xs
xsm
sm
md
lg

"ปราโมทย์"แนะสู้น้ำท่วมยึดหลักพระราชดำริ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ปราโมทย์” วิพากษ์รัฐบาลไร้แผน ไร้โครงการรับมือน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรม หวั่น 3.5 แสนล้านถูกใช้อย่างไร้ประโยชน์ ชี้การกำหนดแนวฟลัดเวย์ในกระดาษแค่วาดฝัน ต้องลงพื้นที่ดูอย่างละเอียด ต้องมีแผนดูแลความเดือดร้อน ยกแนวพระราชดำริเตือนสติ "อย่าโยกย้ายความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง"

นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดี กรมชลประทาน หนึ่งในคณะกรรมการ กยน. วิพากษ์แผนรับมือกับวิกฤตอุทกภัยของรัฐบาล ระบุว่า โครงการและมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเป็นเพียงแนวคิดที่ร่างไว้บนกระดาษและหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญการปกปิดข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่อาจถูกใช้เป็นพื้นที่รับน้ำรวมทั้งแนวฟลัดเวย์ในอนาคต อาจจะขัดกับหลักสำคัญที่พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งไว้ว่า "อย่าโยกย้ายความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง"

**โครงการที่ว่างเปล่า

นายปราโมทย์กล่าวว่า การพูดแต่ฟลัดเวย์ยังเป็นแต่เพียงแนวคิด เป็นเพียงวาดในแผนที่ ปี 2555 ยังไม่มีอะไรชัดเจน มีแต่ขุดลอกคูคลอง ทำแผนบริหารเขื่อนให้ดีขึ้น
สิ่งก่อสร้างต่างๆ ถ้าจะให้แล้วเสร็จภายใน 5-6 เดือนมันเป็นไปไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่พูด ประชาชนก็ไม่เข้าใจ มันก็ยุ่ง อย่างนิคมอุตสาหกรรมที่เขาต้องทำคันกั้นน้ำ แล้วรัฐบาลมีหลักประกันอะไรบ้างสำหรับพื้นที่น้ำนองอื่นๆ การจะให้มันเรียบร้อยทุกพื้นที่ยังเป็นที่น่าหนักใจ

รัฐบาลต้องพูดออกมา ต้องชี้แจงประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการดูแลปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่งหรือการดูแลเศรษฐกิจที่มันเหมือนกับว่าโยกย้ายความเดือดร้อนไปหาเขา ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องยอมเสียเวลา เพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การจัดการที่ดีต้องใช้เวลา ไม่ใช่ ทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ

นายปราโมทย์ได้ยกตัวอย่างเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนโดยบอกเล่าถึงการทำงานในอดีตที่น้อมนำแนวพระราชดำริเป็นหลักสำคัญในการทำงานซึ่งมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นหลัก

“เมื่อครั้งที่ผมน้อมนำแนวพระราชดำริมาพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก เกิดเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จุดเริ่มต้นกว่าจะทำนี่ ใช้เวลาเยอะ กระทบกับคนมากมาย เพราะน้ำจะท่วมที่อยู่เขา เราก็ต้องศึกษาให้รอบคอบ ว่ามีประชาชนกี่ครอบครัวที่จะโดนผลกระทบ เราต้องศึกษาปัญหาของเขาทั้งหมด แล้วก็มาหาคำตอบ ว่าคุณจะแก้ไขสิ่งที่เขาได้รับความเดือดร้อนอย่างไร คุณก็ต้องไปหาเขา ไปทำความเข้าใจ รัฐบาลต้องไม่ทอดทิ้ง ตอนนั้นต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าแนวคิดจะตกผลึกแล้วนำเสนอ ครม. ดังนั้น การแก้ปัญหาครั้งนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ยักษ์ คุณต้องศึกษาอย่างละเอียดและอธิบายประชาชนให้เข้าใจ ในการที่คุณจะผลักความเดือดร้อนไปให้เขาในบางส่วน ถ้าคุณมีแนวคิด คุณก็ต้องทำแนวคิดให้ละเอียดก่อน จากนั้นก็วางยุทธศาสตร์ในการเข้าไปหาชาวบ้าน”

