xs
xsm
sm
md
lg

ความอัปลักษณ์ของงานวิจัยสร้างปรองดองแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ผมเขียนบทความนี้หลังจากอ่าน รายงานการวิจัยเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติซึ่งเผยแพร่ตามสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ความรู้สึกภายหลังที่อ่านรายงานฉบับนี้คือ สถาบันพระปกเกล้ากำลังหลงทางโดยใช้วิชาการรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมือง และผมเห็นว่าสถาบันพระปกเกล้าควรทบทวนบทบาทของตนเองอย่างเร่งด่วน

รายงานวิจัยดังกล่าวอ้างว่าสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยเกิดจากมุมมองต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกันในขั้นอุดมการณ์และขั้นผลประโยชน์ มีการกระจุกตัวของอำนาจ ใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แทรกแซงกลไกในการตรวจสอบ การรัฐประหารและมีปัญหาอันเป็นพื้นฐานคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ต่อประเด็นการขยายตัวของความขัดแย้งหรือเร่งให้ความขัดแย้งทวีความเข้มข้นขึ้น รายงานฉบับนี้ระบุว่า เกิดจากการกระทำของสื่อมวลชน และกลุ่มต่างๆ เช่น นักการเมือง นักลงทุน นักวิชาการและเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการสร้างความขัดแย้งในอนาคตคือ รัฐบาลแทรกแซงการทำงานของฝ่ายต่างๆ ไม่ควบคุมมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลให้ยุติการเคลื่อนไหวและการใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล

ผมเห็นว่าการวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งของรายงานการวิจัยฉบับนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่มีการเน้นส่วนสำคัญที่เป็นรากฐานผิดพลาดไป กล่าวคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม แม้ว่าจะเป็นปัญหาสำคัญ แต่มิใช่ปัญหาใจกลางหรือเป็นปัญหาพื้นฐาน เพราะปัญหานี้เกิดจากสาเหตุสำคัญอื่นอันได้แก่ การขาดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐในทุกระดับ

เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของชาติขาดคุณธรรมและจริยธรรม ระหว่างที่พวกเขาพยายามกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง จะใช้วิธีการที่ทุจริต ฉ้อฉลและรุนแรง เช่น การซื้อตำแหน่ง การซื้อเสียง การชุมนุมเผาเมือง การใช้ชีวิตมวลชนเป็นบันได เป็นต้น และเมื่อได้อำนาจแล้ว พวกเขาก็ใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง แต่งตั้งบุคคลที่พร้อมรับใช้ตนเองโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมและความสามารถ เช่น ตั้งคนที่มีชื่อในบัญชีดำของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐมนตรี แต่งตั้งผู้ถูกดำเนินคดีก่อร้ายเป็นรัฐมนตรีช่วย แต่งตั้งดาราตลกหรือหัวหน้ารักษาความปลอดภัยในม็อบให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง และแต่งตั้งบุคคลในเครือข่ายที่ไร้ความรู้ความสามารถใดๆ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ

การทุจริตประพฤติมิชอบเป็นวัฒนธรรมหลักของบุคคลเหล่านี้ ครอบคลุมทั้งการทุจริตจากงบประมาณแผ่นดิน การเรียกค่าหัวคิวในโครงการต่างๆ การทุจริตเชิงนโยบายออกนโยบายเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนของตนเอง การบอกข้อมูลข่าวสารสำคัญที่มีผลต่อกำไรทางธุรกิจแก่บุคคลใกล้ชิด การนำเงินภาษีของประชาชนไปให้แก่มวลชนของตนเองเพื่อสร้างความนิยมโดยปราศจากความละอายต่อแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็บ่อนเซาะกลไกการตรวจสอบทางสังคมให้อ่อนเปลี้ยในทุกระดับทั้งระดังองค์การและบุคคล โดยการแก้กฎหมาย ลดอำนาจ การใช้เงินซื้อ และการข่มขู่คุกคาม

