xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เร่งทำเป้ากองทุนสตรี กทม.หวัง 1 แสน สมัครแค่ 3 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คำแถลงนโยบายขอ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 ที่ระบุ จะจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีวัตถุประสงค์หลัก 4 ข้อ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหวังให้สตรีเข้าถึงได้ง่าย

ถึงขั้นเชื่อว่า สตรีทั้งประเทศจะตอบรับมาร่วมใช้เงินกองทุนฯ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนา ความสามารถเป็นกำลังที่สำคัญและมีบทบาทในประเทศอย่างสมศักดิ์ศรี

แรกๆ นโยบายนี้ ถูกมองว่าไม่ต่างอะไรมากกับการแจกเงินเข้าไปยังชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท กองทุนเอสเอ็มแอล ในอดีต หรือแม้กระทั่งกองทุนชุมชนพอเพียง นโยบายประชาธิปัตย์ ที่บางครั้งก็แอบเอาเงินไปอุดชุมชนฐานเสียงตัวเอง

นายกฯยิ่งลักษณ์ มอบหมาย นลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบเป็นประธานกองทุนฯโดยตรง มีตัวเงินที่จะใช้งบประมาณแผ่นดิน 7,700 ล้านบาท จังหวัดละ 100 ล้านบาท หรือมากกว่า ซึ่งก่อหน้านั้นประกาศให้สตรีลงทะเบียนสมาชิกเป็นทางการวันที่ 18-29 ก.พ.55เท่านั้น
 

จนมีการร้องเรียนจากส.ส.พรรคเพื่อไทย ภาคอีสาน และองค์กรสตรีต่าง ๆให้ขยายเวลา เพื่อรองรับฐานเสียงตัวเอง จนรัฐบาลต้องยอมขยายไปจนถึง 31 มี.ค.

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)ที่รัฐบาลตั้งให้เป็นกรรมการมีหน้าที่รับสมัครผู้ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกผ่าน กศน.ทั่วประเทศ เปิดเผยตัวเลขยอดสมัคร

“ตั้งแต่ 18 ก.พ.ถึง 18 มี.ค. มียอดผู้สมัครทั่วประเทศทั้งสิ้น 4,780,154 คน”

จะปิดรับสมัครในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ก่อนสรุปยอดผู้สมัครในแต่ละตำบลให้กับนายอำเภอ เพื่อจัดเวทีประชาคมเลือกตัวแทนเพื่อไปบริหารกองทุนของชุมชน
 

แต่กลับพบว่า พื้นที่กทม.ยอดผู้สมัครไม่เป็นไปตามเป้า มีข่าวแว่วว่า กทม.กำลังเร่งทำเป้าอยากหนัก เพื่อเจาะฐานเสียงของ พรรคประชาธิปัตย์ให้ได้
 

มีตัวเลข กทม. ออกมาว่า มีสตรีลงทะเบียนเพียง 3 หมื่นคน จากที่กำหนดไว้ 9 หมื่นหรือ 1 แสนคน มีใบสมัครชักชวนเป็นการใหญ่ ว่า ให้ผู้หญิงในครอบครัวอายุ 15 ขึ้นไปสมัครได้หมด แถมจะปลดล็อกภูมิลำเนาให้ ใครจะสมัครที่ไหนก็ได้

ปัญหาการขยายเวลาไป 1 เดือน เห็นจากภาพรัฐบาลพยายามส่ง “นลินี ทวีสิน” และส.ส.พรรคเพื่อไทยลงพื้นที่เข้าหาฐานเสียง หวังเปิดช่องสตรีอายุเกิน 15 ปีทั่วประเทศ ลงทะเบียนออนไลน์

จะบอกว่าอ่อนประชาสัมพันธ์ก็คงไม่ผิด เพราะการขยายเวลาผู้รับผิดชอบไปเริ่มให้ลงทะเบียนออนไลน์เมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา จนเกิดปัญหาการเข้าถึงของคนชนบท แม้จะมีข้อเสนอให้ขยายเวลาอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน ก็ไม่มีคำตอบจากรัฐบาล

รวมทั้งข้อเสนอ ปลดล็อกภูมิลำเนา เพื่อเข้าถึงกองทุนฯ ก็ไม่มีเสียงตอบจากรัฐบาลเช่นกัน

กลายเป็นว่า 2 มาตรฐานไปกลายๆ เพราะล่าสุดในการประชุม ครม.สัญจร ที่จ.ภูเก็ต นายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศว่า สตรีต้องได้รับเท่าเทียม เพราะกองทุนฯ จะให้โอกาสเท่าเทียม ทั่วถึง

แถม พรรคประชาธิปัตย์ ยังออกมาจัดหนัก แฉว่ามีการเก็บค่าธรรมเนียมผู้เข้าสมัครที่ จ.สงขลา รายละ 15,000 บาทแลกกับโควตา กู้ 5 หมื่นบาท โดยไม่ต้องคืนเงินกู้นั้น เท่ากับเป็นการจ่ายค่าหัวคิว

มีขบวนการหลอกลวงสตรี โดยมีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 1,500 บาทต่อราย และยังมีการประกาศแบบไม่สนใจใครว่าหากชำระแล้วจะได้เงินกู้ 7-8 หมื่นบาทต่อราย

