xs
xsm
sm
md
lg

ปรองดองเพื่อใคร หรือเป็นเพียงเครื่องมือนิรโทษกรรมทักษิณ (1)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

เรื่องการสร้างความปรองดองขึ้น เป็นนโยบายหลักทางสังคมของรัฐบาลปูแดง กำลังกลายเป็นประเด็นทำลายศรัทธาความเชื่อถือของคนไทยที่มีต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก และผู้นำการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งออกหน้ารับบทบาทประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่กลายเป็นตัวแปรทำลายบรรยากาศการปรองดองเสียเอง โดยเฉพาะการเปิดแถลงสาระแนวคิดการปรองดองต่อสาธารณชนของกรรมาธิการชุดนี้ ที่โรงแรมมิราเคล เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา

ภริยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ได้กล่าวว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะผู้ทำวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าตั้งขึ้น ไม่ได้ไปสัมภาษณ์ญาติของเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์พฤษภาคมหฤโหด 2553 เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงใน “แก้วสามประการ” ของทักษิณ ก่อเหตุรุนแรงเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ยุบสภา” ทั้งๆ ที่รัฐบาลและสภาไม่กระทำการอะไรผิดหรือเสียมารยาททางการเมืองตามระบอบรัฐสภา การเรียกร้องและประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงครั้งนี้ความเข้มข้นกว่าเดิมมาก เต็มไปด้วยความรุนแรง มีการใช้อาวุธประทุษร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อคนเสื้อแดงยึดพื้นที่ใน กทม.เพื่อหวังจะกดดัน ข่มขู่ และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ในหลายพื้นที่ เช่น ย่านราชดำเนิน ปทุมวัน สีลม และสี่แยกราชประสงค์ และมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจากการนี้ เช่น ที่ถนนสีลม เมื่อแม่ค้าท่านหนึ่งถูกระเบิด M79 เสียชีวิตที่บริเวณแยกศาลาแดง ทิ้งลูกเล็กๆ ไว้ 2 คน

แต่ความเลวร้ายเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 เมื่อหน่วยทหารถูกปิดล้อมด้วยฝูงชนเสื้อแดง ครั้นพลบค่ำชุดล่าสังหารเสื้อดำ หน่วยโรนินของอดีตเสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ในอาณัติแก้วสามประการของทักษิณ ก็เปิดศึกถล่มทหารอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธสงคราม จนมีทหารเสียชีวิต 5 นาย รวมทั้ง พล.อ.ร่มเกล้า ที่ถูกระเบิดที่ท้ายทอยกับทหารบาดเจ็บอีกหลายนาย ตลอดจนมีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตอีก 20 นาย ในคราวเดียวกันนี้

ความโหดเหี้ยมเกิดขึ้น เมื่อคนเสื้อแดงที่ถูกปลุกระดมให้เกิดความบ้าคลั่งจากแกนนำนักปลุกระดมอาชีพ จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ได้ทำการปิดล้อมมิให้รถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บได้ แม้กระทั่งรถยนต์ของมูลนิธิอาสาสมัครต่างๆ ก็ถูกกั้นมิให้เข้าไปรับคนเจ็บ และในวันนี้สังคมได้เห็นฝูงชนเสื้อแดงบ้าคลั่ง ทุบตีทหารอย่างเมามัน

แต่รัฐบาลทักษิณอยากสร้างความปรองดอง มีนักวิชาการ นักสังคมศาสตร์ และแพทย์ทางจิตวิทยา ได้แสดงความคิดเห็นว่าด้วยการปรองดองภายใต้เงื่อนความขัดแย้งพราะคนเพียงคนเดียว ปรัชญาทางพุทธศาสนา คือ การก่อกรรมของคนเพียงคนเดียวที่มีความโลภอย่างนายทุนสามานย์ จึงเกิดช่องว่างทางความคิดว่าผลประโยชน์ของคนคนเดียวกับผลประโยชน์ส่วนรวมในเรื่องนิรโทษกรรมอันเป็นเรื่องที่คนไทยยอมรับไม่ได้ว่ากระทำผิด และจะพ้นผิดด้วยหลักการปรองดองของรัฐบาลหรือหุ่นเชิดของรัฐบาล และยากที่จะปิดหรือทำให้ช่องว่างความคิดนี้แคบลง

การปรองดองนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเงื่อนไขของการปรองดองของทั้งสองฝ่ายมีลักษณะ “ได้กับได้” หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขาดความเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์ “ได้กับได้” แล้วการจะให้เกิดการปรองดองก็ล้มเหลว

ดังนั้น การปรองดองจะต้องพิจารณาจากหลักการปรองดอง 5 ประการ คือ

1. หลีกเลี่ยงการแสดงการเอารัดเอาเปรียบด้วยอำนาจทั้งปวง

2. แสดงความจริงใจที่จะไม่เอาหรือหวังประโยชน์จากการปรองดอง

3. หลีกเลี่ยงทัศนคติที่สร้างสัญญาณว่าจะเอาชนะให้ได้

4. ต้องสร้างบรรยากาศความร่วมมือร่วมใจ

5. ต้องสร้างบรรยากาศความประนีประนอมในการเสนอแนวทางคิด และวิธีการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เราอาจจะต้องพิจารณาถึงประวัติศาสตร์การปรองดองสากล โดยเฉพาะจากประวัติความรุนแรงของสงครามกลางเมือง หรือคนในชาติใช้ความรุนแรงต่อกัน กรณีสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ นั้น ปะทุขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1861 เมื่อประธานาธิบดีลินคอร์น ประกาศกฎหมายเลิกทาส ทำให้รัฐฝ่ายใต้ซึ่งได้ประโยชน์จากแรงงานทาส หรือแรงงานได้เปล่า อันเป็นต้นตำรับทุนนิยมสามานย์ แยกตัวออกจากสหภาพรัฐอเมริกา ประกาศตัวเป็นสหพันธรัฐฝ่ายใต้ มีประธานาธิบดีเดวิส เป็นผู้นำ จึงเกิดสงครามกลางเมือง เพราะรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดไว้ว่า "การรวมประเทศเป็นสหรัฐอเมริกา เพื่อความสมบูรณ์มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ รัฐสมาชิกจะแยกตัวเป็นรัฐอิสระไม่ได้”

