xs
xsm
sm
md
lg

Coffee Pri(n)ce.....รักวุ่นวายของเจ้าชายกาแฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายท่านเห็นชื่อเรื่องในวันนี้คงนึกถึงซีรีย์เกาหลีที่เคยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในบ้านเราเมื่อหลายปีที่ผ่านนี้ ซึ่งในตอนนั้นที่กระแสนิยมซีรีย์เรื่องนี้ที่เพิ่มขึ้น ราคากาแฟในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ก็มีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้อาจเกิดจากความนิยมบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งภาวะอากาศที่ผันผวนในปัจจุบันก็มีผลต่อปริมาณผลผลิตกาแฟ กาแฟจึงนับว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

กาแฟที่ปลูกโดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก คือ กาแฟอาราบิก้า (Coffea Arabica) และกาแฟโรบัสต้า (Coffea Canephora) สำหรับประเทศไทยนั้น โดยส่วนใหญ่จะปลูกกาแฟโรบัสต้าตามจังหวัดในภาคใต้ และถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งในภาคใต้ ส่วนกาแฟอาราบิก้ามีการปลูกบ้างตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือ ในบางประเทศ เช่น บราซิล เวียดนาม อินโดนิเซีย กาแฟถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในการส่งออกของประเทศเลยทีเดียว โดยกาแฟอาราบิก้าถูกพิจารณาว่าเหมาะสมแก่การดื่มมากกว่ากาแฟโรบัสต้าด้วยเหตุผลทางด้านรสชาติ หลายประเทศจึงนิยมที่จะปลูกกาแฟอาราบิก้ามากกว่า และเพราะความต้องการที่มากกว่า ทำให้กาแฟอาราบิก้าจึงมีระดับราคาที่สูงกว่ากาแฟโรบัสต้า

หากดูดัชนีราคาเมล็ดกาแฟคละที่เกษตรกรขายได้ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยใช้ปี พ.ศ. 2548 เป็นปีฐานอยู่ที่ 100.00 จุด ในการคำนวณดัชนีราคารายปี ในปีพ.ศ. 2554 ดัชนีราคาอยู่ที่ 243.05 จุด ซึ่ง ถือว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีราคาสินค้าอื่นๆ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับราคาตลาดโลก ราคาเฉลี่ยรายเดือนในปี พ.ศ. 2548 อยู่ที่ 89.36 US cents/lb และในปีพ.ศ. 2554 ระดับราคามาอยู่ที่ 210.39 US cents/lb ปรับตัวเพิ่มขึ้น 121.03 US cents/lb คิดเป็น 135.44% (ที่มาจาก Indicator Price : International Coffee Organization(ICO))

สำหรับการปลูกกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกในภาคใต้นั้น แน่นอนว่า เกษตรกรบางรายอาจเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการปลูกกาแฟโรบัสต้ากับพืชเศรษฐกิจอื่นๆที่สามารถปลูกได้ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างยางพาราหรือพืชปาล์มน้ำมันที่ในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงอาจเลือกที่จะปลูกยางพาราหรือน้ำมันปาล์มมากกว่า โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าในปีนี้เนื้อที่เพาะปลูกกาแฟ จะลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 20,000 ไร่ หรือลดลงประมาณ 6.21% จากปีก่อนหน้า (ชาวสวนโค่นต้นกาแฟทิ้ง 2 หมื่นไร่ :ข่าวสด 4 ม.ค. 55) เนื่องจากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น

โอกาสการเติบโตของสินค้ากาแฟสำหรับประเทศไทยนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการจัดการผลผลิต และการสนับสนุนอย่างมีระบบจากส่วนกลาง เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ เพราะหากเกษตรกรตัดสินใจกันเองภายใต้ข้อมูลที่เกษตรกรแต่ละรายมีอยู่อาจไม่เพียงพอ ก็อาจเกิดปัญหาที่ว่าหากราคาสินค้าใดสูงขึ้น เกษตรกรก็จะหันไปปลูกพืชชนิดนั้นตามๆกัน จนเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดในสินค้านั้นๆ หรือทำให้สินค้าบางอย่างขาดตลาดได้ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรให้ได้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด

โดยในประเด็นนี้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสะท้อนข้อมูลราคาในอนาคต เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนการเพาะปลูก และถ้าสามารถใช้ประโยชน์ในด้านนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็อาจก่อให้เกิดเสถียรภาพในราคาสินค้าเกษตร ที่เกิดขึ้นจากการจัดการการเพาะปลูกอย่างมีระบบ อีกทั้งอาจช่วยลดปัญหาการขาดดุลการค้าในสินค้าเกษตรบางชนิดที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า และยอมรับราคาจากตลาดโลกก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น