน เพื่อปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ศูนย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหัวปิน
จากนั้น ในเวลา 10.20 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางไปยังศูนย์ป้องกันน้ำท่วมและบรรเทาภัยแล้งแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อรับฟังการบรรยายสรุป เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม และการบรรเทาภัยแล้ง
สำหรับศูนย์ฯแห่งนี้ เกิดขึ้นโดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และคณะรัฐมนตรีจีน ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันน้ำท่วม และภัยแล้งเป็นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ปี ค.ศ. 1950 ซึ่งปัจจุบัน มีอำนาจหน้าที่ ประสาน ควบคุม และดูแลงานการป้องกันอุทกภัย และภัยแล้งทั่วประเทศจีน
ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังภัตตาคาร Quanjude เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน
จากนั้น เวลา 14.15 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางต่อไปยังสถานีรถไฟกรุงปักกิ่งใต้ (หนานจ้าน) เพื่อเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูง ขบวนที่ C 2040 ไปยังนครเทียนจิน โดยมี นายกเทศมนตรีนครเทียนจินให้การต้อนรับ
ต่อมาเวลา 19.00 น. นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติ กรุงปักกิ่ง เพื่อเดินทางไปยังท่าอากาศยาน ฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางถึงกรุงโตเกียว ในเวลา 23.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงโตเกียว เร็วกว่าที่กรุงปักกิ่ง 1 ชั่วโมง)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งนี้ มีขึ้น ระหว่างวันที่ 19-22 เม.ย. เพื่อยืนยันบทบาทของไทย ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยมีผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และญี่ปุ่น โดยเป็นการประชุมระดับผู้นำ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มความร่วมมือนี้ เพื่อมีบทบาทที่ชัดเจนขึ้น ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาระหว่างอาเซียน เพื่อความแข็งแกร่งของอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของทวีปเอเชียต่อไป โดยญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือให้กับ 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ในด้านต่างๆ
ดังนั้น การเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 นี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเน้นย้ำถึงบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนร่วมกับญี่ปุ่นในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อย่างยั่งยืน อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และโดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งไทยได้รับการยอมรับ รวมทั้งสร้างความมั่นใจต่อมาตรการของไทยในการจัดการภัยภิบัติ
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี จะได้ยืนยันถึงความพร้อมในการร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับภัยภิบัติได้ ครอบคลุมถึงการเชื่อมโยงอนุภูมิภาค และความมั่นคงมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเกี่ยวกับเด็กและสตรีที่ไทยให้ความสำคัญ
โดยการประชุมในครั้งนี้ มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากจะมีการรับรองเอกสาร Tokyo Strategy for Mekong-Japan Cooperation ซึ่งจะกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อจัดทำเสาหลักในการพัฒนาความร่วมมือในช่วง 3 ปีข้างหน้า ได้แก่
เสาหลักที่ 1 เสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เสาหลักที่ 2 การพัฒนาไปพร้อมกัน และเสาหลักที่ 3 การรักษาความมั่นคงของมนุษย์และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น