พรรคประชาธิปัตย์ ยังจับตาการลงทะเบียน ที่อ้างว่าได้รับทราบการเข้ารับสิทธิไม่ทั่วถึง ใช้กองทุนเป็นเงื่อนไขในการกำหนดบุคลากรเข้าร่วม ที่ต้องมีแนวคิดสนับสนุนรัฐบาล ยังพบว่าที่น่ากลัวคือมีการนำรายชื่อผู้ลงทะเบียนเข้าไปสวมสิทธิการสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้คนพรรคเพื่อไทย จะออกมาตอบโต้ ว่าไม่จริงก็ตาม ขณะที่“นลินี”ก็ออกมาโต้ ว่าไม่คิดที่จะใช้กองทุนสตรียึดฐานเสียง แต่จากตัวเลข ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นคนภาคอีสานและภาคเหนือ พูดตรงๆก็คือฐานเสียงพรรคเพื่อไทย หรือคนเสื้อแดงนั้นเอง

เห็นชัดๆ จากเวทีสัมมนาในหัวข้อ“กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี: มุมมองวิชาการ”ที่ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นักวิชาการต่างตั้งข้อสังเกตว่า กองทุนนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ถึงมือผู้ได้รับผลประโยชน์ ทำให้สามารถจัดการ พึ่งพาตัวเองได้ แต่สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงกองทุนกับภาพใหญ่ โดยผ่านกลไกพัฒนาสตรีที่มีอยู่มาก นอกจากนี้ยังมี 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด บูรณาการกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่สุด
 

การสร้างขีดความสามารถกลุ่มสตรีของผู้รับทุน ต้องคิดว่าจะสร้างขีดความสามารถอย่างไร และต้องคิดด้วยว่าจะสามารถติดตามผลได้อย่างไร

การสร้างขีดความสามารถไม่ใช่เพียงแค่บุคคลเท่านั้น แต่ต้องเน้นกลุ่มด้วย ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช่เสริมพลังทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ความไม่เสมอภาคยังเกิดอยู่ ต้องสร้างเรื่องความเข้าใจมิติความเท่าเทียมทางเพศโดยให้องค์ความรู้กับสังคมด้วย

กองทุนนี้ควรมองกลุ่มผู้หญิงอื่นที่มีภาวะเฉพาะด้วย เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้หญิงที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่อยู่ในประเทศไทย ฯลฯ น่าจะได้นำมามองด้วย ทำอย่างไรให้เข้าถึงกองทุนนี้

มีการพูดถึง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ดำเนินอยู่ตอนนี้อยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายก โดยอ้าง ความง่าย คล่องตัว แต่คิดว่าควรผลักดันเป็นกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบและจะนำมาสู่เรื่องการเป็นธรรมาภิบาล เพราะการบริหารนโยบายภาครัฐต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใส เป็นธรรม เข้าถึง ตอบสนองประชาชน การเป็นแค่ระเบียบสำนักนายกฯ หลักธรรมาภิบาลจะไม่เห็น

มีการสังเกตถึง การได้มาของเงินกองทุนที่ยังไม่ชัดเจนว่ามาจากส่วนไหน ซึ่งคาดว่ามาจากเงินงบกลาง ปี 2555 ที่มาจากกู้ยืม 3.5 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อนำมาใช้ในกองทุนแล้ว โอกาสคืนเงินมีมากน้อยแค่ไหน จะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้ได้เงินคือที่เรากู้มา และจะทำให้เกิดภาระหนี้สินของประชาชนเหมือนกองทุนหมู่บ้านหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ต้องคิด

ข้อสังเกตความเท่าเทียมของกองทุน ดูแล้วเหมือนว่ากองทุนนี้เสมือนหนึ่งว่าจะจัดสรรให้จังหวัดละ 100 ล้านบาท ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงความเท่าเทียมมีหรือไม่ เพราะ จ.นครราชสีมา กับ จ.แม่ฮ่องสอน ก็มีขนาดต่างกันจะจัดสรรอย่างไร ประเด็นต่อมาคือ คนที่จะได้เงินกองทุนต้องขึ้นทะเบียนกลุ่ม แล้วค่อยทำโครงการขอ ซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างมาก และหากเกิดกลุ่มมาขอมากกว่าเงินที่มี ใครจะพิจารณาให้อย่างไร ประสิทธิภาพในการบริหาร การจัดการเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป และกองทุนนี้มีกรรมการระดับจำนวนมาก เพราะหากมีหลายๆ กรรมการการคัดสรรกรรมการต่างๆ เหล่านี้มีระเบียบเป็นอย่างไร

นักวิชาการการกังวล ถึงการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และเป็นการเลือกปฏิบัติ การคัดเลือกสตรีผู้มีสิทธิต้องเป็นสมาชิก ต้องมีกลุ่มก้อน จะไม่ครอบคลุมทุกคน รวมถึงกระบวนการรับสมัครสมาชิก การคัดสรรกรรมการ ต้องมีกระบวนการที่คำนึงถึงสิทธิ เน้นการออกเสียงประชาชนเป็นที่ตั้ง

“จากการปอกเปลือกชัดๆ แล้วจะเห็นว่าเป็นเพียงนโยบายประชานิยม ไม่ใช่นโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เราในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี ต้องถามหาความถูกต้อง ดูว่าเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ถูกต้องหรือไม่”บทสรุปต่อกองทุนพัฒนาสตรี

รัฐบาลไม่ตอบคำถามว่า จะมีการแก้ปัญหาจากข้อเสนอจากทั้งนักวิชาการหรือองค์กรสตรีเช่นไร

แต่รัฐบาลกลับไปเลือกที่จะประชาสัมพันธ์ ว่า มีผู้สมัครนางงามถึง 30 คน เดินทางเข้าพบ นางนลินี ทวีสิน ที่ทำเนียบรัฐบาล หวังเพียงเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ไม่รู้ว่า 30 นางงามถูกบังคับให้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯเท่านั้นหรือไม่
 
แต่บอกได้ว่า เร่งทำเป้าสมาชิกกองทุนสตรี กันน่าดู

กำลังโหลดความคิดเห็น