ข้อเสนอหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดของภาคใต้ ก็คือพยายามผลักดันให้มีการปกครองรูปแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ ก็คือการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง แต่มีรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นและเรียกให้มันหรูๆ ว่า “นครรัฐปัตตานี” เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ในการหาเสียงของพรรคการเมือง หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลผู้อยากมีอำนาจ เมื่อฐานการยืนบนอำนาจคับแคบก็ขยายฐานให้เพิ่มขึ้น
ทำไมที่ต้องพูดเช่นนี้ ก็เพราะว่า “นครรัฐปัตตานี” ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาปากท้อง ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการค้าของเถื่อน ยาเสพติด และปัญหาความเป็นธรรมในสังคม 3 จังหวัด แต่ล้วนตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการไต่เต้าขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครองเท่านั้นเอง
“นครรัฐปัตตานี" เป็นข้อเสนอที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย นำเสนอออกมาเมื่อปลายปี 2552 และถูกขยายผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กรในพื้นที่ที่เดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 37 อำเภอ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ประเด็นนี้ได้ถูกผลักดันให้เป็นวาระทางการเมืองหลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นป้ายหาเสียงโดยชูประเด็น “นครปัตตานี” พร้อมภาพ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ติดหราอยู่ริมทางหลวงและในเขตชุมชนทั่วทั้งสามจังหวัด
เมื่อตามลงไปดูในรายละเอียดความต้องการของความเป็น “นครรัฐปัตตานี” ก็พบว่ามีการวางกรอบกว้างๆ ของอัตลักษณ์แห่งนครรัฐปัตตานีไว้ 4 ประการคือ
1. เป็นรูปแบบการปกครองที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1 คือ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”(ข้อเสนอนี้ปรากฏขึ้นมาเพื่อลดกระแสต่อต้านว่าเป็นความพยายามแบ่งแยกดินแดน หรือตั้งรัฐอิสระ)
2. ต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ มีจำนวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร
3. ควรต้องใช้ภาษาไทยและภาษามลายูปัตตานีควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆ ของทางราชการ รวมทั้งใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ
4. ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้น โดยเน้นไปที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยตรงมากที่สุด
ความคืบหน้าที่ผ่านมามีการยกร่างกฎหมายขึ้นมา เพื่อเตรียมเสนอเป็นร่างของประชาชนบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญด้วย ร่างกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร” มีหลักการคล้ายๆ กับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร โดยผนวก ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลามาอยู่ด้วยกัน กลายเป็น “ปัตตานีมหานคร” มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็งงๆ อยู่ว่าทำไมพรรคเพื่อไทยไม่เสนอออกมาเป็น พ.ร.บ.ด้วยพรรคในเมื่อมันเป็นนโยบาย แต่กลับให้ภาคประชาชนต้องล่าลายชื่อเพื่อเสนอเอง นี่คือสิ่งที่พี่น้องในสามจังหวัดควรตั้งคำถาม ว่าเขาผลักดันเพื่อ “หาเสียง” หรือเชื่ออย่างนั้นจริงๆ
การรวมศูนย์อำนาจคือปัญหาหนึ่งของสังคมไทยโดยรวม การกระจายอำนาจเพื่อสร้างขบวนการมีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อมคือทิศทางที่เป็นความหวังของการพัฒนาในอนาคต เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นที่มีรากเหง้ามายาวนาน ไม่ว่าเชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น ลพบุรี อยุธยา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ฯลฯ ล้วนมีศักยภาพ มีอัตลักษณ์ของตัวเองในการที่จะพัฒนาไปให้สอดคล้องกับพื้นฐานต่างๆ ที่แต่ละเมืองมีอยู่และไม่ใช่รอการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนามาจากศูนย์กลางเป็นหลัก การกระจายอำนาจคือวิธีการหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ต้องรอให้มีการวางระเบิดทั่วบ้านทั่วเมืองแล้วค่อยกระจายอำนาจให้
ผู้ที่พยายามผลักดันแนวความคิด “นครปัตตานี” บอกว่า หากแก้ปัญหาด้วยการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คน (รวมหมดทั้งเรื่องภาษา ศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม) รวมถึงได้ผู้นำที่มาจากคนในพื้นที่เองแล้ว ปัญหาความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ ก็จะหมดไป
ที่สำคัญ “ทหาร” ก็ต้องถอนกำลังกลับไปโดยปริยาย เนื่องจากได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งหมดแล้ว ซึ่งฟังดูแล้วยังกับว่า “นครรัฐปัตตานี” คือยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมให้หมดสิ้นไปโดยพลัน โดยไม่ได้มองปัญหาอื่นๆ ที่มีอยู่อีกมากมายในพื้นที่ว่าจะแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด การค้าสินค้าเถื่อน ฯลฯ นอกจากหาที่ยืนให้กับกลุ่มที่อยากมีอำนาจกลุ่มใหม่ ถ้าอย่างนี้เราน่าจะเติมคำว่า “มหานครรัฐปัตตานี” เข้าไปด้วยไม่ดีกว่าหรือ เผื่อจะได้ทำให้เจริญรุ่งเรืองกันให้สุดๆ ไปเลย