ASTVผู้จัดการรายวัน- "เรืองไกร"ได้ทีหลังเล่นงาน"สัก"สำเร็จ! แฉเจออีก 10 ส.ว.ส่อขาดคุณสมบัติต้องพ้นตำแหน่ง เหตุไม่ได้ไปเลือกตั้ง จ่อยื่น กกต.วินิจฉัยสัปดาห์หน้า จวกผู้ตรวจการแผ่นดิน เมินเล่น “ธีรเดช-ปราโมทย์” ขึ้นเงินเดือนตัวเอง จี้สอบ “รสนา” ขึ้นเวที ปชป.ด่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นกลาง ขณะที่ 31 ส.ว. โล่งอก กกต. ยกคำร้องคัดค้าน ด้าน "ผู้ตรวจฯ" แจงคดี"สัก กอแสงเรือง" ระบุ ตามกฎหมาย ส.ว.เลือกตั้งปี 43 เป็น ส.ว.ชุดใหม่ไม่ได้
จากกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องต่อ กกต. ร้องคัดค้านว่า นายสัก กอแสงเรือง ส.ว.สรรหา มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 (9) เนื่องจากนายสัก เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ว.ครั้งแรก แต่ยังพ้นจากการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เกิน 5 ปี ก็มาเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว.อีก ซึ่งเรื่องนี้ ที่ประชุม กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เพิกถอนสิทธิการสรรหาของ นายสัก และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี พร้อมดำเนินคดีอาญากับนายสัก และ สภาทนายความ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสนอชื่อนายสัก เข้ารับการสรรหาด้วย
วานนี้ (11 มี.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยดีกว่า จากการตรวจสอบพบข้อมูลใหม่ว่า ยังมี ส.ว.อีกประมาณ 10 คน อาจขาดคุณสมบัติ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ส.ว.ได้ เนื่องจากพบว่าไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีหลักฐานที่ได้ตรวจสอบกับทางสำนักงานเขตต่างๆ คาดว่าจะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาได้เพื่อส่งศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปได้ ภายในสัปดาห์หน้า
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า จากการติดตามข่าว ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัย ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ยึดประมวลจริยธรรมอย่างรอบคอบเพียงพอ ในการแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ และตั้ง นางนลินี ทวีสิน เป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น อยากถามกลับไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 คนว่า ได้ยึดหลักการนี้ด้วยหรือไม่ กรณีอดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 คน คือ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร และนายปราโมทย์ โชติมงคล ที่ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 เม.ย.55 นี้ กรณีถูกกล่าวหาว่า ออกระเบียบเพื่อขึ้นเงินเดือน และค่าตอบแทนให้ตัวเอง ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ถูกศาลพิพากษาว่า มีความผิด จนต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งชุด ทำไมไม่ยกกรณีนี้มาพิจารณาบ้าง หรือเป็นเพราะเคยอยู่องค์กรเดียวกันมา เลยทำเฉยๆไป ซึ่งตนก็สงสัยเช่นกันว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว.หรือ 6 อรหันต์ สรรหา มาเป็น ส.ว.ได้อย่างไร และ ส.ว.ด้วยกันเลือกมาเป็นประธานวุฒิสภาได้อย่างไร และขณะนี้ทราบว่า นายปราโมทย์ ก็มาเป็นที่ปรึกษาประธานวุฒิสภาด้วย ทำไมผู้ตรวจการฯทั้ง 3 คน มองไม่เห็นประเด็นนี้ ถามว่ามาตรฐานอยู่ที่ไหน
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียน ผู้ตรวจการฯ กรณี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ไปขึ้นเวทีพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหาโจมตีรัฐบาล ซึ่งแสดงถึงความไม่เป็นกลางทางการเมือง ที่ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่รัฐธรรมนูญกำหนด ต่อผู้ที่จะมาเป็น ส.ว. ได้ยื่นเรื่องก่อนที่ผู้ตรวจการฯ จะตรวจสอบกรณี นายณัฐวุฒิ และนางนลินี กรณีนั้นใช้เวลาตรวจสอบแค่ 15 วัน ก็แจ้งผลออกมาแล้ว แต่กรณี น.ส.รสนา ที่ถือเป็น ส.ว. ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุดของประเทศ ท่านจะไม่ตรวจสอบหรือว่าเป็นกลางทางการเมืองจริงหรือไม่ ข้ออ้างว่าไปขึ้นเวทีเพื่อให้ข้อมูลเรื่องราคาน้ำมัน หากยึดตามประมวลจริยธรรมจริง ก็ควรไปขึ้นเวทีอื่นที่เป็นกลาง จะเป็นเวทีวงวิชาการ หรือในกรรมาธิการ ก็คงไม่มีใครว่า ไม่ใช่ไปขึ้นเวทีของพรรคการเมือง และกรณีของ น.ส.รสนา ก็คล้ายกรณีของ นายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้หญิงเหมือนกัน เป็นนางสาวที่มีสามี และลูก 1 คน เหมือนกัน แต่ทำไมไม่ตรวจสอบให้เหมือนกัน หากท่านไม่ทำ อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