ผลสืบเนื่องจากการการทุจริตและการแพร่หลายของระบบอุปถัมภ์มีหลายประการ ประการแรก คือเกิดการกระจุกของทรัพยากรและเงินของแผ่นดินอยู่ในกลุ่มนายทุนการเมืองเหล่านี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็คือทำให้ประชาชนทุกกลุ่มในสังคมได้รับการจัดสรรทรัพยากรของชาติอย่างไม่เป็นธรรม ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เกิดการกระจายตัวของความยากจน อันนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในที่สุด

ส่วนประการที่สอง เกิดการกีดกันกลุ่มอื่นเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอย่างเป็นระบบ เพราะนักการเมืองและข้าราชการที่ขาดคุณธรรม จะใช้ระบบพวกพ้อง เครือญาติ ในการสืบทอดตำแหน่งอำนาจ โดยผ่านกลไกระบบอุปถัมภ์จัดตั้งหัวคะแนนในการเลือกตั้ง การใช้นโยบายประชานิยม และการซื้อเสียง

ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในประเทศไทยว่า ครอบครัวชินวัตรผูกขาดอำนาจทางการเมืองระดับชาติมาสามรุ่นแล้ว นับจากทักษิณ ชินวัตรไปสู่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนครอบครัวอื่นๆ ที่ผูกขาดตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ เช่น ตระกูลชิดชอบแห่งบุรีรัมย์ ตระกูลศิลปะอาชาแห่งสุพรรณบุรี ตระกูลขจรประศาสน์ เป็นต้น สำหรับตระกูลอื่นๆ หากไม่มีสมาชิกตระกูลดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ก็จะให้ไปดำรงตำแหน่งในระดับท้องถิ่นแทน ด้วยเหตุนี้ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอำนาจทางการเมืองจึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างผนึกแน่นภายในโครงสร้างอำนาจการเมืองเช่นนี้

พัฒนาการของความขัดแย้งของสังคมไทยที่ผ่านมาจึงมีจุดเริ่มต้นจากการที่กลุ่มนักการเมืองผู้ไร้คุณธรรมและจริยธรรมถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วงเข้มข้นจากภาคประชาชน จนทำให้อำนาจของเขาสั่นคลอนและในท้ายที่สุดก็ถูกรัฐประหาร เมื่อหมดอำนาจทางการเมืองชั่วคราวนักการเมืองกลุ่มนั้นจึงถูกตรวจสอบหนักขึ้นจากกลไกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เหตุที่ต้องใช้กลไกตรวจสอบใหม่ก็เพราะกลไกที่มีอยู่เดิมถูกครอบงำและถูกทำให้ไร้ประสิทธิภาพโดยนักการเมืองกลุ่มนั้นเสียแล้ว

และเมื่อกลไกตรวจสอบใหม่อันได้แก่ คตส. ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบจนนำไปสู่การฟ้องร้อง จนในที่สุดทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นตัวแทนของนายทุนการเมืองก็ถูกตัดสินจำคุกโดยศาล ต้องหนี้หัวซุกหัวซุนอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี

แต่ทักษิณ ชินวัตรก็ไม่ยอมแพ้และไม่ยอมรับความผิดของตนเอง จึงสนับสนุนการจัดตั้งมวลชนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในการชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงเผาบ้านเผาเมืองถึงสองครั้งสองคราในปี 2552 และ 2553 และมีคนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งสาเหตุสำคัญคือ การที่แกนนำของฝ่ายชุมนุมเสื้อแดงต้องการสังเวยชีวิตของผู้ชุมนุมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขทำลายฝ่ายตรงข้าม และสร้างความชอบธรรมแก่ตนเองในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาทำได้สำเร็จ และเป็นที่มาของการสร้างเรื่องการปรองดอง และการทำวิจัยเพื่อปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า