รบกัน 4 ปี ฝ่ายใต้แพ้ และรู้ชัดเจนว่าเอาชนะสงครามไม่ได้อีกต่อไปแล้ว นายพลโรเบิร์ต อี ลี แม่ทัพฝ่ายใต้กล่าวว่า "สู้รบต่อไปก็จะยิ่งสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อมากขึ้น ควรจะยุติสงครามและยอมแพ้อย่างมีเกียรติ” ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะต้องสูญเสียสิ่งมีค่าอันเป็นรางวัลของการสู้รบ ได้แก่ "ต้องเลิกทาสอันเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐฝ่ายใต้ และต้องเสียอำนาจอธิปไตยให้กับรัฐบาลกลาง”

นายพลเนธาน บี ฟอร์เรส แม่ทัพคนหนึ่งของฝ่ายใต้กล่าวว่า “เมื่อการแยกตัวเป็นอิสระจากสหภาพแห่งสหรัฐอเมริกาล้มเหลว ท่านทั้งหลายเป็นทหารที่ดี ท่านทั้งหลายจงเป็นพลเมืองที่ดีของสหรัฐฯ จงเคารพกฎหมาย รักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีของท่านด้วยการรักษาความเป็นสุภาพบุรุษ และต่อไปนี้รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ที่พวกเรายอมแพ้ จะดูแลพวกเราด้วยความเมตตา การเปิดใจกว้าง และยุติธรรม”

สำหรับประธานาธิบดีลินคอร์น ปราศรัยเมื่อชนะสงครามกลางเมืองแล้ว กล่าวว่า “ขอให้ยุติความอาฆาตมาดร้าย เคียดแค้นต่อกัน ทำร้ายกัน ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันจะเป็นตัวแปรผลักดันให้เกิดการรักษาบาดแผลของการรบราฆ่าฟันกัน หากกระทำการเช่นนี้ได้ การอุ้มชูสันติสุข ก็จะเกิดขึ้นในหมู่คนอเมริกันทั้งประเทศ” เงื่อนไขที่สำคัญของการเจรจายอมแพ้นั้น รัฐบาลต้องให้เกียรติทหารฝ่ายใต้ แม่ทัพฝ่ายใต้ออกคำสั่งสุดท้ายให้ทหารกลับบ้านพร้อมอาวุธประจำกายและม้า เพื่อการป้องกันตัว มีการกำหนดข้อปฏิบัติในการเป็นพลเมืองดี และยุติสงครามทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสงครามกองโจร และผู้บังคับบัญชากองทัพฝ่ายใต้ประกาศเลิกทัพ และสลายกองทัพ

ส่วนทหารหรือพลเรือนไม่ว่าฝ่ายใดที่กระทำผิดกฎสงครามและกฎอัยการศึก รวมทั้งกฎหมายอาญาของบ้านเมือง เช่น ฆ่าคนบริสุทธิ์ ปล้นสะดม ลักขโมย เผาบ้านเรือน ยุ้งฉาง โดยพละการ ข่มขืนและทำลายทรัพย์สินสาธารณะโดยพละการต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

กรณีสาธารณรัฐแอฟริกาใต้นั้น ก็มีการปรองดองในระดับสากล เพราะลัทธิการแยกผิวทำให้มีการต่อต้านทั่วโลก เพราะมีการกดขี่ ข่มเหง รังแก ทำร้ายถึงชีวิต กับพวกคนแอฟริกันผิวดำที่ต่อต้านคนขาว ซึ่งนายเนลสัน แมนเดลลา ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ถูกคุมขัง 30 ปี ที่สรุปการปรองดอง คือ การเลิกลัทธิแยกผิวอย่างสิ้นเชิง มีการนิรโทษกรรมทั้งสองฝ่ายที่ก่อการประท้วงต่อต้าน และการต่อต้านของเจ้าหน้าที่

การนี้ นายเอฟ เคิร์ก อดีตประธานาธิบดีผิวขาวคนสุดท้าย แสวงประโยชน์ด้วยการกล่าวขอโทษต่อหน้าคณะกรรมาธิการ “ข้าพเจ้าขอโทษต่อการกระทำของข้าพเจ้า ที่กดขี่รังแกคนผิวดำ ด้วยหลักการแยกผิว และการใช้กฎหมายบังคับจับกุมคนที่ต่อต้านการแยกผิว และขอให้คณะกรรมาธิการยกโทษให้บุคคลเหล่านั้นด้วย”

แต่ครอบครัวของ สตีเวน บิโก ไม่ยอม เพราะเขาถูกสังหารโหดโดยเจ้าหน้าที่รัฐขณะถูกคุมขัง ขอให้คณะกรรมาธิการใช้อำนาจศาลจับกุมคนที่เกี่ยวข้องกับการสังหารโหดนักโทษการเมืองมาลงโทษ

ศาลฎีการับคำร้องจากคณะกรรมาธิการ และมีการจับกุมสอบสวนลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่กระทำการโดยพละการ ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตในคุกหลายร้อยคน ความปรองดองจึงเกิดขึ้นในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น