นายปราโมทย์กล่าวว่า แผนยั่งยืนที่จะวางไว้เพื่ออนาคต ควรจะให้ตกผลึก การเตรียมพื้นที่รับน้ำหลักอาจเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดต้องทำอย่างจริงจัง แต่เมื่อทำแล้วไม่ดี ก็ต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงไปใช้แผนอื่น ส่วนเรื่องทางระบายน้ำท่วมให้ลงอ่าวไทยเร็วๆ ถ้าทำได้ครบถ้วนก็จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ต้องศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดแล้วทำให้เป็นรูปธรรม กทม.และองค์กรอื่นๆต้องบูรณาการกัน ตอนนี้เงิน 3 แสนล้านที่มีอยู่ยังไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ประชาชนก็สงสัย

ส่วนการแก้ไขแบบยั่งยืน การเตรียมพื้นที่รับน้ำ หากบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบผลักดันน้ำ การกักน้ำอย่างเป็นระบบ ก็ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่โตเป็นล้านไร่ ในบางประเทศพื้นที่แค่ 50 ไร่ก็ทำได้ และตอนนี้ยังไม่รู้ว่าพื้นที่รับน้ำที่จะเตรียมไว้อยู่ในอาณาบริเวณใดบ้าง จะมีระบบการจัดการอย่างไร ที่ทำให้พื้นที่รับน้ำเกิดขึ้นได้จริง เพราะทุกวันนี้ รัฐยังไม่ได้สำรวจพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านอย่างจริงจัง รัฐบาลต้องลงพื้นที่แบบละเอียด ตอนนี้รู้เพียงคร่าวๆว่าควรจะมีการกักน้ำไว้ ไม่ให้ออก เมื่อน้ำด้านนอกคลี่คลายแล้ว จึงค่อยๆ ปล่อยออกมา ตนกังวลว่าการทำพื้นที่รับน้ำขึ้นมาใหม่โดยไม่ชี้แจงชาวบ้านอาจจะก่อความโกลาหล

นายปราโมทย์ กล่าวว่าแนวทางที่ควรทำ ยกตัวอย่างเช่นถ้าหากเห็นว่าพื้นที่ที่เหมาะสมคือ อ.วิเศษไชยชาญ จ.สิงห์บุรี ก็ต้องระบุชัดๆ ส่วนลักษณะหรือคุณสมบัติของพื้นที่รับน้ำต้องมีลักษณะเป็นแอ่ง เป็นท้องกะทะ รัฐบาลต้องระบุขอบเขต มีอาณาบริเวณที่ระบุให้ชัด ต้องลงไปคุยกับ อบต. ไปคุยกับแกนนำชาวบ้าน อธิบายรายละเอียดให้เขาเข้าใจชัดเจนว่า ถ้าน้ำไหลบ่ามาแล้วจะขอให้น้ำเข้ามาในพื้นที่ของเขา ต้องชี้แจงให้ได้ว่านานกี่วันจึงจะผลักน้ำออกไป เป็นรายละเอียดที่ต้องทำให้เรียบร้อย

“รัฐต้องตอบคำถามชาวไร่ชาวนาให้ได้ การร่างแนวคิดในกระดาษมันดูเหมือนจะง่าย เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ปี 2555 พื้นที่น้ำหลากจะรองรับได้ไหม ผมก็ไม่แน่ใจจริงๆ แต่พื้นที่ที่รับน้ำตามธรรมชาตินั้นมีอยู่แล้ว อย่างในปี 2554 มีพื้นที่แบบนี้อยู่เต็มเลย”

สำหรับงบประมาณกว่า 3. 5 แสนล้านบาท จะใช้สุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ต้องมีเป็นแผนงาน ตัวงาน ต้องระบุให้ชัดว่างานอะไร เป็นรูปธรรมอย่างไร ใช้งบเท่าไร ต้องมีผลของความสำเร็จที่พิสูจน์ได้ พูดไปแล้วผู้คนต้องมองออก ไม่ใช่ว่าใช้จ่ายเงินไปโดยไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

นายปราโมทย์ กล่าวว่า พื้นที่รับน้ำก็คือพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีลักษณะเป็นท้องกะทะชัดเจน พื้นที่รับน้ำต่างจากพื้นที่น้ำนองอย่างสิ้นเชิง พื้นที่น้ำนองก็คือพื้นที่ราบที่น้ำท่วมถึง ขณะที่พื้นที่รับน้ำต้องสามารถพักหรือกักน้ำไว้ไม่ให้ไหลออกไปได้ในระยะเวลาหนึ่ง