แม้การวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งของสถาบันพระปกเกล้าจะไม่สอดคล้องกับข้อมูลทางการเมืองของสังคมไทยมากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่สร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบัน แต่เรื่องที่น่าอเนจอนาถทางวิชาการ และส่อแววไปถึงการนำสถาบันกึ่งวิชาการ (ผมไม่แน่ใจว่าสถาบันพระปกเกล้าเป็นสถาบันวิชาการหรือสถาบันทางการเมือง) ไปรับใช้นักการเมืองโดยมิได้คำนึงถึงหลักการทางวิชาการและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ก็คือ การเสนอแนวทางการสร้างความปรองดองซึ่งเผยแพร่อยู่ในสื่อมวลแขนงต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการเสนอแนวทางที่เลอะเทอะ อัปลักษณ์ น่าขยะแขยง และน่าอดสูมาก สำหรับสถาบันที่อ้างความเป็นวิชาการมารองรับอำนาจ

ข้อเสนอประการแรก
ของงานวิจัยชิ้นนี้คือ ต้องเร่งค้นหาความจริงของเหตุการณ์ โดยสนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และเมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วต้องนำมาเปิดเผยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถอดบทเรียนไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก

ข้อเสนอนี้ผมเข้าใจว่า คงเป็นการค้นหาความจริงเฉพาะเหตุการณ์ในปี 2553 มิได้ครอบคลุมความจริงอันเป็นต้นเหตุและเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 แต่ประการใด อันที่จริงเรื่องนี้มีผู้ที่เคยศึกษาเรื่องนี้มาไม่น้อย และระบุว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญปี 2544 เกี่ยวกับคดีซุกหุ้น เป็นปฐมเหตุให้องค์การตรวจสอบนักการเมืองทั้งหลายถูกแทรกแซงได้ง่ายขึ้น หรือ การศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เคยหลุดออกมาสู่สาธารณะซึ่งสรุปในทำนองที่เป็นผลลบต่อคนเสื้อแดงและกลุ่มทุนนักการเมือง ก็ปรากฏว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มเสื้อแดงอย่างรุนแรง

ดังนั้นหากให้คอป. ค้นหาความจริงและพบว่าความจริงดังกล่าวไม่เป็นคุณต่อกลุ่มทุนนักการเมืองและคนเสื้อแดง ขอถามว่ารายงานแบบนี้จะได้รับการยอมรับจากกลุ่มเหล่านั้นหรือไม่ และภายใต้บรรยากาศของการเมืองไทยที่กลุ่มทุนการเมืองและลัทธิแดงมีอำนาจนำอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการของ คอป. ก็มีบุคคลบางคนเคยทำงานกับรัฐบาลสมัคร และเป็นเสื้อแดง องค์ประกอบแบบนี้ ความจริงจะถูกสร้างให้อยู่ในลักษณะใดก็เป็นเรื่องที่ทำนายได้ไม่ยากอยู่แล้ว

ดังนั้น ข้อเสนอข้อนี้นอกจากไม่ตอบโจทย์ของสาเหตุความขัดแย้งแล้วยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างมายาภาพขึ้นมาแทนความจริงอีกด้วย จึงนับว่าเป็นข้อเสนอที่เลอะเทอะมาก

ข้อเสนอที่สอง
ให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม โดยเสนอทางเลือก 2 ทาง ทางแรก นิรโทษกรรมทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา และทางที่สองนิรโทษเฉพาะคดีการกระทำผิดตาม พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่นิรโทษให้คดีอาญาอื่นแม้จะเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่สุดแสนอัปลักษณ์และน่าขยะแขยงทางวิชาการมาก เพราะ 1) ไม่สอดคล้องกับการวิเคราะห์สาเหตุใดๆในงานวิจัยแม้แต่น้อย เมื่อข้อเสนอไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาเหตุแล้วมันจะแก้ปัญหาได้อย่างไร 2) เป็นข้อเสนอที่ทำลายล้างหลักนิติรัฐเพราะให้อภัยแก่คนทำความผิดโดยที่ผู้กระทำผิดเหล่านั้นยังไม่ได้รับโทษและยังไม่ได้สำนึกถึงความผิดของตนเอง การให้อภัยแก่คนเหล่านี้ก็เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมค่านิยมการใช้ความรุนแรง ค่านิยมอนาธิปไตย ให้ได้รับการยอมรับและอาจกลายเป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นๆ ต่อไปคนจำนวนหนึ่งในสังคมอาจกระทำการใดๆโดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกผิดทางกฎหมายและคุณธรรม จึงเท่ากับว่าเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การทำลายความสงบสุขของสังคม และ3) เป็นข้อเสนอเพื่อตอบสนองความต้องการของนักการเมืองผู้มีอำนาจนำอยู่ในปัจจุบันโดยขาดการวิเคราะห์ผลสืบเนื่องอย่างเป็นระบบทั้งในทางหลักการวิชาการ ความเป็นไปได้ของผลสืบเนื่องและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ข้อเสนอประการที่สาม
การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีทางเลือกสามทาง

1) ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ให้ผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลง และโอนให้ ป.ป.ช.ทำใหม่ โดยไม่กระทบคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ความหมายของข้อเสนอนี้คือ ให้ยกเลิกสำนวนคดีที่ทำโดย คตส. ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในศาล แต่ขณะนี้ยุติชั่วคราวเพราะผู้ต้องหาคือทักษิณ ชินวัตร หนีไปต่างประเทศ ข้อเสนอนี้ได้กำหนดให้ ป.ป.ช. ไปทำคดีใหม่ทั้งหมดหรือเริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งในทางปฏิบัติก็แทบจะไม่มีทางดำเนินคดีเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิผลได้ด้วยเงื่อนไขสองประการคือ ประการแรก ในขณะนี้ป.ป.ช.มีคดีต้องดำเนินการอยู่นับหมื่นเรื่อง คงใช้เวลานานนับสิบปีจึงจะดำเนินคดีเหล่านี้ได้ และประการที่สอง ภายใต้อำนาจการเมืองที่ทักษิณ ชินวัตรควบคุมกลไกรัฐได้เกือบทั้งหมด การจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการก็คงเกิดขึ้นยากมาก จึงทำให้ ป.ป.ช.ไม่สามารถได้ข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องได้

2) เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ แปลว่า ทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองอื่นๆ พ้นโทษทุกอย่าง แต่ให้เริ่มทำคดีใหม่ จากตำรวจ อัยการ หรือ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี ข้อเสนอนี้นักวิจัยคงนอนฝันไปและคิดแบบไร้เดียงสาว่า กระบวนการยุติธรรมในขั้นต้น และกลาง จะปลอดจากอำนาจการเมือง

3) เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่ ข้อนี้เป็นข้อเสนอที่มากไปยิ่งกว่าความมืดบอดทางปัญญาใดๆจะบรรยายถึงได้ แสดงถึงจิตใจที่อันเปี่ยมไปด้วยอคติ ลำเอียง ของผู้เสนอ และสร้างความรู้สึกน่าสะอิดสะเอียดแก่ผู้อ่านที่ยังมีสามัญสำนึกของความถูกต้องหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะเป็นข้อเสนอที่ทำให้อาชญากรหนีคุกอย่างทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง หลุดพ้นจากความผิดทั้งปวง และไม่ต้องมีการดำเนินคดีใดๆอีกต่อไป

ข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่องการสร้างความปรองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้าจึงเป็นข้อเสนอที่จะทำให้สังคมแตกเป็นเสี่ยง เพราะเป็นข้อเสนอที่ไปรับใช้และสร้างประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางวิชาการ ความเป็นจริงเชิงประจักษ์ และความชอบธรรมทางสังคมใดๆ ทั้งสิ้น

สถาบันพระปกเกล้าในยามนี้ ควรทบทวนบทบาทของตนเอง และควรมุ่งเน้นพันธกิจในการสร้างประชาธิปไตยแก่ภาคประชาชน มากกว่าจะไปแสวงหาเงินจากโครงการอบรมนักการเมืองที่เป็นแหล่งทำลายคุณภาพการศึกษาและสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ทางการเมืองให้เข้มข้นขึ้น ควรยุติการวิจัยที่รับใช้นักการเมือง และควรจะไปวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเรียนรู้และตื่นตัวทางการเมืองจะดีกว่า เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสนองานวิจัยครั้งนี้ และรื้อฟื้นเกียรติภูมิกลับขึ้นมาใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น