xs
xsm
sm
md
lg

แยกเสือออกจากป่า : กลยุทธ์เพื่อแก้ภัยใต้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“แยกเสือออกจากป่า แยกปลาออกจากน้ำ” วาทะที่แฝงไว้ด้วยนัยแห่งกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความรุนแรง อันเกิดจากการก่อการร้ายของคนกลุ่มหนึ่งและหลบหนีการจับกุมจากฝ่ายบ้านเมือง โดยอาศัยการแฝงและฝังตัวอยู่ในกลุ่มคนที่ทำให้ยากแก่การปราบปรามให้หมดสิ้นไป

จากนัยเชิงปรัชญาแห่งวาทะดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นคำเปรียบเทียบในเชิงกลยุทธ์โดยยึดหลักธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเรามาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ว่าเสือจะอยู่ปลอดภัยจากการถูกมนุษย์ล่าได้ก็ต้องอาศัยความรกทึบของป่าเป็นเครื่องกำบัง และในขณะเดียวกัน เสือที่อยู่ในป่ายังมีศักยภาพในการกัดกินมนุษย์ผู้ล่าได้มากกว่าเสือที่ไม่มีป่าบัง

ดังนั้น ถ้าจะล่าเสือโดยที่เสี่ยงต่อการถูกเสือกัดกินน้อยที่สุดก็คือ การต้อนเสือให้ออกจากป่ามาสู่ที่โล่งแจ้ง จะทำให้ล่าเสือได้ง่ายขึ้น ทั้งโอกาสที่จะถูกเสือทำร้ายก็น้อยลงด้วย

แต่การที่คนต้องเข้าป่าเพื่อต้อนเสือก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ทั้งยังเสี่ยงจากการถูกเสือทำร้ายได้ด้วย

ดังนั้น ทางที่น่าจะทำให้การล่าเสือได้ผลดีในปัจจุบัน น่าจะปรับกลยุทธ์ที่ว่านี้ให้สอดคล้องกับสภาพทางสังคมปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

1. แทนที่จะเข้าป่าต้อนเสือให้ออกจากป่า ควรจะหันมาปรับปรุงสภาพป่าให้มีสภาพรกชัฏน้อยลง และไม่เอื้อต่อการซ่อนตัวของเสือ หรือจะเรียกว่าแยกป่าออกจากเสือก็ได้

2. เมื่อปรับปรุงสภาพป่าให้โปร่งและไม่เอื้อต่อการอยู่ของเสือแล้ว คนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเสือก็จะต้องรวมตัวกันเป็นชุมชนจัดตั้งเพื่อรักษาสภาพป่า และป้องกันการเข้ามาของเสือ

เพียง 2 ประการนี้ก็พอที่จะป้องกันความเดือดร้อนอันเกิดจากเสือ ทั้งยังทำให้การล่าเสือเป็นไปโดยง่ายดายอีกด้วย

ส่วนประเด็นแยกปลาออกจากน้ำก็มีนัยทำนองเดียวกัน คือ ปลา ทั้งที่เป็นปลาดุร้าย และปลาไม่ดุร้าย ทั้งยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจก็ล้วนแล้วแต่มีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยแหล่งน้ำ

ดังนั้น เมื่อคนต้องการจับปลาไม่ว่าจะนำมาเป็นอาหาร หรือจับปลาที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ จะดำเนินการด้วย 2 วิธี คือ

1. เอาปลาออกจากน้ำโดยใช้เครื่องมือจับปลาขึ้นจากน้ำ อาจเป็นอวนแห หรือแม้กระทั่งเบ็ด

การจับปลาด้วยวิธีนี้เป็นวิธีการที่ง่าย ลงทุนน้อย แต่อาจไม่ได้ปลาที่ต้องการทุกครั้งเสมอไป และไม่สามารถขจัดปลาที่เราไม่ต้องการให้หมดไปจากแหล่งน้ำได้

2. เอาน้ำออกจากปลา โดยการวิดน้ำจนแห้งขอด และจับปลาทุกชนิด ทุกประเภทที่ต้องการได้หมดไม่เหลือให้ขยายเผ่าพันธุ์อีกต่อไป

แต่วิธีนี้ต้องลงทุนลงแรงมาก และอาจไม่คุ้มในแง่ทางเศรษฐกิจและไม่สอดคล้องกับงบประมาณ ซึ่งมักมีอยู่จำกัด

