xs
xsm
sm
md
lg

วสท.เรียก กทม.-กปน-รฟม.ถกอีกรอบ หลังชี้ชัดสาเหตุพระราม 4 ทรุดไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วสท.ยังไม่ได้ข้อสรุปเหตุถนนพระราม 4 ทรุดคาดเกิดจากหลายสาเหตุทั้งแผ่น transition slap ของสถานีรถไฟฟ้า-ท่อการประปาทรุดตัว เผย ยังพบท่อไม่สังกัดหน่วยงานใดวางตัดขวางถนนไปต่อท่อระบายน้ำพระราม 4 ตรงที่เกิดเหตุ บ่ายนี้เรียก 3 หน่วยงาน กทม.-กปน.และ รฟม.ประชุมอีกครั้ง ชี้หากไม่ชัดเจนเล็งเปิดผิวจราจรหาข้อเท็จจริง

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อนุกรรมการสาขาวิศกรรมปฐพี สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้แถลงข่าวผลการตรวจสอบกรณีถนนพระราม 4 ทรุดตัวใกล้แยกวิทยุ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีท่ออยู่ถึง 13 ท่อ และ 1 อุโมงค์ จึงทำให้การตรวจสอบค่อนข้างลำบาก ทั้งนี้ เบื้องต้นนั้นน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ 1.จุดที่ทรุดตรงกับแผ่น transition slap ของสถานีรถไฟฟ้าที่มีการทรุดตัวต่างกันกับพื้นดินด้านข้าง ซึ่งเป็นไปได้ว่าแผ่นดังกล่าวไม่ได้ทรุดตัวตามปกติ ถูกค้ำด้วยท่อประธานของการประปานครหลวง (กปน.) หรือท่อระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำให้เกิดโพรงด้านล่างใต้แผ่นพื้น ซึ่งตามปกติแล้วการทรุดตัวไม่ควรเกิน 25 ซม.แต่ที่เป็นโพรงลึกน่าจะมีปัจจัยจากน้ำและช่องว่างที่นำดินทรายใต้แผ่นพื้นให้ไหลหายไป ซึ่งขนาดตรงกับ แผ่น transition slap พอดี 2.การทรุดและค้ำตัวของท่อประธานของการประปานครหลวง (กปน.) ที่อยู่เหนือท่อระบายน้ำกทม. อาจทำให้ท่อระบายน้ำชำรุดเป็นโพรงได้ 3.พบท่อที่ไม่ทราบการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน ซึ่งไม่รู้เป็นของหน่วยงานใด วางต่อท่อระบายน้ำข้างถนน โดยตัดขวางถนนไปต่อกับท่อระบายน้ำกลางถนนพระราม 4 ตรงบริเวณที่มีการทรุดตัว และตรงกับที่กล้องซีซีทีวีที่ กทม.ลงไปสำรวจพอดี 4.พบว่า มีท่อ water pipe ขนาด 30 ซม.วางตามแนวทางเท้าของถนนพระราม 4 โดยวางคร่อม Diaphragm wall ซึ่งท่อดังกล่าวอาจแตกหรือรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีท่อประปานครหลวงจำนวน 3 ท่อ วางฝังอยู่กลาสะพานไทย-เบลเยียม ที่ไม่ทราบชัดว่ามีการรั่วซึมหรือไม่
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอุโมงค์ในระดับลึกของรถไฟฟ้าใต้ดิน และน้ำจากคลองสาทรไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการยุบตัว โดยการยุบตัวของถนนน่าจะอยู่ในระดับพื้นผิวมากกว่า ส่วนโอกาสจะเกิดเหตุการณ์ถนนยุบตัวกับบริเวณอื่นๆ นั้น น่าจะเกิดขึ้นได้ ในพื้นที่ที่มีท่อตัดกัน ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของวันนี้จะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 หน่วยงาน กทม. กปน.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลังจากที่ วสท.ได้แจ้งจุดข้อสังสัยที่มีความเป็นไปข้างต้นให้หน่วยงานได้ตรวจสอบ ซึ่งหากได้ข้อมูลทั้งหมดก็สามารถสรุปสาเหตุได้ แต่หากข้อมูลไม่ครบถ้วนไม่สามารถสรุปได้ ก็ต้องมีการเปิดผิวการจราจรบริเวณที่เกิดการทรุดตัวเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งคงให้หน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ทั้งนี้ เห็นว่า การเปิดผิวจราจรจะเป็นการซ่อมแซมให้เกิดความแข็งแรงด้วย เพราะปัจจุบันซ่อมแซมให้ใช้งานได้ชั่วคราวเท่านั้น นอกจากนี้ เสนอให้มีการจำกัดน้ำหนักรถบรรทุกและการจราจรที่วิ่งผ่านด้วย

ส่วนกรณีที่ทางเท้าทรุดถนนพระราม 3 นั้น คาดการณ์ 1.เกิดจากกำแพงกันดินพัง และท่อที่อยู่ข้างใต้เกิดการทรุดตัว แล้วทำให้น้ำไหลออกมาแล้ว แล้วชะเอาดินหลังกำแพงและใต้ทางเท้าหายไป 2.มีการเสริมทางเท้ายกขึ้น 40 ซม.ซึ่งน้ำหนักนี้ทางผู้ออกแบบเดิมไม่ได้กำหนดเอาไว้ 3. กำแพงมีอายุ 20-30 ปี ไม่ได้มีการบำรุงรักษา และไม่ได้มีการกำหนดอายุโครงสร้างที่ใช้งาน ซึ่งทาง กทม.ต้องทบทวนการออกแบบการสร้างกำแพงกันดิน และการบำรุงรักษาที่จะต้องมีการตรวจสอบอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายก วสท.กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์ เกิดจากการไม่มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งเรื่องของการการใช้งาน การบำรุงรักษา ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่ขั้นตอนของการออกแบบ การก่อสร้างมักจะถูกต้องตามหลักวิศวกรรม แต่เมื่อมีหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งมาใช้งานในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่รู้ถึงวิธีการให้กลับคืนสู่สภาพเดิมที่ถูกต้อง ไม่รู้วิธีการบำรุงรักษา ก็อาจเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ซึ่งภารกิจของกทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ คือ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการลงสำรวจในจุดที่ล่อแหลม เพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น