ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลจังหวัดอุดรธานีพิพากษาสั่งจำคุก "ขวัญชัย ไพรพนา" คดีพาพวกรุมทำร้ายร่างกายกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเวลา 4 ปี เจ้าตัวยื่นอุทธรณ์และขอประกันตัว ด้าน“กี้ร์” เฮได้เที่ยวปีใหม่ หลังศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวคดีก่อการร้าย ตีราคาประกัน 6 ล้าน รองอธิบดีกรมคุกเผยมี 50 คนเข้าข่ายนักโทษการเมือง
เช้าวานนี้ (28 ธ.ค.) ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี นัดอ่านคำพิพากษา นายขวัญชัย สาราคำ (ขวัญชัย ไพรพนา) ประธานชมรมคนรักอุดร กรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยฝ่ายโจทก์มี 7 คน ได้ยื่นฟ้องนายขวัญชัย เป็นจำเลยที่ 1 โดยกล่าวหาว่า พยายามฆ่า ทำร้ายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และทำให้เสียทรัพย์ เหตุเกิดในสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม เทศบาลนครอุดรธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 โดยคดีดังกล่าวนำเข้าดำเนินการในศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีของศาลจังหวัดอุดรธานี ระหว่างโจทก์ทั้ง 7 คน กับ นายอุทัย แสนแก้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์และจำเลยสามารถพูดจาตกลงกันได้ ส่วนคดีของ นายขวัญชัย จำเลยที่ 1 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ เวลา 09.30 น. ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก
ศาลจังหวัดอุดรธานี ได้อ่านคำพิพากษา นายขวัญชัย สาราคำ (ไพรพนา) ประธานชมรมคนรักอุดร กรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นฝ่ายโจทก์ 7 คน ได้ยื่นฟ้อง นายขวัญชัย เป็นจำเลยที่ 1 โดยศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ทั้งนี้ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงเห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 8 เดือน ปรับ 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันเกิดเหตุ
ภายหลังอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จนายขวัญชัย ได้ใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาทประกันตัวออกไป โดยยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลต่อไป ขณะที่ทนายความฝ่ายโจทก์ เปิดเผยว่า การยื่นคัดค้านคำอุทธรณ์ของนายขวัญชัย หรือไม่นั้น จะต้องปรึกษาหารือกันก่อน
***ปล่อยตัว “กี้ร์ “ชั่วคราว
ขณะเดียวกัน วานนี้ เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของศาลอุทธรณ์คดีที่นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง อายุ 47 ปี จำเลยคดีร่วมกันก่อการร้าย อ.4958/54 โดยได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลเมื่อบ่ายวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงาน ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่พึงทราบดีว่าตนเองจะต้องถูกดำนินคดี รวมทั้งทราบถึงความหนักเบาแห่งข้อหา และอัตราโทษ ซึ่งเมื่อขณะนี้สถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะปกติ การที่จำเลยเข้ามอบตัวเช่นนั้น ย่อมเชื่อว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวก็ไม่น่าจะหลบหนี อีกทั้งการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอีก ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการประกัน และไม่ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานว่า หากปล่อยชั่วคราว จำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายอีก ในชั้นนี้จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยตีราคาประกันจำนวน 6 ล้านบาท
ทั้งนี้ ห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือก่อความไม่สงบในบ้านเมือง
ต่อมาญาติของนายอริสมันต์ได้นำเงินสดจำนวน 6 ล้านบาท มาวางเป็นหลักทรัพย์ประกัน
ด้านนายศุชัยวุธ ชาวสวนกล้วย ทนายความนายอริสมันต์ กล่าวว่า ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวนายอริสมันต์ ต่อศาลอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนในคำร้องได้อธิบายข้อเท็จจริงให้ศาลอุทธรณ์เห็นว่านายอริสมันต์ประสงค์ที่จะเข้ามอบตัวต่อศาลจังหวัดพัทยา เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายตั้งแต่ต้น ส่วนภายหลังที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบแล้วเข้ามอบตัวล่าช้า เนื่องจากได้แสดงหลักฐานให้ศาลอุทธรณ์เห็นว่ายังมีเหตุการณ์ตามสังหารแกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดต่างๆ อยู่ โดยศาลจังหวัดบัวใหญ่ ได้อนุมัติให้ออกหมายจับผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับข้าราชการในรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วจึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายอริสมันต์ เป็นเงิน 6 ล้านบาท และมีคำสั่งห้ามมิให้เดินทางออกนอกประเทศ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากศาล และห้ามกระทำการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง โดยคดีนี้ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 6 ก.พ.นี้ เวลา 13.30 น.
ขณะที่นางรพิพรรณ พงษ์เรืองรอง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ภรรยานายอริสมันต์ กล่าวว่า เราได้พยายามต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ก็ถือเป็นของขวัญรับปีใหม่ที่มีค่ามากๆ สำหรับครอบครัวของเรา ที่เฝ้ารอมาแสนนานกว่าที่จะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา จากนี้ไปก็จะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
"วันก่อนลูกที่อายุ 9 ขวบมาถามแม่ว่า คุณพ่อจะมีโทษถึงประหารชีวิตเลยหรือ เพราะเห็นเพื่อนๆเขาพูดกันอย่างนั้น พอได้ยินก็รู้สึกสะท้อนใจมากๆว่า ลูกอายุแค่นี้จะมาถามกันแบบนี้ ดิฉันจึงบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้นแต่เราจะสู้คดีกัน"นางรพิพรรณกล่าว
*** 50 คนเข้าข่ายนักโทษการเมือง
นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายเป็นนักโทษการเมือง ส่งไปแยกขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯได้ประชุมหารือร่วมกัน 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ให้ชะลอการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มผู้ต้องหาในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2552 และให้ร้องปล่อยตัวชั่วคราว และมีมาตรการเยียวยา
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯมีความเห็นตามคอป.และทีมกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ โดยให้ผู้ต้องขังคดีอาญาทั้งความผิดวางเพลิง เผาทรัพย์ ก่อการร้าย หรือคดีอื่นที่มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดมาจากเรื่องการเมือง เข้าข่ายเป็นนักโทษการเมือง ที่จะได้แยกขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่
โดยมีเงื่อนไข คือ เฉพาะผู้ต้องขังที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาหรืออยู่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ผู้ต้องขังในคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจจากการเมืองและยังถูกควบคุมตัวอยู่มีกว่า 70 คน แต่ 20 คน คดีเสร็จสิ้นเด็ดขาดแล้ว จึงเหลือประมาณ 50 คน ที่เข้าข่ายเป็นนักโทษการเมือง
นายกอบเกียรติ กล่าวอีกว่า ฝ่ายประจำมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรมราชทัณฑ์เป็นปลายทาง การพิจารณาแยกขัง เพราะข้อเสนอคอป.และหลายฝ่ายเห็นว่า คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง อาจมีการตั้งคดีที่รุนแรงเกินไป หรือมีเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินคดี ซึ่งในส่วนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็จะเดินหน้าในเรื่องการช่วยประกันตัวผู้ต้องขังในคดีที่มีมูลเหตุจากเรื่องการเมืองเช่นกัน เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น
ส่วนการย้ายผู้ต้องขังที่เข้าข่ายเป็นนักโทษการเมืองไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ จะต้องรอจนกว่าการปรับปรุงเรือนจำดังกล่าวจะแล้วเสร็จ