**ยันเจตนารมย์รธน.กำหนดชัด
นายศรีราชา เจริญพาณิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะอดีต ส.ส.ร. ปี 2550 กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้เสนอต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อเพิกถอน นายสัก กอแสงเรือง จากส.ว.สรรหา พร้อมทั้งเสนอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งว่า ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีการหารือถึงเรื่องนี้ และกำหนดว่าส.ว. ชุดแรกนั้น ไม่ควรมาเป็นส.ว. ชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวบทที่ล็อกเอาไว้ นอกจากนี้ ในการพูดคุยก็ได้บันทึกอยู่ในเจตนารมณ์ของ ส.ส.ร. ซึ่งไปหาดูได้ที่ห้องสมุดของรัฐสภา
“กรรมการสรรหา ต้องทำตามคุณสมบัติ แต่ผมก็ไม่รู้ว่านายสักหลุดหรือเปล่า เพราะคนที่เป็นกรรมการสรรหา ก็ไม่ได้เป็นส.ส.ร. คาดว่าในการสรรหา คงต้องใช้ความละเอียดละออพอสมควร แต่ก็อาจจะหลุดได้ หรืออาจจะลืมนึกไปก็ได้"
นอกจากนี้ กลุ่มที่ทำหน้าที่เป็น เลขาฯกรรมการสรรหา ต้องตื่นตัวให้มากกว่านี้ เขาต้องรู้รายละเอียด หากมองว่ากรรมการสรรหาผิด ก็คงไม่ผิดฝ่ายเดียว แต่ผู้ปฏิบัติงานเลขานุการ ก็ต้องผิดด้วย และไล่กันเป็นลูกระนาด
ส่วนกรณีที่ว่าต้องถึงขั้นให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่นั้น นายศรีราชา กล่าวว่า เข้าใจว่าเรื่องนี้ได้ระบุอยู่แล้วในกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องทำตามกฎหมาย
** 31 ส.ว.โล่งกกต.ยกคำร้อง
วันเดียวกันนี้ นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึง กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ส.ว.ได้ร้องคัดค้านการสรรหา ส.ว.ของผู้ได้รับการสรรหาเป็นส.ว. 31 ราย เคยเป็นส.ว.สรรหา และลาออกก่อนครบวาระ ซึ่งอาจทำให้ยังพ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เกิน 5 ปีว่า ที่ประชุม กกต.เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าว ที่นายเรืองไกร ได้ร้องเข้ามา พิจารณาพร้อมกับการที่กกต.ได้เพิกถอนสิทธิการสรรหา ส.ว.ของ นายสัก กอแสงเรือง แล้ว โดยที่ประชุม กกต.ได้มีมติเอกฉันท์ ให้ยกคำร้องในประเด็นที่ นายเรืองไกร ได้ร้องคัดค้านว่า ส.ว. 31 ราย ที่เคยได้รับการสรรหาเป็นส.ว.ชุดแรก แต่ลาออกก่อนครบวาระ 3 ปีแรก ไม่อาจนำบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 มาบังคับใช้ซึ่งอาจมีผลให้มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 (9) ที่ยังพ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เกิน 5 ปี จนถึงวันได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ส.ว.
กกต.ยกคำร้องของนายเรืองไกร ที่ร้อง ส.ว.สรรหา 31 ราย อาจขาดคุณสมบัติ เนื่องจากพิจารณาตามบทเฉพาะของรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 ที่กำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีวาระ 3 ปี และมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระ มาบังคับใช้กับบุคคลดังกล่าวในการสรรหาคราวถัดไป หลังจากสิ้นสุดสมาชิกภาพ ดังนั้น ส.ว.สรรหา 31 ราย ที่ได้รับการสรรหา แต่ได้ลาออกก่อนครบวาระ เพื่อเข้ารับการเสนอชื่อสรรหา ส.ว.เมื่อปี 2554 จึงยังเข้ากับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ สามารถเข้ารับการสรรหาต่อไปได้ เช่นเดียวกับการที่ ส.ว.สรรหา ชุดแรกอยู่จนครบวาระ จนพ้นตำแหน่ง ก็ยังสามารถได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาได้อีก
นางสดศรี กล่าวว่า กรณีของนายสัก ที่ กกต.ให้เพิกถอนการสรรหา ก็เป็นการร้องนั้นเป็นการพิจารณาคนละประเด็นกันกับ 31 ส.ว. เพราะนายเรืองไกร ได้ร้องว่า นายสัก ยังพ้นจาก ส.ว.เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงวันได้รับการเสนอชื่อ จากสภาทนายความยังไม่เกิน 5 ปี ทำให้ กกต.มีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนการสรรหา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ซึ่งเหมือนกับการที่กกต.ให้ใบแดง (เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง) ส.ส.หลังการประกาศผลการเลือกตั้ง และเมื่อศาลฎีการับคำร้องจากกกต.แล้ว ก็จะมีผลให้นายสักต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ว. จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ส่วนกรณีที่ กกต.มีมติเสียงข้างมาก ให้ดำเนินคดีอาญากับนายสัก และสภาทนายความนั้น เนื่องจากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยบางคณะเห็นว่า ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิ เป็นผู้รู้กฎหมายดี เมื่อรู้กฎหมายมากแล้วเลี่ยงกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญา
"เรื่องดังกล่าว คณะกรรมการสรรหาส.ว. จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการสรรหาส.ว. อีกทั้งสำนักงาน กกต.โดยเลขาธิการกกต. ทำหน้าที่ธุรการในการตรวจสอบองค์กรที่ได้เสนอชื่อบุคคล และจะต้องเสนอผลการตรวจสอบคุณสมบัติไปยังกรรมการสรรหา ส.ว.6 คน ซึ่งกรณีของนายสัก ก็อาจมีคนมองว่าละเลยในแง่การตรวจสอบ ส่วนสำนักงานกกต.โดยเลขาธิการกกต.จะเลยหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยยืนตามกกต. ก็อาจมองว่ากรรมการสรรหา ส.ว.ได้ละเลยการตรวจสอบได้หรือไม่ แต่หากจะให้ฟ้องกกต.4 คน ที่วินิจฉัย ก็คงไม่เกี่ยว เพราะกกต.ได้พิจารณาตามที่มีผู้ร้องคัดค้านเข้ามาเท่านั้น" นางสดศรี กล่าว.