พื้นที่ลุ่มต่ำมีอยู่ในหลายจังหวัด เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ต่อเนื่องกันไปเป็นแผง เช่น อ.ผักไห่ บางปะอิน บางไทร วังน้อย เหล่านี้ไม่ใช่พื้นที่รับน้ำแต่เป็นพื้นที่น้ำนอง เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง น้ำเต็มเป็นหน้ากระดานไปหมด หรืออย่างอ่างทอง ถ้าน้ำล้นตลิ่งเข้าไปก็ท่วมหมด แต่พื้นที่ที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำ ต้องเป็นแอ่งท้องกะทะ เป็นที่ลุ่ม เช่น ทุ่งบางโฉมศรี อ.บ้านหมี่ อ.เมืองลพบุรี นี่คือพื้นที่ชะลอน้ำหลาก ที่เราต้องหาทางอุดไม่ให้น้ำไหลลงมาที่แม่น้ำลพบุรี แต่ทุกวันนี้ เมื่อน้ำไหลเข้าไปแล้วก็กันเอาไว้ไม่อยู่ น้ำก็ล้นมาที่แม่น้ำลพบุรี ไปบรรจบแม่น้ำป่าสักแล้วโจมตีอยุธยา

พื้นที่แอ่งท้องกะทะ จึงต้องมีขอบเขต ต้องมีสันเนินเตี้ยๆ กั้นเอาไว้ ให้น้ำเข้าได้แต่ไม่ให้น้ำออก น้ำจะเข้าทางไหนต้องหาให้เจอ แล้วหาทางอุดไว้ เพราะถ้าน้ำไหลเข้ามาแล้วอุดไว้ไม่ได้ มันก็ป่วยการ ไม่มีประโยชน์ ไม่ต่างจากบางไทรหรือปทุมธานี ที่เวิ้งว้างเป็นพื้นที่น้ำนอง ไม่ใช่พื้นที่รับน้ำ เช่นเดียวกับบางปะอิน, เสนา, วังน้อย บางไทร

นอกจากการหาพื้นที่รับน้ำแล้ว การบริหารจัดการที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งรัฐบาล ส่วนราชการ กรุงเทพมหานครฯ ต้องบูรณาการกันให้ได้

“สิ่งสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านตรัสเสมอ และพวกผมจำไว้มั่นคือ 'อย่าโยกย้ายความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง' ต้องแก้ปัญหาให้ได้ ว่าอะไรเป็นอะไร นี่คือสิ่งสำคัญ”

นายปราโมทย์ กล่าวถึงการบริหารการพร่องน้ำจากเขื่อนว่า การพร่องน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์จะช่วยป้องกันอุทกภัยไม่ให้มาถึงกรุงเทพได้ส่วนหนึ่ง เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้องดูว่าฝนที่ตกหนักนั้นตกย่านไหน ถ้าพฤติกรรมของฝนตกหนักในภาคเหนือมากเหมือนปี 2554 เขื่อนทั้ง 2 เขื่อน ก็จะมีโอกาสดักน้ำได้มาก แต่ถ้าฝนตกมากในภาคกลางตอนบนและภาคกลางตอนล่าง จนเกิดน้ำหลากมาถึงกรุงเทพฯ นี่เป็นปัญหาของกรุงเทพฯโดยตรง ไม่เกี่ยวกับเขื่อนแล้ว เพราะเขื่อนภูมิพล ทำหน้าที่ดักน้ำจากแม่น้ำปิงส่วนยอด ส่วนแม่น้ำปิงตอนปลายท้ายเขื่อนยังมีน้ำอีกมาก ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ ก็ดักน้ำจากลุ่มน้ำน่านส่วนยอด แต่ลุ่มน้ำน่านตอนปลายท้ายเขื่อนมาจนถึงแม่น้ำยมเขื่อนสิริกิติ์ดักไม่ได้เลย ดังนั้น เราต้องดูว่าฝนตกที่ย่านไหนหนักที่สุด

