xs
xsm
sm
md
lg

“เขตปกครองพิเศษ”ของพรรคเพื่อไทย..แค่คิดก็ผิดแล้ว/ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

ข่าวที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่อง การที่พรรคเตรียมขับเคลื่อนเขตปกครองพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่มักจะเรียกว่า “มหานครปัตตานี” เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน โดยนักการเมืองผู้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบว่าชีวิตนี้ทั้งชีวิตมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แค่ไหน และรู้ประเด็นปัญหา ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับใด

แต่เอาเถอะ ก็ไม่ว่ากัน เพราะในการหาเสียงที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้ชูโมเดลเขตปกครองพิเศษ หรือโมเดลมหานครปัตตานีในการหาเสียงอย่างเข้มข้น โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงกับลงทุนแต่งกาย ด้วยเครื่องแต่งกายของสตรีมุสลิม พร้อมทั้งได้ชื่อใหม่ว่า “ยามิละห์” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “คนสวย” เพื่อให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมของพื้นถิ่น
14 มิ.ย. 54 “ยามิละห์” สวมฮิญาบแดงเพลิงชูนิ้วให้เลือกพรรคเพื่อไทย ณ พื้นที่ จ.นราธิวาส
และแม้ว่าในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนั้น “เพื่อไทย” ได้คะแนนถล่มทลายในภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานเสียงของ “เพื่อไทย” เที่ยวนี้ “เพื่อไทย” ไม่ได้ ส.ส. แม้แต่นี่นั่งเดียว จนเป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนใน 3 จังหวัดได้ตอบโจทย์เขตปกครองพิเศษของพรรคเพื่อไทยแล้วว่า ไม่ใช่สิ่งที่คนในสามจังหวัดต้องการ

เอาเป็นว่า ผู้เขียนเอง ยังไม่ “ทึกทัก” แบบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงความเห็นว่า สาเหตุที่ “เพื่อไทย” ไม่ได้ ส.ส แม้แต่ที่นั่งเดียว เป็นเพราะคนในพื้นที่ปฏิเสธโมเดลเขตปกครองพิเศษ หรือ “มหานครปัตตานี” เพราะในการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น สาเหตุหนึ่งที่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยไปไม่ถึง “ฝั่งฝัน” ของการเป็น “ผู้แทน” มีเงื่อนไขและปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบอีกมาก

อาทิ การใช้อำนาจรัฐบดขยี้ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย หรือการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครของพรรคอื่นๆ และมีการใช้ "กระสุนดินดำ" จากผู้สมัครพรรคอื่นๆ ที่มากเป็นพิเศษ เพียงแต่ผู้เขียนต้องการถามนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยว่า การผลักดันให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษนั้น ต้องการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ เพราะถ้าตอบว่าใช่ ก็ผิดอย่างยิ่ง เนื่องจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นละลอกใหม่ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็นฯ มีธงที่ชัดเจนว่า ต้องการแบ่งแยกดินแดน เพื่อตั้งเป็นรัฐใหม่ นั่นคือ “รัฐปัตตานี”

ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ มีธงชัดเจนว่าต้องการประเทศ ไม่ใช่ต้องการเขตปกครองพิเศษ หรือให้ตั้งนครปัตตานี ซึ่งตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ไม่เคยได้ยินว่าบีอาร์เอ็นฯ ต้องการให้มีเขตปกครองพิเศษ ดังนั้น แม้พรรคเพื่อไทยจะผลักดันให้เกิดเขตปกครองพิเศษขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้น เพราะกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนไม่ได้มีแนวคิดในเรื่องเขตปกครองพิเศษที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการนครปัตตานีเพื่อทำหน้าที่บริหารแผ่นดินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด

ดังนั้น ถ้ามีการผลักดันเขตปกครองพิเศษขึ้น สถานการณ์การสู้รบจะยิ่งรุนแรงขึ้น เป้าหมายของคน ที่จะต้องตายเพื่อสังเวยเขตปกครองพิเศษจะยิ่งเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเกิดการต่อต้านจากนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่เห็นว่าเขตปกครองพิเศษทำให้กลุ่มของนักการเมืองท้องถิ่นได้รับผลกระทบ และอาจจะมีการแอบจับมือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพื่อสกัดเขตปกครองพิเศษอีกต่างหาก

ผู้เขียนถามว่า ประชาชนล่ะ ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการที่จะมีเขตปกครองพิเศษ หรือมหานครปัตตานีหรือไม่ ตรงนี้แหละครับที่ไม่ชัดเจน กล่าวคือ ถ้าไปบอกกับประชาชนว่า การมีเขตปกครองพิเศษจะแก้ปัญหาความไม่สงบ ความตายรายวันได้ จะเอาหรือไม่ ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เอา” เป็นการตอบว่า “เอา” โดยที่ยังไม่รู้รายละเอียดว่า เขตปกครองพิเศษเป็นอย่างไร ปกครองโดยใคร และแก้ปัญหาความสงบได้จริงหรือไม่ เพียงแต่ผู้ตอบเห็นว่าเป็นของใหม่ ถ้าสามารถทำให้สถานการณ์ความไม่ปลอดภัย ความตายรายวันหยุดลง ทุกคนก็ยินดีที่จะให้มี

