xs
xsm
sm
md
lg

เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ Constitutional Coup II = Reverse Constitutional Coup ?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

เคยเขียนเล่าไว้ ณ ที่นี้ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ว่า การรัฐประหาร หรือ Coup D’Etat นั้น ไม่ได้มีแต่รูปแบบการยกกำลังออกมานอกกรมกองทหารกระจายกันยึดอำนาจตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานีวิทยุโทรทัศน์ อย่างที่เห็นกันบ่อยในช่วง 30 ปีก่อนเสมอไป

และก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องกระทำโดย “ทหาร” เท่านั้น

รัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญก็มีเหมือนกัน

คนทำเป็นพลเรือนไม่ใช่ทหาร

หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ ?

ผมขออนุญาตย้อนอดีตความเป็นมาของคำนี้หน่อย จะมีในตำรารัฐศาสตร์-นิติศาสตร์หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่เข้าใจว่าไม่มีโดยตรง

คำ ๆ นี้เป็นคำที่ผมได้จากการสนทนากับศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2539 แล้วนำมาเสนอในคอลัมน์ประจำที่เขียนอยู่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันขณะนั้น ซึ่งก็คือคอลัมน์ “หลังวัดชนะสงคราม” ที่กลับมาอีกครั้งในวันนี้ ที่เดิม หนังสือพิมพ์ฉบับเดิมที่เปลี่ยนชื่อเป็น ASTVผู้จัดการรายวัน

สถานการณ์พื้นฐานทางการเมืองขณะนั้นคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 211 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประวัติศาสตร์ที่ให้กำเนิดสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีความขัดแย้งกันระหว่างร่างรัฐบาลที่ผ่านรัฐสภาวาระที่ 1 กับร่างคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่มีศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชเป็นประธาน นักวิชาการส่วนใหญ่สนับสนุนร่างฉบับหลังที่อาศัยการตีความกฎหมายอย่างกว้างแก้ไขโครงสร้างของร่างฉบับแรกเสียหมด

ในการประชุมรัฐสภาวาระที่ 2 และ 3 ช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2539 สถานการณ์พลิกไปพลิกมา

แต่ในที่สุดร่างฉบับกรรมาธิการวิสามัญชนะร่างรัฐบาล

เป็นการร่วมมือกันทำงานในยามวิกฤตโดยมิได้นัดหมายของคน 2 คน ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภาที่ขึ้นนั่งบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมยามสถานการณ์เข้าด้ายเข้าเข็ม

Constitutional Coup มาจากคำ 2 คำผสมกัน Constitution + Coup d’Etat

อาจแปลตรง ๆ ได้ว่า….

“การรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ”

หรือ…

“การยึดอำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญและจัดตั้งองค์กรทางการเมืองมาจากรัฐสภา”

แต่ถ้าแปลโดยความหมายจะดูดีกว่า

“กระบวนการทำให้เกิดความยินยอมพร้อมใจกันของสมาชิกรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีต้นสายธารความคิดมาจากศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่เริ่มปูพื้นฐานความคิดมาตั้งแต่ปลายปี 2534 จนปรากฎอยู่ในบทความเรื่อง “Constitutionalism : ทางออกของประเทศไทย” เมื่อเดือนเมษายน 2537 แล้วพัฒนามาเป็นวิธีการรูปธรรมในนามของ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่… พ.ศ….” เผยแพร่ในการสัมมนาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2537 โดยได้รับการสานต่อโดยคพป. หรือคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ที่มีแกนนำสำคัญ 2 คน ศ.นพ.ประเวศ วะสี กับ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พัฒนาเป็นข้อเสนอที่ยื่นต่อรัฐสภาในเดือนเมษายน 2538 หลักการสำคัญอยู่ที่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยผ่านรัฐธรรมนูญเก่า ด้วยการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2534 ในมาตรา 211

