xs
xsm
sm
md
lg

สื่ออิเหนาตีข่าว “ไทย” บินดูงานด้านสันติภาพ-กม.อิสลามใน “อาเจะห์” หวังแก้ปมชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มัสยิดในเมืองบันดา อาเจะห์
เดอะ จาการ์ตา โพสต์ - คณะเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย 28 คน ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า เดินทางเยือนเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ของอินโดเซีย เพื่อศึกษากระบวนการสันติภาพ และการบังคับใช้กฎหมายอิสลามในพื้นที่ หนังสือพิมพ์เดอะ จาการ์ตา โพสต์ รายงาน วานนี้ (25)

การเยือนอินโดนีเซียเป็นเวลา 3 วันครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะเก็บข้อมูลการปกครองของอาเจะห์ เพื่อนำมาประยุกต์กับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจาการ์ตา โพสต์ รายงานว่า คนพื้นที่กำลังต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองและการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม

นางนฤมล ศิริวัฒน์ ตัวแทนจากวุฒิสภาในคณะของสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า “เราต้องการทราบถึงวิธีที่คนอาเจะห์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่น ขบวนการอาเจะห์เสรี และรัฐบาลอินโดนีเซีย สร้างสันติภาพและอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน”

สภานิติบัญญัติอาเจะห์เป็นหนึ่งในสถาบันที่คณะตัวแทนของรัฐบาลไทยเข้าเยี่ยมชม สภานิติบัญญัติแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเฮลซิงกิ เมื่อปี 2005

จาการ์ตา โพสต์ รายงานว่า ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโดยสันติของอาเจะห์ กลายเป็นแบบอย่างให้ทั่วโลกศึกษา โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

“เราหวังที่จะส่งผ่านความรู้ของคนอาเจะห์ไปยังพลเรือนในภาคใต้ของเรา” นางนฤมล กล่าว

บนโต๊ะประชุมระหว่างคณะตัวแทนไทยกับสมาชิกสภานิติบัญญัติอาเจะห์ ฝ่ายไทยตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพมากมาย เช่น เหตุผลที่ขบวนการอาเจะห์เสรีต้องการตั้งตนเป็นอิสระจากรัฐบาลอินโดนีเซีย

ในฐานะอดีตสมาชิกขบวนการอาเจะห์เสรี อัดนัน เบอูรันซ์เยาะห์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ตอบคำถามว่า ความขัดแย้งในอาเจะห์มีที่มาจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ และรัฐบาลอินโดนีเซียก็ไม่ยินยอมให้ฝ่ายปกครองอาเจะห์มีอำนาจมากนัก

“ความขัดแย้งเป็นผลมาจากยุคชาวดัตช์ ซึ่งพยายามปกครองอาเจะห์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อินโดนีเซียได้รับเอกราช อาเจะห์ก็ถูกรวมอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอินโดนีเซีย” อัดนัน อธิบาย

ในประเด็นการต่อต้านรัฐบาลกลางของชาวอาเจะห์ คณะตัวแทนไทยได้รับคำตอบว่า ฮาซาน ดิ ติโร นักเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการอาเจะห์เสรีในปี 1976 และนำกองกำลังเข้าสู้รบกับรัฐบาลกลาง เพื่อขอแบ่งแยกดินแดนปกครองตนเอง

นอกจากนี้ คณะชาวไทยยังถามถึงการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม ซึ่ง จาการ์ตา โพสต์ รายงานว่า ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องการใช้กฎหมายอิสลามในการปกครองเช่นกัน

นายณรงค์ วงศ์สุมิตร หัวหน้าฝ่ายไทยคณะนี้ ถามว่า “กฎหมายอิสลามเคยบังคับใช้มาก่อนหน้านี้นานแล้ว หรือเพิ่งมาประกาศใช้จากสนธิสัญญาสันติภาพปี 2005”

ฮัสบี อับดุลเลาะห์ ประธานรัฐสภานิติบัญญัติอาเจะห์ ตอบว่า กฎหมายอิสลามได้บังคับใช้ตั้งแต่มีสัญญาสันติภาพ แม้กฎหมายอิสลามเป็นหนึ่งในสิทธิการปกครองตนเองของอาเจะห์ แต่ปัจจุบัน การนำไปปฏิบัติก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง

“ในหลายๆ มิติ เราบังคับใช้กฎหมายอิสลาม แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่เรายังคงใช้กฎหมายทั่วไปของประเทศ”
กำลังโหลดความคิดเห็น