xs
xsm
sm
md
lg

“นครรัฐปัตตานี” ...ตอบโจทย์จริงหรือ???/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย.....บรรจง นะแส
 
ข้อเสนอหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดของภาคใต้ ก็คือ พยายามผลักดันให้มีการปกครองรูปแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ ก็คือการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง แต่มีรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นและเรียกให้มันหรูๆ ว่า “นครรัฐปัตตานี” เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ในการหาเสียงของพรรคการเมือง หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลผู้อยากมีอำนาจ เมื่อฐานการยืนบนอำนาจคับแคบก็ขยายฐานให้เพิ่มขึ้น
       
        ทำไมที่ต้องพูดเช่นนี้ ก็เพราะว่า “นครรัฐปัตตานี” ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาปากท้อง ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการค้าของเถื่อน ยาเสพติด และปัญหาความเป็นธรรมในสังคม 3 จังหวัด แต่ล้วนตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการไต่เต้าขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครองเท่านั้น เอง
       
        “นครรัฐปัตตานี” เป็นข้อเสนอที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย นำเสนอออกมาเมื่อปลายปี 2552 และถูกขยายผลโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กรในพื้นที่ที่เดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 37 อำเภอ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ประเด็นนี้ได้ถูกผลักดันให้เป็นวาระทางการเมือง หลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นป้ายหาเสียงโดยชูประเด็น “นครปัตตานี” พร้อมภาพ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ติดหราอยู่ริมทางหลวง และในเขตชุมชนทั่วทั้ง 3 จังหวัด
       
        เมื่อตามลงไปดูในรายละเอียดความต้องการของความเป็น “นครรัฐปัตตานี” ก็พบว่า มีการวางกรอบกว้างๆ ของอัตลักษณ์แห่งนครรัฐปัตตานีไว้ 4 ประการ คือ
       
        1.เป็นรูปแบบการปกครองที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1 คือ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” (ข้อเสนอนี้ปรากฏขึ้นมาเพื่อลดกระแสต่อต้านว่าเป็นความ พยายามแบ่งแยกดินแดน หรือตั้งรัฐอิสระ)
       
        2.ต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ มีจำนวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร
       
        3.ควรต้องใช้ภาษาไทยและภาษามลายูปัตตานีควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆ ของทางราชการ รวมทั้งใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญ และสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ
       
        4.ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้น โดยเน้นไปที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยตรงมากที่สุด
       
        ความคืบหน้าที่ผ่านมา มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมา เพื่อเตรียมเสนอเป็นร่างของประชาชนบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาโดย ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญด้วย ร่างกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร” มีหลักการคล้ายๆ กับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร โดยผนวก ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มาอยู่ด้วยกัน กลายเป็น “ปัตตานีมหานคร” มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็งงๆ อยู่ว่าทำไมพรรคเพื่อไทยไม่เสนอออกมาเป็น พ.ร.บ.ด้วยพรรคในเมื่อมันเป็นนโยบาย แต่กลับให้ภาคประชาชนต้องล่าลายชื่อเพื่อเสนอเอง นี่คือ สิ่งที่พี่น้องใน 3 จังหวัดควรตั้งคำถาม ว่า เขาผลักดันเพื่อ “หาเสียง” หรือเชื่ออย่างนั้นจริงๆ
       
        การรวมศูนย์อำนาจ คือ ปัญหาหนึ่งของสังคมไทยโดยรวม การกระจายอำนาจเพื่อสร้างขบวนการมีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม คือ ทิศทางที่เป็นความหวังของการพัฒนาในอนาคต เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นที่มีรากเหง้ามายาวนาน ไม่ว่าเชียงใหม่ โคราช ขอนแก่น ลพบุรี อยุธยา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ฯลฯ ล้วนมีศักยภาพ มีอัตลักษณ์ของตัวเองในการที่จะพัฒนาไปให้สอดคล้องกับพื้นฐานต่างๆ ที่แต่ละเมืองมีอยู่และไม่ใช่รอการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนามาจาก ศูนย์กลางเป็นหลัก การกระจายอำนาจ คือ วิธีการหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ต้องรอให้มีการวางระเบิดทั่วบ้านทั่วเมืองแล้วค่อยกระจายอำนาจให้
       
        ผู้ที่พยายามผลักดันแนวความคิด “นครปัตตานี” บอกว่า หากแก้ปัญหาด้วยการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถี ชีวิตของผู้คน (รวมหมดทั้งเรื่องภาษา ศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม) รวมถึงได้ผู้นำที่มาจากคนในพื้นที่เองแล้ว ปัญหาความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ ก็จะหมดไป
       
        ที่สำคัญ “ทหาร” ก็ต้องถอนกำลังกลับไปโดยปริยาย เนื่องจากได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งหมดแล้ว ซึ่งฟังดูแล้วยังกับว่า “นครรัฐปัตตานี” คือ ยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมให้หมดสิ้นไปโดยพลัน โดยไม่ได้มองปัญหาอื่นๆ ที่มีอยู่อีกมากมายในพื้นที่ว่าจะแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด การค้าสินค้าเถื่อน ฯลฯ นอกจากหาที่ยืนให้กับกลุ่มที่อยากมีอำนาจกลุ่มใหม่ ถ้าอย่างนี้เราน่าจะเติมคำว่า “มหานครรัฐปัตตานี” เข้าไปด้วยไม่ดีกว่าหรือ เผื่อจะได้ทำให้เจริญรุ่งเรืองกันให้สุดๆ ไปเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น