“สำหรับกรุงเทพฯ นั้น เมื่อปีกลายที่ผ่านมา น้ำฝนไม่มีผลโดยตรงต่อทั้งปริมณฑลและกรุงเทพฯ เลย แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน แต่เมื่อมีฝนตกหนักๆที่บริเวณภาคกลาง และไปประจวบเหมาะกับน้ำทะเลหนุน กับน้ำเหนือด้วยก็เลยไปกันใหญ่ ส่วนน้ำทะเลหนุนนั้นก็เป็นจังหวะตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น พฤติกรรมของน้ำจะกลายไปเป็นอุทกภัยหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับหลายเหตุผล ผมยกตัวอย่างปี พ.ศ.2538 ที่น้ำท่วม กทม. มาก เป็นน้ำภาคกลางเยอะ หนอกจอก ลาดกระบัง เจิ่งนองเป็นทะเล นั่นเพราะน้ำฝนที่มาจากเขาใหญ่ มาจากสระบุรี ส่วนปี พ.ศ.2533 น้ำท่วมกทม. เยอะจนทุ่งรังสิตล่มเลย นั่นเพราะน้ำฝนจากภาคกลาง"

“ถามว่า กทม. จะเบาใจได้อย่างไร? มันก็ย่อมต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้น ถ้าปี 2554 น้ำมาก แล้ว กทม. จะทำอย่างไรใน ปี 2555 กทม. ก็ต้องยันน้ำไว้ ถ้าน้ำบ่าแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา กทม. ก็ต้องยันให้ดีกว่าปี 2554 เพราะน้ำมีระดับสูง คันกั้นน้ำต้องซ่อมแซม อย่าให้ขาด อย่าให้หลุด แล้วทางน้ำที่จะเบี่ยงไปทางตะวันออกหรือตะวันตก ก็ต้องดูแลซ่อมแซม”

เพราะฉะนั้น กทม.เอง ก็ควรติดตามสถานการณ์น้ำและฝนในทั่วทุกภาคของประเทศอย่างใกล้ชิดมิใช่สนใจเฉพาะเรื่องการพร่องน้ำจากเขื่อน “เราต้องดูพฤติกรรมน้ำ ต้องดูปริมาณฝนตกท้ายเขื่อนที่มักสร้างปัญหา ซึ่งกทม. ก็เคยเผชิญมาหลายครั้ง ทั้งปี พ.ศ.2526, 2533, 2538 นี่แหละ คืออุทกภัย ที่มันไม่ใช่เกิดจากการพร่องน้ำเขื่อน ถ้าฝนตกท้ายเขื่อนเยอะๆ เราจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น คันกั้นน้ำของกทม. ต้องมีความแข็งแรง ไม่ใช่ใช้กระสอบทราบ กระสอบทรายควรจะเลิกได้แล้ว เรามีเวลาเตรียมตัวมาตั้งเยอะ ต้องหาวิธีที่จะกันน้ำให้อยู่ ต้องบริหารชุมชนให้ดี อย่าทะเลาะเบาะแว้ง ถ้าเหนือทุ่งรังสิตกันไม่อยู่ แล้วน้ำโจมตีดอนเมือง ก็เป็นเรื่องอีก น้ำจะต้องผ่านไปทางตะวันออก ก็ต้องปล่อยให้ผ่านอย่าสะกัดกั้น ต้องรีบทำความเข้าใจกับประชาชน ส่วนเรื่องของระดับน้ำทะลหนุนนั้นเป็นจังหวะของเขาตามธรรมชาติ กลางเดือน 11 กลางเดือน 12 เราหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก ดังนั้น กทม. ต้องมีความพร้อมว่าจะเตรียมรับมืออย่างไร?”

***รบ.ต้องศึกษาแนวพระราชดำริ

นายปราโมทย์กล่าวถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยให้ไว้ ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนสายพระเนตรของพระองค์ท่านก็ยังคงทันต่อสถานการณ์เสมอ โดยระบุว่า “ผมมองว่ารัฐบาลยังน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ขับเคลื่อนไม่ชัดเจน แม้ปากก็บอกว่าน้อมนำพระราชดำริมาใช้ แต่ไม่ชัดเจนหรอก หลักการจัดการกับปัญหาอุทกภัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอยู่หลายประเด็น ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ภูมิสังคม แต่ละที่ก็ย่อมต้องมีวิธีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน แต่หลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คือเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นแล้ว ต้องหาทางทำให้มันออกไปเร็ว ๆ นี่เป็นหลักสำคัญของพระราชดำรัส ทำอย่างไรให้มันไหลออกไปเร็ว ๆ อย่าปะทะกับเขตเศรษฐกิจเขตเมือง แล้วการหาทางให้น้ำมันไปเร็วๆ นี่ทำอย่างไร"

