xs
xsm
sm
md
lg

พระราม3ทรุด สั่งคุมเข้ม50เขต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ทางเท้าถนนพระราม 3 ถล่ม ทรุดตัว ลึก 3 เมตร กว้าง 5 เมตร ยาว 50 เมตร กทม. สั่ง 50 เขตคุมเข้ม หวั่นเกิดเหตุซ้ำ วสท. เผยเหตุท่อประปาแตก คันคอนกรีตกั้นน้ำพัง ทำให้น้ำชะล้างดินใต้พื้นผิวลงลำประโดง แนะกทม.เร่งปักชีทพายป้องกันดินทรุดตัวเพิ่มขึ้นก่อนสร้างคันคอนกรีตใหม่ทดแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา เวลา 08.00 น. วานนี้ (3 เม.ย.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะ เดินทางเข้าตรวจสอบบาทวิถีทรุดตัว บริเวณหน้าร้านไก่ย่างกลางกรุง ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กทม. ซึ่งทรุดตัวลึกลงไปประมาณ 3 เมตร กว้างประมาณ 5 เมตร เป็นระยะทางยาวประมาณ 50 เมตร

นายธีระชนกล่าวภายหลังการตรวจสอบว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากกำแพงกั้นดินที่สร้างขึ้นมาพร้อมคูน้ำร่วม 20 ปี ได้เกิดการพังทลายลง และเป็นเหตุให้ทางเดินริมฟุตบาทล่มลงมาด้วย ซึ่งทางฟุตบาทบริเวณนี้ มีการซ่อมแซมแล้วถึง 3 ครั้ง โดยทุกครั้งที่มีการซ่อม จะเกิดการกดทับและทำให้ดึงทางเดินเท้าลงไปเรื่อยๆ จนเกิดการพังทลาย ส่วนการซ่อมแซม วิศวกรรมสถานจะเดินทางมาตรวจสอบพร้อมเก็บหลักฐานต่างๆ เพื่อนำไปประเมินก่อนที่ส่งให้สำนักการโยธากรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไขต่อไป

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทางผู้อำนวยการสำนักการโยธา ตรวจสอบทางเดินเท้าในลักษณะเดียวกัน ทั้งหมด 50 เขต ของ กทม. เพื่อเป็นการป้องกันและระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นซ้ำอีก

ต่อมา นายธวัธชัย สมบูรณ์ หัวหน้าศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร ได้เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมดำเนินการซ่อมแซมพื้นที่ โดยนำรถแบ๊คโฮจำนวน 3 คัน มาทำการรื้อแผ่นปูนที่ทรุดตัวลง แต่ไม่สามารถปรับปรุงได้ เนื่องจากติดเสาไฟฟ้าและต้นไม้ ทำให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่ทำการขุดเจาะด้วยมือ

นายธวัชชัยกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ฟุตบาทเกิดการทรุดตัว มีหลายปัจจัย เช่น ทรายที่อยู่ใต้พื้นเกิดการสไลด์ตัว การขุดเจาะเพื่อวางระบบสาธารณูปโภค รวมไปถึงสภาวะน้ำแล้ง ซึ่งต้องรอเจ้าหน้าที่จากวิศวกรรมสถานเข้ามาตรวจสอบความชัดเจนในการเกิดเหตุอีกครั้ง ทั้งนี้ สำนักการโยธาจะดำเนินการยกกำแพงกั้นดินและพื้นผิวฟุตบาทที่ทรุดตัวออกในทันที พร้อมกับจะปิดกั้นพื้นที่เพื่อทำการซ่อมแซมให้มีสภาพดังเดิม

นายธีรวัฒน์ สุขวิจิตร์ นายช่างปฏิบัติงานเครื่องกล สำนักงานเขตบางคอแหลม กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า จุดที่ทรดตัวนั้นเป็นทางเท้า ทรุดตัวลงไปในคลองข้างทาง ซึ่งสาเหตุ คาดว่า น่าจะเกิดจากการกัดเซาะของร่องน้ำที่อยู่ขนานกับทางเดินเท้า ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และยังไม่มีการสร้างเขื่อน หรืออาจจะเกิดจากการก่อสร้างบาทวิถีที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการทรุดตัวขึ้น โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ ได้ปิดกั้นเป็นพื้นที่อันตรายห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปแล้ว

นางอัธยา จันทรสุคนธ์ ผู้อำนวยการกองบริการสำนักการประปานครหลวง ทุ่งมหาเมฆ กล่าวว่า การทรุดตัวของฟุตบาททำให้ท่อประปาพีวีซีขนาด 30 ซม. ซึ่งอยู่ใต้พื้นเกิดการชำรุด ทำให้มีน้ำรั่วไหลออกมาเป็นจำนวนมาก โดยทางสำนักการประปา ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแก้ไขแล้ว ส่วนการซ่อมท่อประปาที่เสียหาย ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ของกทม. ดำเนินการซ่อมแซมพื้นผิวทางเดินในบริเวณดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้

จากนั้น เมื่อเวลา 14.00 น. นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมกล่าวว่า ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้ตามปกติโดยเร็ว หลังจากนี้ จะนำเสนอปัญหาเรื่องการทรุดตัวของพื้นผิวเข้าสู่สภากทม. เพื่อขอนโยบายในการปรับปรุงและตรวจสอบพื้นผิวถนนที่คาดว่าจะเกิดปัญหาพื้นผิวทรุดตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวอีก

นายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า สาเหตุที่บริเวณดังกล่าวเกิดการทรุดตัวนั้นมาจากอยู่ริมลำประโดง ซึ่งเป็นคลองเล็กๆ คนสามารถเดิมข้ามไปข้ามมาได้ ขณะเดียวกันท่อประปาใต้ดินในบริเวณเดียวกันมีรอยแตกทำให้น้ำไหลชะดินไปลงลำประโดง เมื่อดินไหลไปจึงก่อให้เกิดโพรงส่งผลให้พื้นผิวดินช่วงล่างไม่มีอะไรรองรับ ขณะเดียวกันมันก็สไลด์ออกด้านข้างทำให้กำแพงดินซึ่งเป็นคอนกรีตผุพังจึงทลายลงมา เท่ากับว่าน้ำได้ชะล้างดินใต้ทางเดินทางไปลงลำประโดงจนทำให้พื้นผิวทางเดินทางนั้นทรุดตัวลงกินพื้นที่ประมาณ 30 เมตร

ทั้งนี้ วสท.ได้เสนอแนะให้กทม.เร่งดำเนินการนำแผ่นคอนกรีตหรือชีทพายมาปักตามแนวขอบฟุตบาทที่ไม่ทรุดให้ได้ระยะทาง 40เมตรเป็นการชั่วคราวก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ดินในพื้นที่อื่นๆ ไหลลงลำประโดง จากนั้นเมื่อปักชีทพายแล้วเสร็จให้นำกำแพงคอนกรีตที่พังซึ่งอยู่ติดกับลำประโดงออกให้หมดจะได้สร้างทดแทนใหม่ จากนั้นเมื่อแล้วเสร็จให้ถมดินและปรับหน้าผิวฟุตบาทให้เรียบร้อยก็จะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับประชาชนแล้ว

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบหาสาเหตุถนนพระราม 4 ทรุดตัวนั้น ในวันที่ 4เม.ย.เวลา 10.30 น.จะมีการแถลงข่าวให้ทราบถึงข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการที่สมาคมวิศวกรรมสถานการณ์แห่งประเทศไทยในประบรมราชูปถัมภ์
กำลังโหลดความคิดเห็น