และที่สำคัญเจ้าของโมเดล เขตปกครองพิเศษที่เสนอโดยใครต่อใคร 4-5 โมเดลนั้น ประชาชนใน 3 จังหวัด มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงมากน้อยแค่ไหน อย่าลืมว่าแม้แต่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เองคือ ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส แม้จะเป็น “มลายู” และเป็นผู้ที่ร้อยละเก้าสิบนับถือศาสนาอิสลาม แต่วิถีวัฒนธรรม ความเชื่อในเรื่องต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน การรวมเอา 3 จังหวัดเป็นเขตปกครองพิเศษหรือนครปัตตานีนั้น เป็นความต้องการของคนทั้ง 3 จังหวัดจริงหรือ

และสิ่งที่ต้องถามต่อไปว่า การปกครองที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่เรียกว่า “การกระจายอำนาจ” แบบการปกครองท้องถิ่นที่ใช้อยู่คือ มี อบต. เทศบาล และ อบจ. มีการสอบถามประชาชนหรือไม่ว่า ดีหรือไม่ดีอย่างไร ถ้าไม่ดีต้องการที่จะให้แก้ไขตรงไหน แบบไหน และวิธีการเลือกตัวแทนตั้งแต่ละดับท้องถิ่น จนถึงเทศบาล และ อบจ. ทุกวันนี้ผู้เป็นผู้บริหารท้องถิ่นเป็นใคร เกือบทั้งหมดเป็น “มุสลิม” เป็นผู้ที่มีวิถีวัฒนธรรม ศาสนาเดียวกับประชาชนใช่หรือไม่ ถ้าใช่และวิธีที่ใช้อยู่ยังแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ ทั้งที่เป็นพื้นที่เล็กๆ แคบๆ แค่ 1 ตำบล 1 อบต. เมื่อต้องมีการเลือกตั้งแบบรวมศูนย์เป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่ง “เทอะทะ” จะมิยิ่งแย่กว่าเดิมหรือ

เท่าที่ผู้เขียนฟังมา นักการเมืองท้องถิ่นมีการสะท้อนถึงปัญหาของการบริการท้องถิ่นว่า เป็นการกระจายอำนาจที่ไม่เป็นจริง เพราะรัฐบาลกลางไม่ได้กระจายอำนาจการปกครองตามที่ท้องถิ่นต้องการ ไม่ได้ให้งบประมาณอุดหนุนอย่างเพียงพอกับการกระจายอำนาจ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการ “แบ่งปัน” อำนาจในกลุ่มของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

จึงมีคำถามว่า ก่อนที่จะถึงเขตปกครองพิเศษที่รวมเอาพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นมหานครนั้น ทำไมรัฐบาลไม่ดำเนินการใช้กฎหมายการกระจายอำนาจที่มีอยู่แล้ว กระจายอำนาจ กระจายงบประมาณให้องค์การปกครองท้องถิ่นให้เต็มรูปแบบ เพื่อที่จะได้มีบทพิสูจน์ว่า วิธีนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ประชาชนพึงพอใจหรือไม่

และประเด็นสำคัญ วันนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปกครองแบบพิเศษอยู่แล้วอย่างแน่นอน การมี พรบ.ศอ.บต. การได้สิทธิพิเศษต่างๆ ของคนในพื้นที่ ขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคเศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา และอื่นๆ ซึ่งที่อื่นไม่มี เป็นการปกครองแบบพิเศษอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธในเรื่องของเขตปกครองพิเศษที่พรรคเพื่อไทยจะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเพียงให้เขตปกครองพิเศษเป็นการเรียกร้อง และเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่วันนี้ผู้เขียนเห็นว่า นักการเมืองและองค์กรเล็กๆ เพียงไม่กี่องค์กรกำลัง “แอบอ้าง” ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อที่จะทำในสิ่งที่เป็นการตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มหนึ่ง และเป็นการสนองนโยบายที่อาจจะผิดพลาดของฝ่ายการเมืองเท่านั้น

วิธีการแก้ปัญหาความไม่สงบ และการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันนี้ยังมีอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทำ เช่นการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชน การพัฒนาพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาอาชีพ อย่างจริงให้กับประชาชน ทำในสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ เช่น การยกเลิก พรก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก การบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก การเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้าสู่ขบวนการความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมทั่วถึง และอีกสารพัดเรื่องที่เป็นสิ่งซึ่งคนในพื้นที่ต้องการ ถามว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือชุมชนแล้วยัง ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ให้ในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญ การปกครองประเทศทำให้สำเร็จแล้วจะพบว่า ความสงบสุขจะเกิดขึ้น ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป และสุดท้ายเขตปกครองพิเศษก็ไม่ต้องมีให้เป็น “เสี้ยนหนาม” ตำใจใครต่อใคร

วันนี้ปัญหาของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากมายมหาศาลเพียงพอแล้ว โปรดอย่างได้นำเอาเรื่องเขตปกครองพิเศษมาแบ่งแยก มาสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่อีกเลย เพราะเรื่องเขตปกครองพิเศษ หรือมหานครปัตตานี แค่คิดก็ผิดแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น