"ผมขอยกตัวอย่างนอกเขตกทม. อย่างเช่น เขตเศรษฐกิจที่หาดใหญ่ ก็มีการสร้างทางผันน้ำจากคลองอู่ตะเภาลงสู่ทะเลสาบสงขลา เพราะไม่เช่นนั้น น้ำจะโจมตีเขตเศรษฐกิจแล้วจากนั้นก็ผลักน้ำสู่ทะเลอีกทางหนึ่ง หรือในจังหวัดชุมพร เมื่อปี พ.ศ. 2540 เกิดอุทกภัย พระองค์ท่านก็บอกให้ทำคลองผันน้ำจากท่าตะเภา ออกไปอ่าวไทยเร็วๆ เพื่อไม่ให้มันไปโจมตีเขตเศรษฐกิจของตัวเมือง”

"กรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงแนะนำไปแล้ว เมื่อปี 2538 ว่าต้องให้น้ำเดินทางไปตามฟลัดเวย์ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ปล่อยน้ำไปทางฟลัดเวย์โดยให้น้ำผ่านไปโดยเร็ว แต่ถ้าไม่มีฟลัดเวย์ ก็ต้องสร้างขึ้นมา"

“ถ้าฝั่งธนบุรีไม่มีทางระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเลย ก็ต้องคิดสิ จะทำอย่างไร เพราะอุทกภัยนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะโจมตีทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ตั้งแต่อยุธยา ทุ่งรังสิต แล้วน้ำก็มาอัดอั้นอยู่รวมกันจะผลักน้ำไปแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียวก็ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร? ให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดระดับลง ไม่บ่าตลิ่งเข้ามา แต่เราก็ทำแบบอ่อยๆผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร เหมือนยังไม่มีการแก้ที่ตรงจุดและการแก้ปัญหานั้นไม่ใช่แก้เพียงครั้งเดียว ต้องใช้เวลากันหน่อย"

"สำหรับการทำฟลัดเวย์ที่มีการเอ่ยถึง ก็ควรต้องทำการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต้องวิเคราะห์ ศึกษา สำรวจ ออกแบบ ให้ได้ชัดเจน แล้วจึงค่อยสร้าง แม้ต้องใช้เวลาวิเคราะห์ศึกษาสัก 5-6 ปี เราก็อาจต้องทนกันหน่อย รวมแล้วกว่าจะสร้างเสร็จอาจต้องใช้เวลาสัก 10 ปี เพื่อให้ได้มาซึ่งการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ช่วงนี้เราก็อาจต้องอดทน ต้องช่วยกันบริหารจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้น ธรรมชาติคงจะไม่โหดร้ายกับเราจนทำให้เกิดเรื่องร้ายได้ทุกปี"

“บางแห่งที่มีน้ำไม่เยอะเราก็อาจสร้างอ่างเก็บน้ำดักไว้ได้ แต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น น้ำเยอะสร้างอ่างเก็บน้ำไม่ได้ หรือผมยกตัวอย่างหาดใหญ่ ยกตัวอย่างชุมพร แม้แต่สุไหงโกลกก็มี ยังมีอีกหลายที่ที่เขาทำทางผันน้ำลงไป ซึ่งเป็นหลักตามวิศวกรรมที่เมื่อน้ำมันล้นตลิ่งขึ้นมาเราก็ต้องหาวิธีผลักให้น้ำมันลดออกไปเร็วๆ หรือยกตัวอย่างคลองลัดโพธิ์นั้น ก็สามารถช่วยให้ประชาชนในย่านนั้นไม่ต้องเจอปัญหาน้ำล้นตลิ่ง สุดท้ายแล้ว มันอยู่ที่ว่า ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแค่ไหน”

“แต่ต้องไม่ลืมยึดหลักสำคัญที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้ว่า อย่าโยกย้ายความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง”
กำลังโหลดความคิดเห็น