เนื้อหาในทางทฤษฎีแล้วคือการยึดอำนาจประเภทหนึ่งมาจากรัฐสภา

อำนาจที่เรียกกันในภาษาวิชาการว่า “อำนาจก่อตั้งองค์กรทางการเมืองและบัญญัติรัฐธรรมนูญ” หรือ “Omnipotence” หรือ “Pouvoir Constituant” มาจากนักการเมือง โดยวิธีการสันติ และยินยอมพร้อมใจเองของรัฐสภา

แล้วนำอำนาจที่ยึดมานั้นถวายคืนพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงใช้ร่วมกับประชาชน โดยผ่านนวัตกรรมทางกฎหมายมหาชนจำนวนหนึ่ง ต้นแบบที่เสนอมาคือใช้รุปแบบคณะกรรมการพิเศษ + การลงประชามติ

ทั้งนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายของหลักการ “Constitutionalism” ที่ไม่ควรแปลตรงตามตัวอักษรว่ารัฐธรรมนูญนิยม แต่ควรแปลตามความหมายว่า…

“การจัดทำกรอบกติกาในการจำกัดและเหนี่ยวรั้งอำนาจของผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง”

แม้หลักการและข้อเสนอต้นสายธารความคิดข้างต้นนี้จะไม่สำเร็จ เพราะถูกต้านจากนักการเมือง ถูกปรับแปรเปลี่ยนโฉมหน้าโดยคปก. หรือคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง แต่ในที่สุดเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 211 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจนผ่านวาระที่ 1 ถึงชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา ก็ได้มีการแก้ไขใหม่หมดโดยอาศัยการตีความกฎหมายอย่างกว้าง ให้มีรูปแบบและเนื้อหาที่มีโอกาสจะเป็นผลประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า

ทั้งร่างแก้ไขมาตรา 211 ฉบับต้นสายธารความคิดเดิมของศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ และฉบับคพป. รวมทั้งปฏิบัติการร่วมในรัฐสภาของศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ช่วงชิงร่างแก้ไขมาตรา 211 กลับคืนมาสู่ภาคประชาชนได้ระดับหนึ่ง ในมุมมองของผม ณ เดือนกันยายน 2539 ถือว่าล้วนแต่เป็น Constitutional Coup ด้วยกันทั้งสิ้น

เหตุการณ์ผ่านมา 16 - 17 ปี ณ สถานการณ์ปัจจุบันผมนั่งครุ่นคิดคำนึงอยู่เงียบ ๆ แล้วจึงนำคำ คำนี้ออกมาใช้อีกครั้ง

Constitutional Coup

เพราะมองเห็นว่าหนึ่งในสถานการณ์ร้อนในสัปดาห์นี้ก็คือเรื่องการแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งก็คือมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ 2534 ที่ฟากพรรครัฐบาลกำลังเร่งรัดอย่างหนักถึงขนาดจะขยายสมัยประชุมวิสามัญนิติบัญญัติออกไปอีกประมาณอย่างน้อย 1 เดือน

ถ้าเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2539 เป็น Constitutional Coup I เหตุการณ์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2555 ก็จะเป็น Constitutional Coup II ที่มีเป้าหมายและผลต่างกัน

สรุปง่าย ๆ ว่า Constitutional Coup I มีเป้าหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำกรอบกติกาในการจำกัดและเหนี่ยวรั้งอำนาจของผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ Constitutional Coup II มีเป้าหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำกรอบกติกาเพื่อให้อำนาจเต็มที่แก่ผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง

หรืออีกนัยหนึ่ง Constitutional Coup II จะเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการที่ทำให้ระบบเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองกระชับอำนาจยิ่งขึ้น เบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น ภายใต้วาทกรรมลวงที่สร้างมายาภาพว่าจะทำให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น หรือขจัดผลพวงจากการรัฐประหาร

เป็น Reverse Constitutional Coup ว่างั้นเหอะ !
กำลังโหลดความคิดเห็น