ถ้าจะนำกลยุทธ์ 2 ประการที่ว่ามาเปรียบเทียบกับการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในจังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา วิธีที่ใช้แก้ปัญหาจากอดีตถึงปัจจุบันเทียบได้กับข้อไหน และถ้าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จะปรับปรุงอย่างไร

เพื่อให้มองเห็นมูลเหตุแห่งปัญหา และนำมาสู่การแก้ไขโดยอาศัยแนวทางตามกลยุทธ์ 2 ประการดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูสภาพปัญหาในปัจจุบัน รวมไปถึงภาวะแวดล้อมอันเป็นเหตุประกอบปัญหา ก็จะพบเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และเหตุแห่งการเกิดในครั้งแรกก็คือ สภาพความแตกต่างทางสังคม เริ่มตั้งแต่ศาสนา ความเป็นมาของชนชาติ และการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายปกครอง จึงทำให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้น และต่อสู้กับภาครัฐมาเป็นระยะๆ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2. ต่อมาได้เกิดเหตุเสริมความขัดแย้งขึ้นจากกลุ่มธุรกิจค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย และเข้ามารวมกับกลุ่มแรกในฐานะผู้สนับสนุนทุนในการต่อสู้

3. กลุ่มการเมืองที่อาศัยความขัดแย้งที่มีอยู่แสวงหาอำนาจทางการเมือง โดยทำตัวเป็นผู้ประสานผลประโยชน์เพื่อให้ตนเองเป็นแกนกลาง และมีความสำคัญ

4. กลุ่มวัยรุ่นที่หัวรุนแรงและต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ถูก 3 กลุ่มแรกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น

จากเหตุปัจจัย 4 ประการนี้ ถ้าจะแก้ปัญหาจะต้องเริ่มต้นที่การศึกษาหามูลเหตุของแต่ละกลุ่มว่าเป็นใคร และต้องการอะไรจากความขัดแย้ง แล้วมีการจัดตั้งชุมชนตัวอย่างโดยมีเงื่อนไขจะต้องไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นในชุมชน และผู้ที่อยู่ในชุมชนที่ว่านี้จะต้องได้รับสิทธิในการครอบครองที่ดินเพื่อทำมาหากินเพียงพอที่จะมีรายได้เพื่อการเลี้ยงชีพ และได้รับความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานรัฐเท่าที่พลเมืองในเมืองใหญ่ได้รับ ทั้งจะต้องได้รับความปลอดภัยเท่าที่พลเมืองทั่วไปได้รับด้วย

นอกจากนี้ รัฐจะต้องเร่งพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ถนนหนทาน และอนามัยขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อรองรับแรงงานภายในชุมชนให้เพียงพอเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน และตกเป็นเหยื่อของขบวนการบ่อนทำลายสังคมไปพร้อมๆ กัน

ถ้าทำได้เช่นนี้ก็เท่ากับแยกป่าออกจากเสือ โดยการทำสังคมให้โปร่งใสจนทำให้คนเลวไม่สามารถอาศัยหลบหลีกสายตาเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองได้ และถ้าจะให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็จะต้องเอาน้ำออกจากปลาโดยการแยกคนดีมารวมกัน และให้การสนับสนุนในทุกทางที่รัฐควรจะให้ ด้วยวิธีนี้เชื่อว่าทุกคนในสังคมจะเป็นหูเป็นตาช่วยรัฐขจัดคนเลวออกไปจนหมดสิ้นได้ในที่สุด

แต่เท่าที่เป็นอยู่ การแก้ปัญหากระทำด้วยการแยกเสือออกจากป่า และแยกปลาออกจากน้ำคือ มุ่งแก้ที่คนเลว โดยไม่ได้รับความร่วมมือจากคนดีเท่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้คนเลวซ่อนตัวอยู่ในหมู่คนดี โดยที่คนดีไม่กีดกันหรือในบางรายอาจเป็นหูเป็นตาให้คนเลวด้วยซ้ำ จึงทำให้ปราบคนเลวไม่หมด

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากเห็นทางฝ่ายรัฐแก้ปัญหาด้วยการช่วยคนดีให้มีอนาคต และในขณะเดียวกัน ก็ขจัดคนเลวออกไปโดยอาศัยมือคนดีร่วมด้วยอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมากกว่าที่รัฐทำอยู่ด้วยการใช้งานมวลชนสัมพันธ์ ซึ่งได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น